วันพุธ, ตุลาคม 05, 2559

ประชาไท ซีรี่ย์ "ลากเก้าอี้มานั่งคุย" 40 ปี 6 ตุลา (Must Read ครับ)





ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย: ‘เก้าอี้มั้ยสัส’ จากรูปสู่คำ ความรุนแรงยังไม่จบ

Mon, 2016-10-03 12:37

ที่มา ประชาไท

กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

วิเคราะห์ ‘เก้าอี้’ จากรูปในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แปรเปลี่ยนเป็นมโนทัศน์ทางการเมืองที่ถูกใช้และตีความอย่างแพร่หลาย เป็น Pop Culture ของ 6 ตุลาที่ดำรงอยู่ บัณฑิตชี้เป็นภาพสะท้อนความรุนแรงทางการเมืองในสังคมไทยที่ยังไม่จบ

ส่วนหนึ่งจากภาพของ Neal Ulevich ถ่ายในปี 1976 และได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ในปี 1977 ดูภาพเต็มได้ที่ http://www.worldpressphoto.org/collection/photo/1977/spot-news/neal-ulevich

หากจะมีภาพใดของเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่ตอกตรึงอยู่ในความทรงจำของสังคมไทย ภาพร่างไร้ชีวิตของนักศึกษาถูกแขวนคอห้อยอยู่กับต้นมะขาม ณ ท้องสนามหลวง มีชายผู้หนึ่งยกเก้าอี้ขึ้นเหมือนกำลังจะฟาดไปที่ร่างนั้น รายล้อมด้วยผู้คนที่มองด้วยสายตาและอารมณ์หลายหลากที่ส่งผ่านออกมาทางใบหน้า (แม้จะมีบางคนคิดว่าเป็นฉากในภาพยนตร์ ตามที่พวงทอง ภวัครพันธุ์ แห่งรัฐศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวไว้)

‘เก้าอี้’ กลายเป็นภาพที่ถูกฉายซ้ำ ตอกย้ำให้ผู้คนยังคงจดจำว่า เคยเกิดเหตุการณ์ล้อมปราบและการฆ่าทารุณเกิดขึ้นกลางเมืองหลวงของประเทศไทย ทั้งยังถูกใช้ในงานศิลปะอย่างหลากหลาย เช่น ภาพวาดบนกำแพง ถูกนำไปใช้สื่อความหมายในเพจมานีมีแชร์ แม้กระทั่งถูกนำไปใช้ในความหมายที่ผิดแผกจากความหมายดั้งเดิม

ไปจนถึง ‘เก้าอี้มั้ยสัส’ ที่กลายเป็นถ้อยคำที่บ่งบอกว่า สังคมไทยยังคงมีจุดเดือดต่ำต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง

จาก ‘รูป’ สู่ ‘มโนทัศน์ทางการเมือง’

พจนานุกรมฉบับมติชน นิยามคำว่า ‘เก้าอี้’ ด้วยน้ำเสียงเสียดสีว่า หมายถึง อาวุธหนักประเภทหนึ่งซึ่งมอบเป็นรางวัลแด่คนช่างฝันหรือใช้เป็นบทลงทัณฑ์สำหรับผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง นิยมใช้ฟาดขณะที่ร่างกายลอยอยู่บนอากาศและมีเชือกแขวนคอ โดยมากผู้ที่ใช้อาวุธหนักประเภทนี้มักมองผู้ที่ถูกใช้ไม่ใช่คน โดยเฉพาะไม่ใช่คนไทย

“ไอเดียเรื่องเก้าอี้เป็นภาพสะท้อนหนึ่งของความรุนแรงในสังคมไทย เก้าอี้ 6 ตุลา มันมายังไง ผมคิดว่ามันมาจากป็อป คัลเจอร์ ที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน แล้วก็เป็นปรากฏการณ์ที่คนรู้สึกว่าน่าสนใจ เพราะมันอยู่ใกล้ตัวเรามาก แต่มันถูกหยิบมาใช้ในแง่ที่เป็นความหมายทางสังคม ในแง่หนึ่งมันติดใจในสังคมไทย มันปรากฏขึ้นมาในความหมายใหม่ อย่างน้อยที่สุดน่าจะหลัง 20 ปี 6 ตุลา” บัณฑิต จันทร์โรจนกิจ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะ และกล่าวถึงคำนิยามของพจนานุกรรมฉบับมติชนว่า

“เป็นคำอธิบายที่ผมคิดว่ารวบรัด ชัดเจนที่สุด เพราะฉะนั้นในความหมายหนึ่ง เก้าอี้ถูกใช้ในส่วนที่นอกเหนือจากการเป็นวัฒนธรรมสายตา (Visual Culture) แต่เก้าอี้ถูกใช้ในเชิงคอนเซ็ปต์ทางการเมืองด้วย ทำไมเก้าอี้ 6 ตุลา ถึงกลายจากภาพมาเป็นคำ แสดงว่าภาพถูกแปลความหมายให้เป็นคำ การเคลื่อนตัวจากป็อป คัลเจอร์ที่เราเห็น ก็คือความรุนแรงโหดร้ายว่า ถ้าไม่ใช่คนไทย ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนที่คนไทยไม่ชอบ เป็นคนที่คนไทยรังเกียจ ก็อาจจะถูกจับแขวนคอแล้วก็ฟาดด้วยเก้าอี้”

การที่ ‘เก้าอี้’ จาก 6 ตุลา แปรเปลี่ยนจาก Visual Culture หรือ Visual Politic กลายมาเป็นคำที่สะท้อนคอนเซ็ปต์หรือมโนทัศน์เกี่ยวกับความรุนแรงในสังคมไทยได้ นั่นย่อมแสดงว่าสังคมไทยมีความรับรู้ใหม่เกี่ยวกับ 6 ตุลา จากเดิมที่ 6 ตุลาเป็นความเคลือบแคลง คลุมเครือ ไม่กล้าพูด อย่างน้อย ‘เก้าอี้’ ก็ทำให้หลายต่อหลายคนรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดถึง 6 ตุลา

“อย่างน้อยที่สุดในแง่ความหมายสุดท้ายที่เราพูดถึงว่า มันเป็นสิ่งที่ใช้กระทำกับคนที่เห็นต่างจากความเป็นไทยกระแสหลัก นี่คือการเคลื่อนตัวจากภาพมาเป็นคำ จากภาพมาเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม แต่คนเข้าใจร่วมกันได้”

‘เก้าอี้มั้ยสัส’

เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมืองไทยถูกรวบรัดให้เหลือในคำว่า ‘เก้าอี้’ คำเดียว การแพร่กระจายแนวคิดเรื่อง 6 ตุลา ก็เดินทางออกไปได้เร็วและไกลขึ้น แน่นอน เมื่อผนวกกับเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ใครๆ ต่างก็สามารถเข้าถึงข้อมูลได้

“เมื่อเราเริ่มกล้าพูดถึงในพื้นที่สาธารณะ คนรุ่นที่ไม่ทัน 6 ตุลาก็คงสงสัยและโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลในยุคข่าวสารเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย ทำให้คนร่วมสมัยหรือคนรุ่นใหม่เข้าถึงคลิปภาพที่ไม่เคยเห็นในสื่อสาธารณะทั่วไป นี่ก็เป็นช่องทางที่ทำให้คนกลับไปหาร่องรอยของ 6 ตุลาคม ในที่สุดภาพรับรู้และความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับ 6 ตุลาคมจึงถูกนิยามในความหมายใหม่ เพราะในบริบทใหม่ของสังคมการเมืองไทย หลัง 6 ตุลาคม เราคิดว่าคงไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรุนแรงโดยรัฐ แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 2535


"ทำไมเก้าอี้ 6 ตุลา ถึงกลายจากภาพมาเป็นคำ แสดงว่าภาพถูกแปลความหมายให้เป็นคำ การเคลื่อนตัวจากป็อป คัลเจอร์ที่เราเห็น ก็คือความรุนแรงโหดร้ายว่า ถ้าไม่ใช่คนไทย ถ้าเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นคนที่คนไทยไม่ชอบ เป็นคนที่คนไทยรังเกียจ ก็อาจจะถูกจับแขวนคอแล้วก็ฟาดด้วยเก้าอี้”


“หลังปี 2540 คนที่ไม่เคยเห็นคลิปก็คงได้เห็นคลิปมากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ส่อเค้าความรุนแรงมากขึ้น ผมคิดว่าการพูดถึงเรื่องเก้าอี้น่าจะมาก่อนปี 2553 แล้ว เพียงแต่ว่าเป็นการพูดกันเล่นๆ ในหมู่นักเคลื่อนไหวทางการเมือง ในหมู่เว็บบอร์ด จนในที่สุดคำว่าเก้าอี้ มันกลายเป็นการรับรู้ทางการเมืองแบบหนึ่งว่า อ้อ เห็นต่างทางการเมือง เดี๋ยวโดนนะ ในความหมายนี้ 6 ตุลาก็มีความหมายใหม่ โดยเฉพาะตัวเก้าอี้ที่เปิดโอกาสให้คนปัจจุบันยึดโยงกับความรุนแรง 6 ตุลา เก้าอี้กลายเป็นสัญลักษณ์ความรุนแรงทางการเมือง กลายเป็นสัญลักษณ์ของการกระทำต่อคนที่เห็นต่างทางการเมืองอย่างรุนแรง”

