วันพุธ, มีนาคม 06, 2562

ผ่อนผัน 'ปูนใหญ่' ทำเหมืองแร่หินปูน ผิดแน่ๆ พรบ.แร่ ๒๕๕๙

พอข่าวฝุ่นละอองพิษในอากาศจางลงก็เอาเลย มีมติกันก่อนจะถึงเลือกตั้งแค่สิบกว่าวันนี่ละ วานนี้ (๕ มีนา) คณะรัฐมนตรี คสช. อนุมัติ “ผ่อนผันให้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เข้าทำประโยชน์ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าทับกวางและป่ามวกเหล็ก จ.สระบุรี เพื่อทำเหมืองแร่หิน” ได้

เรื่องนี้ไม่เข้าท่าเข้าทางสองอย่าง ก็คือ แร่หินที่ให้ทำนี่เป็นหินปูนที่ใช้ผลิตปูนซีเมนต์ต้นตอของฝุ่นพิษ ซึ่งพบมากที่จังหวัดสระบุรีที่มีอุตสาหกรรมประเภทนี้จำนวนมากอยู่แล้วอย่างหนึ่ง อีกอย่างพื้นที่ดังกล่าวขึ้นบัญชีป่าสงวนเพราะเป็นลุ่มน้ำชั้น ๑ เอ มีเนื้อที่ ๓,๒๒๓ ไร่

โดยเนื้อที่ประทานบัตรทั้งสิ้น ๑๕ แปลงรวมกัน ๓,๓๑๑ ไร่ ครอบคลุมลุ่มน้ำมิดทั้งหมดเลย ซ้ำร้ายอายุประทานบัตรให้ถึงปลายเดือนเมษายน ปี ๒๕๗๙ เกือบ ๑๘ ปีสูสียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่ง อจ.กานดา นาคน้อย เหน็บว่าคงเร่งมือผลิต “แข่งชิงที่ ๑ ของโลกกะจีน”
 
ส่วน เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ หัวหน้าพรรคสามัญชน นักต่อสู้เพื่อสภาพแวดล้อม เม้นต์ว่า “การขอผ่อนผันใช้ลุ่มน้ำ1A เพื่อทำเหมือง ไม่ง่าย ถ้าไม่เส้นใหญ่พอ งานนี้ต่อให้ ครม. อนุมัติก็ผิด กม. แร่ ม.188, 189 และ 17 วรรค 4 แน่นอน”

เช่นนี้ตีความคอมเม้นต์ของหัวหน้าพรรคสามัญชนได้สองอย่างเหมือนกัน หนึ่งที่ว่าขอผ่อนผันไม่ง่าย ต้องรู้ว่า ปูนใหญ่ หรือ SCG เป็นใคร ยิ่งใหญ่กว่าเจ้าสัว บางคนว่า

และสำหรับกรณีผิดกฎหมายแร่ มีหรือ คสช.จะแคร์ ขนาดกฎหมายที่พวกเขาเขียนเองยัง ลบด้วยเท้า บ่อยไป ประการสำคัญ ชื่อเสียงประเทศสำคัญกว่าถ้าได้เป็นแช้มป์ผลิตปูนซีเมนต์เป็นอันดับหนึ่งของโลก หลังจากที่วนเวียนที่ ๒-๓ มา ๒๐ ปี ดังที่ อจ.กานดาว่า
 
หากจะเกิดละอองพิษเพิ่มขึ้นให้ประชากรสูดเข้าไปทำลายปอด ตายผ่อนส่งเพิ่มอีกสักสิบยี่สิบล้านคน คสช.ทนได้ แต่ ศรีสุวรรณ จรรยา ภายใต้หมวกนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ทนไม่ได้ ออกแถลงการณ์คัดค้านเช่นกัน

“จะให้ประชาชนแปลความหมายการอนุมัติเรื่องนี้ไว้อย่างไร ทั้งที่ในอดีตหากจะมีการขอผ่อนผันก็จะอนุญาตให้ไม่เกิน ๑๐ ปีเท่านั้น แต่ครั้งนี้กลับประเคนให้ถึง ๑๘ ปีอย่างง่ายดาย” แถลงการณ์จี้ “เวลาชาวบ้านเข้าป่าไปเก็บเห็ด เก็บผักหวานในพื้นที่ป่าต้องถูกจับขังคุก”

นักตรวจสอบที่ฟ้องดะผู้นี้อ้างตัวบทกฎหมายเหมือนกัน แต่รวมถึงกฎหมายแม่ด้วยว่า “การใช้อำนาจดังกล่าวส่อจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ มาตรา ๕๓ มาตรา ๕๗ และมาตรา ๖๓ ประกอบ มาตรา ๑๗ วรรคสี่ ของ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.๒๕๕๙”

(https://www.prachachat.net/general/news-297808)