วันพุธ, ตุลาคม 23, 2562

ไทยรัฐออนไลน์ : สรุปปม “สมัชชาคนจน” ผู้เฒ่ากัดฟันสู้ ทุกข์หนัก จากบ้านมาชุมนุม พ้อไม่เห็นหัวคนจน





สรุปปม “สมัชชาคนจน” ผู้เฒ่ากัดฟันสู้ ทุกข์หนัก จากบ้านมาชุมนุม พ้อไม่เห็นหัวคนจน

22 ต.ค. 2562
ไทยรัฐออนไลน์

“สมัชชาคนจน” ประเด็นที่หลายคนบอกว่า เรื่องนี้ไม่ค่อยมีพื้นที่สื่อมากมายเท่าใดนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องปากท้องของคนยากคนจนที่อดทนตากแดดตากลมกางเต็นท์ชุมนุมอยู่ในเมืองกรุง โดยที่ปู่ย่าตายายกลุ่มนี้มุ่งหวังให้ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองแก้ปัญหาที่พวกเขาเผชิญเสียที ทีมข่าวเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ไล่เรียงเรื่องราว “สมัชชาคนจน” ให้คุณเข้าใจง่ายๆ ดังต่อไปนี้
6 ต.ค.62 เครือข่ายองค์กรชาวบ้านในนาม “สมัชชาคนจน” เดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากรุงเทพฯ เพื่อชุมนุมเรียกร้องแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน และผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้ เป็นการชุมนุมใหญ่ครั้งแรกในรอบ 5 ปี (ตั้งแต่รัฐประหารปี 57)

วันแรก สมัชชาคนจน ปักหลักพักค้างบริเวณข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน แต่ 2 วันต่อมา (8 ต.ค.62) สมัชชาคนจน เดินไปตามเส้นทางรอบทำเนียบรัฐบาล

เหตุผลที่พวกเขาต้องออกเดิน ก็เพื่อต้องการสื่อสารกับคนเมืองให้ได้รับรู้ปัญหาที่ชาวบ้านได้รับผลกระทบจากนโยบายภาครัฐในหลายพื้นที่




สำหรับการออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ "สมัชชาคนจน" เรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐ จำนวน 5 กลุ่มปัญหา รวม 35 กรณี

โดย 5 กลุ่มปัญหา มีดังต่อไปนี้

1.กรณีปัญหาที่สาธารณประโยชน์ ที่ราชพัสดุ พื้นที่ป่าไม้ ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติ ที่ดินของรัฐประเภทอื่นๆ และกรณีผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่า

2.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาโครงการก่อสร้างเขื่อน ฝาย และอ่างเก็บน้ำ

3.แนวทางการแก้ไขปัญหากรณีปัญหาได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ

4.แนวทางการแก้ไขปัญหาด้านการเกษตร

5.แนวทางการเจรจาแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน





ส่วน 35 กรณีที่เกิดขึ้น ทีมข่าวขอยกตัวอย่างเช่น ปัญหาราคาพืชผลการเกษตรตกต่ำ, ปัญหาการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม, ปัญหาการตรวจพบสารตะกั่วในเลือดพนักงานสูงกว่าค่าที่กำหนด, ปัญหานายจ้างปิดกิจการ ลอยแพลูกจ้าง, ชาวบ้านถูกเวนคืนที่ดิน เพราะโครงการอุตสาหกรรม

ชาวบ้านไม่มีเอกสารสิทธิทำกิน เพราะร่าง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2562 ที่จะมีผลบังคับใช้กลางเดือน พ.ย.นี้, ปัญหาสร้างเขื่อนที่ทำให้สูญเสียที่ดินและอาชีพ, ปัญหาประกาศเขตป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน, ถูกขับไล่ออกจากที่ดิน จากนโยบายทวงคืนผืนป่า

หนึ่งในปัญหาของสมัชชาคนจนที่ยืดเยื้อยาวนานกว่า 20 ปี ผ่านมาแล้วกว่า 10 รัฐบาล คือ ปัญหาเขื่อนปากมูล ซึ่งมีชาวบ้านมากกว่า 3,000 คน ยังไม่ได้รับเงินเยียวยา



นายบุญยืน สุขใหม่ กรรมการบริหารสมัชชาคนจน กล่าวกับสื่อว่า คนจนในหลายพื้นที่ได้รับความเดือดร้อนมานาน ประชาชนจำนวนมากถูกไล่ออกจากพื้นที่ จากนโยบายทวงคืนผืนป่าในยุค คสช. และที่ผ่านมาชาวบ้านได้พยายามแจ้งปัญหาให้รัฐบาลฟังมาโดยตลอด แต่ไม่ได้รับการแก้ไข

ตัวแทนสมัชชาคนจนระบุว่า ที่ผ่านมา รัฐบาลอ้างว่ามีกลไกคณะกรรมการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชนอยู่แล้ว แต่ทางสมัชชาคนจนปฏิเสธเข้าสู่กลไกนี้ เพราะมองว่า สัดส่วนคณะกรรมการไม่ได้มีตัวแทนชาวบ้านเข้าไปร่วมอย่างแท้จริง

