วันอาทิตย์, กันยายน 19, 2564

"ม็อบที่ไม่มีแกนนำ" เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลก - เป็นไปได้ไหมว่าม็อบดินแดง ไม่ใช่ "สมรภูมิ" แต่เป็น "ห้องสอบของ พล.อ.ประยุทธ์" ?!?


รถจักรยานยนต์คือพาหนะที่เห็นได้ทั่วไปในระหว่างการรวมตัวของกลุ่มทะลุแก๊ส

ภาพรถจักรยานยนต์ที่พาเยาวชนและคนหนุ่มสาวมุ่งสู่แยกดินแดง เสียงให้สัมภาษณ์ของ "เยาวรุ่นทะลุแก๊ส" ที่ปรากฏในสื่อหลายแขนงบ่งบอกระดับอายุ พื้นฐานทางการศึกษา และการขาดไร้สถานะทางสังคม คือหลักฐานที่ ศ.ดร. สุรชาติ ใช้สนับสนุนข้อสังเกตที่ว่ากลุ่มทะลุแก๊สคือชนชั้นกลางในระดับล่าง

ข้อแตกต่างระหว่าง ม็อบพฤษภา35 กับ ม็อบทะลุแก๊ส

"มันมีการแข่งขันระหว่างชนชั้นกลางสายอำนาจนิยมกับสายประชาธิปไตยมาโดยตลอด" และ "ชนชั้นกลางไทยเป็นคนเจ้าอารมณ์ ถูกอารมณ์เมื่อไร ฉันพร้อมจะไปด้วย ไม่ถูกอารมณ์เมื่อไร ฉันก็เท ฉันก็แกง แต่ถ้าถูกอารมณ์ก็เต็มที่ด้วย" ม็อบพฤษภา35 

"ม็อบทะลุแก๊สสะท้อนความต้องการของชีวิต และเป็นความต้องการของชีวิตที่ไม่ใช่แค่เรื่องของประชาธิปไตย แต่คือชีวิตของชนชั้นกลางระดับล่างที่เผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ ต้องตกงานยุคโควิด โดยที่รัฐไม่มีคำตอบให้แก่พวกเขาเลย"

อ.สุรชาติ สรุปอย่างย่นยอ

ข้อเรียกร้องจากนักวิชาการรายนี้ถึงผู้มีอำนาจรัฐคือ "อยากให้เห็นรายละเอียดของชีวิตคนบ้าง อย่ารู้สึกว่าม็อบต่อต้านรัฐบาลมีนัยเดียว เป็นเหมือนกบฏ เหมือนผู้ก่อเหตุร้าย ถ้าคิดอย่างนี้ มันจะนำไปสู่การเมืองที่สุดโต่งขึ้นเรื่อย ๆ"

ข้อเรียกร้องหลังควันไฟ-ไอแก๊สน้ำตา

ท่ามกลางควันไฟและไอแก๊สน้ำตา ผู้คนในสังคมบางส่วนอาจกังขาและคลางแคลงใจต่อ "ปฏิบัติการทางการเมือง" ที่สามเหลี่ยมดินแดง

บางคำถาม อาจารย์สุรชาติแนะให้ "เลิกคิด" เช่น จะทำให้เสียขบวนของฝ่ายประชาธิปไตยหรือไม่ พร้อมชี้ชวนให้มองอีกมุมว่า "ม็อบก็ถูก disrupt (ดิสรัปต์ - ได้รับผลกระทบจากปัจจัยผันผวน) เหมือนกัน" ทั้งจากสถานการณ์ไวรัสโควิด และกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้สังคมแตกออกเป็นส่วนย่อย คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้อยู่ในวิถีชีวิตแบบมีการรวมศูนย์ เกาะกลุ่มใหญ่ โอกาสเกิดการชุมนุมขนาดใหญ่จึงเป็นเรื่องยาก


ตำรวจเปิดฉากใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางยาวนานหลาย ชม. เพื่อสกัดกั้นแนวร่วม "เยาวชนปลดแอก" ที่เคลื่อนพลจากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปยังบ้านพักนายกฯ เมื่อ 7 ส.ค. ก่อนกลายเป็นมาตรการประจำที่ตำรวจใช้จัดการกับผู้ประท้วงที่แยกดินแดง

