วันเสาร์, กันยายน 18, 2564

ซีรี่ประชาไท : 15 ปีรัฐประหาร 49 (2) ความฝัน ความหวัง และชีวิตหลังลี้ภัยของ ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’



15 ปีรัฐประหาร 49 (2) ความฝัน ความหวัง และชีวิตหลังลี้ภัยของ ‘จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ’

ประชาไท / สัมภาษณ์
2021-09-17

รัตนาพร เขม้นกิจ สัมภาษณ์/เรียบเรียง

“ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร มันมีแต่ถอยหลังเท่านั้นแหละครับ ไม่มีทางที่จะเดินหน้าหรือจะสว่างขึ้นมาได้หรอก เพราะว่าโลกสากลเขาไปสู่จุดที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว”

คุยกับ 'จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ' อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รวมทั้งอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรมและปลัดกระทรวงแรงงาน ถึงชีวิตหลังลี้ภัย องคก์รเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย มุมมอง และความหวังต่ออนาคตการเมืองไทย

  • เมื่อไรที่กติการัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยที่สุด ประชาชนทุกภาคส่วนก็จะทำมาหากินอย่างมีความหวังที่สุด เพราะว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
  • การรัฐประหารไม่ได้กระทบเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติในไทย เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะสามารถบริหารประเทศจนทำให้ผลประกอบการธุรกิจของเขาเจริญงอกงามได้
  • ก่อนการรัฐประหาร 2549 อยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ประชาชนเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าเสียงของตัวเองกำหนดนโยบายของผู้แทน และกำหนดคุณภาพชีวิตได้อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วความเบ่งบานนั้นก็แห้งเหี่ยวเพราะถูกตัดตอนโดยคณะรัฐประหาร
สภาพบ้านเมืองไทยช่วงไหนที่ ‘มีความหวัง’ และ ‘สิ้นหวัง’ ที่สุด

“หลักการนะ เมื่อไรที่กติการัฐธรรมนูญเป็นประชาธิปไตยที่สุด ประชาชนทุกภาคส่วนก็จะทำมาหากินอย่างมีความหวังที่สุด เพราะว่าอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน แล้วถ้ารัฐบาลบริหารเฮงซวย เขาปลดได้ มีวิธีปลดเยอะแยะเลย แต่ถ้ายุคไหนเมื่อไร มันเป็นการรัฐประหารขึ้นมา อำนาจไปอยู่ที่ปากกระบอกปืน มันจะทำให้ประชาชนหงอ นักการเมืองก็หงอ นักการเมืองที่เคยเป็นคณะรัฐมนตรีสมัยที่เป็นประชาธิปไตย แต่พอมาเป็นนักการของฝ่ายทหาร เป็นอย่างไรล่ะ หืม...พูดออกไหม เหมือนคนละคนเลย เหมือนคนทำงานไม่เป็นเลย” จารุพงศ์กล่าว พร้อมยกตัวอย่างประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์ จะเห็นได้ว่าสหรัฐฯ ไม่เคยเกิดรัฐประหาร เพราะรัฐธรรมนูญอเมริกันเขียนไว้ชัดเจนว่า ‘ฝ่ายพลเรือนคือผู้ควบคุมกองทัพ’ ดังนั้น ประธานาธิบดีซึ่งมาจากการเลือกตามฉันทามติของประชาชนคือผู้มีอำนาจสั่งการกองทัพโดยตรง

จารุพงศ์ยังกล่าวอีกว่าตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นต้นมา สหรัฐฯ ไม่เคยมีประธานาธิบดีที่เคยรับราชการทหาร และมีตำแหน่งสูงระดับ ‘จอมพล’ หรือ ‘พลเอก’ แต่ถึงกระนั้น หากทหารอเมริกันคนใดคิดจะลงเล่นการเมือง ก็ต้องลาออกจากราชการและไม่ยุ่งเกี่ยวกับกองทัพ ต้องวางอาวุธและออกมาเป็นพลเรือนเต็มตัว เพราะนั่นคือบทบัญญัติที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญอเมริกัน

“ประเทศที่เขาเจริญแล้ว เขาไม่ได้นิยมให้ทหารขึ้นมาเป็นฝ่ายปกครอง บริหารบ้านเมืองนะ ยกตัวอย่างมีครั้งเดียว เช่น ไอเซนฮาวร์ (ดไวต์ ดี. ไอเซนฮาวร์, ประธานาธิบดีคนที่ 34 ของสหรัฐฯ) เพราะว่าตอนนั้นสงครามโลกยุติใหม่ๆ ก็เลยเอา[อดีต]นายพลขึ้นมา เพราะว่าเป็นฮีโร่ จากนั้นมาไม่เคยมี ขึ้นมาเป็นก็ได้แค่[รัฐมนตรี]กลาโหม หรือรองประธานาธิบดี ถ้าหากว่าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยและมีกติกาที่ถูกต้อง มันเป็นหลักประกันว่านักการเมืองหรือผู้บริหาร ต้องแคร์ประชาชน เพราะประชาชนเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจทุกๆ 4 ปี” จารุพงศ์กล่าว