ตัวแทนสมัชชาคนจน ยังระบุอีกว่า สาเหตุที่แก้ปัญหาค้างคามานาน อาจเนื่องมาจากผลประโยชน์ที่ภาครัฐเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้อง



8 ต.ค.62 นายเทวัญ ลิปตพัลลภ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนรัฐบาลเจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม เบื้องต้นได้ข้อสรุปว่า จากนี้ นายเทวัญ จะรับหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการแก้ไขปัญหาตามข้อเรียกร้อง

15 ต.ค.62 หรือนับเป็น 10 วันที่สมัชชาคนจนชุมนุมข้างกระทรวงศึกษาธิการ ถนนราชดำเนิน สมัชชาคนจน ได้ออกแถลงการณ์ว่า หลังจากนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้ง เทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนนายกรัฐมนตรีในการเจรจาแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน พวกเรายังไม่เห็นถึงความจริงใจของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา

“พวกเราจึงมีความจำเป็นที่จะต้องยกระดับการเคลื่อนไหวกดดัน เพื่อให้เกิดการเจรจากับรัฐบาล” เนื้อหาในแถลงการณ์ของกลุ่มสมัชชาคนจน ดูมีสัญญาณไม่ดี



ช่วงบ่าย รัฐบาลไม่รอให้ปัญหายืดเยื้อ ผู้ใหญ่ในรัฐบาล มาประชุมร่วมกับตัวแทนสมาชิกสมัชชาคนจนทันที โดยใช้เวลาคุยยาวนานถึง 4 ชั่วโมง (ผู้ใหญ่ที่ว่านี้ก็คือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายนิพนธ์ บุญญามณี นายทรงศักดิ์ ทองศรี รมช.มหาดไทย นายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี)

ผลประชุมสรุปว่า รัฐมนตรีแต่ละคนได้รับฟังการสะท้อนปัญหาของตัวแทนสมัชชาคนจน และรับไปประสานงานเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

16 ต.ค. 62 นายเทวัญ เปิดเผยถึงความคืบหน้าว่า บางปัญหาอาจต้องใช้ระยะเวลา ส่วนปัญหาใดมีความเร่งด่วนจะรีบให้กระทรวงช่วยดำเนินการทันที แต่ต้องมีการพูดคุยกันอย่างต่อเนื่องอีกระยะหนึ่ง และได้ทำบันทึกสรุปร่วมกัน เพื่อนำเรียนนายกรัฐมนตรี โดยเสนอผ่านทางรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผ่าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอให้นายกรัฐมนตรีทราบต่อไป



20 ต.ค.62 หรือนับเป็น 15 วันของการชุมนุม รัฐบาลส่งผู้แทนมาเจรจา ซึ่งทางสมัชชาคนจนมองว่า รัฐบาลขาดความจริงใจ

21 ต.ค.62 หรือนับเป็น 16 วันของการชุมนุม ช่วงเช้าตรู่ กลุ่มผู้ชุมนุมสมัชชาคนจนเคลื่อนขบวนจากบริเวณริมคลองผดุงกรุงเกษม ข้างกระทรวงศึกษาธิการ มายังหน้าทำเนียบ ด้านถนนราชดำเนิน เพื่อเป็นการกดดันรัฐบาล

เหตุที่สมัชชาคนจนต้องเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลนั้น มีที่มาจากรัฐบาลนัดพบสมัชชาคนจนในช่วงเช้า ซึ่งแกนนำของสมัชชาคนจนเตรียมตัวเจรจาเป็นอย่างดี ชาวบ้านต่างมีความหวัง แต่รัฐบาลกลับขอเลื่อนเป็นช่วงบ่าย ซึ่งทางสมัชชาคนจนรู้สึกผิดหวังกับท่าทีของรัฐบาลที่ทำให้ดูเสมือนว่าไม่มีความจริงใจและความตั้งใจในการแก้ไขปัญหา แต่กลับมีเจตนาที่จะยื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ

ตลอดระยะเวลาของการชุมนุมกว่าครึ่งเดือน กลุ่มสมัชชาคนจนรู้สึกกังวลเสมอมาว่า ประชาชนผู้ใช้เส้นทางในการสัญจรไปมาในบริเวณที่มีการชุมนุม จะไม่ได้รับความสะดวก



22 ต.ค.62 นายเทวัญ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กล่าวกับสื่อว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้กำชับกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงให้มาลงมารับฟังความคิดเห็นในส่วนที่แต่ละกระทรวงต้องรับผิดชอบ เพื่อนำปัญหาแต่ละอย่างมาแก้ไขอีกครั้ง

“เราอยากกลับบ้าน ไม่มีใครอยากมาชุมนุม แต่พวกเราเดือดร้อน ดังนั้น เราจะกลับบ้านได้ก็ต่อเมื่อการเจรจาเป็นข้อยุติที่ดี” นายบารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน



สมัชชาคนจนยืนยันว่า ต้องมีการบันทึกข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาทุกเรื่อง เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถเชื่อใจรัฐบาลได้อีกแล้ว และคาดหวังว่า จะได้มีการเจรจาอย่างเสมอหน้ากับรัฐมนตรี ไม่ใช่ข้าราชการ โดยอยู่ภายใต้หลักการ “ประชาธิปไตยที่กินได้ การเมืองที่เห็นหัวคนจน”