วันพฤหัสบดี, ตุลาคม 20, 2559

อ่านอีกที... จะทำยังไงกับลัทธิล่าแม่มดใหม่ ใน ค.ศ. 2010 + เราจะเข้าใจกระแสความกังวลที่มีต่อความรุนแรงของปฏิบัติการล่าแม่มดที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้อย่างไร?




https://www.youtube.com/watch?v=G5DhVdMcGEk


จะทำยังไงกับลัทธิล่าแม่มดใหม่ ใน ค.ศ. 2010

Sun, 2010-05-02 19:33
ที่มา ประชาไท


สาวตรี สุขศรี


"ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์" ถือกำเนิดขึ้นในปี ค.ศ. 2010 ในแวดวงผู้เล่นเฟสบ๊ค (Facebook) ไทย เว็บไซท์ประเภท Social Network ที่ปัจจุบัน นับเป็นเวทีสาธารณะสำคัญเวทีหนึ่งที่ผู้คนในยุคข้อมูลข่าวสารใช้เป็นสถานที่แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ระบาย ใส่ร้าย ฯลฯ เรื่องราวต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันในหมู่เพื่อนฝูง คนรู้จัก หรือคนอยากรู้จัก สำหรับ "ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์" ซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ที่กลุ่มเฟสบุคที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า "Social Sanction: ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม" [1] นั้น น่าจะมีแรงขับเคลื่อนหลักเป็นความ "เกลียดชัง" ที่มีต่อตัวผู้ชุนนุมประท้วง รวมทั้งผู้ที่เห็นด้วย หรือทำท่าว่าจะเห็นด้วยกับการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ซึ่งในระยะหลังถูกจับไปเชื่อมโยง หรือยัดเยียดข้อหาเป็นอีกขบวนการหนึ่งที่เรียกว่า "ขบวนการล้มเจ้า" ซึ่งถูกตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการโดย "ขบวนการ ศอฉ.”
ลัทธิ กรรมวิธี หรือจะเรียกว่าอะไรก็ตามแต่เกี่ยวกับการล่าและประหัตประหารแม่มดอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการพิพากษาของศาลที่สนับสนุนโดยพระสันตะปาปา ที่จัดตั้งขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 13 หรือช่วงปลายยุคกลาง (เรื่องราวการต่อต้านแม่มด และคุณไสยมีอยู่ก่อนยุคกลางแล้ว แต่ไม่ได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย) แต่การเข่นฆ่า ทารุณกรรมแม่มดขนานใหญ่ เกิดขึ้นตั้งแต่ราวศตวรรษที่ 15 ต่อเนื่องไปจนถึงศตวรรษที่ 17 โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังเหตุการณ์ทรมานให้รับสารภาพ และประหารแม่มดจำนวนมากด้วยการเผาไฟทั้งเป็น ในข้อหากบฏ เพราะมีแผนลอบปลงพระชนม์พระเจ้าเจมส์ที่ 6 แห่งสก๊อตแลนด์ ในคดีที่ นอร์ธ เบอร์วิก (North Berwick) ลัทธิล่าแม่มดนี้ถือเป็นรอยแปดเปื้อนรอยใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์มนุษยชาติของโลกตะวันตก เป็นสิ่งที่คนยุคหลังล้วนสรุปต้องตรงกันว่า มันเป็นวิธีการอันป่าเถื่อน ไร้มนุษยธรรม มุ่งใส่ความประจานหยามเหยียด เป็นเครื่องมือเพื่อใช้กำจัดผู้มีความคิดเห็นต่างจากผู้มีอำนาจ ทั้งนี้ไม่เฉพาะในวงศาสนจักรแต่ยังล่วงเข้าไปถึงฝ่ายอาณาจักร ด้วยการยัดเยียดข้อหาร้ายแรงโดยไม่จำเป็นต้องมีหลักฐาน หรือเหตุผลที่หนักแน่นมารองรับ ซึ่งล้วนขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ทั้งสิ้น