จารุพงศ์ กล่าวเสริมว่า เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เขาคงตอบได้ชัดเจนว่าช่วงที่ประเทศไทยมีความหวังที่สุด คือ ช่วงที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 เพราะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ไทย เพราะนอกจากจะให้อำนาจในการเลือกตั้งแก่ประชาชนแล้ว นายกรัฐมนตรียังมีอำนาจมากพอที่จะควบคุมเสียงในสภา ส่งต่อผลต่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการบ้านเมือง

“คือมันสตรอง (Strong) ว่างั้นเถอะนะ แต่มันไม่สตรองเท่ากับการเลือกตั้งโดยตรงแบบประธานาธิบดีหรอก แต่มันก็ยังดี แต่ถ้าจะให้ดีจริงๆ ในความเห็นของผมนะ กติกาต่อไปมันต้องเลือกตั้งโดยตรงกับประชาชน แต่ตรงนี้ฝ่ายอำมาตย์ศักดินาไม่ยอมหรอก” จารุพงศ์กล่าว

หากช่วงที่สิ้นหวังที่สุดของประเทศคือช่วงที่มีการรัฐประหาร แล้วการรัฐประหารครั้งใดที่รู้สึกว่าสิ้นหวังที่สุด

“ครั้งนี้แหละ (หัวเราะ) รัฐประหารปี 57 นี่แหละ เพราะบอกว่าขอเวลาอีกไม่นาน ร้องเพลงแต่งเองด้วย แล้วตอแหล โกหกเขาอ่ะ ไม่ได้ทำเลย แล้วตลอดเวลา 7 ปีมันล้มเหลวหมด” จารุพงศ์กล่าว ก่อนจะเสริมว่าทั่วโลกไม่ยอมรับระบอบเผด็จการ และไม่ยอมรับการรัฐประหาร ดังจะสังเกตว่าประเทศต่างๆ ประกาศลดระดับความสัมพันธ์หรือตัดไมตรีด้านต่างๆ ไม่ขอคบค้าสมาคมด้วย

“คุณจะไปประชุมเขาก็ไม่เชิญนะ แต่ถ้าคุณไปในนามตัวแทนรัฐบาล คุณไปได้ แต่ถ้าการประชุมเป็นแบบคอนเฟอร์เรนซ์ (Conference) กันตัวต่อตัว เฟซทูเฟซ (face-to-face) ไม่มี” จารุพงศ์กล่าว

นอกจากนี้ จารุพงศ์ยังระบุว่าการรัฐประหารไม่ได้กระทบเฉพาะความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างเดียว แต่ยังกระทบถึงภาคธุรกิจและนักลงทุนต่างชาติในไทย เพราะนักลงทุนไม่เชื่อมั่นว่ารัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารจะสามารถบริหารประเทศจนทำให้ผลประกอบการธุรกิจของเขาเจริญงอกงามได้

“ถ้าบริษัทไหนไปลงทุนในประเทศที่เป็นเผด็จการ คนที่ถือหุ้นเขาขายทิ้งหมดนะ เขาไม่เอานะ นี่คือกติกากลไก เพราะเขาเห็นว่ามันไม่มีเสถียรภาพ ดังนั้นบริษัทใหญ่ๆ เขาจึงเลือกที่จะไปลงทุนกับประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เพราะเขาแคร์คนที่ซื้อหุ้นเขา แล้วก็ราคาหุ้นจะขึ้นไม่ขึ้น มันก็อยู่ที่ว่าเจ้าของหุ้นตัดสินใจไปลงทุนที่ประเทศไหนด้วย นี่คือหัวใจสำคัญ

“ดังนั้นพอปฏิวัติปั๊บ การลงทุนหายไปหมดเลย แล้วก็ไม่กลับเข้ามา เมื่อไม่มีการลงทุนใหม่ เด็กจบมาปีละ 7 แสนคนก็ไม่มีงานทำ ตีว่าประชากรเพิ่มขึ้นปีละ 6-7 แสนคน พอสะสมมา 7 ปีมันก็กองเป็นพะเนินเทินทึกเลย เด็กพวกนี้เขาไม่มีอนาคต เขาเห็นว่าไม่ไหวแล้ว เขาจึงออกมาต่อสู้ การออกมาต่อสู้ไม่ได้แปลว่าเขาไม่กลัวอาวุธปืน เขากลัว แต่เขารู้ว่าสู้ก็ตายไม่สู้ก็ตาย งั้นสู้ดีกว่า นี่คือหัวใจที่ว่าทำไมเด็กพวกนี้จึงออกมากันในวันนี้ ไม่ใช่สวมหัวใจเหล็กไหลอะไรหรอก แต่เขารู้ว่าเขาหมดอนาคตแล้ว สิ้นหวังแล้ว เขาลงนรกอยู่ตอนนี้ ถ้าหากว่าไม่ให้เข้าสู้ เขาก็ไม่สามารถขึ้นจากนรกนี้ได้” จารุพงศ์กล่าว

