วันเสาร์, ตุลาคม 26, 2562

"มันมาเป็นพวง...เศรษฐกิจตกสะเก็ด" คล้องจองไอเอ็มเอฟตัดจีดีพีเหลือ ๒.๙ มันชักไม่แน่เสียแล้วว่าจะไม่มี ‘crash’


มันมาเป็นพวงนะนี่ เศรษฐกิจตกสะเก็ดไปถึงอสังหาริมทรัพย์ ที่ว่าจะขายไม่ออก “สต็อกล้นข้ามปี ๖๓” นั่นเลย ไหนจะ ไอเอ็มเอฟเพิ่งแจ้ง จีดีพีไทยปีนี้ไม่มีทางโตถึง ๓% อย่างดี ๒.๙ กว่าๆ แถมค่าเงินบาทแข็งคา อาจถึง ๓๐ ถ้วน ตอนสิ้นปี (ขณะนี้ ๓๐.๑๘๗ บาทต่อดอลลาร์)

เว็บ AREA ของ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประกาศว่า ข่าวผู้จัดการเรื่อง อุปทานเหลือขาย ที่อยู่อาศัยล้นสต็อก ๑.๕ แสนหน่วยนั้น ไม่จริงของจริงมากกว่านี้ รวมแล้วที่ยังไม่ได้ขายทั้งสิ้น ๒๐๔,๕๘๕ หน่วย ทั้งห้องชุด ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว บ้านแฝด และอาคารพาณิชย์

แม้จะ “ไม่ได้ย่ำแย่มากเช่นในช่วงวิกฤติปี ๒๕๔๐ เพียงแต่การขายค่อนข้างช้าตามภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ดีขึ้นมาเลยตลอด ๕ ปีที่ผ่านมา”

คล้องจองกับรายงานของ ประชาชาติธุรกิจที่ว่าสามสมาคมอสังหาฯ โอด “ปีนี้ไม่สดใส” เอาเลย ตลาดค้าห้องชุดคอนโดฯ หดตัวต่อเนื่องมาตลอด ๙ เดือน จนคาดว่าไตรมาสสี่นี่อาจติดลบ ๒๐% ส่วนบ้านแนวราบ (เดี่ยว-แฝด-ทาวน์เฮ้าส์) ตกค้างถึง ๓๐%

อสังหาฯ ที่สร้างเสร็จแล้วไม่ได้ขายปีนี้ (ส่วนใหญ่เนื่องจากผู้ซื้อยังไม่โอน “เพราะการขอสินเชื่อทำได้ลำบากกว่าเดิม”) ซึ่ง “มีสต๊อกรวมกัน ๔.๕ หมื่นยูนิต มูลค่าไม่ต่ำกว่า ๒ แสนล้านบาท แบ่งเป็นคอนโดฯ ๗๑% บ้านแนวราบ ๒๙%” นั้น

ไม่ว่าตัวเลขอสังหาฯ สต็อกล้นจากสื่อแต่ละแหล่งจะต่างกันหลากหลาย ๔.๕ หมื่น (ประชาชาติ) ๑.๕ แสน (ผู้จัดการ) หรือ ๒.๐๔ (AREA) ความจริงก็คือตะบันสร้างกันขนาดนี้ เดี๋ยวก็จะมีเมกกาโปรเจ็คของเจ้าสัวอีอีซีมาเพิ่มอีก

มันชักไม่แน่เสียแล้วว่า จะไม่มี ‘crash’ เหมือนตอน ต้มยำกุ้ง เกิดขึ้นอีก ถึงปีหน้าอาจกลายเป็น ย่ำแย่เหมือนคำ ดร.โสภณ ที่ว่า “ของจริงมากกว่านี้” ก็ได้ ในเมื่อเป็นอันแน่ชัดแล้วว่าการเติบโตเศรษฐกิจไทยตามอัตราจีดีพี ไม่ได้เห็นเลข ๓
 
