หนึ่งภาพเผยความจริง.. สี่ทศวรรษ หกตุลาฯ
ก้อง ฤทธิ์ดี
Meida Inside Out (มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์)
10/01/2016
รูปนี้โหดร้าย เพราะความจริงนั้นโหดร้าย
ขณะที่ความทรงจำลางเลือนไปแล้วและความจริงยังคงมืดมัว แต่รูปภาพหนึ่งสามารถสื่อเรื่องราว สะท้อนความจริงแสนเหี้ยมโหด แม้จะมีรูปภาพและข่าวสารมากมายเกี่ยวกับเช้าของวันที่ 6 ตุลาคม 2519 เมื่อตำรวจและกลุ่มฝ่ายขวาติดอาวุธเข้าปิดล้อมและโจมตีนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข่นฆ่าและทารุณนักศึกษาจำนวนมากในเหตุการณ์ที่นับเป็นหนึ่งในเหตุการณ์นองเลือดที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ยุคใหม่ของไทย แต่มีภาพหนึ่งที่ถ่ายโดย นีล อูเลวิช ช่างภาพของสำนักข่าวเอพี เก็บบันทึกความโหดร้ายอันเลือดเย็น ความบ้าคลั่ง ของเช้าวันนั้น เมื่อ 40 ปีก่อน เป็นภาพศพที่ห้อยลงมาจากต้นไม้ในสนามหลวง ขณะที่ชายคนหนึ่งกำลังจะฟาดร่างที่ไร้วิญญาณนี้ด้วยเก้าอี้พับ ภาพนี้ยังทำให้บางคนรู้สึกสยองเพราะมีภาพของเด็กชายคนหนึ่งที่ยืนท่ามกลางคนดูกำลังหัวเราะอย่างเริงร่า
ภาพประวัติศาสตร์ของอูเลวิชมีความสำคัญอย่างใหญ่หลวง และยิ่งสำคัญมากขึ้นเมื่อผ่านไปหลายทศวรรษ ขณะที่คนในสังคมผ่านเหตุการณ์ความรุนแรงอื่นๆ อันเนื่องจากความขัดแย้งทางอุดมการณ์ มีร่างไร้วิญญาณบนท้องถนนมากขึ้น วันนี้ “รูปเก้าอี้” ถูกใช้เป็นตัวอย่างอธิบายผลที่เลวร้ายที่สุดจากความขัดแย้งที่อยู่เหนือความควบคุมหลังการปลุกระดมเรื่องชาตินิยมที่เพาะพันธุ์ความเกลียดกลัวฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง (ในปี 2519 คือพวกคอมมิวนิสต์) พลังอันน่าขนลุกของภาพนี้ยังพัฒนาขึ้นในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา เพราะถูกใช้เป็นหน้าปกอัลบั้มเพลงของวงดนตรีร็อคอเมริกันวงหนึ่ง (อูเลวิชไม่ทราบเรื่องนี้จนกระทั่งเขาเห็นหน้าปกนี้) ภาพนั้นยังจุดประกายให้กับการผลิตละครและภาพยนตร์ไทยหลายเรื่อง รวมทั้งถูกใช้เป็นประเด็นเสียดสีที่แพร่หลายทางอินเทอร์เน็ต คำว่า “เก้าอี้” หมายถึงเก้าอี้ที่อยู่ในภาพยังมีนัยยะเชิงล้อเลียนในหมู่คนหลากหลายวงการของไทย มีความหมายถึงการข่มขู่คุกคามคนที่มีแนวคิดต่อต้านสถาบันฯ