เช่นเดียวกับความสงสัยที่ว่าการไปยึดพื้นที่ดินแดงทุกวันได้อะไรในทางการเมือง ซึ่งอดีตผู้นำขบวนการนักศึกษาปี 2519 อย่างสุรชาติบอกว่าเวลาคนตัดสินใจลงถนน ไม่มีคำถามนี้ เพราะเขาตัดสินใจสู้ และไม่ถอยกลับ

"มันไม่ใช่เรื่องของการแพ้-ชนะ แต่เขาออกมาเพื่อสื่อสารถึงรัฐบาล สำหรับผมการประท้วงคือ direct communication (การสื่อสารทางตรง) ระหว่างคนที่ประสบปัญหากับรัฐ พวกเขากำลังเรียกร้องให้รัฐหันมาสนใจกับข้อเรียกร้อง"

อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าสังคมอาจไม่เห็น "เนื้อหา" ที่กลุ่มทะลุแก๊สนำเสนออย่างชัดเจนนัก แต่รับรู้-จดจำ "รูปแบบ" ได้จากการเปิดฉากปะทะกับ คฝ. รายวัน จึงน่าสนใจว่าทั้งรัฐและคนวงนอก "สมรภูมิดินแดง" จะเข้าใจข้อเรียกร้องได้อย่างไร

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นักเรียนรัฐศาสตร์รุ่นอาวุโสยอมรับว่าการประท้วงที่ไม่มีแกนนำชัดเจน ทำให้ไม่รู้ว่าใครจะเป็นตัวแทนบอกกล่าวกับสังคมว่าเรียกร้องอะไร แต่หนึ่งในสิ่งที่เขาสดับตรับฟังและจับใจความได้คือผู้ประท้วงอยากเห็นการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนผู้นำ เพราะเชื่อว่าถ้ามีรัฐบาลใหม่ มีนโยบายที่ดีกว่านี้ จะเป็นโอกาสเปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

"อย่ามองข้ามดินแดงโดยเราไม่เห็นอะไรเลย หรือมองเห็นดินแดงเป็นความรุนแรงอย่างเดียวเท่านั้น"

ปรากฏการณ์ใหม่ทั่วโลก กับการประท้วงไม่มีวันจบที่ดินแดง

ในขณะที่ขบวนการ "ราษฎร" ประกาศแนวทางการเคลื่อนไหวแบบ "ทุกคนคือแกนนำ" เมื่อปลายปีก่อน การเกิดขึ้นของชุมนุม "อิสระ-นิรนาม" ที่แยกดินแดงดูจะใกล้เคียงกับแนวทางดังกล่าวมากที่สุด ทว่าเมื่อภาวะไร้แกนนำเกิดขึ้นจริง ความรับผิดชอบทางการเมืองคล้ายเป็นสิ่งที่หายไป


คฝ. เข้าระงับเหตุวัยรุ่นขว้างปาวัตถุเข้าใส่กรมดุริยางค์ทหารบก ถ.วิภาวดี เมื่อ 13 ก.ย. ซึ่งต่อมาตำรวจระบุว่าเป็นระเบิดเพลิง

ศ.ดร. สุรชาติกล่าวว่า เมื่อการชุมนุมอยู่ในสถานะที่ไม่มีแกนนำชัดเจน มีนัยว่าผู้ร่วมชุมนุมทุกคนกลายเป็นแกนนำด้วยตัวเอง แล้วตกลงใครรับผิดชอบ คำตอบคือไม่มี ทว่าสภาวะเช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นที่ไทยเป็นครั้งแรก แต่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของการประท้วงในเวทีโลก ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประท้วงเสื้อแจ็กเก็ตสีเหลืองที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ปี 2561 หรือผู้ประท้วงที่ฮ่องกง ปี 2562 ที่ไม่มีแกนนำชัดเจนแบบในช่วง "ขบวนการร่ม" แต่ดึงคนออกไปชุมนุมด้วยประเด็นและความรู้สึกร่วม

"จากปารีสสู่ฮ่องกง จากฮ่องกงสู่บางกอก เรากำลังเห็นปรากฏการณ์การชุมนุมในอีกแบบหนึ่ง ในอนาคตคนอาจมีความต้องการผู้นำม็อบน้อยลง เพราะสุดท้ายคำตอบมันอยู่บนหน้าจอมือถือของเรา ข้อเรียกร้องถูกส่งผ่านมือถือ คนออกมาบนเงื่อนไขอันนั้น ไม่ใช่ออกมาเพราะผู้นำ"