ตามข่าวว่าไอเอ็มเอฟแถลงเมื่อวานนี้เองว่า การขยายตัวเศรษฐกิจในเอเซียชะลอลงทั่ว ปีนี้ ๕% ถ้วนๆ ปีหน้า ๕.๑% ส่วนของไทยอย่างดีที่สุด ๒.๙% แล้วอาจเพิ่มเป็น ๓% ในปี ๖๓ ที่นักเศรษฐศาสตร์ประชารัฐเคยคุยนักหนาว่าจะได้ ๓.๕% นั่นอย่าหวัง


เป็นที่รู้กันว่าจีดีพีต่ำต้อยนี่ส่วนหนึ่ง (ขนาดใหญ่พอประมาณ) มาจากการส่งออกหดหาย วานนี้เอง (๒๕ ตุลา) เช่นกัน ข่าวช่องวันบอก “บริษัท SRF Industries (Thailand) Ltd. โรงงานเทคนิคสิ่งทอ (ผ้าใบยางรถยนต์) ที่ตั้งอยู่ภายในนิคมอุสาหกรรมมาบตาพุต ระยอง ขอเลิกจ้างพนักงาน

โดยมีผลวันนี้” ซ้ำระบุเหตุว่าเป็นเพราะ “เศรษฐกิจไม่น่าไว้ใจ-ตลาดชะลอตัว - ลูกค้ารายใหญ่ยกเลิกออเดอร์ - เงินบาทแข็งค่า กระทบการส่งออก”
 
เรื่องเงินบาทแข็งค่านั่นก็ต้องฟัง บลูมเบิร์กเขาบอก ณ ๒๔ ตุลา ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์อยู่ที่ ๓๐.๑๘๗ ค่าแข็งที่สุดนับแต่พฤษภา ๒๕๕๖ “แข็งกว่าใครๆ ในหมู่ตลาด (การเงิน) ที่กำลังโต ยกเว้นค่าเงินรูเบิ้ลของรัสเซีย”

บลูมเบิร์กชี้ว่าทั้งๆ ที่ผู้มีอำนาจในไทยพยายามแก้เทร็นด์ดิ่งนี้แล้ว โปรเฟสเซ่อโฆษกอ้าง นายกฯ สั่งคลังให้เร่ง รมว. อุตตม สาวนายน สั่งธนาคารแห่งประเทศไทยให้จัดการ ดังที่ โจนาธาน ออสทรี แห่งไอเอ็มเอฟเตือน

“ประเทศไทยสามารถใช้นโยบายการคลังและนโยบายการเงิน เพื่อประคองภาวะเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดตัวลง รวมทั้งควรส่งเสริมนโยบายการออมเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” ซึ่งแบ๊งค์ชาติก็ได้ทำการลดอัตราดอกเบี้ยไปหนหนึ่งแล้วเมือ่เดือนสิงหาคม

แต่ คณิต แสงสุพรรณ หนึ่งใน ๗ กรรมการนโยบายการคลังตีกันไว้แล้วว่า การลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอีก จะไม่ช่วยให้ความพยายามดึงอัตราแลกเปลี่ยนให้ดีขึ้นกว่าเดิมสักเท่าไร ยิ่งการประกาศลดค่าเงินบาท ยิ่งไม่สามารถทำได้ เพราะจะถูกข้อหา ปั่น ค่าเงิน สกุล

บลูมเบิร์กอ้างแหล่งวิจัย ๒๔ ราย โดยเฉพาะ มอร์แกน สแตนลี่ ที่ว่าเป็นไปได้เงินบาทจะแข็งค่าถึง ๓๐.๘ ในตอนปลายปี แล้วไปถึง ๓๑% ในปีหน้า (๖๓) แต่ตามการคำนวณของไอเอ็มเอฟ ค่าเงินบาทนี้ แข็งเกินจริง

“เงินบาทค่าสูงกว่าที่ควร วัดได้ว่าแข็งที่สุดนับแต่การเกิดเศรษฐกิจตกต่ำเมื่อปี ๒๕๕๐ อันเป็นผลต่อภาวะถล่ม ‘crash’ ของเศรษฐกิจทั่วทั้งเอเซียที่ตามมา