เพื่อไทยพร้อมสู้ แต่ทำไมเพื่อไทยบางส่วนจึง ‘ลี้ภัย’

“เรา (พรรคเพื่อไทย) เสนอว่าเมื่อมีปัญหา ให้คืนอำนาจให้กับประชาชน แล้วให้ กกต. เป็นคนจัดการเลือกตั้ง แม้ว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 มันจะล้มและโมฆะไปแล้วก็ตาม ตอนนั้นมีกระแสถามว่าทำไมกระทรวงมหาดไทยไม่เอา[การเลือกตั้ง]มาทำเองซะ ผมซึ่งเป็นรัฐมนตรีว่าการอยู่จึงบอกไปตอนนั้นว่าผมเชื่อมั่นในหลักการ ถ้าจัดการเลือกตั้ง ต้องให้ กกต. ซึ่งเป็นองค์กรส่วนกลางจัด กระทรวงมหาดไทยจะไม่เอาอำนาจคืนมาโดยอ้างว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 มันล้มเหลว มันผิดหลักการ ผมไม่ทำ แล้วผมก็เห็นว่ามันเป็นเรื่องที่นำไปสู่หายนะมากกว่า” จารุพงศ์กล่าว พร้อมยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยไม่ได้พึงพอใจกับท่าทีของ กกต. ในขณะนั้น เพราะทราบดีอยู่แล้วว่า กกต. แกล้งทำเป็น ‘ตาบอดข้างหนึ่ง’ จนนำมาสู่การล้มการเลือกตั้งโดยกลุ่ม กปปส.

นอกจากนี้ จารุพงศ์ยืนยันว่าตนให้สัมภาษณ์กับสื่อในช่วงนั้นถึงเจตนารมณ์การต่อสู้ตามระบอบประชาธิปไตย นั่นคือ การเลือกตั้ง ไม่ว่ากติกาที่ กกต. ในขณะนั้นกำหนดจะเป็นอย่างไร พรรคเพื่อไทยก็พร้อมยอมรับ เพราะดีกว่าไม่มีการเลือกตั้ง และในขณะนั้นเขาก็เชื่อมั่นว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

เพราะการรัฐประหารไม่ได้อยู่ในกติกา

จารุพงศ์เน้นย้ำมาตลอดว่าเขาพร้อมจะต่อสู้ภายใต้กติกาในระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นั้นเป็นสิ่งที่อยู่ ‘นอกเหนือ’ กติกา

“ผมไม่ยอมที่จะอยู่ภายใต้อำนาจของการรัฐประหาร ก่อนหน้านี้ที่เป็นข้าราชการประจำ ผมจำเป็นต้องฝืนทนอยู่ใต้กรอบของการรัฐประหาร แต่วันนี้ผมออกมาทำการเมืองเต็มที่ เป็นอิสระแล้ว พอถึงวันที่มีการรัฐประหาร ผมจึงแสดงเจตนารมณ์ในฐานะที่ผมเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างน้อยผมคนหนึ่งล่ะที่ ‘กูไม่ยอม ที่จะอยู่ภายใต้ระบอบนี้’ ผมก็จึงได้ลี้ภัย” จารุพงศ์กล่าว

จารุพงศ์บอกว่าแม้เขาจะเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แต่เขาไม่มีปืน ไม่มีอำนาจที่จะต่อสู้ จึงลี้ภัยมาอยู่ในที่ที่ปลอดภัยเพื่อตั้งหลัก และขอใช้สติปัญญา ความรู้ความสามารถ ส่งต่อความรู้และอุดมการณ์เพื่อให้ประชาชนคนรุ่นหลัง ‘ตาสว่าง’ พร้อมยกคำพูดที่ สมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีเคยพูดกับเขาว่า ‘ให้คนไทยตาสว่าง แล้วรอวันเวลา วันหนึ่งที่เด็กและเยาวชนเขาตาสว่างขึ้นมา’