ยกตัวอย่างการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในเว็บบอร์ดต่างๆ เมื่อปรากฏความเห็นที่เชื่อมโยงกับสถาบันการเมือง สังคม และวัฒนธรรม ที่แตกต่างหรือเบี่ยงเบนไปจากความเห็นกระแสหลัก ก็อาจต้องเผชิญกับการโพสต์ว่า ‘เก้าอี้มั้ยสัส’

บัณฑิต อธิบายว่า ‘เก้าอี้’ ถูกแปลงจากมโนทัศน์เรื่องความรุนแรงที่กระทำต่อกันในเชิงกายภาพมาเป็นภาพสะท้อนความรุนแรง

“เก้าอี้มั้ยหรือเก้าอี้เฉยๆ ก็รู้แล้ว นี่คือการดำรงอยู่ของ 6 ตุลา ในป็อป คัลเจอร์ ทั้งที่เรารู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม”

‘เก้าอี้’ ความรุนแรงที่รอวันปะทุ

‘เก้าอี้’ อาจทำหน้าที่เป็นไวรัล มาร์เก็ตติ้งของเหตุการณ์ 6 ตุลา แต่อีกด้านของเหรียญ ‘เก้าอี้’ ก็ไปลดทอนความสลับซับซ้อนและความสำคัญของเหตุการณ์หรือไม่ บัณฑิตมองว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา

“เวลาเราพูดถึงกรณีปัญหาเรื่องป็อป คัลเจอร์กับการทำให้สาธารณ์ หรือการทำให้ความหมายดั้งเดิมมันหมดไปหรือหลุดจากบริบทเดิม มันเหมือนชักใบให้เรือเสีย แต่ว่าการทำให้สาธารณ์ ในอีกด้านหนึ่งมันทำให้สังคมรู้จักเรื่องราวเหล่านั้นมากขึ้น

“ทีนี้ รู้แล้ว เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ศึกษาทำความเข้าใจหรือเปล่า อันนี้ก็จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของคนที่สนใจเรื่องนี้ คือเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากเข้าใจ 6 ตุลาผ่านเก้าอี้ ผ่านมานีมีแชร์ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ความหมายจะถูกพราก ถูกเปลี่ยน แต่ถึงมันจะถูกเปลี่ยนอย่างไร คำว่าเก้าอี้ก็ถูกใช้แทนความรุนแรงในสังคมไทยในความหมายใดความหมายหนึ่งอยู่เสมอ”

คำถามที่เก็บไว้สุดท้าย ทั้งที่ควรเป็นคำถามแรกคือ แล้วทำไมต้องเป็น ‘เก้าอี้’ ทั้งที่มีหลายภาพจากเหตุการณ์เดียวกันปรากฏออกสู่สังคม

“ผมว่าเพราะมันง่าย มันรวบยอด มันแทน มันเป็นสัญลักษณ์ มันคือการสรุปรวบยอดความรุนแรงให้เหลือเพียงภาพไม่กี่ภาพ แต่มันก็ทรงพลังมากๆ มันสื่อให้เห็นว่าความรุนแรงยังไม่จบสิ้นไปจากสังคมไทย วันไหนที่สังคมไทยไม่มีความรุนแรง เก้าอี้อาจจะเป็นสิ่งที่ไร้ความหมายไปเลย แต่วันไหนการใช้ความรุนแรงต่อคนที่เห็นต่างทางการเมืองมันก็กลับมา ผมว่าเก้าอี้มันยังมีชีวิตอยู่”

การมีชีวิตอยู่ของ ‘เก้าอี้’ ในสังคมไทย ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน คงไม่ใช่เป็นเพียงการยืนยันการมีอยู่ของ 6 ตุลา ไม่ใช่แค่เครื่องมือแพร่ระบาดความคิด-ความเชื่อของ 6 ตุลา ในเหลื่อมมุมที่น่าหวั่นวิตกกว่า การที่ ‘เก้าอี้’ ยังมีชีวิตอยู่ บัณฑิตชี้ให้เห็นว่าเพราะความรุนแรงยังไม่ได้หายไปจากสังคมไทย ‘เก้าอี้มั้ยสัส’ มันอาจกำลังบอกว่า มันใกล้จุดที่คนในสังคมจะใช้ความรุนแรงต่อกัน ‘เก้าอี้’ จึงเกิดใหม่ มีความหมายใหม่ โดยยึดโยงกับ 6 ตุลา ยึดโยงกับความรุนแรงทางการเมืองต่อความเห็นที่แตกต่าง

“6 ตุลายังมีชีวิตอยู่ เพราะความขัดแย้งทางการเมืองยังดำรงอยู่ ความรุนแรงทางการเมืองยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: งานใหญ่ 40 ปี 6 ตุลา ส่งต่ออุดมการณ์-ตีแผ่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล
ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่ ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม-ความรุนแรงไม่ถูกจดจำ
ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย: พวงทอง ภวัครพันธุ์ คอนเน็กชั่น ชนชั้นนำ และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด


ooooooooo


ลาก ‘เก้าอี้’ มานั่งคุย: พวงทอง ภวัครพันธุ์ คอนเน็กชั่น ชนชั้นนำ และวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด

Fri, 2016-09-23 22:55

ที่มา ประชาไท


‘พวงทอง’ วิเคราะห์สังคมไทย ผ่านเหตุการณ์ 40 ปี 6 ตุลา คอนเน็คชั่นของชนชั้นนำหล่อเลี้ยงวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกในสังคมไทย ขณะที่ญาติผู้เสียชีวิตยังอยู่ภายใต้ความกลัว แม้ผ่านมา 4 ทศวรรษแล้ว ชนชั้นนำไม่เห็นความคับแค้นของประชาชน หวั่นบีบคนออกสู่ท้องถนน

ในฐานะนักรัฐศาสตร์ที่ติดตามเรื่องการลอยนวลพ้นผิดและเป็นหนึ่งคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลา เราไม่ลืม พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ว่าเป็นบาดแผลเหวอะหวะและเป็นหลักหมายอันอัปลักษณ์ของวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิดของสังคมไทย

6 ตุลาถูกทำให้เลือนรางและหลงลืม พวงทอง กล่าวว่า คนจำนวนไม่น้อยยังคิดว่าฉากที่ผู้คนรุมล้อมการแขวนคอนักศึกษาที่สนามหลวงและชายผู้หนึ่งกำลังยกเก้าอี้ฟาดร่างไร้ชีวิตนั้นเป็นเพียงฉากหนึ่งในภาพยนตร์อะไรสักเรื่อง

สังคมไทยมีภาพจำกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 มากกว่า แน่นอน เพราะมันหมายถึงชัยชนะของเหล่านักศึกษาและประชาชนในการขับไล่เผด็จการทหารที่ครองอำนาจมาอย่างยาวนาน แต่นั่นไม่ใช่กับเหตุการณ์ 6 ตุลา อนุสรสถานทั้งสองแห่งบอกเล่าความแตกต่างได้โดยตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่ออนุสรสถาน 14 ตุลา เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตำแหน่งแห่งที่ชัดเจนที่สี่แยกคอกวัว บนถนนราชดำเนิน แต่ 6 ตุลา เป็นเพียงกลุ่มงานปฏิมากรรมในรั้วธรรมศาสตร์ พวงทองใช้คำว่า “แอบอยู่ข้างประตูหอใหญ่ธรรมศาสตร์”

000




ที่มาของภาพ: เอื้อเฟื้อภาพประกอบโดย พวงทอง ภวัครพันธุ์


“มีคนพูดว่าเหตุการณ์นี้เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล มันเป็นประวัติศาสตร์ของคนจำนวนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์เหล่านั้นมา นักศึกษาที่ประสบเหตุการณ์ความรุนแรง รวมถึงญาติพี่น้องเพื่อนฝูง ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องจริง แต่ก็อาจมีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ได้รู้สึกว่านี่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผล ไม่ต้องการจดจำ ไม่ต้องการขุดคุ้ย ดิฉันอาจจะผิดก็ได้ แต่ดิฉันไม่เชื่อว่าคนที่เรียกตัวเองว่าคนเดือนตุลาทุกคนจะยังรู้สึกเจ็บปวดกับเหตุการณ์ 6 ตุลา หรือรู้สึกว่านี่เป็นบาดแผลที่ฝังอยู่ในจิตใจเขา ในหมู่คนเดือนตุลาเองก็ไม่ได้คิดหรือมอง 6 ตุลาแบบเดียวกันทั้งหมด มันมีความหมายที่หลากหลาย ซึ่งผิดกับ 14 ตุลา ที่เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย นิสิตนักศึกษาเป็นฝ่ายชนะ นำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ดิฉันคิดว่าเราไม่เห็นความลังเลในคนเดือนตุลาที่จะนิยามตัวเองกับ 14 ตุลา”