ด้วยเหตุต่าง ๆ ดังกล่าวมา อันที่จริงแล้ว จึงไม่น่าจะมีเหตุผลหรือความชอบธรรมใด ๆ อีกเลยที่แนวความคิดสามานย์ ที่ว่าด้วยการใส่ร้าย หรือยัดเยียดข้อกล่าวหาที่รุนแรง ประจาน และลงโทษกันเองโดยขาดเหตุผลแบบนี้ จะกลับฟื้นคืนชีพ กลายเป็นสิ่งพึงพิศมัย สามารถปรากฏตัว และผสมผสานอยู่ได้กับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ในโลกอินเทอร์เน็ต คนที่อ้างหรือเชื่อว่าตนมีความเป็นศิวิไลน์แล้วในยุคข้อมูลข่าวสาร ที่สำคัญกว่านั้น คือ มันกำลังกลายเป็นความรุนแรงอีกรูปแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์หรือโลกเสมือน นอกเหนือจากความรุนแรงในโลกแห่งความเป็นจริงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่ชนิดที่ยังไม่มีใครล่วงรู้ถึงจุดจบ อนึ่ง ปัจจุบัน มิเพียงแต่ในเครือข่าย Social Network อย่าง Feacbook เท่านั้น แต่กลุ่มที่มีแนวความคิดแบบเดียวกันนี้ยังใช้วิธีการส่งต่อข้อมูลทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเมลเพื่อประจานเหยื่อแบบเป็นกลุ่มลูกโซ่อีกด้วย

การถูกนำ ชื่อจริง นามสกุลจริง ประวัติการศึกษา ชื่อบิดามารดา เบอร์โทรศัพท์ รสนิยมส่วนตัวในเรื่องต่าง ๆ มาเปิดเผย การถูกรุมด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถูกสมาชิกในกลุ่มล่าแม่มด ฯ วิเคราะห์ไปในเชิงที่จะถูกดูหมิ่น เสื่อมเสียเกียรติยศ ชื่อเสียง การถูกไล่ออกจากงาน ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับในข้อหาต่าง ๆ อาจเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับการถูกโทรศัพท์ข่มขู่จะเอาชีวิต และร่างกาย ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง แต่หลายคนอาจยังไม่รู้

ด้วยผลพวงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจากการปรากฏการณ์การ "ล่าแม่มด" ในอินเทอร์เน็ต (ไทย) ซึ่งกำลังปฏิบัติการกันอยู่อย่างเป็นการเป็นงาน อีกทั้งดูเหมือนจะได้รับการสนับสนุนจากผู้มีอำนาจในบ้านเมืองบางกลุ่มอยู่ด้วย ในทศวรรษนี้ ผู้เขียนมีข้อสังเกต รวมทั้งอยากให้ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการกระทำเหล่านี้ ดังนี้

1. เรื่องนี้อาจทำให้หลาย ๆ คนที่ก่อนหน้านี้ไม่ได้สนใจ หรือให้ความสำคัญนักกับ "ข้อมูลส่วนบุคคล" ของตัวเอง ที่ถูกคีย์ หรือส่งเข้าไปโลดแล่นอยู่ในเครือข่ายออนไลน์สาธารณะ ทั้งจะโดยตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจให้คนอื่นนำไปใช้ต่อก็ตาม เริ่มหันมองปัญหา หรือกระทั่งมองหากฎหมายที่ว่าด้วย "การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" ในประเทศไทยมากขึ้น แต่ความสนใจในปัญหานี้ย่อมยังไม่เพียงพอ เพราะที่ถูกแล้วคนไทยควรต้องหันมาสนใจมาตรการการป้องกันตนเอง จากการถูกใช้ข้อมูลส่วนบุคคลไปในทางอื่นใดที่มิชอบด้วยกฎหมายด้วย