“วันนี้ คน gen X, gen Y ตาสว่างเยอะแล้วนะ เขารู้อนาคตเขาแล้ว เขาจึงออกมาสู้ ผมเองก็ได้แต่สนับสนุนเขาเท่านั้นเอง ทางใจนะ แต่ไม่ได้คิดจะออกไปต่อสู้อะไรอีกแล้วเพราะเราอายุมากแล้ว เราต่อสู้มาเยอะมากแล้ว” จารุพงศ์กล่าว

ประสบการณ์การถูกคุกคามจากคณะรัฐประหาร

จารุพงศ์เล่าว่าเขาถูกกลุ่ม กปปส. บุกไปที่บ้านพักส่วนตัว และตัดน้ำตัดไฟที่บ้านถึง 3 ครั้ง ถึงแม้ในขณะนั้น เขาจะดำรงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยแต่ก็ไม่สามารถทำอะไรได้

“ผมทำอะไรไม่ได้ สั่งการอะไรไม่ได้ แต่ว่าผมสามารถรักษาบ้านผมได้เท่านั้นเอง แต่ว่าตัดน้ำตัดไฟก็ตัดไป ตัดได้ผมก็ต่อได้ เท่านั้นเอง ไม่ได้ไปรบรากับเขา เพราะอะไร เพราะว่าคนที่เข้ามาล้วนแล้วแต่เป็นคนที่มี backup ข้างหลังทั้งสิ้น แล้วก็มีทหารถือปืนไปช่วยกำกับเขาทั้งนั้น”

“การสู้ของผมนั้นผมถูกริบทรัพย์ ถูกอายัดทรัพย์สินทั้งหมด แต่ผมก็ไม่แคร์ จะเป็นอะไรก็เป็นไป แต่อย่างน้อยที่สุด ชีวิตผมยังอยู่ แล้วผมก็จะสู้ไปจนกว่าจะเห็นความสำเร็จ ผมมันยุคเบบี้บูมนะ แต่ผมจะสู้จนกว่าจะผ่านคนเจเนอเรชันนี้ไป” จารุพงศ์กล่าว

การก่อตั้ง ‘องค์กรเสรีไทยใหม่’

หลังจากลี้ภัยออกมาอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา จารุพงศ์ได้จัดตั้ง ‘องคก์รเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย’ หรือ The Organisation of FreeThais for Human Rights andDemocracy (FT-HD) เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2557 เพื่อประกาศเจตจำนงว่าเขาจะไม่ยอมจำนนต่ออำนาจเผด็จการ

“เราเองน่ะเป็นพลเรือน มีแต่ปากกา ต่อให้เป็นรัฐมนตรีมหาดไทยก็ไม่สามารถที่จะต่อกรกับเขาได้ มีทางเดียว คือ แสดงเจตนารมณ์ว่า ‘ฉันไม่ยอม ฉันสู้ สู้ไม่ได้ในประเทศไทย ฉันก็ออกมานอกประเทศจะได้มีอิสระเสรีภาพในการต่อสู้’ เพราะฉะนั้นผมจึงได้มาตั้งองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วก็เป็นองค์ที่จดทะเบียนถูกต้อง เป็น Non-Government Organization ไม่หวังผลกำไร แล้วก็ทำงานไปโดยความร่วมมือของผู้ที่รักประชาธิปไตย” จารุพงศ์กล่าว

อ่านเพิ่มเติม:
ตั้ง 'เสรีไทย' 2557 ต้านรัฐประหารฟื้นประชาธิปไตย – จารุพงศ์นั่งเลขาธิการ
จอม เพชรประดับ สัมภาษณ์ จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ เลขาฯ องค์การเสรีไทย

จารุพงศ์บอกว่าองค์กรเสรีไทยฯ ของเขาจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายของประเทศสหรัฐอเมริกา และภายหลังการจัดตั้ง เขาและคณะได้รับเชิญให้ไปประชุมในโครงการสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติ (UN) ซึ่งในครั้งนั้น ทางองค์กรได้แถลงเหตุการณ์การรัฐประหารว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร ไม่เป็นธรรมอย่างไร เพื่อให้นานาชาติรับรู้ นอกจากนี้ องค์กรเสรีไทยฯ ยังมีเครือข่ายนักวิชาการและคนไทยที่ลี้ภัยอยู่ในประเทศต่างๆ เพื่ออัปเดตข้อมูล และแลกเปลี่ยนข่าวสารการเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยแก่กัน รวมถึงมีการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยไทย โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ทั้งเรื่องทนายความ การให้คำปรึกษาด้านสิทธิต่างๆ

“เสรีไทยไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง คำว่าเสรีไทย คือ คนที่รักเสรีภาพ รักอิสระภาพ รักความถูกต้องเป็นเสรีไทยหมด ไม่ต้องสมัคร ไม่ต้องมีความเป็นสมาชิก แต่ให้จิตใจมันได้ก็เป็นเสรีไทยหมดแหละครับ ชื่อนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ และคุณพ่อของผมเองก็เป็นเสรีไทย (ในสมัยปรีดี พนมยงค์) เพราะฉะนั้นเราจึงได้เอาชื่อนี้มาประกาศใช้ว่าเป็นองค์กรเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย แล้วก็เดินเรื่องนี้มาโดยตลอด พยายามแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”

“ชื่อนี้มันศักดิ์สิทธิ์ ชื่อนี้มันยังใช้ได้เสมอ เมื่อบ้านเมืองเกิดวิกฤต คนไทยทุกคนต้องลุกขึ้นมาปลดแอก ต่อสู้ เพื่อเสรีภาพของคุณเอง นี่คือเสรีไทย” จารุพงศ์กล่าว พร้อมบอกว่าหากบ้านเมืองไทยพ้นวิกฤติและเป็นประชาธิปไตยเมื่อไร หน้าที่ขององค์กรเสรีไทยฯ ก็จงจบลง เช่นเดียวกับองค์กรเสรีไทยของปรีดี พนมยงค์

“เสรีไทยของท่านปรีดีก็ช่นเดียวกัน เมื่อกู้ชาติบ้านเมืองแล้ว ไม่ได้เป็นประเทศแพ้สงครามแล้ว เสรีไทย ท่านก็เกิดสวนสนามแล้วสลาย จบ พอวิกฤติมันจบแล้ว อันนี้ก็เหมือนกัน ถ้าเราทำไปจนถึงวันหนึ่งที่บ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว เป็นเสรีประชาธิปไตยเรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างมันจบภารกิจ ก็มีแต่หัวใจเท่านั้นแหละที่เป็นเสรีไทย แล้วไม่จำเป็นต้องไปดำเนินการอะไรอีกแล้ว เพราะมันเป็นประชาธิปไตยแล้ว” จารุพงศ์กล่าว

ชีวิตหลังลี้ภัยมาแล้ว 7 ปี

จารุพงศ์เล่าว่าเขาเคยรับข้าราชการเป็นปลัดอำเภอ นายอำเภอ เคยอยู่ในพื้นที่ที่มี ผกค. (ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์) มีถนนลูกรัง ไม่มีระบบสาธารณูปโภค เขาจึงพูดได้ว่าการใช้ชีวิตในฐานะผู้ลี้ภัยในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ใช่เรื่องลำบาก พร้อมเผย 3 ปัจจัยที่ทำให้คุณภาพชีวิตของเขาในสหรัฐฯ มีความสดชื่นมากกว่าเดิม

“มาอยู่ที่นี่ ถามว่าลำบากไหม ไม่ลำบากแล้วก็ยังหนุ่มกว่าเดิมเสียอีกด้วยซ้ำไป หนึ่ง อาหารมีคุณภาพ อาหารสดไม่ได้แพงไปกว่าประเทศไทย อาหารพวกเนื้อสัตว์ก็ดี ผักก็ดี ถูกควบคุมโดยองค์กรต่างๆ อย่างเข้มแข็ง คุณจะไปใส่สารฟอร์มาลีน สารอะไรไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น 7 ปี ผมมีความรู้สึกว่าผมหนุ่มขึ้นนะ เพราะว่าผมกินอาหารดีที่ไม่มีพิษภัย ผมพูดตรงๆ ว่า 7 ปีนี้ผมไม่ค่อยกลัวมะเร็งเท่าไรนะ เพราะว่ามันปลอดภัยกว่า” จารุพงศ์กล่าวด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม


“สอง อากาศ ถ้าคุณไม่หายใจ 5 นาทีนี่ตายนะ แล้วคุณดูอากาศของประเทศไทยสิ ทั้งหมอกควัน ทั้งอะไรต่อมิอะไรทุกอย่าง รวมทั้งมลพิษทั้งหลาย สูดเข้าไปเนี่ย ไม่ต้องเป็นโควิดก็จะตายเพราะว่าอากาศไม่ดีนี่แหละ (หัวเราะ) ซึ่งทั้งหมดนี่มันอยู่ที่ระบบการบริหารจัดการ ซึ่งประเทศต่างๆ เขามีกฎเกณฑ์กติกา ในเรื่องที่โรงงานทุกแห่ง รถยนต์ทุกคัน จะต้องควบคุมมลพิษ อาหารการกินทั้งหมดต้องอยู่ในมาตรฐาน อาหารจะเป็นกระป๋องหรืออะไรก็แล้วแต่ คุณพลิกมาดูได้เลยว่ามันมีสูตรอะไร แล้วหมดอายุเมื่อไร หมดอายุเมื่อไรคุณต้องทิ้ง คุณมาขายอยู่ ถูกจับเลยนะ”