“เขาไม่ได้ลืม แต่เขาอยู่กับความกลัว มันชี้ชัดว่านี่เหมือนเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเป็นเวลา 20 ปี มันทำให้คนที่สูญเสีย รู้สึกว่าเขาสูญเสียคนที่รักไป โดยที่คนที่เขารักก็มีตราบาปติดอยู่”


ความกลัวยังไม่จาง

ผิดกับ 6 ตุลา ที่ความลังเลปรากฏชัด เหตุการณ์ที่ขบวนการประชาธิปไตยถูกปราบและถูกกล่าวหาว่า เป็นคนอื่น เป็นคอมมิวนิสต์ ที่ต้องการล้มล้างสถาบันหลักของประเทศ ในทัศนะของพวงทอง กลุ่มอำนาจที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง 6 ตุลายังคงอำนาจไว้ในมือ นี้เป็นหนึ่งแรงบีบที่ทำให้ยังไม่มีใครกล้าแตะต้องหรือขุดคุ้ยชิ้นส่วนของอดีตชิ้นนี้ขึ้นมาปัดฝุ่นและไขความกระจ่าง

“บางครอบครัว เราคุยกับสมาชิกระดับรุ่นลูกหลาน เขาพูดชัดเจนว่าไม่กล้าที่จะถามเรื่องนี้กับพ่อแม่หรือปู่ย่าของเขา เพราะเขารู้ว่านี่คือบาดแผลของครอบครัวและในครอบครัวไม่มีใครอยากพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ผู้เสียชีวิตนั้นเสียชีวิตในลักษณะที่โหดเหี้ยมมากๆ เพราะฉะนั้น บาดแผลของคนในครอบครัวมันก็ขึ้นกับลักษณะการเสียชีวิตของเหยื่อด้วย หรือบางครอบครัวยินดีให้สัมภาษณ์ คือเวลาเราสัมภาษณ์ เราแทบจะไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองในปัจจุบันเลย เราอยากให้เขาเล่าบุคลิกลักษณะของผู้เสียชีวิต เขาผูกพันกับคนในครอบครัวอย่างไร ทางญาติพี่น้องเขาก็ยินดีให้สัมภาษณ์นะ แต่ปรากฎว่าหลังจากนั้นสองสามวันเขาโทรมาบอกว่าเขากลัว เพราะว่าเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร เขาขอไม่เปิดเผยชื่อ ไม่เปิดเผยหน้าได้ไหม ขณะที่หลายครอบครัวไม่อยากที่จะพูดถึงเหตุการณ์นี้”


40 ปีผ่านไป เงามืดของความกลัวก็ยังคงแผ่คลุมครอบครัวผู้สูญเสีย

“เขาไม่ได้ลืม แต่เขาอยู่กับความกลัว มันชี้ชัดว่านี่เหมือนเป็นเรื่องต้องห้าม เป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่มีใครอยากพูดถึงเป็นเวลา 20 ปี มันทำให้คนที่สูญเสีย รู้สึกว่าเขาสูญเสียคนที่รักไป โดยที่คนที่เขารักก็มีตราบาปติดอยู่ ไม่สามารถที่จะรำลึกพวกเขาได้อย่างวีรชนอย่างในกรณี 14 ตุลา”


คนผิดยังลอยนวล

อะไรที่ทำให้ความหวาดกลัวยังคงดำรงอยู่? พวงทองวิเคราะห์ว่าเป็นผลจากวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ฝังพิษอยู่ลึกมากในสังคมไทย 40 ปีที่ขาดไร้ความพยายามโดยสิ้นเชิงในการสืบสาวราวเรื่องเพื่อหาตัวคนผิดมาลงโทษ

“ประเด็นนี้หายไปเลยจากสังคมไทย ไม่มีใครพูดถึงมากนัก คนที่อยากจะเห็นความยุติธรรมก็รู้สึกว่ามันเป็นไปไม่ได้ คนจำนวนมากก็บอกว่าไม่ควรจะรื้อฟื้น ซึ่งหมายความว่า กรณีนี้ชัดเจนว่าคนทำผิดก็ถูกปล่อยให้ลอยนวลไป เพราะเขายังมีอำนาจอยู่ สอง ยิ่งเราอยู่ภายใต้รัฐบาลทหาร ความกลัวนี้ยิ่งชัดเจน เพราะคนรู้สึกว่าทหารเป็นกลุ่มอำนาจที่มีบทบาทต่อต้านปราบปรามนักศึกษาในช่วง 6 ตุลาด้วย

“ว่าไปแล้ว การที่คนที่เกี่ยวข้องกับความรุนแรง 6 ตุลานั้นไม่เคยต้องกลัวว่าตัวเองจะถูกลงโทษ นี่ก็คือวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทยอย่างชัดเจน วัฒนธรรมนี้ถ้ามองจากแง่มุมของญาติผู้เสียชีวิต นี่คือการที่เขาถูกลงโทษซ้ำสอง เขาถูกทำร้ายครั้งแรกเมื่อเขาสูญเสียคนที่เขารัก ครั้งที่สอง เขายังต้องทนอยู่ในความเงียบ อยู่กับความกลัวต่อเนื่องมาอีกจนถึงปัจจุบัน ถามว่ามันยุติธรรมไหม ดิฉันคิดว่าไม่ยุติธรรม แต่ไม่มีใครต้องการพูดถึงเท่าไหร่นัก คนส่วนใหญ่ก็จะเรียกร้องให้เงียบ ไม่ควรจะรื้อฟื้นเรื่องนี้”

และเมื่อสังคมใดยินยอมให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดดำรงอยู่ โอกาสที่รัฐจะใช้ความรุนแรงกับประชาชนย่อมเป็นไปได้เสมอ ซึ่งสังคมไทยก็มีบทเรียนมาแล้ว ทั้งในเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และเหตุการณ์พฤษภาคม 2553

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึก


พวงทองอธิบายต่อไปว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นกรณีการลอยนวลพ้นผิดที่ใหญ่มากๆ เป็นความขำขื่น เมื่อเราเห็นหน้าผู้ที่ใช้ความรุนแรงกับนิสิต นักศึกษา และประชาชนในวันนั้นชัดเจน ทั้งรูปและคลิปวิดีโอ แต่ในทางกฎหมายไม่มีใครตั้งคำถามเลยว่า เราจะเอาผิดกับคนเหล่านี้ได้อย่างไร หนำซ้ำ ภายหลังเหตุการณ์ประมาณ 2 ปี กฎหมายนิรโทษกรรมก็ออกมา

“หลังจากเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลา คนที่ถูกเอาขึ้นพิจารณาคดีในศาลอาญา คือผู้นำนักศึกษา 19 คน แต่ในฝ่ายผู้ใช้ความรุนแรง ไม่มีกระบวนการนี้เลย ในการพิจารณาคดี ข้อมูลที่ปรากฏออกมา กลับปรากฏว่าคนที่เป็นจำเลยนั้นเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว ซึ่งในที่สุดก็นำไปสู่การนิรโทษกรรม เกิดการประนีประนอมทางการเมือง ฝ่ายชนชั้นนำเองก็เห็นว่าถ้าเกิดยังใช้แนวทางสายเหยี่ยวก็จะยิ่งก่อให้เกิดความแตกแยกหนักขึ้น เพราะพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเองก็เติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ หลัง 6 ตุลา การนิรโทษกรรมครั้งนี้จริงๆ คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดก็คือฝ่ายผู้ที่ใช้ความรุนแรง เพราะนิรโทษกรรมให้กับทหาร ตำรวจ คนทุกกลุ่มที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ 6 ตุลา

“มันเป็นอาชญากรรมที่เราเห็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมชัดเจน หน้าตาของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนที่อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ใช้เก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ ลูกเสือชาวบ้านที่ใช้ไม้ตีคนที่ถูกแขวนคอ พวกม็อบ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราไม่ตั้งคำถามเลยว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ควรมีการตามหาคนเหล่านี้หรือไม่ กฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีนี้ยุติธรรมหรือไม่”

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดทิ้งมรดกบาปให้กับคนรุ่นหลังแลเห็นว่า ถ้าผู้ใดมีอำนาจในสังคม มีเครือข่าย มีเส้นสาย บุคคลนั้นก็ไม่จำเป็นต้องรับผิด สังคมไทยจึงเกิดการเรียนรู้ (แบบผิดๆ) ว่า ต้องสร้างเครือข่าย สร้างคอนเน็กชั่น เพื่อให้สิ่งเหล่านี้เป็นเกราะป้องกันตนเองจากกฎหมายบ้านเมืองและไม่ต้องรับผิด ตั้งแต่ในระดับชีวิตปกติทั่วไป จนถึงการเมืองระดับประเทศ