ปัจจุบัน อูเลวิชอายุ 70 ปี เขาได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากภาพที่เขาถ่ายนี้ หลังจากทำงานอยู่ในกรุงเทพ, ปักกิ่ง และโตเกียว เขาย้ายกลับไปอเมริกาในปี 1990 เราติดต่อเขาผ่านอีเมลสำหรับการเขียนรายงานชิ้นหนึ่งในวาระครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ ที่ป่าเถื่อน และถามเขาเกี่ยวกับเหตุการณ์วันนั้น นี่คือบทสนทนาที่ได้รับการตรวจแก้แล้ว
นีล อูเลวิช (Photo courtesy of Neal Ulevich)
ก้อง ฤทธิ์ดี: วันที่ 6 ตุลาคมคุณมาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตอนไหน สถานการณ์ตึงเครียดอยู่ โดยเฉพาะวันที่ 5 ตุลาคม ช่วงเวลาหลายวันก่อนเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม คุณรู้สึกบ้างมั้ยว่ามีจุดที่อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้
นีล อูเลวิช: เท่าที่ผมจำได้ ต้องรู้นะว่ามันสี่ทศวรรษมาแล้ว ผมมาถึงราวเจ็ดโมงครึ่งหรือแปดโมงเช้า ผมไม่รู้เลยว่าสถานการณ์เดือดพล่านมาก่อนหน้านั้นหลายชั่วโมง นักข่าวไทยของเอพีไปอยู่ที่นั่นและกลับมาที่สำนักงานแต่เช้าตรู่เพื่อเขียนรายงานข่าว เขาโทรหาเดนิส เกรย์ (Denis Gray) หัวหน้าสำนักงานเพื่อแจ้งให้รู้ความคืบหน้าต่างๆ ของสถานการณ์
เดนิสถามเขาว่าได้เรียกช่างภาพไปหรือไม่ คำตอบคือไม่ ตอนนั้นนักข่าวไทยคนนี้โทรบอกผมว่าเกิดเหตุรุนแรงที่มหาวิทยาลัย แต่ไม่ได้บอกว่าเกิดมาแล้วหลายชั่วโมง ช่างภาพของเอพี มังกร คำเรืองวงศ์ ก็อยู่ในเหตุการณ์ด้วย และได้รับแจ้งจากพวกเพื่อนคนไทยว่ามีเหตุรุนแรงในมหาวิทยาลัย
ราวเจ็ดโมงครึ่ง ทั้งสองคนกลับมาที่สำนักงาน คนหนึ่งมาเขียนรายงาน อีกคนไปล้างฟิล์ม
เมื่อได้รับการบอกเล่าเรื่องเหตุรุนแรง ผมก็รีบนั่งแท็กซี่ไปที่มหาวิทยาลัย การสื่อสารผิดพลาดที่เล่ามานั้นทำให้ผมมาถึงที่เกิดเหตุก่อนสถานการณ์ถึงจุดไคลแมกซ์พอดี ผมเป็นพนักงานเอพีคนเดียวที่อยู่ตรงนั้น ผมรู้กำหนดส่งงาน แต่สถานการณ์ตึงเครียดมาก และอาจนำไปสู่การฆ่ากันได้ ซึ่งผมรู้สึกว่าการอยู่ที่นั่นเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ได้ใส่ใจกับกำหนดส่งงานแล้ว
เพื่อนช่างภาพคนไทยที่ผมนับถือของยูพีไอถูกยิงที่คอไม่กี่นาทีหลังมาถึง เขารอดชีวิต
ก้อง ฤทธิ์ดี: คุณจำได้มั้ยว่าจุดไหนที่กระแทกให้คุณคิดว่าสถานการณ์กำลังไปสู่จุดที่เลวร้ายจริงๆ
นีล อูเลวิช: ทันทีทันใดเลย
ก้อง ฤทธิ์ดี: ในฐานะช่างภาพ คุณเอาตัวเองไปอยู่ตรงไหนในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณมีเวลาตั้งสติมั้ยที่จะไปหามุมให้ได้ภาพดีๆ