“สาม บรรยากาศที่เป็นเสรีประชาธิปไตย เราได้เห็นวิถีชีวิตของความเป็นประชาธิปไตย ผมไปดูการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่นี่มา 2 ครั้งแล้ว แล้วผมชื่นชมที่เขาเลือกตั้งได้แบบชนิดที่ว่าเราดูแล้วก็อยากจะเห็นบ้านเมืองเราเป็นอย่างนั้น” จารุพงศ์กล่าว

15 ปี ‘รัฐประหาร 2549’ บ่อเกิดของปัญหาวิกฤตการเมืองไทย

จารุพงศ์กล่าวว่าหากจะฉายภาพวิกฤตการเมืองไทยในปัจจุบัน ต้องย้อนกลับไปถึงการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ซึ่งทำให้ประเทศไทยที่กำลังเดินไปข้างหน้า ถูกผลักตกขอบเหว ส่วนการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 นั้นคือการเหยียบซ้ำให้ประเทศจมลงสู่หลุมดำ

“ทุกครั้งที่มีการรัฐประหาร มันมีแต่ถอยหลังเท่านั้นแหละครับ ไม่มีทางที่จะเดินหน้าหรือจะสว่างขึ้นมาได้หรอก เพราะว่าโลกสากลเขาไปสู่จุดที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนแล้ว และปกครองโดย Rule of Law (หลักนิติธรรม) ไม่ใช่ Rule by Law (หลักนิติวิธี) และใช้หลักเสียงส่วนใหญ่ มีการเลือกตั้ง มีปัญหาอะไรก็โยนให้ประชาชนตัดสิน ใครชนะเลือกตั้งก็เข้ามาบริหารประเทศ หลักแฟร์ๆ แค่นี้เอง แต่ว่าระบบเก่า อำนาจนิยมเก่าเขาไม่เอานะ ขอให้ฉันมีอำนาจ สืบไป ตลอดไป ไม่มีที่สิ้นสุด แต่มันล้าหลัง มันไม่ทันสมัยแล้ว และยังไม่มีหลักประกันอะไรเลย เพราะไม่ได้คุณก้าวขึ้นมาจากประชาชน ต่างจากผู้นำในระบอบประชาธิปไตยที่เขามีพันธะกับประชาชน ซึ่งประชาชนเป็นนายเรา พอผู้บริหารสำนึกได้ว่าประชาชนเป็นนาย ข้าราชการก็ต้องไปปฏิบัติตามคำสั่งของนายคือผู้บริหาร ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามมติของประชาชนส่วนใหญ่” จารุพงศ์กล่าว

ถ้าไม่เกิดรัฐประหาร 2549 การเมืองไทยจะเดินหน้าไปอย่างไร

จารุพงศ์กล่าวว่าการเมืองไทยเมื่อ 15 ปีที่แล้ว ก่อนการรัฐประหาร 2549 อยู่ในช่วงที่ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน ประชาชนเข้าใจในสิทธิเสรีภาพของตัวเองมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าเสียงของตัวเองกำหนดนโยบายของผู้แทน และกำหนดคุณภาพชีวิตได้อย่างไร แต่สุดท้ายแล้วความเบ่งบานนั้นก็แห้งเหี่ยวเพราะถูกตัดตอนโดยคณะรัฐประหาร

“ถ้าไม่มีรัฐประหารปี 49 แล้วให้มันเดินไปตามครรลอง พออีก 2-3 ปีก็จะต้องมีการเลือกตั้งใหม่ คุณไม่พอใจพรรคไทยรักไทยในตอนนั้นก็ไม่ต้องเลือก ก็มาเลือกพรรคอื่น แต่พรรคอื่นจะได้รับเลือกหรือไม่ก็อยู่ที่ตัวนโยบายของพรรคนั้นว่าเคยทำได้จริงไหม เคยสัญญาแล้วไม่ได้ทำจริงหรือเปล่า แล้วคนไทยก็ไม่ได้โง่นะ ถึงวันที่มีการเลือกตั้ง ตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2549 คนไทยรู้จักประชาธิปไตยกินได้แล้วนะ คำว่า ‘ประชาธิปไตยกินได้’ คืออะไร คือพอเลือกไปแล้ว นโยบายนั้นทำได้จริง ถือว่ากินได้ เพราะเขากินอิ่มนอนหลับไง” จารุพงศ์กล่าว พร้อมระบุว่าความขัดแย้งเชิงนโยบายในระบอบประชาธิปไตยถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสุดท้ายประชาชนคือผู้ตัดสินว่าจะให้การเมืองเดินหน้าไปอย่างไร