แม้โดยทฤษฎี "การประท้วงคือความรุนแรงในตัวของมันเอง" แต่ในทัศนะของ ศ.ดร. สุรชาติ นี่อาจไม่ใช่สิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ เพราะมีการผลิตวาทกรรมแบบโลกสวยจำนวนมากและนำไปปิดวาทกรรมรัฐศาสตร์ แต่ถ้ามองเหตุการณ์ในเวทีโลกแล้วย้อนกลับมาดูไทย เขายืนยันว่าการประท้วงในบ้านเราไม่รุนแรงเท่าเวทีโลก แต่บังเอิญเราอยู่กับชีวิตที่ไม่ค่อยเผชิญ แล้วพอเผชิญก็ไม่ค่อยมีคำตอบ จึงตอบแบบเดิมว่าออกไปก็เจอแรงกดดันของตำรวจ เพราะรัฐมีอำนาจตามกฎหมาย มีทรัพยากร มีตำรวจไว้ปราบปรามการชุมนุมของฝูงชน ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดในทุกประเทศ แล้วก็ตอบคำถามแบบเดียวกันโดยที่ผู้ประท้วงส่วนหนึ่งก็ไม่ถอยกลับ

"วันนี้ตอบได้เลย เอาดินแดงเป็นตัวตั้ง นับจากวันนี้ยังไงดินแดงก็ไม่จบ เพียงแต่จะหาวิธีทำอย่างไรทำให้ทุกอย่างเบาบางลง"

เหตุที่ ศ.ดร. สุรชาติฟันธงเช่นนั้น เพราะเขาอธิบายมันผ่านประสบการณ์ชีวิตตัวเองในฐานะนักเคลื่อนไหวการเมืองในยุคก่อน ยิ่งผู้ชุมนุมถูกกระทำ ยิ่งรู้สึกถึงความเป็นกลุ่มก้อน เมื่อเห็นผู้ชุมนุมด้วยกันโดนกระสุนยาง มันก็เกิดความคับแค้นทางจิตใจ

"เมื่อไรที่คนเกิดความรู้สึกความคับแค้นทางจิตใจ ผมว่าคือโจทย์ที่น่ากลัวที่สุด เพราะความคับแค้นชุดนี้สามารถพาอารมณ์ทางการเมืองของคนไปสู่อะไรก็ได้"


การเผายางรถยนต์เป็นหนึ่งในปฏิบัติการที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในระหว่างการชุมนุมของแนวร่วมทะลุแก๊ส ภาพนี้ถ่ายเมื่อ 12 ก.ย.

ในขณะที่ "เยาวรุ่น" ไม่กังวลต่อการพาตัวเองเข้าสู่แดนอันตราย นักเคลื่อนไหวรุ่นพี่ที่เฝ้าอยู่หน้าจอโทรทัศน์รู้สึก "กลัวแทนน้อง ๆ" การผ่านประสบการณ์ 6 ตุลา 2519 ทำให้สุรชาติไม่ต้องการเห็นชีวิตของคนรุ่นใหม่ต้องเสียไป เพราะคนกลุ่มหนึ่ง/รัฐเชื่อว่าผู้เรียกร้องเหล่านั้นเป็นเหมือนกบฏ ผู้ก่อจลาจล

"ไม่ใช่ม็อบ" vs "ม็อบชนม็อบ"

แอดมินเพจ "ทะลุก๊าซ" เคยให้คำจำกัดความไว้ว่าอาวุธเดียวที่ผู้ชุมนุมใช้ตอบโต้รัฐคือ "สันติวิธีเชิงตอบโต้" แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกมันว่า "สิ่งประดิษฐ์เทียมอาวุธ" และระบุว่ามีการใช้อาวุธจริงในกลุ่มผู้ประท้วงด้วย สามารถยึดของกลางได้หลายรายการ

หลังเหตุปะทะที่แยกดินแดงทุกครั้ง พล.ต.ท. ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) และ พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. มักเปิดแถลงข่าวชี้แจงปฏิบัติการควบคุมฝูงชน มีเนื้อหาคล้ายกันคือตำรวจจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ "ไม่ใช่ม็อบ" แต่เป็น "ผู้ใช้ความรุนแรง" และ "ผู้ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง" เนื่องจากมีการก่อความไม่สงบ ทำลายทรัพย์สินสาธารณะ ฝ่าฝืนกฎหมายหลายฉบับ อาทิ พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โรคติดต่อ