นีล อูเลวิช: ผมอยู่ที่สนามฟุตบอลทางฝั่งตำรวจ/พลเรือนติดอาวุธ เพราะการยิงทั้งหมดมาจากที่นั่น และยิงออกไปตรงที่พวกนักศึกษาหลบอยู่ ดูเหมือนว่าจุดอื่นๆ จะอันตราย ช่วงหนึ่งที่สถานการณ์สงบลง ผมเดินข้ามสนามฟุตบอล แต่เมื่อมีการยิงขึ้นอีก ผมก็หมอบราบบนพื้น ตอนนั้นผมคิดว่าจะถูกยิงแน่ๆ แต่เสียงยิงก็เงียบลงอีกครั้ง
ก้อง ฤทธิ์ดี: เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามที่จะห้ามให้คุณถ่ายรูปหรือไม่
นีล อูเลวิช: ไม่ ไม่เลย สถานการณ์ตอนนั้นสับสนอลหม่านมาก
ก้อง ฤทธิ์ดี: ช่วยเล่าถึงวินาทีก่อนที่คุณจะถ่ายรูป “เก้าอี้พับ” หน่อย คุณไปถึงจุดนั้นหลังจากฝูงชนแขวนศพแล้ว หรือคุณได้เห็นเหตุการณ์ตอนแขวนศพนั้น
นีล อูเลวิช: นักศึกษายอมจำนนแล้ว หนีไปได้ไม่กี่คน กลุ่มพลเรือนติดอาวุธให้พวกเขานอนราบกับพื้น ตอนนั้นผมคิดว่ามันใกล้จบแล้ว และตัดสินใจจะออกมาก่อนที่จะมีใครมาบังคับเอาฟิล์มไป ผมถ่ายรูปอีกสองสามรูป ภาพตำรวจหนึ่งหรือสองนายคุมตัวนักศึกษาคนหนึ่งที่ถูกฝ่ายขวาชกเลือดท่วมหน้าออกไปจากมหาวิทยาลัย ผมเห็นฝูงชนชุมนุมกันอยู่ที่ต้นไม้สองต้นในสนามหลวง ในหมู่พวกที่ชุลมุนกันอยู่ตรงประตู [มหาวิทยาลัย] มีนักท่องเที่ยวสูงวัยชาวเยอรมันคนหนึ่งถือกล้องถ่ายภาพยนตร์ 8 มม เห็นได้ชัดว่าเขามาจากโรงแรมรอแยลตรงข้ามสนามหลวง ผมตะโกนให้เขาออกไปก่อนจะถูกฆ่า ดูเหมือนว่าเขากำลังเพลินและไม่ได้สนใจผม
ที่ต้นไม้ต้นแรก ผมเห็นเก้าอี้/นักศึกษาที่ถูกแขวนคอ ผมรีรออยู่ครู่หนึ่งเพื่อดูว่ามีใครกำลังมองผมอยู่หรือไม่ จากนั้นผมถ่ายอีกสองสามรูป หลังจากนั้นก็เดินไปที่โรงแรมแล้วเรียกแท็กซี่ นักศึกษาทั้งสองคนที่ถูกแขวนคอตายแล้วตอนที่ผมเห็น
ก้อง ฤทธิ์ดี: ฝูงชนเห็นคุณถือกล้อง พวกเขามีปฏิกิริยาอะไรหรือไม่
นีล อูเลวิช: พวกเขาไม่ได้สนใจผม
ก้อง ฤทธิ์ดี: คุณไม่ได้ถ่ายภาพเหตุการณ์นี้ไว้หลายภาพ มีชอตอื่นๆ ต่อเนื่องอีกมั้ยที่ไม่ได้เผยแพร่สาธารณะ
นีล อูเลวิช: ผมถ่ายไม่กี่รูป โชคไม่ดี ผมรู้ว่าแสงด้านหลังน้อยไปหน่อย ผมเอามาแก้ไขในห้องมืด ภาพที่ผมเลือกมาเป็นภาพที่ดีที่สุดแล้วจากภาพที่คล้ายๆ กัน ไม่ได้มีอะไรแตกต่างกันอย่างสำคัญ
ก้อง ฤทธิ์ดี: จุดที่เป็นประเด็นพูดกันอยู่คือ ขณะที่ศพถูกฟาด แต่มีเด็กชายคนหนึ่งยืนยิ้มอยู่ในฝูงชน คุณได้เห็นมั้ยตอนที่ถ่ายรูปหรือหลังจากนั้น คุณจำปฏิกิริยาของคนอื่นๆ ที่อยู่รอบๆ ต้นไม้ได้มั้ย