2. น่าเศร้าใจว่า คนรุ่นใหม่ที่ควรคาดหวังได้ว่ามีหัวก้าวหน้า เคารพในสิทธิเสรีภาพในความเชื่อความศรัทธา เคารพพื้นที่ความเป็นส่วนตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเคารพข้อมูลส่วนบุคคล "ทรัพย์ดิจิตอล" ที่ถูกยกให้มีความสำคัญ และควรได้รับความคุ้มครองที่สุดในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศ กลุ่มคนที่ครั้งหนึ่งเรียกร้องให้คนอื่นเคารพสิทธิเสรีภาพของตนเพราะได้รับผลกระทบจากการชุมนุมของคนเสื้อแดง กลับไม่มีความศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย ความเสมอภาคในการแสดงความคิดเห็น ขาดความเคารพในสิทธิเสรีภาพ ไม่ แม้กระทั่งเคารพข้อมูลของบุคคลอื่น หลายคนทำลืมไปว่า "ข้อมูล" ของตนเอง ณ ปัจจุบันก็โลดแล่นอยู่ในระบบออนไลน์นี้เช่นกัน บางคนทำเป็นไม่ใส่ใจว่าถ้าเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นกับตนบ้างตนจะมีความรู้สึกหรือต้องได้รับความเสียหายอย่างไร บุคคลผู้เรียกตัวเองว่าเป็นคนทันสมัยเหล่านี้ กลับมีความคิดคับแคบ และใช้วิธีการแย่เสียยิ่งกว่า Hacker คนที่ได้ชื่อว่าเป็นอาชญากรคอมพิวเตอร์ แต่ในยุคหนึ่งพวกเขาเคยกำหนดจรรยาบรรณร่วมกันไว้ข้อหนึ่งว่า "จงใช้ข้อมูลสาธารณะ ในขณะที่ต้องคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" [2]

3. น่าสนใจว่า ในขณะที่หลักการ และเหตุผลในกระบวนการลงโทษทางสังคม (Social Sanction) ที่ตั้งอยู่บนอารมณ์ ความรู้สึก หลาย ๆ กรณีที่ปรากฏอยู่ในขบวนการดังกล่าว ไม่ได้สอดคล้องกับหลักการที่ปรากฏในบทบัญญัติของกฎหมายเลย แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐไทยกลับตอบสนองข้อเสนอของขบวนการนี้ด้วยความรวดเร็วฉับไว ผิดกับการตอบสนองต่อการร้องเรียนให้ตรวจสอบการกระทำต่าง ๆ ที่น่าจะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทั้งนี้ทั้งที่กระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และของบุคคลกลุ่มอื่นใด ที่ไม่ใช่กลุ่มคนเสื้อแดง หรือกลุ่มที่ดูเหมือนจะสนับสนุนคนเสื้อแดง ซึ่งมักเป็นไปด้วยความล่าช้า ประวิงเวลา หรือกระทั่งโยนข้อร้องเรียนนั้นทิ้งด้วยข้ออ้างว่าตนไม่มีอำนาจ

แม้ มาตรา 112 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทประมุขแห่งรัฐฯ มีหลักเกณฑ์ที่แตกต่างจากการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาอยู่หลายประการ กล่าวคือ ใครกล่าวโทษฟ้องร้องก็ได้, ยอมความไม่ได้, ไม่มีข้อยกเว้นความผิด หรือยกเว้นโทษ และมีโทษหนักมาก แต่ควรต้องเข้าใจด้วยว่า องค์ประกอบความผิดในมาตรานี้ไม่ได้มีความแตกต่างไปจากองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 326 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดาเลยคือ ต้องเป็นการใส่ความ โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้ถูกใส่ความนั้น เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง จากบุคคลอื่น หรือบุคคลที่สาม

จริงอยู่ที่ว่า การใส่ความนั้นไม่ได้หมายเฉพาะแต่การพูด การเขียน แต่หมายรวมไปถึงพฤติกรรม การกระทำ การแสดงท่าทางด้วย จริงอยู่ที่พฤติกรรมบางอย่าง ที่ถือไม่ได้ว่าถึงขั้นใส่ความแล้ว กับคนในสถานะหนึ่ง อาจเป็นการใส่ความที่เป็นหมิ่นประมาทได้เหมือนกัน ถ้าพูด เขียน หรือกระทำกับคนในอีกสถานะหนึ่ง แต่การวินิจฉัยว่าการกระทำหนึ่ง ๆ จะถึงขั้นหมิ่นประมาทหรือไม่ อย่างไร นอกจากต้องพิจารณาจากมุมผู้ถูกใส่ความเอง และศาล แล้ว จำเป็นต้องดูความคิดความเห็นของ "วิญญูชน" อื่น ๆ (ไม่ใช่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่ชัดเจนว่ามีความเกลียดชัง หรือมีอคติต่อผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด) ประกอบด้วยว่า มีความร้ายแรงถึงขนาดที่จะทำให้บุคคลผู้ถูกใส่ความ ถูกสังคม และผู้คนเกลียดชัง ดูถูกดูแคลน ได้หรือไม่