กิจกรรม “ชายชุดดำทำรัฐประหาร” ประจานการทำรัฐประหาร เนื่องในวาระครบรอบ 6 ปีการรัฐประหาร
ในวันที่ 19 ก.ย. 49 จัดขึ้นโดยกลุ่มคนเสื้อแดงหลากหลายกลุ่ม เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2555 (แฟ้มภาพ)

“ความขัดแย้งในนโยบายมันเป็นสากล เหมือนอย่างสหรัฐอเมริกา พรรครีพับลิกันกับเดโมแครตก็มีความแตกต่าง ซึ่งความแตกต่างที่แหละคือตัวเลือกที่ประชาชนมีสิทธิ์เลือก ว่าจะเอาแบบนี้ หรือจะเอาแบบนี้ อย่างน้อยมี 2 แบบ อาจจะมี 3 แบบ 4 แบบก็แล้วแต่ แต่ที่สุดแล้ว ตัดสินกันที่ ‘เสียงส่วนมาก’ เสียงส่วนมากมอบอำนาจให้ใคร จบ อีก 4 ปีสู้กันใหม่” จารุพงศ์กล่าว พร้อมบอกว่าถ้าหากเขามีโอกาสได้เลือกตั้งอีกครั้ง ก็ยังยืนยันว่าจะเขาจะเลือกพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม

“สมัยก่อน พ่อของผมลงเลือกตั้งหลายครั้ง พ่อผมใช้คำว่า ‘มันไม่ใช่ประชาธิปไตยหรอกลูก มันคือคณาธิปไตย’ คือเอาเงินใส่ไปให้คนเลือก แต่พอหลังจากที่ท่านทักษิณเอานโยบายเข้ามาใส่ แล้วสามารถทำได้จริง พอมาถึงการเลือกตั้งในปี 2548 ไล่มาจนถึงปี 2549-2550 เนี่ย เอาเงินไปแจก ไม่ได้ผลนะ เขาไม่เลือกนะ ดัดหลังนักการเมืองเลย นักการเมืองเริ่มเข็ดแล้ว และก็รู้แล้วว่า ‘เห้ย ไม่ใช่ทางแล้วนะเว้ย’ ทางที่ถูกคือต้องเสนอนโยบาย แล้วปฏิบัติให้ได้ตามนโยบาย แล้วประชาชนเขาจะเลือกเอง นี่แหละ Way of Life (วิถีทาง) ของระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง มันกำลังเดิน แต่สุดท้ายแล้วมันสะดุดหยุดลง สะดุดเพราะอำนาจปืน แล้วอำนาจพวกนี้ถูกทำให้เกิดขึ้นมาเพราะอะไร เพราะถ้าไม่เกิดอย่างนี้ ระบอบเก่ามันจะต่อไม่ได้ เขาพยายามจะทวนกระแสของโลก โลกาภิวัฒน์มันทวนไม่ได้แล้ว แต่ว่ามันจะพังเมื่อไรก็ไม่รู้ แต่ว่าคงไม่ช้าไม่นานนี้หรอก” จารุพงศ์กล่าว

ฝันอยากเห็นบ้านเมืองเป็นแบบไหน

แม้วันนี้จารุพงศ์จะยังคงลี้ภัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา แต่เขาเผยว่าสิ่งที่เขาฝันอยากจะเห็นมาตลอด คือ การที่ประเทศไทยมีประชาธิปไตย และอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ทั้งยังหวังว่าบ้านเมืองเราจะมีหลักการปกครองโดยใช้หลัก Rule of Majority (หลักการเสียงส่วนมาก) และก็ Rule of Law (หลักนิติธรรม) พร้อมเสนอว่ากษัตริย์ต้องอยู่เหนือความขัดแย้ง แต่ต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยังกล่าวถึงสิ่งหนึ่งที่จะพิสูจน์ได้ว่าเราเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงนั้นคือพระมหากษัตริย์ต้องเป็นเพียงสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ ‘The King can do no wrong’ พระมหากษัตริย์เป็นเพียงสัญลักษณ์ ไม่ใช่เป็นผู้ที่มาเซ็นประกาศหรือพระราชบัญญัติ โดนหากรัฐสภาออกกฎหมายก็ให้ประธานรัฐสภาเซ็นรับผิดชอบ ส่วนถ้าฝ่ายบริหารจะแต่งตั้งข้าราชการ รวมทั้งนายพลทั้งหลายแหล่ก็ตั้งอำนาจสูงสุดอยู่ที่นี่ ขณะที่พระมหากษัตริย์ไม่ต้องมาตั้ง ควรอยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง

ถ้าบ้านเมืองเป็นเช่นนั้นแล้ว คิดว่าตอนนี้จะทำอะไรอยู่

ก่อนเข้าสู่เส้นทางนักการเมืองแบบเต็มตัวร่วมกับพรรคเพื่อไทยใน พ.ศ.2554 จารุพงศ์เคยรับตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ ในระหว่าง พ.ศ. 2549-2553 ซึ่งทำให้เขาเห็นความสำคัญของการปลูกฝังแนวคิดประชาธิปไตยในระบบการศึกษา ดังนั้น หากบ้านเมืองไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง เขาอาจจะเป็นอาจารย์สอนหนังสืออยู่ในสถาบันการศึกษาสักทีก็เป็นได้

“ผมฝันว่าผมจะกลับไปสอนหนังสือ นำประสบการณ์ที่ผมมีอยู่ตั้งแต่เป็นข้าราชการ เป็นนักการเมือง ประสบความสำเร็จ เป็นทั้งรองหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และหัวหน้าพรรค รัฐมนตรีอีก 2 กระทรวง เอาทั้งหมดนี่ไปบอกเขา แล้วก็บอกโดยมี Certificate (ใบรับรอง) ว่า ‘ผมไม่เอาเผด็จการนะ’ คุณเชื่อผมสิ เพราะว่าอะไร เพราะผมน่ะแอนตี้ ต่อต้านระบอบเผด็จการมาโดยตลอด แม้กระทั่งจะต้องลี้ภัย ถูกริบทรัพย์ ผมก็จะไม่ยอมก้มหัวให้เผด็จการ แค่นั้นเอง แล้วผมก็จะทำหน้าที่ เอาให้ลูกศิษย์ลูกหา คนรุ่นหลัง เขารู้ว่าประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่ต้องห่วงแหน เป็นสิ่งที่คนต้องปกป้องรักษา แล้วก็ต้องช่วยกันทำให้ระบอบราชการ ระบบทหารอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลกลางจริงๆ เหมือนกับประเทศสหรัฐอเมริกา [ทหาร]ในอเมริกาไม่มีสิทธิที่จะเถียงประธานาธิบดีนะ แม้กระทั่งนายพลแม็คอาเธอร์ วีรบุรุษสงครามยังโดนปลดซะเลย (หัวเราะ) นั่นล่ะ เราต้องทำอย่างนั้นให้ได้ ไม่ใช่มาบอกว่าจอมพล คือคนที่มีอำนาจเหนือพลเมือง”

“ผมมีหลานมาอยู่ที่นี่ด้วย ผมเห็นว่าประเทศนี้เขาให้การศึกษากับเด็กเขาสำคัญที่สุด ผมเขียนไว้ข้างหลังนี่ รัฐธรรมนูญของเขา คำประกาศของเขา เขียนมาตั้งแต่ พ.ศ.2300 กว่าๆ 230 กว่าปี แก้เล็กๆ น้อยๆ เท่านั้นแหละ แต่ไม่เคยฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วไม่มีทหารคนไหนกล้าฉีกรัฐธรรมนูญ นี่คือกติกาของการปกครองบ้านเมือง ไม่ใช่กระดาษที่จะฉีกทิ้งง่ายๆ แต่เมืองไทยฉีกกันมากว่า 20 ครั้งแล้ว โดยอำนาจของปากกระบอกปืน ไม่ใช่ประชาชนฉีก นี่คือหลักประกันว่าจะปกครองโดยมีกติกาที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน” จารุพงศ์กล่าว


จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ กล่าวถึงนาฬิกาหมุดหมายคณะราษฎรที่ตั้งอยู่ด้านหลัง

“ผมมีตัวสุดท้ายนี่ก็คือนาฬิกาหมุดหมาย เป็นนาฬิกาที่คุณสมบัติ บุญงามอนงค์ (บก.ลายจุด) เป็นคนทำ ผมบริจาคเงินแล้วก็ร่วมซื้อมา มันเป็นตัวหมุดคณะราษฎร แล้วก็เป็นนาฬิกา แต่ผมให้นาฬิกาผมหยุด ณ เวลา 6 โมงเช้า แล้วไม่ให้เดิน เพราะมันเป็นเวลาการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ผมจึงเอานาฬิกานี้มาตั้งวางไว้เป็นสัญลักษณ์ แต่มันก็น่าเสียใจนะ พอเวลามันไม่เดิน แถมมีคนพยายามหมุนให้มันทวนกระแสด้วย มันไปไม่ไหวแล้ว (ผู้สื่อข่าว - ถ้าวันหนึ่งประเทศไทยมีประชาธิปไตยที่แท้จริง นาฬิกาเรือนนี้จะเดิน) ใช่ครับ เดินหน้าต่อไป” จารุพงศ์กล่าวทิ้งท้าย

15 ปีรัฐประหาร 49 (1) ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ : รัฐทหารศักดินากับมวลชนผู้สร้างความชอบธรรม