“อยากให้ทำมากขึ้น
เป็นเรื่องที่ทุกคนทุกฝ่ายต้องเริ่มที่ตัวเอง” ตัวใหญ่คนหนึ่งพูดกับพวกตัวเล็กๆ “แต่สิ่งที่
DD ต้องการเห็นในวันนี้คือ
ความร่วมมือของพนักงานทุกคน” ฟังแล้วคลับคล้ายคำของตัวใหญ่ที่สุดแห่งเมืองนี้
ข่าวว่าผู้บริหารสูงสุดของการบินไทยยอมรับเป็นครั้งแรกว่ามี
‘วิกฤตจริง’ ในบริษัท เพราะ “การแข่งขันในปีนี้รุนแรงมากขึ้นจนทำให้ Operating
Profit ติดลบ” แต่ก็ “ขอยืนยันว่า ‘ไม่ยอมแพ้’ แม้สถานการณ์จะน่ากลัว”
ปัญหาเรื่อง ‘บ่จี๊’ ไม่มีรายได้เข้าแต่รายจ่ายจมหูเนี่ย
มีข้อแก้ตัวสำเร็จรูปเหมือนๆ กันยังกับ ‘default’ ในภาษาไอที
ตั้งแต่นายกฯ ลงไปถึงรัฐมนตรีช่วยว่าการ ต้องบอกว่าเศรษฐกิจโลกยังไม่กระเตื้อง
สงครามการค้ามหาอำนาจ บลา บลา บลา
ผมทำคนเดียวไม่ได้
งานเยอะหลายด้าน ประชาชนต้องช่วยกัน ข้าว-ยางไม่ดีให้ไปปลูกหมามุ่ย-สตรอว์แบรี่
น้ำท่วม-เลี้ยงปลา น้ำลด-ขุดบ่อ ซื้อเรือดำน้ำ-รถถังไว้ใช้สวนสนาม
เพื่อนบ้านจะได้เกรงใจ อะไรเทือกนั้น
ขนาดจะแห่แหนล่องเรือ
เชิดหน้าประชันกับพิธีโบราณแดนอาทิตย์อุทัยเสียหน่อย ยังต้องเลื่อนออกไป เหตุเพราะ concubine หมายเลข ๑ เกิดเฮี้ยวแย่งที่นั่ง
นี่ละ ‘ไตแลนเดีย’ แดนกะลา
ดังนั้นเมื่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หลุดออกมาระหว่างอบรม ‘คุณธรรม’ การบินไทย เมื่อ ๑๗ ตุลาว่า “การแก้ปัญหาที่ให้ลดเงินเดือนฝ่ายบริหารก็ไม่เกี่ยวกับพนักงานระดับล่าง”
จึงหมายความอย่างเดียวกับที่นายกฯ บอกว่าประชาชนต้องช่วยกัน
คำว่า “ถ้าพนักงานยังไม่ตื่น
และไม่ทำอะไรจริงจัง ก็หมดเวลาที่จะสู้กันแล้ว” ของ สุเมธ
ดำรงชัยธรรม มีความหมายอย่างเดียวกับที่โฆษกรัฐบาล คสช.๒ บอกว่าคนจนดีแต่แบมือขอ
ไม่ยอมช่วยตัวเอง งบประมาณเบิกง่ายเอาไปแจกชั้นกลางดีกว่า นี่ก็เพิ่งแถม ‘ชิมช้อปใช้’ อีก ๘๐๐
ขณะที่ ‘สมัชชาคนจน’ ปักหลักเรียกร้องริมคลองข้างทำเนียบมาเกือบ ๒๐ วันแล้ว ไม่ได้อะไรคืบหน้า
รัฐมนตรีหลายกระทรวงส่งลูกน้องไปเจรจา ๔-๕ รอบ แล้วยังสรุปอะไรไม่ได้
เก็บข้อมูลเข้าแฟ้มกลับกระทรวงรอเจ้านายตัดสินใจ
พวกที่ตัดสินใจไวเกิ๊นอย่าง ‘คมนาคม’ คิดจะขาย ‘จีพีเอส’ ให้รถทุกคันต้องติด เครื่องละ ๓ พันบาท ค่าบริการอีกเดือนละ ๓๐๐
เจอผู้บริโภครู้ไต๋ค้านทันควัน ไม่เกินข้ามวัน ‘ยอมถอย’ เปลี่ยนจากหาข้อสรุป ๑ เดือน ไปเป็นขอศึกษา ๑ ปี
(https://www.kaohoon.com/content/322273,