จากเหตุการณ์ล่าสุดที่เกิดขึ้นย่อมถือเป็นสิ่งท้าทายความกล้าหาญทางวิชาชีพของ นักกฎหมาย และนักปฏิบัติการตามกฎหมาย เช่นกัน ที่จะต้องร่วมกันตั้งคำถามและวินิจฉัยให้ได้ว่าการ "ปลดรูป" ลง ถือเป็นการกระทำที่ถึงระดับขั้นที่ว่านี้แล้วหรือไม่ การกระทำเช่นนั้นแสดงได้แล้วหรือว่าจะทำให้ผู้คนทั่วไปที่ได้รู้เหตุการณ์นี้ เกิดความเกลียดชังเจ้าของรูป ทำนองเดียวกันกับกรณีการ "ไม่ยืน" เมื่อเพลงสรรเสริญพระบารมีดังขึ้น ถือเป็นพฤติกรรม หรืออาชญากรรมหนึ่งที่ถึงขั้นใส่ความแล้วฉะนั้นหรือ ? ที่สำคัญไม่ควรลืมว่า กฎหมายอาญาจะลงโทษ หรือจะลิดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่การกระทำความผิดในกลุ่ม "หมิ่นประมาท" นี้ได้ ก็ต่อเมื่อ "ความเสียชื่อเสียง การถูกดูหมิ่น หรือการถูกเกลียดชัง" นั้น เกิดขึ้นหรือน่าจะเกิดขึ้นกับ "ผู้ถูกกระทำ" หาใช่ "ผู้กระทำ" ไม่ แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นอย่างมากในประเทศไทย ก็คือ มิเพียงการตีความการกระทำความผิดในฐานนี้จะกว้างขวางไร้ขอบเขตแล้ว ยังดูเหมือนว่าความเสื่อมเสียทั้งหลายบรรดามี มักเกิดขึ้นทันทีต่อตัวผู้กระทำเอง และบางครั้งถึงขั้นเกี่ยวพันหรือมีอิทธิพลต่อความเป็นกลางของหน่วยงานผู้ตัดสิน

กฎหมายอาญาเปรียบเสมือนของมีคม ถูกนำไปใช้ลงโทษผู้ใดเมื่อใดผู้นั้นก็ต้องได้รับบาดเจ็บ หลักสำคัญที่สุดที่ถูกวางไว้ทั้งในแง่มุมของการบัญญัติ และการใช้บังคับกฎหมายประเภทนี้ จึงมีถึง 4 ประการด้วยกัน คือ ต้องบัญญัติให้ชัดเจนว่าอะไรห้าม หรืออะไรไม่ห้าม ต้องไม่ใช้วิธีตีความเทียบเคียงจากกฎหมายอื่นใดมาให้เป็นโทษแก่ผู้ถูกกล่าวหา ห้ามลงโทษย้อนหลัง รวมกระทั่งห้ามเอาจารีตประเพณีมาใช้ในทางที่เป็นโทษกับผู้ต้องหา แต่การณ์กลับปรากฏว่า กฎหมายหลายต่อหลายฉบับ และการใช้กฎหมายหลายต่อหลายครั้งในช่วงที่ผ่านมาในประเทศ หมิ่นเหม่ และถูกตั้งคำถามถึงความชอบด้วยหลักการทางกฎหมายอาญาอยู่เสมอ อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนคนไทยจำนวนมาก (ที่ยุยงให้ใช้กฎหมายอาญาโดยไม่สนใจหลักการที่ถูกต้อง) จะไม่เคยเรียนรู้ หรืออยากที่จะเรียนรู้ถึงความเสียหาย หรือรู้สึกหวาดผวากับผลกระทบใด ๆ เลย ตราบใดที่ผลกระทบและปัญหาเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นกับตัวเขา หรือครอบครัวของเขาเอง