เครือข่ายชนชั้นนำไทย

“คอนเน็คชั่นมันสำคัญในแง่ที่ว่า ถ้าคุณจะไต่เต้า คุณจำเป็นต้องมีคอนเน็คชั่นที่ถูกต้อง ถ้าคุณทำผิด คอนเน็คชั่นนี้ก็จะช่วยปกป้องคุณจากการทำผิด ฉะนั้น สิ่งหนึ่งที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในทุกระดับทิ้งให้กับสังคมไทยก็คือ เราไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงหลักการ คอนเน็คชั่นเป็นสิ่งสำคัญ อันนี้จึงฟอร์มลักษณะของคนไทยด้วยที่บ่อยครั้ง เมื่ออยากจะแสดงความคิดเห็นหรือทำอะไร จะต้องระวังว่าจะไปกระทบกับคอนเน็คชั่นของตัวเองหรือไม่”


“มันเป็นอาชญากรรมที่เราเห็นผู้ที่ก่ออาชญากรรมชัดเจน หน้าตาของคนที่เกี่ยวข้อง ทั้งคนที่อาจจะไม่ได้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ คนที่ใช้เก้าอี้ฟาดคนที่ถูกแขวนคอ ลูกเสือชาวบ้านที่ใช้ไม้ตีคนที่ถูกแขวนคอ พวกม็อบ เจ้าหน้าที่รัฐ แต่เราไม่ตั้งคำถามเลยว่าคนเหล่านี้ทำผิดกฎหมายหรือไม่ ควรมีการตามหาคนเหล่านี้หรือไม่ กฎหมายนิรโทษกรรมในกรณีนี้ยุติธรรมหรือไม่”

ทว่า ในมุมมองของพวงทอง สิ่งที่น่าเจ็บปวดคือ แม้กระทั่งผู้คนที่ทำงานด้านสันติภาพและสิทธิมนุษยชนเอง ก็ไม่เคยเรียกร้องความยุติธรรมอย่างเต็มที่ พวงทองกล่าว่า การเรียกร้องของคนกลุ่มนี้มักจะหยุดลงเพียงมิติของการเยียวยาผู้เสียหายจากเหตุการณ์ การเรียกร้องให้ปล่อยตัว ซึ่งเมื่อข้อเรียกร้องทำนองนี้บรรลุผล คนกลุ่มนี้ก็จะเงียบ ไม่ปริปากว่าควรนำตัวคนผิดมาลงโทษอย่างไร จะฟื้นฟูความยุติธรรมให้แก่เหยื่ออย่างไร ซึ่งลักษณะอันจำเพาะแบบไทยๆ นี้ยังยืนยาวถึงปัจจุบัน

“เมื่อไม่นานมานี้ก็มีนักเคลื่อนไหวด้านสันติวิธีคนหนึ่งออกมาพูดว่า เขาไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องเรียกร้องให้มีการเอาผิดกับผู้มีอำนาจที่ใช้ความรุนแรงปราบปรามประชาชนอย่างที่เกิดขึ้นในลักษณะเดียวกับกรณี Holocaust ที่นาซีกระทำกับชาวยิว ที่มีความพยายามติดตามเอาอดีตนาซีมาดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แม้เวลาจะผ่านไปแล้ว 40-50 ปี

“แต่สำหรับคนไทย แค่ช่วยคนที่เดือดร้อนก็พอแล้ว เช่น ให้ปล่อยหรือให้เงินเยียวยา หลังจากนั้นอย่าไปคิดเรื่องที่จะเอาผิดกับคนที่มีอำนาจ เขาอาจจะมีคำอธิบายว่าเพราะคนที่มีอำนาจนั้น ถ้าคุณไปตามเอาผิดเขา มันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งมากยิ่งขึ้น คนที่มีอำนาจอาจจะโต้กลับ แล้วทำให้โอกาสในการที่จะสร้างความปรองดอง สมานฉันท์หรือพัฒนาประชาธิปไตยหยุดชะงักลง”

แน่นอน พวงทองไม่เห็นด้วยกับความคิด ความเชื่อทำนองนี้ เธอให้คำอธิบายว่า เพราะนักสันติวิธี นักสิทธิมนุษยชน ก็เป็นชิ้นส่วนเดียวกันกับชนชั้นนำในสังคมไทย

เวลามองชนชั้นนำ ต้องขยายกรอบให้กว้างออกไป มันไม่ใช่เพียงนักการเมืองหรือนักธุรกิจ แต่ยังกินความถึงวงวิชาการ พรรคการเมือง นักเคลื่อนไหวทางสังคม เอ็นจีโอ เป็นต้น ซึ่งสังคมจะนึกภาพออกได้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นใครบ้าง

“ชนชั้นนำในสังคมไทยมันแคบมาก มันจำกัดอยู่กับคนไม่มาก แล้วคนเหล่านี้รู้จักกันหมด มีความเป็นเพื่อน มีความต่อเนื่อง เคยช่วยเหลือสนับสนุนกัน คอนเน็คชั่นเหล่านี้บดบังจุดยืนการฟื้นฟูความยุติธรรม ฉะนั้น เราจะไม่เห็นการเรียกร้องให้เอาผิดกัน เพราะในที่สุดมันจะไปเกี่ยวข้องกับคนที่เขารู้จัก

“ดิฉันอยากให้มองคนเหล่านี้ในฐานะที่เป็นชนชั้นนำซึ่งมันแคบและมีคอนเน็คชั่น มันมีระบบอุปถัมภ์และสายสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอยู่ และคอนเน็คชั่นเหล่านี้คือสิ่งที่ขับเคลื่อนการเมืองไทยด้วย บางครั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนทางบวก แต่บางครั้งนำไปสู่การขับเคลื่อนทางลบ หรือการพยายามรักษาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด ซึ่งวัฒนธรรมที่ว่านี้อยู่ได้ระบบคอนเน็คชั่นเครือข่ายของชนชั้นนำไทยที่แคบมากๆ”

เรียนรู้บทเรียน ก่อนสายเกินไป

6 ตุลา เป็นบาดแผลที่ควรจะเป็นบทเรียนในเวลาเดียวกัน ในความเป็นจริงแล้ว ดูเหมือนมันจะเป็นอย่างแรกมากกว่า ขณะที่อย่างหลังไม่เกิดขึ้น...อย่างน้อยก็ยังไม่เกิดขึ้น การสร้างความเกลียดชังผู้ที่เห็นต่างจากกระแสหลักของสังคมยังเกิดขึ้น ไม่ต่างจากในอดีตที่มีวิทยุยานเกราะหรือดาวสยามเป็นหัวหอก อาจจะแตกต่างตรงที่ว่า ปัจจุบัน ใครๆ ก็สามารถแพร่ระบาดความเกลียดได้ผ่านเครื่อมือโซเชียล มีเดีย

“ชนชั้นนำในสังคมไทยมันแคบมาก มันจำกัดอยู่กับคนไม่มาก แล้วคนเหล่านี้รู้จักกันหมด มีความเป็นเพื่อน มีความต่อเนื่อง เคยช่วยเหลือสนับสนุนกัน คอนเน็คชั่นเหล่านี้บดบังจุดยืนการฟื้นฟูความยุติธรรม ฉะนั้น เราจะไม่เห็นการเรียกร้องให้เอาผิดกัน เพราะในที่สุดมันจะไปเกี่ยวข้องกับคนที่เขารู้จัก”

“กรณีปี 2553 เราพบว่าคนกรุงเทพฯ จำนวนมากไม่ได้เศร้าเสียใจกับการเสียชีวิตของประชาชนเกือบร้อยคน เขาเสียใจมากกว่ากับการที่โรงหนังสยามถูกเผา ทุกวันนี้เราก็เห็นในโซเชียล มีเดีย มีการใช้คำด่าทอเกลียดชังอย่างกว้างขวาง ไม่มีใครพยายามเตือนใคร เตือนก็ไม่ฟัง โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงมีอีกไหม ก็ความรุนแรงเพิ่งเกิดเมื่อปี 2553 นี่เอง ความรุนแรงจะเกิดขึ้นอีกไหม ก็เกิดขึ้นได้อีกแน่

“ทุกวันนี้กลุ่มที่มีอำนาจพยายามที่จะหลับตา หรือตั้งใจที่จะมองไม่เห็นว่ามันมีความคับแค้นของประชาชนจำนวนมาก ซึ่งดิฉันกล้าพูดว่าพวกนี้เป็นเสียงส่วนใหญ่ในประเทศ ซึ่งไม่พอใจต่อการที่เสียงทางการเมืองของพวกเขาถูกปิดกั้นด้วยวิธีการต่างๆ”