นีล อูเลวิช: เป็นแบบที่คุณบอก มีคนยิ้ม ผมมองว่าเป็นได้ทั้งเรื่องของการใช้ศาลเตี้ยของฝูงชนที่บ้าคลั่ง หรือเป็นการตอบสนองกับการประจักษ์ถึงบางสิ่งว่าผิดจริงๆ และผิดปกติ อาจเป็นได้ทั้งสองแบบ
บรรยากาศราวกับพิธีกรรมหรืองานรื่นเริงของการฆาตกรรมหมู่นี้เป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ผมคิดว่าฝ่ายขวาซึ่งกำลังเป็นฝ่ายชนะ รู้สึกว่าไม่มีใครทำอะไรพวกเขาได้
ก้อง ฤทธิ์ดี: หนังสือพิมพ์ไทยไม่ได้ตีพิมพ์ภาพของคุณ แม้กระทั่งเมื่อคุณได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ หลังจากนั้นบันทึกเหตุการณ์สังหารหมู่ และภาพของคุณถึงได้รับการแพร่หลายอย่างอิสระมากขึ้น ในวันนั้นมีการเซ็นเซอร์อย่างไร
นีล อูเลวิช: ผมกลับไปยังสำนักงานเอพี ด้วยความหวังว่าจะไปล้างฟิล์ม์ในห้องมืด และนำภาพชุดแรกส่งไปที่สำนักงาน หรือไปรษณีย์กลาง เพื่อส่งภาพ ผมค่อนข้างแน่ใจว่าการสื่อสารระหว่างประเทศทั้งหมดจะต้องถูกปิดหรือถูกเซ็นเซอร์ภายในไม่กี่ชั่วโมง สมัยนั้นเรายังไม่สามารถส่งภาพจากสำนักข่าวได้ ภาพต่างๆ ต้องได้รับการพิมพ์ออกมา ใส่คำบรรยายและรวบรวมเหมือนกับโทรเลขโดยสำนักงานไปรษณีย์กลาง
ที่สำนักงาน ผมสรุปเรื่องราวที่ผมเห็นมาให้เดนิส เกรย์ฟัง เขาตกใจและเริ่มซักถามผมอย่างละเอียด ผมบอกเขาให้ชะลอไว้จนกว่าฟิล์มของผมจะล้างเสร็จและพิมพ์ออกมา เขาได้เห็นภาพทั้งหมดในตอนนั้น มันอธิบายได้ดีกว่าคำพูด เช่นเดียวกับภาพทั่วไป
เมื่อล้างฟิล์มออกมาแล้ว ผมเลือกรูปเก้าอี้และอีกรูปหนึ่ง ใส่คำบรรยายและให้คนส่งเอกสารส่งไปไปรษณีย์กลาง ด้วยความหวังว่าจะทันก่อนมีการเซ็นเซอร์การสื่อสารทุกรูปแบบ ก่อนกลับไปล้างฟิล์มรูปอื่นๆ ที่เหลือ ของผม รวมทั้งอีกสองสามรูปที่มังกรเป็นคนถ่ายในช่วงเช้าของวันนั้น
เมื่อคนส่งเอกสารกลับมา ผมถามเขาว่าพนักงานไปรษณีย์กลางพูดอะไรเกี่ยวกับมีการเซ็นเซอร์หรือไม่ เขาตอบว่าไม่ พวกเขาเพียงแต่วิพากษ์วิจารณ์รูปที่ไม่น่าเชื่อพวกนี้
วันนั้น เท่าที่จำได้เราส่งไปประมาณ 17 ภาพ เป็นของผม 12 ภาพ และ ที่เหลือเป็นภาพของช่างภาพเอพีไทย ภาพชุดต่อมาเป็นภาพคนที่กำลังถูกเผา ทุกภาพถูกส่งผ่านก่อนที่การสื่อสารจะถูกปิดลง กล่าวโดยรวม การส่งภาพจำนวน 17 ภาพ นั้นเกือบจะไม่เคยมีมาก่อน ด้วยเหตุผลด้านความพยายามและค่าใช้จ่าย แต่เรื่องนี้สมควรที่จะใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีอยู่เพื่อสื่อออกไปให้ผู้คนรับรู้
