มันจักต้องกล้าหาญมากนักหรือในการปฎิบัติตามครรลองระบอบรัฐสภา
รักษาระเบียบรัฐธรรมนูญไม่ให้หัวหน้าฝ่ายบริหารใช้อำนาจล่วงล้ำตามอำเภอใจ
แม้นว่าก็รู้ๆ กันว่ารัฐบาลนี้เพียงแค่เอาการเลือกตั้งบังหน้า
เพื่อสืบทอดอำนาจเป็น คสช.๒
การอภิปราย ‘ไม่รับ’
การปรับ ‘กฎหมายชั่วคราว’ พระราชกำหนดโอนอัตรากำลังพลไปสู่หน่วยรักษาพระองค์ ให้เป็นพระราชบัญญัติ ‘กฎหมายถาวร’ ของปิยบุตร แสงกนกกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ
เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ นั่น
เป็นการรักษาขอบเขตอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร
ที่ ส.ส. ๓๖๖ คน รวมทั้งที่อยู่ในสังกัด ‘พรรคเพื่อไทย’
ไม่พร้อมที่จะร่วมด้วย อาจจะเนื่องเพราะ “ไม่รู้ หรือฝัน” เหมือนกับ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตัวสำคัญที่ปิยบุตรชี้ว่าเป็นผู้ละเมิดอำนาจนั้น
“ท่านคงคุ้นชินกับการมีอำนาจพิเศษตามมาตรา
๔๔ ที่ท่านใช้มา ๕ ปีเศษ ประเภทเปิดปุ๊บแล้วติดปั๊บทันที...มีหลายกรณีครับ
ที่ท่านออกประกาศคำสั่งแล้วมีความผิดพลาดเกิดขึ้น แล้วท่านก็แก้ไขด้วยการออก ม.๔๔
มาแก้ไขมันอีก”
ปิยบุตรยกตัวอย่างการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จพิเศษอย่างเหลิงของหัวหน้าคณะยึดอำนาจ
ที่ทำให้ประธานสภาฯ ชวน หลีกภัย เห็นว่าออกนอกประเด็น ขอให้กลับเข้าเรื่อง
ซึ่งก็เป็นประเด็นเดียวกันว่ารัฐบาลประยุทธ์ ๒ ออกพระราชกำหนดโอนอัตรากำลังฯ
แบบเดียวกัน คือ ตามอำเภอใจ
ประเด็นอยู่ที่มีรัฐธรรมนูญมาตรา ๑๗๒
ที่กำหนดว่าการออกพระราชกำหนดโดยรัฐบาลจะต้องมีความเหมาะสมอย่างไร เช่น วรรคสอง
ที่ว่าจักต้อง “เป็นกรณีฉุกเฉิน ที่มีความจำเป็นรีบด่วน อันมิอาจหลีกเลี่ยงได้”
ปิยบุตรชี้ให้เห็นว่าการออก
พรก.นี้ไม่เข้าข่าย ในเมื่อในรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ
และการถวายสัตย์ของเหล่าทหาร แม้แต่นโยบายข้อแรกของรัฐบาลนี้ล้วนระบุตรงกันว่า
ทั้งเครือข่ายกลาโหมมีหน้าที่ถวายการอารักขาปกป้อง และสนับสนุนภารกิจของสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว
-พรบ.กลาโหม มาตรา ๘(๒)
มิได้มีเหตุฉุกเฉินจำเป็นเร่งด่วนจะต้องออก
พรก.แต่อย่างใด ซึ่งหมายความว่าออกเป็น พรบ.ในภายหลังตามกระบวนการรัฐสภา
มิใช่ว่านึกอยากจะออกกฎหมายอะไรเองเหมือนเมื่อครั้งเป็นรัฐบาล คสช.๑ ใช้ ม.๔๔
ไม่ได้แล้วก็หันมาใช้ พรก.แทน
“ปรากฏว่าคณะรัฐมนตรีไม่ได้ชี้แจงอะไรเลย”
เพื่อแสดงว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอันจะทำให้เกิดผลเสียหายร้ายแรงถ้าไม่ออก พรก.นี้
ดังนั้น “หากเราปล่อยผ่านเรื่องนี้ไป” ก็เท่ากับเป็นการยืนยันการใช้อำนาจตามใจชอบของ
พล.อ.ประยุทธ์
“นานวันเข้าครับ ท่านประธานฯ
ก็จะกลายเป็นการใช้อำนาจ 'มาตรา ๔๔ จำแลง' ครับ
เรื่องนี้จึงต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง...ทั้งการถวายสัตย์ปฏิญานไม่ครบถ้วนตาม
รธน.มาตรา ๑๖๑ ทั้งการแถลงนโยบายโดยไม่แจกแจงที่มาของรายได้ ตาม ม.๑๖๒
ทั้งการตรา พรก.แก้ไขเพิ่มเติม พรบ.ส่งเสริมพัฒนาและคุ้มครองสถาบันครอบครัว
พ.ศ.๒๕๖๒ จนกระทั่งมาถึงการตรา พรก.ฉบับนี้ ซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ในมาตรา
๑๗๒
ทั้งหมดนี้มันเป็นปัญหาพื้นฐานที่สำคัญ” ว่าเป็นการ
“สร้างบรรทัดฐานที่ผิดๆ นายกฯ อยากได้กฎหมายอะไร ขี้เกียจรอสภา ไม่อยากมาสภา
ก็ใช้อำนาจตราพระราชกำหนด”
ครั้นปิยบุตรเริ่มบรรยายถึงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ทั่นประธานฯ (ชวน) ก็เร่งเตือนให้สรุป ว่าสมควรแก่เวลาแล้ว
ปิยบุตรจึงได้เร่งสรุปว่า ระบอบที่ว่านี้ไม่ใช่ ‘สาธารณรัฐ’ และไม่ใช่ ‘สมบูรณาญาสิทธิราช’ ด้วยเช่นกัน
“ในคำวินิจฉัยของศาลรัฐธณณมนูญ ที่ ๓/๒๕๖๒
ในคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ เนื้อหาของคำวินิจฉัยก็ยืนยันว่า...พระมหากษัตริย์ทรงอยู่เหนือการเมือง
ทรงเป็นกลางทางการเมือง และใช้คำนี้เลยว่าทรง ‘ปกเกล้าฯ’ แต่ไม่ ‘ปกครอง’
...รัฐมนตรีต้องเป็นผู้รับผิดชอบ”
(ตอนนี้ทั่นประธานฯ ร้อนใจเร่งให้สรุปอีก) ซึ่งพอดีเป็นจุดแทงใจว่าจะผลักภาระหรือปัดขยะใส่ใต้เบื้องยุคลบาทไม่ได้นะ
การรวบรัดออก พรก.เจ้าปัญหาเป็นความมักง่ายเอาแต่ใจของรัฐบาลประยุทธ์เอง
ปิยบุตรเลยบอกทั่นประธานฯ อีกว่าการอภิปรายของเขานี้เพื่อยืนยันอำนาจของรัฐสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลกับฝ่ายบริหาร
ปกป้องรักษาระบอบประชาธิปไตยฯ “การแสดงออกซึ่งความจงรักภักดี
มิใช่ชี้หน้าด่าคนอื่น...
(ทั่นประธานฯ ท้วงอีกทีว่า “นอกๆ
ไปแล้วครับ”) ปิยบุตรก็เลยแถมปลายนวมว่า “มิใช่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์”
ซึ่งขณะเขียนนี้ ยังไม่เห็นมีใครแถ
แต่ว่าไม่ช้าคงมา