รัฐธรรมนูญฉบับที่ผ่านประชามติเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม อาจเป็นตัวเร่งความรุนแรงในอนาคต เพราะมันเป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อสกัดกั้นเสียงทางการเมืองของประชาชนจำนวนมาก ความต้องการทางการเมืองที่ถูกส่งต่อผ่านคะแนนเสียงจะถูกเมินเฉย รัฐบาลอาจไม่สามารถผลักดันนโยบายได้ เมื่อกลไกทางการเมืองไม่ทำงาน ประชาชนไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางการเมืองผ่านกลไกประชาธิปไตยได้ ย่อมผลักไสให้ผู้คนออกสู่ท้องถนน
เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่ ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม-ความรุนแรงไม่ถูกจดจำ
ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: งานใหญ่ 40 ปี 6 ตุลา ส่งต่ออุดมการณ์-ตีแผ่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล


oooooooooo


ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: 6 ตุลากับคนรุ่นใหม่ ประวัติศาสตร์ถูกทำให้ลืม-ความรุนแรงไม่ถูกจดจำ

Thu, 2016-09-22 22:30

ที่มา ประชาไท

คนรุ่นใหม่กับประเด็น 40 ปี 6 ตุลา ประวัติศาสตร์ที่รัฐทำให้ลืม ไม่พูดถึง เป็นบาดแผลของสังคมไทย แต่กลับไม่เคยเรียนรู้บทเรียน ความรุนแรงโดยรัฐยังคงเกิดขึ้น พวกเขาและเธอหวังให้ความรุนแรงเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก







(แถวบนจากซ้ายไปขวา) อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ และ พริษฐ์ ชิวารักษ์ (แถวล่างจากซ้ายไปขวา) ชลธิชา แจ้งเร็ว และ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ที่มาของภาพประกอบ: แฟ้มภาพ/ประชาไท/รายการต่างคนต่างคิด)

แม้แต่กับคนรุ่นใหม่ที่สนใจการเมือง 6 ตุลาคม 2519 ก็ยังเป็นประวัติศาสตร์ที่คลุมเครือ เหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่เกิดขึ้นในวันนั้นเมื่อ 40 ปีก่อน เป็นความทรงจำลางเลือนที่ไม่ควรถูกลืม แต่มันก็ถูกทำให้ลืม เป็นความรุนแรงที่ควรเป็นครั้งสุดท้ายของสังคมไทย แต่กลับไม่ใช่

ในทัศนะของพวกเขา 6 ตุลา เป็นอย่างไร

000

วิกรานต์ จรรยาภรณ์

คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายสวัสดิการงาน 6 ตุลา จุฬาไม่ลืม

“ผมมอง 6 ตุลาเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ในสมัยนั้น เป็นโศกนาฏกรรมของประเทศไทย เป็นการสังหารหมู่ย่อยๆ ครั้งหนึ่ง สำหรับผม 6 ตุลาเหมือนเป็นบาดแผลที่สังคมไทยพยายามจะลืมมัน พยายามจะลบมันออกไป พยายามจะมองมันเหมือนการชุนนุมทางการเมืองธรรมดา ทำให้มันดูเบาลง แล้วหนังสือเรียนประวัติศาสตร์มัธยมก็ไม่มีเรื่องพวกนี้เลย มีประมาณหนึ่งย่อหน้าจบ ตอนนี้สิ่งที่ผมพยายามจะทำคือให้มันเป็นประวัติศาสตร์ที่ไม่ควรจะเกิดขึ้นอีก ผมเลยจะจัดงานนี้ขึ้นให้คนรุ่นผมรู้ว่าที่จริงมันเกิดอะไรขึ้น จุฬาฯ มีส่วนเกี่ยวข้องยังไงกับเหตุการณ์นี้ คนไม่รู้เลยว่าจุฬาฯ เกี่ยวข้องอย่างไรกับเหตุการณ์นี้ ทำให้คนมองภาพจุฬาฯ เป็นคอนเซอเวทีฟ

“เราอยากให้คนภายนอกมองภาพจุฬาฯ เปลี่ยนไป เราไม่ได้คอนเซอเวทีฟขนาดนั้นนะ จุฬาฯ มีมุมมองที่คนไม่เห็น รุ่นพี่ผม นิสิตจุฬาฯ ก็ไปร่วมเหตุการณ์และเสียชีวิต หลายคนยังไม่รู้ว่ามีเด็กจุฬาฯ รูปคนที่ถูกแขวนคอ ไม่มีใครรู้เลยว่าเป็นนิสิตจุฬาฯ คณะรัฐศาสตร์ หมุดที่รำลึกอยู่ที่ตึกรัฐศาสตร์ บางคนก็ไม่รู้ เราพยายามทำเป็นมองไม่เห็นมัน

“งานนี้จึงเสนอว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพราะอะไร จากมุมมองต่างๆ สื่อเป็นยังไง ผู้คนสมัยนั้นใช้ชีวิตยังไง โดนสังคมเชพมายังไงให้เห็นว่า การที่คนโดนฟาดเป็นเรื่องน่าสนุก เป็นสิ่งที่เราอยากให้คนมองเห็น เพื่อให้ในอนาคตจะได้ไม่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นอีกได้ยังไง จะร่วมเปลี่ยนประเทศได้ยังไง อาจจะไม่ใช่ออกไปประท้วงเหมือนนักกิจกรรม แต่อาจจะเข้าไปนั่งในสภา ซึ่งเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เราสามารถทำได้

“อย่างตอนปี 2553 ผมยังไม่รู้อะไรเกี่ยวกับการเมืองเลย ก็เปิดข่าวมีการประกาศเคอร์ฟิว ห้ามกลับบ้านดึก ตอนนั้นดีใจได้หยุดอยู่บ้าน มองว่าเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัว มีการยิงกัน ตอนนั้นเด็กๆ ก็ยังไม่อะไรมาก ตอน ม.3 ผมยังไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ 6 ตุลา ตอนนี้ผมมองว่า 6 ตุลาคือโศกนาฏกรรม ปี 2553 ก็เป็นโศกนาฏกรรมอีกแบบหนึ่ง มีการฆ่ากัน มีการใช้กระสุนจริง เหมือนเหตุการณ์เกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แต่เป็นอีกรูปแบบหนึ่ง มีคนตาย มีการประท้วงทางการเมืองเหมือนกัน เพียงแต่เรามองไม่เห็นว่ามันเกี่ยวกันยังไง เราปล่อยให้มันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราปล่อยให้คนโดนฆ่า ถูกแกนนำบอกให้ไปตาย สุดท้ายความตายของเขาก็ไม่เกิดอะไรขึ้นมา”

000

อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฝ่ายประชาสัมพันธ์งาน 6 ตุลา จุฬาไม่ลืม

“6 ตุลาเป็นเรื่องที่ถูกทำให้ลืม คนรุ่นหนูลืม ไปถามใครก็ได้ เราจะรู้แค่ผิวเผิน รู้ว่ามีการฆ่าหมู่จบ แล้วเกิดอะไรขึ้น เกิดขึ้นเพราะอะไร เหมือนจะตอบไปไม่ได้มากกว่านั้น ถ้าถูกทำให้ลืมแล้ว มันอาจจะเกิดเหตุการณ์นั้นซ้ำขึ้นอีกก็ได้ โดยที่เราไม่ได้เรียนรู้อะไรจากมันเลย จุดประสงค์การจัดงานครั้งนี้อีกอย่างคือเพื่อทำเรื่องนี้ให้คนรู้ รู้และเป็นบทเรียน ป้องกัน และหาวิธีอยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไป

“หนูมองในแง่คนภายนอกว่า ทำไมมีเหตุการณ์อย่างในปี 2553 ถึงเกิดขึ้นแล้ว คนที่ไม่ได้สนใจยังรีแอ็กเหมือน 6 ตุลาเหมือนเดิม ที่สะใจที่มีคนไทยถูกฆ่า มันมีกระแสเกิดขึ้นจริงๆ ตอนนั้นแม่กับเพื่อนสนิททะเลาะกันอย่างรุนแรง เพื่อนแม่โทษเสื้อแดงว่าทำธุรกิจพัง เลยมองว่าผ่านไปหลายปี ทำไมคนไทยยังไม่เข้าใจถึงความเห็นต่างหรือเคารพความเห็นต่าง เขาไม่ได้เรียนรู้อะไรเลยเหรอ ที่จะอยู่ร่วมกันกับความเห็นต่างยังไง ทำถึงยังรู้สึกว่าการฆ่าคนที่เห็นต่างยังเป็นสิ่งที่ไม่ผิด ซึ่งมันไม่ควรเกิดขึ้นแล้วในศตวรรษนี้”

000

พริษฐ์ ชิวารักษ์

นักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

"ผมรู้สึกว่า 6 ตุลามันคือรูปธรรมของประวัติศาสตร์ที่คนเลือกจะไม่จำ ถ้าถามเรื่อง 6 ตุลากับผมก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่งแต่ถ้าถามกับเยาวชนคนอื่นๆ ทั่วไปก็จะได้คำตอบอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะในหนังสือแบบเรียนก็พูดถึง 6 ตุลาแค่เพียงครึ่งหน้า พูดรวมกับ 14 ตุลา สั้นๆ บางทีก็ไม่พูดถึงเลย เลือกที่จะข้ามไปเลย มันไม่ใช่ว่าเราเรียนประวัติศาสตร์แล้วไม่เรียนรู้ เราถึงปล่อยให้มันซ้ำรอยอยู่อย่างนั้น บางทีมันจะเป็นเพราะเราไม่ได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เลย