เราส่งภาพเหล่านี้ไปยังสำนักข่าวเอพีโตเกียว ที่เป็นตัวกลางส่งภาพแบบอัตโนมัติต่อไปยังสำนักข่าวเอพีที่นิวยอร์ค และลอนดอน
เย็นวันนั้นเราเริ่มได้ข่าวว่าตำรวจบุกตรวจค้นหนังสือพิมพ์ไทย ยึดฟิล์มที่ถ่ายเหตุการณ์นั้น แต่พวกเขาไม่ได้ไปที่สำนักข่าวต่างประเทศ
ก้อง ฤทธิ์ดี: คุณทำข่าวไซ่ง่อนก่อนที่จะมาทำข่าวในกรุงเทพฯ ถ้าจะเปรียบเทียบอาจดูไม่เข้าท่าเพราะต่างบริบทกัน แต่ก่อนหน้านี้คุณเคยประสบเหตุการณ์ที่ใกล้เคียงกันกับเหตุการณ์ที่คุณเห็นในวันที่ 6 ตุลาคมหรือไม่
นีล อูเลวิช: ผมเห็นเหตุการณ์จลาจลรุนแรงที่อื่นๆ และแน่นอนการต่อสู้มากมายในประเทศอินโดจีน แต่เหตุการณ์นี้มีการยิงอย่างป่าเถื่อนที่มากเกินขนาด และบ้าคลั่งมากกว่าเหตุการณ์อื่นๆ ที่ผมเคยเห็นมา
เมื่อพวกเราที่อยู่ในประเทศไทยพูดถึงบทเรียนจากประวัติศาสตร์ มักจะอ้างถึงรูป “เก้าอี้พับ” นี้
ภาพถ่าย – จินตภาพ – มีพลังมหาศาล เพราะเหตุนี้เรายังคงตื่นตะลึงและชื่นชอบภาพวาดที่มีอายุเก่าแก่กว่า 10,000 ปีในถ้ำลัสโก ในฝรั่งเศส
ก้อง ฤทธิ์ดี: รูปนี้เป็นแรงบันดาลใจให้กับบทละคร, ฉากในภาพยนตร์ต่างๆ และเร็วๆ นี้ยังเป็นประเด็นที่แพร่กระจายในอินเทอร์เน็ต และยังถูกใช้เป็นหน้าปกอัลบั้มของ วงเดดเคนเนดีส์ วงดนตรีพั้งค์อีกด้วย คุณประหลาดใจหรือไม่เมื่อเห็นว่าภาพนี้ยังคงมีชีวิตและถูกตีความในหลากหลายรูปแบบ
นีล อูเลวิช: ผมอยู่ไกลจากประเทศไทย แต่ก็รับทราบถึงผลกระทบต่อเนื่องของภาพนี้ แต่อาจไม่ทั้งหมดที่คุณกล่าวถึง หลายปีหลังจากเหตุการณ์นั้นเมื่อผมอยู่ในซิดนีย์เพื่ออบรมนักข่าวเรื่องการใช้ภาพจากคลังภาพของเอพี ที่ร้านแม็คโดนัลส์ ผมเห็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งใส่เสื้อยืดที่มีภาพวงเดดเคเนดีส์ (ที่เป็นรูปเก้าอี้นี้) ผมประหลาดใจ ไม่เคยเห็นมันมาก่อน ผมถามเขาว่าได้เสื้อนี้มาจากไหน ผมคิดว่า ตอนแรกเขาคงคิดว่าผมเป็นพวกผู้ใหญ่ที่มาวุ่นวายกับเด็ก เขาชี้ไปที่ ร้านดนตรีที่อยู่ข้างถนน
หมายเหตุ: มีเดีย อินไซด์ เอ้าท์ แปลจากบทความเรื่อง “In the eye of the storm” เขียนโดย Kong Rithdee ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2559
http://www.bangkokpost.com/lifestyle/art/1098817/in-the-eye-of-the-storm