4. คงไม่แปลกอีกต่อไปแล้วกระมัง หากจะไม่ปรากฏข้อเรียกร้องความเป็นธรรมใด ๆ จากกลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน หรือกลุ่มสันติวิธีที่ตั้งขึ้นเองจำนวนมาก เกี่ยวกับการนำรูป นำข้อมูลส่วนบุคคล ออกมาเผยแพร่ (เสียบ)ประจาน คนที่เห็นด้วย หรือทำท่าว่าจะเห็นด้วยกับการชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อให้คนอีกจำนวนมากที่อยู่ฝั่งตรงข้ามเข้ามาต่อว่า ด่าทอด้วยถ้อยคำหยาบคาย รุนแรง หรือกระทั่งปลุกปั่น ยุงยงให้คนที่พบเห็นทำร้ายชีวิตร่างกายของบุคคลนั้น

5. ไม่แน่ใจว่า ในประเทศไทยเคยมีความเคลื่อนไหวใด ๆ จากภาคสังคม กลุ่มพนักงาน แรงงาน ฯลฯ ในประเด็นที่เกี่ยวพันกับการเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรมด้วยข้ออ้างที่ไร้เหตุผล และพยานหลักฐานที่ไม่แน่นหนา โดยผู้ประกอบการบ้างหรือไม่ อาจเคยมีก็ได้ แต่ครั้งนี้ยังไม่เห็น

ข้อเสนอแนะสำหรับผู้ใดก็ตามที่ถูกขบวนการดังกล่าวนำข้อมูลส่วนบุคคลของตน มาเปิดเผย นำออกแสดง หรือนำไปใช้ในทางที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างใดอย่างหนึ่งขึ้น

1. เบื้องต้น ในประเด็นด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ ธรรมชาติของสื่อสาธารณะออนไลน์ รวมทั้งปัญหาช่องโหว่ของกฎหมาย (สถานภาพปัจจุบันของ "พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล" คือ "ร่าง") โปรดเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้น ในการส่งข้อมูลส่วนบุคคลในแง่มุมต่าง ๆ ของท่านไปไว้ในบริการต่าง ๆ บนเครือข่ายออนไลน์ ทั้งนี้ไม่เฉพาะแต่เครือข่ายขนาดใหญ่อย่างอินเทอร์เน็ต แต่หมายรวมถึงเครือข่ายภายในอย่างอินทราเน็ต ด้วย

สำหรับข้อมูลใด ๆ ที่อยู่ในระบบสาธารณะอยู่แล้ว ปัญหาที่ต้องสนใจ ก็คือ บุคคลอื่นใดจะนำไปเปิดเผยที่อื่นนอกเหนือจากที่ ๆ เจ้าของนำไปโพสไว้ได้หรือไม่ ? ซึ่งประเด็นนี้อาจยังติดปัญหาดังกล่าวไปแล้วเรื่อง คือ กฎหมายที่จะเข้ามาคุ้มครองตรง ๆ ยังไม่มี แต่หากปรากฎชัด หรือผู้ได้รับความเสียหายมีพยานหลักฐานในเบื้องต้น หรือมีเหตุอันชัดเจนว่า ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ เจาะระบบ ดักรับ หรือจรากรรมข้อมูลส่วนบุคคลอื่นใดที่ผู้เป็นเจ้าของไม่เคยนำไปโพสไว้ในบอร์ด หรือพื้นที่สาธารณะที่ไหนเลย การกระทำของสมาชิกขบวนการแม่มดฯ ดังกล่าวย่อมเข้าข่ายเป็นความผิดตาม พระราชบัญญัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 มาตรา 5, 7 หรือ 8 ได้