"เรามีเรื่องเราอีกหลายเรื่องที่ไม่ปรากฏในแบบเรียน เราไม่พูดถึงการตายของจิตร ภูมิศักดิ์ เราไม่พูดถึงกบฏสันติภาพ และเราก็ไม่พูดถึงเรื่องถังแดง ซึ่งทั้งหมดนี้มันเป็นเรื่องของความรุนแรง เอาจริงๆ ประวัติศาสตร์ไทยไม่มีความรุนแรง เพราะความรุนแรงมันถูกกวาดเข้าไปใต้พรมหมดแล้ว แต่ผมก็ยังไม่รู้สึกหมดหวังไปเสียทีเดียว ที่จะให้สิ่งที่อยู่ใต้พรมมันปรากฏออกมา

“ผมรู้ว่ารัฐไม่อยากจะพูดถึงสิ่งเหล่านี้ด้วยตัวของรัฐเอง แต่เราเป็นประชาชน เราสามารถเลือกที่จะพูดสิ่งเหล่านี้ได้ ซึ่งถ้าเราพูดเท่ากับว่าอย่างน้อยๆ ในภาคประชาชนเอง เรื่องพวกนี้ก็จะไม่เงียบหายไป คิดว่ามันอาจจะมีรูปแบบใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เพื่อที่จะสื่อสารไปยังบุคคลภายนอก โจทย์ตอนนี้คือเราจะทำให้คนรุ่นใหม่คนอื่นๆ สนใจเรื่อง 6 ตุลาได้อย่างไร ทำให้เขาคิดว่ามันเกี่ยวโยงกับปัจจุบันอย่างไร และมันน่าสนใจอย่างไร ผมคิดว่านี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด

“ผมให้ความสำคัญกับ 6 ตุลามากกว่า 14 ตุลา เพราะมันเป็นเรื่องที่รัฐพยายามใช้ความรุนแรงกับนักศึกษา มันเป็นคนละเหตุผลกับ 14 ตุลาที่จบลงด้วยชัยชนะ ซึ่งผมคิดว่ามันสำคัญกว่าที่เราจะพูดถึงประวัติศาสตร์ของ 6 ตุลา เพราะมันเป็นเรื่องของความรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของคนทั่วไปที่ไม่ได้มีความสนใจเรื่องการเมืองเป็นหลัก เพื่อที่จะได้ศึกษาสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นไม่ให้มันเป็นแค่เรื่องที่เกิดขึ้นและผ่านไป เพราะถ้าเราเลือกที่จะเงียบกับมัน เลือกที่จะไม่พูดถึงมัน มันจะก็เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า

"6 ตุลาก็จะเป็นอีกวันหนึ่งที่ผมจะออกมาแต่งกลอนรำลึกถึง แต่ว่าสิ่งที่มันสำคัญจริงๆ ก็คือ 6 ตุลามันเตือนเราได้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่ง รัฐก็พร้อมที่จะใช้ความรุนแรงกับเราได้ทุกเมื่อ"

000

จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“มาถึงตอนนี้ มันเข้าใจมากขึ้น ก่อนหน้านี้ก็แค่รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง ยุคนั้นมันเป็นเผด็จการ เขาออกมาต่อสู้ ต้องหนี ต้องตาย เราก็แค่อ่านหนังสือ ศึกษาประวัติศาสตร์ เห็นภาพเห็นอะไร แต่ทุกวันนี้เราเข้าใจว่า ความรู้สึกของการถูกใช้อำนาจในการจัดการกับผู้เห็นต่างมันเป็นอย่างไร แม้เราจะไม่ถูกยิงเหมือนพวกเขา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นเวลานี้มันทำให้เรารู้สึก และมันก็ถูกแล้วที่เราต้องต่อสู้ แม้ว่าครั้งนี้มันจะเนียนกว่า ไม่ได้มีการใช้อำนาจตรงๆ แบบนั้น แต่มันก็เลวร้ายเท่ากัน อันนี้สำหรับตัวเองนะ

“แต่ถ้ามองออกไปจากตัวเรา ลองไปเป็นคนอื่น 6 ตุลา ก็อาจจะไม่มีอะไร ไม่ได้สนใจประวัติศาสตร์ และมันก็เป็นประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม กระทรวงศึกษาธิการไม่ได้ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์การต่อสู้แบบนี้ ฉะนั้น โดยทั่วไป 6 ตุลา ก็ไม่มีความหมาย เพราะเขาไม่ต้องการให้มันมีความหมายอยู่แล้ว ถ้าคนเติบโตผ่านประวัติศาสตร์ ได้ศึกษาประวัติศาสตร์เหล่านี้ มันก็จะเห็นเอง คือการศึกษาประวัติศาสตร์โดยตัวมันเอง มันทำให้เราเห็นและเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นจริงและก็เห็นอนาคตว่ามันจะเป็นอย่างไรต่อ

“มันมีบทเรียนให้เราดูแล้ว มันอาจจะไม่เหมือนกันก็ได้ แต่สิ่งเหล่านี้มันเคยเกิดขึ้นมาแล้ว ทุกวันนี้มันเปลี่ยนไปก็แค่คำใหม่ คนใหม่ แต่ทุกอย่างก็เหมือนเดิม บรรยากาศของการสร้างความเกลียดชังก็ยังเหมือนเดิม บางทีอาจจะหนักกว่าเดิมอีก

“แต่บรรยากาศของจิตสำนึกเรื่องประชาธิปไตยในยุคนั้น ประชาชนยังตื่นตัวมากว่านี้ แต่พอมาในยุคเราเขาประสบความสำเร็จในการทำให้คนเชื่อง แต่ก่อนนักศึกษาตื่นตัว แต่ตอนนี้นักศึกษาก็เชื่อง มันมีความต่างกันอยู่ บรรยากาศตอนนั้นนักศึกษากำลังตื่นตัว ศึกษาหาความรู้ อยากเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง มันเรียกได้ว่าเป็นยุคเบิกบาน แต่ยุคเราเชื่องกันเกินไปและก็กลายเป็นนักศึกษากลุ่มน้อยที่ออกมา ฉะนั้น 6 ตุลา จึงเป็นบทเรียนสำคัญที่คนรุ่นเราควรจะเรียนรู้ มันไม่ใช่แค่ว่าเราไม่ได้เกิดในยุคนั้น แต่เรารู้ว่าโครงสร้างความอยุติธรรมมันเป็นอย่างไร และในยุคของเราที่ยังต้องต่อสู้กับความอยุติธรรม เราจะทำได้อย่างไร คือเราต้องคิดว่าประเทศนี้มันเป็นของเรา”

000

ชลธิชา แจ้งเร็ว

ขบวนการประชาธิปไตยใหม่

“เอาตั้งแต่เรื่องการรับรู้ เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ที่ถูกรัฐไทยลบเลือนเปลี่ยนแปลงการรับรู้ ตอนเด็กเราไม่เคยรู้เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ในหนังสือเรียนก็จะสอนแต่เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 แต่ไม่รู้ว่าเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 เกี่ยวข้องกันอย่างไร เหมือนมันเป็นบาดแผลอะไรบางอย่างที่รัฐไทยพยายามลบมัน ด้วยความสนใจของเราที่ชอบประวัติศาสตร์เราก็ไปค้นหาหนังสือเกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาคม จนเกิดคำถามกับเราตั้งแต่ตอนมัธยมว่า ทำไมในครั้งนั้นคนจำนวนหนึ่งพร้อมใจกัน ร่วมมือกัน ที่จะฆ่าคนจำนวนหนึ่งด้วยข้อหาที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

“ตอนที่เราเป็นเด็ก อ่านหนังสือหนูก็ยังไม่รู้ว่าทำไมคำว่าคอมมิวนิสต์ มันเลวร้ายขนาดนั้น ทำไมสังคมไทยถึงกล้าฆ่าคนจำนวนหนึ่งได้ แล้วเราจะเห็นจากรูป จากในหน้าหนังสือพิมพ์ เหตุการณ์นี้มันเหมือนหลุมดำในหน้าประวัติศาสตร์ เรามักจะข้ามเหตุการณ์นี้ไปและไปพูดถึง 14 ตุลาคม 2516 ว่าประเทศไทยมีการเรียกร้องประชาธิปไตยอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ถัดจากนั้นมาแค่ 3 ปี เขาก็เลือกที่จะปิดกั้นการรับรู้ 6 ตุลา 19 ถ้าเราไม่ได้แสวงหาการรับรู้เองเราก็ไม่คงไม่มีความคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์อย่างวันนี้