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_2994134
และ https://www.thansettakij.com/content/412595.facebook)
เรื่องชาวบ้านหลากหลายจังหวัดโดยการประสานของสมัชชาคนจน
มาชุมนุมกางเต๊นนอนกันอยู่ที่ถนนราชดำเนินนอก ๑๗ วันเข้านี่แล้ว
ไม่เป็นข่าวออกสื่อสายหลัก นอกจาก ‘ว้อยซ์’
และ ‘โคโค่นัทส์’ แต่ว่าแกนนำถูกฟ้องคดี
‘สอย’ ทีละคนสองคน
“เมื่อวานที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกหมายเรียกแกนนำ
ในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงาน ตาม พ.ร.บ. การชุมนุมในพื้นที่สาธารณะ
ทั้งที่แกนนำมีการแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อขออนุญาตชุมนุมแล้ว” ไพฑูรย์ สร้อยสด
โฆษกสมัชชาคนจนเผย
ในขณะที่การเจรจาบางส่วนไม่มีความคืบหน้า
แถมกระบวนการแก้ปัญหา “เหมือนย้อนกลับไปเริ่มต้นใหม่ เมื่อปี ๒๕๔๕”
อย่างเรื่องเขื่อนปากมูล แก่งเสือเต้น และท่าแซะ การเจรจา “คืบหน้าราว ๒๐%
แต่ไม่เห็นแนวทางการแก้ไขที่เป็นรูปธรรม”
คืบหน้าน้อยที่สุดก็เรื่อง ‘ทวงคืนผืนป่า’ ฝ่ายสมัชชาฯ ชี้ว่าปัญหาอยู่ที่ “แนวทางของคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ
(คทช.)” จึง “เสนอให้ใช้ พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ ๒๕๑๑ แทน เพิ่อจัดสรรในรูปแบบนิคมสหกรณ์”
ยื่นไปตั้งแต่วันที่ ๒๑ กันยา
แม้ถึงวันเริ่มชุมนุมเมื่อ ๖ ตุลา รัฐมนตรีอ้างว่ายังไม่รู้เรื่อง
“ไม่ทราบรายละเอียด” ถึงตอนนี้ปรากฏว่ามีเจ้าหน้าที่รัฐไปคุกคามครอบครัวและญาติของแกนนำในต่างจังหวัด
ที่วาริชภูมิ สกลนครมีการพกปืนให้เห็น
และใช้มือตบที่ปืนระหว่างไปถามหาแกนนำกับภรรยาและลูกของเขา
ผู้สื่อข่าว ‘Coconuts Bangkok’ ลงพื้นที่สัมภาษณ์ผู้ชุมนุมตามเต๊นต่างๆ
ริมถนนราชดำเนินนอก ใกล้ทำเนียบรัฐบาล ฉลวย จันทร์ช่วง
จากชุมพรกล่าวถึงเขื่อนท่าแซะว่า “จะช่วยอะไรไม่ได้เลยถ้าเกิดภัยธรรมชาติ”
มันไม่ได้แก้ปัญหาน้ำท่วมหรือน้ำแล้ง
แต่กลับ “จะทำให้ชาวบ้าน ๗๐๐
หลังคาเรือนต้องพลัดที่อยู่อาศัย” สตรีอีกคนจากศรีสะเกษพูดบ้าง
“ไม่ใช่ว่าพวกเราอยากที่จะมาชุมนุมนี่นะ
เราต้องมานอนข้างถนนก็เพราะชีวิตความเป็นอยู่ของเรามันพังไปแล้ว”
เทียร่า กมลวัฒนาวิทย์ รายงานด้วยว่า ผู้ชุมนุมหลายต่อหลายคนขอโทษขอโพย
ที่ต้องมากางเต๊นกีดขวางเส้นทางจราจรอย่างนี้