2. หากผู้ถูกประจานประเมินแล้วว่า ตนได้รับความเสียหายจากการกระทำต่าง ๆ โดยขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ ในที่นี้หมายถึง ทั้งจากการที่ข้อมูลส่วนบุคคลถูกนำไปเปิดเผยในที่อื่นใดโดยฝ่าฝืนต่อความประสงค์ เป็นเหตุให้ข้อมูลนั้นแพร่กระจายหรือถูกนำไปใช้ต่อด้วยวัตถุประสงค์อื่น และทั้งจากการถูกรุมด่าประณามด้วยถ้อยคำเสียหายแบบขาดไร้พยานหลักฐาน ก่อให้ถูกดูหมิ่น เสื่อมเสียเกียรติและชื่อเสียง ถูกเกลียดชัง และข้อความต่าง ๆ เหล่านั้นไม่เป็นความจริง กรณีต่าง ๆ เหล่านี้ สามารถพิจารณาได้กับความเสียหายในทางแพ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในข้อหา "ละเมิด" ตามมาตรา 420 อันเป็นบททั่วไป หรือมาตรา 423 ที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งเหล่านี้ผู้เสียหายสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือให้ศาลใช้มาตรการเยียวยาอื่นใดได้ เช่น ลบข้อความนั้นเสีย หรือลงข้อความขอโทษในสื่อตามระยะเวลากำหนด (มาตรา 447 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์)

"มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่น โดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิด จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น"

"มาตรา 423 ผู้ใดกล่าวหรือไขข่าวแพร่หลาย ซึ่งข้อความอันฝ่าฝืนต่อความจริง เป็นที่เสียหายแก่ชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของบุคคลอื่น ก็ดีหรือเป็นที่เสียหายแก่ทางทำมาหาได้ หรือทางเจริญของเขาโดย ประการอื่นก็ดี ท่านว่าผู้นั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่เขาเพื่อความเสียหายอย่างใด ๆ อันเกิดแต่การนั้น แม้ทั้งเมื่อตนมิได้รู้ว่าข้อ ความนั้นไม่จริง แต่หากควรจะรู้ได้

ผู้ใดส่งข่าวสารอันตนมิได้รู้ว่าเป็นความไม่จริง หากว่าตนเอง หรือผู้รับข่าวสารนั้นมีทางได้เสียโดยชอบในการนั้นด้วยแล้วท่านว่าเพียงที่ส่งข่าวสารเช่นนั้นหาทำให้ผู้นั้นต้องรับผิดใช้ค่าสินไหม ทดแทนไม่"

3. นอกจากข้อพิจารณาในทางแพ่งแล้ว การกระทำของขบวนการดังกล่าวยังอาจเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายอาญาที่ว่าด้วยการ "หมิ่นประมาทบุคคลอื่น" ตามมาตรา 326 หรือ 328 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งมีทั้งโทษจำคุก และหรือปรับ ด้วย

"มาตรา 326 ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะ ทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นหรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ"

"มาตรา 328 ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณา ด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ ทำให้ปรากฏด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกินสองปีและปรับไม่เกินสองแสนบาท"

โดยเมื่อพิจารณาจากพฤติการณ์ต่าง ๆ ที่ขบวนการล่าแม่มดออนไลน์กระทำแล้ว กล่าวคือ เพื่อ "(เสียบ)ประจาน" (ตามถ้อยคำที่กลุ่มใช้เอง) ย่อมถือไม่ได้ว่าการต่าง ๆ เหล่านั้นเป็น "การติชมโดยสุจริต" อันจะเป็นเหตุให้ได้รับยกเว้นความผิดตามมาตรา 329 ได้

อนึ่ง หากประสงค์จะยื่นคำฟ้องต่อศาลใด ๆ ควรเตรียมเก็บพยานหลักฐานทางอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ เตรียมพร้อมไว้ เนื่องจากข้อมูล ถ้อยคำ ข้อความ รูปภาพในลักษณะนี้ สามารถถูกเปลี่ยนแปลง ทำลาย หรือโยกย้ายเปลี่ยนที่ทางได้ในเวลาอันรวดเร็ว