“ถ้าถามเกดตอนนี้ เกดมองว่าจริงๆ เหตุการณ์ 6 ตุลา ประชาชนจะต้องเรียนรู้ เราไม่ควรจะต้องมีการสูญเสียชีวิตจำนวนมากของประชาชน เราไม่ควรต้องมีบทเรียนนี้ในประวัติศาสตร์ เราสามารถฆ่าคนคนหนึ่งได้โดยไม่รู้จักเขาเลย แค่เพียงอุดมการณ์ทางการเมืองแตกต่างกัน แค่เพียงข่าวลือที่สร้างขึ้นมาในยุคนั้น มันเป็นบทเรียนที่เกิดขึ้นที่ไม่อยากมองในฐานะบทเรียน เพราะสังคมไทยไม่ได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เหล่านี้เลย สังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่กล้าเผชิญหน้ากับความขัดแย้งและเราเลือกที่จะใช้ความรุนแรงในการจัดการปัญหาต่างๆ มาตลอด

“หลังจากปี 2519 ก็จะมีเหตุการณ์ ปี 2535 ม็อบพันธมิตรฯ เหตุการณ์ปี 2553 ฯลฯ เรารู้สึกว่าเหตุการณ์ต่างๆเหล่านี้เราไม่เคยเรียนรู้อะไรเลยจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เราไม่เคยเรียนรู้ที่จะอยู่ด้วยกันบนความแตกต่างทางความคิด เอาเข้าจริงๆ สังคมไทยพร้อมที่จะใช้ความรุนแรงและอำนาจพิเศษทุกรูปแบบที่จะจัดการปัญหา และชนชั้นนำไทยก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญที่จะทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเองไว้โดยที่ไม่สนใจวิธีการเลย ถึงได้มีการยอมรับให้มีการฆ่าหรือทำร้ายคนที่มีความเห็นต่าง

“มันมีเหตุการณ์ครั้งหนึ่งเรื่องตรวจสอบอุทยานราชภักดิ์ที่เราไปรวมกันที่สถานีรถไฟบ้านโป่ง เป็นเหตุการณ์ที่เรากลัวที่สุดตั้งแต่ทำกิจกรรมและไม่เคยร้องไห้ต่อหน้าสาธารณะชนมาก่อน ตอนนั้นเรากล้าที่จะร้องไห้ มันเกิดจากการกลัวคนจำนวนมากที่เขามาชุมชนุมต้านเราทำกิจกรรม เขาตะโกนด่าว่าพวกหนักแผ่นดิน ให้ไปตายซะ ให้ออกไปนอกประเทศ เขาพยายามขว้างปาข้าวของที่จะทำร้ายเรา ขว้างใส่เรา แนวกำแพงที่ทหารตำรวจกั้นไว้ก็พยายามจะพังมาทำร้ายเรา จาก 6 ตุลาฯ จนมาถึงปี 57-58 เราไม่ได้เดินไปข้างหน้า การที่ประชาชนมาสู้กันเอง โดยรัฐไทยเองเข้ามาควบคุมและปลูกฝังความเชื่อทางความคิดและสร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรงและบ่มเพาะความเกลียดชังในสังคม”

ooooooooo

ลาก 'เก้าอี้' มานั่งคุย: งานใหญ่ 40 ปี 6 ตุลา ส่งต่ออุดมการณ์-ตีแผ่วัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวล

Mon, 2016-09-19 14:04
ที่มา ประชาไท

งาน 40 ปี 6 ตุลา จัดใหญ่ จัดเต็ม ทั้งปาฐกถา การนำเสนอผลงานวิชาการ การแสดงภาพยนตร์นานาชาติ และมหกรรมหนังสือการเมือง ร่วมค้นหารากเหง้าปัญหาวัฒนธรรมพ้นผิดลอยนวลในสังคมไทย คณะกรรมการจัดงานเผยเตรียมส่งทอด 6 ตุลาให้คนรุ่นใหม่ สรุปบทเรียนความรุนแรงต่อประชาชน เพราะชนชั้นนำไทยใจดำ





ภาพจากเพจ 6 ตุลา 2519 เราไม่ลืม


เป็นความพอดิบพอดีที่ปี 2559 เป็นปีครบรอบ 40 ปีเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่จารึกรอยเลือดลงในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ใกล้เคียงกันกับการครบรอบ 10 ปีนับจากเหตุการณ์รัฐประหารปี 2549 ที่เป็นเหตุการณ์สำคัญของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใกล้และเป็นชนวนความขัดแย้งไม่รู้จบตราบจนปัจจุบัน

งาน 20 ปี 6 ตุลาคม เมื่อพฤษภาคม 2539 เป็นจุดเริ่มต้นให้เหตุการณ์การล้อมปราบนักศึกษาประชาชนอย่างรุนแรงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ถูกรู้จัก พูดถึง และปรากฏที่ทางอย่างชัดเจนในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากปี 2539 ผ่านมาอีก 20 ปี ประเทศไทยผ่านรัฐประหารอีก 2 ครั้ง และการล้อมปราบกลางเมืองหลวงอีก 1 ครั้ง

งาน 40 ปี 6 ตุลา ในปีนี้จึงเป็นมากกว่าการรำลึกของคนแก่ตามที่สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อาจารย์ประจำคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลา และในวัยที่หนุ่มแน่นกว่านั้น เขาคือนักศึกษาคนหนึ่งที่ผ่านเหตุการณ์และต้องหลบหนีเข้าป่า การครบรอบเหตุการณ์ 6 ตุลา ในปีนี้ถูกวางให้เป็นงานใหญ่และมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย

กิจกรรมรำลึก 40 ปี 6 ตุลา

กฤษฎางค์ นุตจรัส ประธานฝ่ายวิชาการและกิจกรรม คณะกรรมการจัดงานรำลึก 40 ปี 6 ตุลาของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายแกนหลักในการจัดงานปีนี้ว่าเป็นการรำลึกถึงนักศึกษา ประชาชนในรุ่นนั้นที่เสียสละชีวิต และหวังจะให้เป็นบทเรียนแก่คนหนุ่มสาวในยุคปัจจุบันด้วย โดยงานนี้จะจัดขึ้น 3 วันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในวันที่ 6-8 ตุลาคมนี้

“วันที่ 6 งานจะเริ่มตั้งแต่ตี 5 เพราะเป็นเวลาเริ่มต้นการกวาดล้างเมื่อ 40 ปีที่แล้ว เราจะมีการแสดงศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในครั้งนั้น ช่วงเช้าจะมีพิธีทางศาสนา อุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย มีการกล่าวคำไว้อาลัยและวางพวงหรีดจากหน่วยงานต่างๆ จากนั้นจะมีการปาฐกถาโดยอาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข ผู้ผ่านเหตุการณ์ในฐานะ 18 นักโทษในเหตุการณ์ 6 ตุลา ในหัวข้อ 40 ปี 6 ตุลา เปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนอย่างไร

“วันที่ 7 จะมีการเสวนาเรื่องสื่อสารมวลชนกับความขัดแย้ง เพราะความขัดแย้งในเหตุการณ์ 6 ตุลา ส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้สื่อมวลชน เช่น วิทยุยานเกราะหรือหนังสือพิมพ์ดาวสยามปลุกระดมให้คนฆ่ากันตาย ซึ่งก็ไม่ต่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสามสี่ปีที่ผ่านมา ส่วนในวันที่ 8 จะเป็นการนำเสนองานวิชาการ”

นอกจากงานเสวนาต่างๆ แล้ว ตลอด 3 วันของงานยังมีงาน ‘มหกรรมหนังสือการเมือง’ ที่กฤษฎางค์กล่าวว่าจะเป็นงานหนังสือการเมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยจะจัดรอบหอประชุมใหญ่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมทั้งจะมีมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติ จัดที่ห้องเรวัติ พุทธินันท์ หอสมุดปรีดี พนมยงค์ เป็นภาพยนตร์ที่ทางคณะกรรมการจัดงานคัดเลือกมาประมาณ 8 เรื่อง และยังมีภาพยนตร์ที่ทางคณะกรรมการจัดสร้างขึ้นเอง 2 เรื่อง เกี่ยวกับเหตุการณ์ 6 ตุลาและเหตุการณ์ปี 2553

วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เมื่อคนผิดไม่ได้รับผิด

ในส่วนของงานวิชาการ พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้รับผิดชอบงานในส่วนนี้ กล่าวว่า กิจกรรมวิชาการจะจัดแยกต่างหากจากงานใหญ่ แต่เป็นส่วนหนึ่งของการรำลึก 40 ปี 6 ตุลา ผู้ที่เป็นเจ้าภาพคือคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ศึกษาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หัวข้อที่จัดคือความขัดแย้งและวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดในสังคมไทย

“เราไม่ต้องการมุ่งประเด็นแค่ 6 ตุลา แต่จะเป็นการนำเสนอทั้งงานวิจัยและบทความที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความรุนแรงในหลายกรณีในสังคมไทย ทั้งกรณีปัจจุบัน กรณีปี 53 กรณีภาคใต้ และกรณี 6 ตุลาด้วย