"ที่สามแยกดินแดง ยังคงมีการก่อเหตุความไม่สงบเรียบร้อยอยู่เช่นเดิม โดยกลุ่มบุคคลที่ใช้ชื่อว่าทะลุแก๊ส และอื่น ๆ มีการขว้างปาสิ่งของ จุดพลุเพลิง พลุไฟ มีการปาระเบิดแสวงเครื่อง ไปป์บอมบ์ ใส่สถานที่ราชการและสถานที่อื่น ๆ รวมทั้ง รพ.ทหารผ่านศึกและสถานศึกษาอื่น ๆ ในบริเวณนั้น มีการทุบทำลายสิ่งของที่เป็นสาธารณะประโยชน์ ทรัพย์สินที่ใช้เพื่อสาธารณะและทรัพย์สินของเอกชน และมีการก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนด้วยประการอื่น ๆ เช่น การกีดขวางการจราจร จุดไฟ เพื่อขัดขวางการจราจร มีการโรยตะปูเรือใบในพื้นที่ต่าง ๆ" พล.ต.ต. ปิยะสรุปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 15 ก.ย.

บช.น. สรุปภาพรวมล่าสุดว่า ตั้งแต่เดือน ก.ค.-15 ก.ย. มีคดีที่เกี่ยวกับการชุมนุม 207 คดี มีผู้ต้องหา 770 คน จับกุมแล้ว 525 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างติดตามตัว


ตำรวจแสดงของกลางที่ยึดได้ หลังจับกุมผู้ชุมนุมที่ดินแดง

นอกจากนี้ยังมีคำยืนยันหลายกรรมหลายวาระว่าปฏิบัติการของตำรวจเป็นไปตามหลักสากล พล.ต.ท. ภัคพงศ์บอกว่า "เจ้าหน้าที่ใช้เพียงเครื่องมือที่ได้รับการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี มีขั้นตอนการปฏิบัติ และไม่ถึงขั้นทำให้เสียชีวิต"

แต่ถึงกระนั้นได้เกิดบางเหตุการณ์ที่เรียกเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งจากกรณีผู้ชุมนุมกล่าวหาว่า คฝ. ไล่ถีบมอเตอร์ไซค์ของผู้ชุมนุมจนได้รับบาดเจ็บ และกรณีตำรวจขับรถควบคุมผู้ต้องหาพุ่งชนผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์คันหนึ่งที่คาดว่าเป็นแนวร่วมทะลุแก๊สเมื่อ 12 ก.ย.

กรณีแรก พล.ต.ต. ปิยะปฏิเสธว่าเป็น "ข่าวปลอม" ส่วนกรณีหลัง ยอมรับว่าเป็นรถของตำรวจจริง แต่เหตุเกิดจากขณะที่ขับผ่านจุดเกิดเหตุ ได้มีกลุ่มคนวิ่งเข้ามาทุบตีรถ ตำรวจจึงต้องรีบขับหนี แล้วไปชนรถมอเตอร์ไซค์ที่ขับมา ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าผู้ถูกชนได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย

เมื่อย้อนกลับไปมองผ่านสายตาของนักวิชาการด้านความมั่นคง ศ.ดร. สุรชาติเห็นว่ายุทธวิธีที่ฝ่ายความมั่นคงใช้จัดการพื้นที่ดินแดง "มีอารมณ์" เจืออยู่ ลักษณะการปราบมีทั้งการใช้รถพุ่งชน และเริ่มปรากฎชัดเจนว่าไม่ใช่ขั้นตอนปกติ ไม่ใช่มาตรการการควบคุมฝูงชนตามหลักวิชาการ

"สำหรับผมที่ดินแดงคือ 'ม็อบชนม็อบ' ระหว่างม็อบ คฝ. กับม็อบน้อง ๆ ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่อีกฝ่ายมีเครื่องแบบ อีกฝ่ายมีมากที่สุดคือประทัดกับพลุ"


แอดมินเพจ "ทะลุแก๊ซ" กระบอกเสียงของผู้ชุมนุมรุ่นเยาว์เคยระบุว่า พวกเขาเป็นกลุ่มใหม่กลุ่มย่อยที่รวมกันเฉพาะกิจ แต่นักวิชาการเชื่อว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่ดินแดงมีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีวันจบ

เขาเรียกร้องให้รัฐเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ และต้องคิดเสมอว่าคนมีอำนาจต้องเป็นผู้ริเริ่มแก้ปัญหา อย่าเรียกร้องให้คนไม่มีอำนาจเริ่มแก้ปัญหา เพราะคนไม่มีอำนาจเริ่มแก้ปัญหาไม่ได้

"ผมอยากเห็นผู้ใหญ่เดินออกจากโลกเก่า แล้วทำความเข้าใจกับโลกใหม่ของคนรุ่นใหม่ โดยไม่ต้องมี คฝ. ตามมา"

"ห้องสอบของ พล.อ. ประยุทธ์"

สำหรับ ศ.ดร. สุรชาติ "ดินแดงคือห้องสอบของ พล.อ. ประยุทธ์" รัฐบาลจะทำข้อสอบชุดนี้อย่างไร

"เรายังไม่เคยตีความว่าม็อบดินแดงเป็นม็อบโควิด สำหรับผมม็อบดินแดงเป็นภาพสะท้อนชุดหนึ่งของการประท้วงในยุคโควิดที่เกิดในหลายสังคม แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องทางการเมือง แต่ต้องไม่ลืมว่าเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองที่ยืนหรือเป็นผลจากการระบาดของโควิด-19"

"มองอีกมุมได้ไหมว่าม็อบดินแดงก็แค่ม็อบโควิด คุณไม่ตีไม่ได้หรือ ไม่ยิงไม่ได้หรือ ในเมื่อเป็นม็อบโควิด คุณแก้ปัญหาโควิดสิ"

ในความเห็นของผู้เรียน-ผู้สอนหนังสือสาขาสังคมศาสตร์มาทั้งชีวิต "ทางชนะของรัฐบาล" คือแก้ไขปัญหาโควิดได้ เปิดประเทศได้ เศรษฐกิจกลับมาฟื้น คนกลับมามีงานทำ ซึ่งจะทำให้ข้อเรียกร้องบนท้องถนนตกไปโดยปริยาย

"รัฐบาลไม่ได้ชนะม็อบ แต่รัฐบาลชนะเพราะสามารถพาชีวิตคนกลับไปมีงานทำได้ น้อง ๆ เหล่านี้ก็มีงานทำ มันก็ตอบโจทย์ของพวกเขา แปลว่าโจทย์ของจริงที่ดินแดงคืออยากเห็นรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพในการบริหารรัฐ รัฐบาลที่สามารถฟื้นชีวิตทางสังคมของคนไทยได้"


การชูนิ้วมือเป็นอักษรรูปตัว "วี" อันหมายถึงการฉีดวัคซีน และชัยชนะ กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำของนายกรัฐมนตรีไทย

ท้ายที่สุดหากรัฐบาลทำข้อสอบได้ โจทย์ที่ตามมาคือจะจัดการกับความโกรธแค้นที่อุบัติขึ้นในใจของแนวร่วมทะลุแก๊สอย่างไร

ศ.ดร. สุรชาติเสนอให้ใช้กระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริง (truth commission) อย่างที่เกิดในหลายประเทศ ทว่าปัญหาของไทยคือไม่มีวัฒนธรรมของการไต่สวนทางการเมือง และเป็นสังคมหน้าตา จึงไม่มีใครเคยเห็นรายงานการไต่สวนเหตุการณ์พฤษภา 2535 แม้ผ่านมา 30 ปีแล้วก็ตาม ทำให้เสียโอกาสในการสร้างกติกา ดังนั้นหากฝ่ายประชาธิปไตยชนะ อาจต้องคิดถึงการสร้างกติกาการประท้วงใหม่ทั้ง 2 ฝั่ง

"รัฐต้องรู้ว่าไม่มีสิทธิใช้ความโกรธแค้นในการปราบ เพราะเมื่อใดที่ใช้ความโกรธแค้นควบคุมฝูงชน จะทำให้สถานการณ์ไม่จบด้วยตัวของมันเอง" เขากล่าวทิ้งท้าย

ที่มา บีบีซีไทย
ทะลุแก๊ส : สุรชาติ บำรุงสุข ชวนพินิจ “ม็อบโควิด” ที่ดินแดง ไร้แกนนำ ไร้จุดจบ
ชวนอ่านบทความเต็มที่