วันศุกร์, พฤศจิกายน 09, 2561

ปัญหา 'วัวพันหลัก' ของกฎหมาย คสช. ทั้งประกาศ ปปช. และอำนาจ กกต.

ปัญหาของประกาศคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เรื่องกำหนดให้นายกและกรรมการสภามหาวิทยาลัย รวมทั้งอธิการบดีในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้

ไม่ได้อยู่ที่คนร่าง รู้มากเสียจนเป็น วัวพันหลักเท่านั้น หากยังเป็นการออกกฎหมายสไตล์ คสช. เหมือนแม่ทัพนายกองออกคำสั่งกำลังพล ง่ายๆ รวดเร็ว เสียจนข้ามกระบวนการกลั่นกรอง ทั้งจากผู้ชำนาญในสาขาและการประชาพิจารณ์

จนทำให้ปรมาจารย์ของการออกกฎหมายตามใจ คสช. อย่างนายมีชัย ฤชุพันธุ์เอง ต้องวิ่งแจ้นไปลาออกจากการกรรมการสภามหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์ แม้จะอ้างว่า “ไม่ใช่เพราะกลัวการตรวจสอบ แต่ไม่อยากวุ่นวาย”

นายมนตรี นุ่มนาม หนึ่งในกรรมการ ๑๒ คน (รวมถึงนายมีชัย) ให้ข้อแก้ตัวเรื่องไม่อยากวุ่นวายว่า “เพราะหากเกิดข้อผิดพลาด จะทำให้เกิดความเสียหาย ไม่ว่าจะเป็นตนเอง ภรรยา หรือกระทั่งบุตร หากลืมแจ้งข้อมูลอะไรเพียงนิดเดียวอาจเกิดปัญหา ถูกอายัติบัญชีมีผลกระทบกับธุรกิจ”

ซึ่งก็เป็นข้ออ้างอย่างคนรู้มาก ในเมื่อบรรดาผู้ที่จะต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินเหล่านี้ล้วนเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ เป็นนักวิชาการ เป็นครูบาอาจารย์ ย่อมจะต้องรอบรู้ รอบคอบ และรอบจัดกับงานในหน้าที่รับผิดชอบ เรื่องผิดพลาด หลงลืม ไม่มีเสรีที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นได้อยู่แล้ว

โดยเฉพาะตัวนายมีชัยเองนั้นเป็นถึงประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์มาตรา ๒๓๔ ไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องยื่นบัญชีทรัพย์สิน ทั้งของตนเอง คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ (วรรค ๓)

ทำให้ ปปช. ต้องไปทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญต่อการนี้ขึ้นมา ระบุกรรมการและผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่เป็นการดำเนินการของรัฐ จนมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาออกมากำหนดฐานะและตำแหน่งบุคคลต่างๆ ที่เข้าข่าย เกิดการโกลาหลกันขนานใหญ่ในหมู่กรรมการสภามหาวิทยาลัย

เมื่อวันก่อนมีข่าวว่าสภามหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์จะชวนกันลาออกทั้งทีม ต่อมาก็คนดังอย่าง ดำรง พุฒตาล ประกาศจะลาออกจากราชภัฏสองแห่งที่ตนเป็นกรรมการอยู่ มาถึงราชภัฏราชนครินทร์ที่นายมีชัยเป็นกรรมการก็พากันลาออกทั้งแผง

ร้อนถึงที่ประชุมอธิการบดีนัดกันไปถกเรื่องนี้กันเครียด ได้เรื่องว่า ไม่เอาด้วยกับประกาศ ปปช. ที่ว่า “มีมติเสนอให้ ป.ป.ช.พิจารณาทบทวนประกาศดังกล่าว” อ้างว่าจะทำให้เกิดปัญหามากมาย เช่นไม่ครบองค์ประชุม ไม่สามารถกำหนดหลักสูตร และ/หรืออนุมัติปริญญา “อาจส่งผลกระทบต่อนักศึกษา” ได้
 
นี่ไง เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาเชียวละ ทั่นประธานที่ประชุม สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ แจงว่า “เป็นการสร้างภาระให้แก่ผู้ที่ต้องยื่นทรัพย์สินมากเกินควร รวมทั้งต้องยื่นทรัพย์สินของคู่สมรสและบุตรด้วย ขณะเดียวกันระยะเวลาที่กำหนดไว้ในประกาศ เพียง ๖๐ วัน ไม่เพียงพอต่อการดำเนินการ”

รมว.ศึกษาฯ ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ถึงกับต้องออกมาฉุดใหญ่ “ฝากขอร้องว่าอย่าเพิ่งลาออก ขอให้ทุกคนใจเย็นๆ ขณะนี้รัฐบาลกำลังหาทางออกให้”


ทางออกที่ว่า ไม่น่าจะเป็นการยกเลิกหรืองดบังคับใช้ประกาศ ปปช.ดังกล่าว ถ้าทำอย่างนั้นโดนแน่ อย่างน้อยๆ ก็ตราหน้า เขียนด้วยมือ ลบด้วยเท้าอย่างไม่เบาก็เป็น ผู้รักษากฎหมายละเมิดกฎหมาย (ม.๑๐๒) เสียเอง ดังที่ วีระ สมความคิด ดักทางไว้
 
ในฐานะที่เป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญที่อ้างว่าเป็นฉบับปราบโกงและมีแนวคิดเพื่อปฏิรูปการเมือง และหาก คสช.หรือรัฐบาลยอมลดเงื่อนไขหรือหลักเกณฑ์เพื่อยกเว้นให้บุคคลเหล่านี้ จะให้ตอบเหตุผลให้สังคมสาธารณะมีความเชื่อถือได้อย่างไร”


นี่ละที่ว่า วัวพันหลัก พอหนักเข้าก็จะเป็น งูกินหาง ตัวเอง เหมือนอย่าง กกต. กำลังจะเจอ เมื่อ พรป. ให้อำนาจล้นพ้นในการจัดเลือกตั้ง ครั้นทางสหภาพยุโรปติดต่อขอเข้ามาสังเกตุการณ์เลือกตั้งปี ๒๕๖๒ นี้ เช่นที่เคยทำมาแล้วสองครั้ง

คราวนี้ต่างกว่าครั้งก่อนๆ อยู่หน่อยตรงที่จะมีเจ้าหน้าที่ราว ๒๐๐-๔๐๐ คน ลงทั่วทุกพื้นที่ “ซึ่งถือว่าจำนวนมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” จนทำให้ กกต.ชักจะสั่น ยังไม่กล้าให้คำตอบเขาในทันใด ประธาน กกต. อิทธิพร บุญประคอง ขอไปปรึกษากระทรวงต่างประเทศ (ที่ประกาศแล้วว่าไม่เอา) ดูก่อน
 
แม้นว่าถูกนักข่าวซัก “ต้องถามความเห็นจาก คสช. ก่อนตัดสินใจหรือไม่” นายอิทธิพรตอบว่า “ยังไม่คิดว่า กกต. จะต้องไปขออนุมัติหรืออนุญาตจาก คสช. เพราะเป็นเรื่องการจัดการเลือกตั้ง (ที่ พรป.ให้อำนาจไว้) โดยแท้”


แต่ถ้า คสช.ติงมา “เราก็อาจนำประกอบการพิจารณา คือความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง” กกต.รับฟังทั้งนั้น รวมถึง กอ.รมน. พ่องทุกองค์กรส่วนความเห็นประชาชนธรรมดาทั่วไปล่ะจะฟังมั้ย ขออภัย อันนี้ไม่มีสื่อไหนถาม