“งานวิชาการที่เราจัดวันที่ 8 เราต้องการมุ่งไปที่วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิด เพื่อให้เห็นว่าคนที่ทำผิดต้องรับผิด ถึงแม้จะเป็นไปไม่ได้ในปัจจุบัน แต่เราต้องการให้คนในสังคมตระหนักถึงสิ่งเหล่านี้ บทความหลายชิ้นที่เสนอในงานนี้ต้องการชี้ให้เห็นว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถนำคนที่ทำผิดมารับผิดได้ มันมีเครือข่าย มีระบบอุปถัมภ์ อำนาจ เข้ามาเกี่ยวข้องอย่างไร”

นักวิชาการที่จะมาร่วมนำเสนองานศึกษาในครั้งนี้ นอกจากพวงทองเองแล้ว ยังมีนักวิชาการคนอื่นๆ เช่น เกษียร เตชะพีระ, ประจักษ์ ก้องกีรติ, ธงชัย วินิจกุล เป็นต้น

ส่งต่อภารกิจให้คนรุ่นใหม่

ความคาดหวังประการหนึ่งของคณะกรรมการจัดงานคือต้องการให้เกิดการรวมตัวของคน 6 ตุลาให้มากที่สุด เพื่อเป็นการรำลึกประวัติศาสตร์การเมืองร่วมกัน หลายคนคงสงสัยว่าจะมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนและบรรยากาศในงานจะเป็นเช่นไร เมื่อความขัดแย้งทางการเมืองไทยตลอด 10 ปีที่ผ่านมานี้ สร้างความแตกต่างทางความคิดอย่างมากในหมู่คนเดือนตุลาด้วยกันเอง

“อันนี้เป็นปัญหาที่เราคิดมาตั้งแต่แรก การจัดตั้งคณะกรรมการจัดงานนี้ขึ้นมา เราตั้งมาจากคนที่มีความคิดหลากหลาย พูดกันภาษาเราคือทั้งแดงและเหลือง คนกลางๆ อนุรักษ์นิยม ชื่นชมรัฐบาลชุดนี้ ก็อยู่ในคณะกรรมการชุดนี้ทั้งหมด ยกตัวอย่างหงา คาราวาน ก็รับปากว่าจะมาเล่นในงานนี้ เขาก็เป็นคนในเหตุการณ์ 6 ตุลา และแต่งเพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ไว้เยอะ อะไรจะเปลี่ยนก็ตาม แต่ผมคิดว่าทัศนคติของเขาต่อ 6 ตุลาคงไม่เปลี่ยน ถ้าถามถึงความคาดหวังของคนมาร่วมงาน เราจัดงานรำลึก ใครที่เห็นความสำคัญก็มาร่วมกัน ส่วนใครที่ไม่เห็นความสำคัญ อยากลืมมันก็ลืมไป” กฤษฎางค์ กล่าว

แต่ประเด็นที่สำคัญกว่านั้นที่คณะกรรมการจัดงานต้องการคือให้คนรุ่นใหม่เข้าใจเหตุการณ์ 6 ตุลาและศึกษาเป็นบทเรียน อาจจะเรียกได้ว่าเป็นการส่งไม้ต่อให้กับคนรุ่นต่อไป แต่ก็เป็นการส่งทอดความคิดที่ไม่ต้องการจะครอบงำหรือผูกมัดใดๆ

“คนรุ่น 6 ตุลาก็อายุมากกันแล้ว” สุธาชัย กล่าว “เราคงมีความคาดหวังกับเด็กรุ่นหลัง เช่น คนรุ่นใหม่จะประเมิน 6 ตุลาต่อไปข้างหน้ายังไง ถ้ามองจากผม เท่าที่ผ่านมา คนเดือนตุลายังครอบงำการตีความเหตุการณ์ 14 และ 6 ตุลา แต่พวกเราคงอยู่กันอีกไม่นาน ในที่สุดก็ต้องปล่อยให้คนรุ่นหลังเป็นคนคิด เป็นคนตีความ งานนี้น่าจะเป็นงานใหญ่สุดท้ายแล้วกระมังที่พวกเราจะพอมีแรงอยู่ ผมคิดว่า 6 ตุลามีความหมายพิเศษจึงกระตุ้นความสนใจจากเด็กรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นมา ตอนนั้นมันเป็นยุคสมัยที่นักศึกษามีพลังในการกำหนดประเด็นของชาติ มันไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก

“ท้ายที่สุด สำหรับคนรุ่นใหม่ เราต้องปล่อยให้เป็นเรื่องของเขา เราไม่ควรครอบงำเขาแล้ว คนเดือนตุลาวันนี้ก็เสียหายหมดแล้ว เรื่องก็ 40 ปีแล้ว ก็ปล่อยให้เป็นประวัติศาสตร์ เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ที่จะตีความ หรือต่อไปคนรุ่นใหม่จะบอกว่า 6 ตุลา ไม่สำคัญเลย เลิกพูดถึงมัน ไปพูดถึงพฤษภา 53 แทน ก็โอเค 40 ปี 6 ตุลาคือความพยายามส่งไม้ต่อ ส่วนคนรุ่นใหม่จะรับหรือไม่รับเป็นหน้าที่ของเขา”

“ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยใจดำ”

ทั้งกฤษฎางค์ สุธาชัย และคณะกรรมการจัดงานเห็นพ้องกันว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาควรเป็นบทเรียนสำหรับอนาคตเพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย ไม่ให้เกิดการนำคนมาแขวน ไม่ต้องเก้าอี้ที่ถูกหยิบมาตีกัน

“ผมคิดว่าการเมืองไทยตั้งแต่ 2475 ผ่าน 14 ตุลา 6 ตุลา จนถึงปัจจุบัน มันเป็นการเดินทางของการเติบโตทางการเมืองของทั้งภาครัฐ ภาคประชาชน ทั้งทหาร ตำรวจ นักเรียน นักศึกษา มีทั้งผู้แพ้ ผู้ชนะ สมหวัง ผิดหวัง ผมคิดว่ามันเป็นหนึ่งเดียวกันตลอดมา ใครศึกษาก็จะพัฒนาตัวเองได้

“อย่างเหตุการณ์ 6 ตุลา ผมว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ 14 ตุลาด้วยซ้ำ เพราะวันที่นักศึกษาประชาชนชนะในเหตุการณ์ 14 ตุลา แต่สามปีผ่านมาก็ถูกปราบปรามอย่างราบคาบ เราเรียกร้องประชาธิปไตย ได้รัฐธรรมนูญปี 17 แล้วเราต้องมาหวานอมขมกลืนกับรัฐธรรมนูญปี 21 ของธานินทร์ ไกรวิเชียร บทเรียนมันเหมือนกัน จากพฤษภา 35 ไม่กี่ปี เรายังต้องมานั่งฟังคุณมีชัยร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว เพราะฉะนั้นผมตอบว่า เหตุการณ์ 6 ตุลาเป็นบทเรียนที่สำคัญเหตุการณ์หนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่สมควรจะศึกษาถึงเหตุผล ที่มาที่ไปที่เกิดขึ้น และอย่าให้มันเกิดขึ้นอีก”

ด้านสุธาชัย กล่าวว่า ตนยังอยากย้ำภารกิจและข้อเสนอตั้งแต่ 20 ปี 6 ตุลา เมื่อปี 2539 ที่ยังไม่บรรลุ

“ก็คือการเรียกร้องให้ชนชั้นนำไทยเลิกใช้ความรุนแรงกับประชาชน หาวิธีแก้ปัญหาโดยสันติวิธี พูดง่ายๆ เราอยากให้ 6 ตุลาเป็นครั้งสุดท้ายที่ความขัดแย้งทางการเมืองในไปสู่การฆ่ากัน ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก เราเรียกร้องกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เพราะที่ผ่านมาข้อเรียกร้องของเราล้มเหลว เราคิดว่าวิธีแก้ปัญหาในหมู่ประชาชนควรจะดีกว่านี้ ชนชั้นนำไทยจำเป็นต้องแก้ไขด้วยการฆ่าอย่างนั้นมั้ย ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นใดๆ เลย”

เราถามว่า เหตุใดข้อเรียกร้องที่ดูปกติสามัญที่สุดที่รัฐพึงทำจึงล้มเหลว

“ถ้าจะอธิบายแบบผม ผมคิดว่าชนชั้นนำไทยใจดำ ไม่เคยเห็นชีวิตประชาชนมีความหมาย ไม่เคยรับฟังเสียงของประชาชน พวกเขามองประชาชนเป็นเกมในการต่อสู้ เพราะฉะนั้นการเสียสละชีวิตหรือฆ่าประชาชนในลักษณะใดลักษณะหนึ่งจึงสามารถทำได้”

นั่นคือบทสรุปของความล้มเหลวจากถ้อยคำของสุธาชัย

เหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 จบไปแล้ว โดยยังทิ้งความคลุมเครืออีกมากที่ต้องค้นหา แต่สำหรับเส้นทางประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยและการเมืองไทย บทสรุปยังอยู่อีกห่างไกล