4. มิเพียงแต่ความผิดที่กระทำต่อ ข้อมูลส่วนบุคคล เกียรติยศ ชื่อเสียง เท่านั้น ที่ขบวนการล่าแม่มดดังกล่าวควรต้องรับผิดชอบ แต่การกระทำความผิดต่อความปลอดภัย หรือเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย อนามัย รวมทั้งสุขภาพจิตของเหยื่อผู้ถูกกระทำ ก็ควรตกอยู่ในความรับผิดชอบร่วมกันของขบวนการดังกล่าวด้วย ทั้งนี้ อาจเป็นได้ทั้งในนามตัวการร่วม ผู้ใช้หรือยุยง หรือผู้สนับสนุนให้เกิดการกระทำความผิดในฐานอื่นใด (หากจะเกิดขึ้นจริง) อาทิ การข่มขืนใจผู้อื่น โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ฯลฯ (มาตรา 309 ประมวลกฎหมายาอาญา) , ทำร้ายร่างกาย (มาตรา 297 ประมวลกฎหมายอาญา) ฯลฯ

5. หากมีบุคคลใดถูกไล่ออกจากงาน หรือถูกกระทำการใด ๆ โดยไม่เป็นธรรมในที่ทำงาน ด้วยเหตุผลเพียงเพราะถูกกลุ่มบุคคล หรือขบวนการลักษณะนี้กล่าวหา ประจานอย่างเลื่อนลอย บุคคลนั้นควรคิดหาทางเรียกร้องสิทธิตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่ว่าด้วย การเลิกจ้างอันไม่เป็นธรรม เพื่อเรียกร้องเงิน หรือมาตรการชดเชยควบคู่ไปด้วย

6. อาจรวมกลุ่มกันดำเนินการยื่นหนังสือเปิดผนึก หรือบันทึกร้องเรียนไปยัง ผู้บริหาร Facebook เกี่ยวกับพฤติกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของขบวนการล่าแม่มดฯ ดังกล่าว โดยพยายามชี้ให้เห็นว่า นอกจากจะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายแล้ว ยังขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน และหลักการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย ขอให้ Facebook ใช้มาตรการที่เหมาะสมในการจัดการดูแลต่อไป

7. การตั้งกลุ่มต่อต้านขบวนการล่าแม่มดออนไลน์ อาทิ กลุ่ม "Anti -Social Sanction: ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม" [3] ย่อมถือเป็นสิทธิ และทำได้ตามสมควร แต่ต้องระมัดระวัง และไม่ควรใช้วิธีการเช่นเดียวกับที่กลุ่ม "Social Sanction: ยุทธการลงทัณฑ์ทางสังคม" ใช้อยู่ ทั้งนี้เพื่อไม่ให้กลายเป็นการผลิตซ้ำความรุนแรง และแนวความคิดสามานย์ที่มีลักษณะทั้งขัดต่อกฎหมาย และขัดต่อสิทธิมนุษยชนเสียเอง

สุดท้ายนี้ ขอความสันติ อหิงสา จงมีมาพร้อม ๆ กับความเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าจะในโลกจริง หรือโลกเสมือนจริง

จากใจ แม่มดตนหนึ่ง ที่รอคอยการล่า


………………………
[1] http://www.facebook.com/pages/Social-Sanction-yuthhkar-lng-thh-thang-sngkhm/108738429154376?ref=ts
[2] http://www.ccc.de/hackerethics
[3] http://www.facebook.com/pages/ANTI-Social-Sanction-yuthhkar-lng-thh-thang-sngkhm/103397556371253?v=wall


ooo


ดูอีกครั้ง...


โลกประณาม คดีหมิ่น 112 กระบวนการยุติธรรมไทยอ่อนแอ


https://www.youtube.com/watch?v=YjQoIAACgvg


ooo

เราจะเข้าใจกระแสความกังวลที่มีต่อความรุนแรงของปฏิบัติการล่าแม่มดที่แพร่ระบาดอยู่ในสังคมไทยปัจจุบันนี้อย่างไร?

แน่นนอนที่ว่า เป็นไปไม่ได้เลยที่จะนำเอาการล่าแม่มดในไทย มาเทียบเคียงกับการล่าแม่มดในยุคกลาง หรือ atrocities ที่เกิดขึ้นในที่อื่นๆทั่วโลก ไม่ว่าจะในแง่จำนวน ขนาด หรือระดับความรุนแรงเชิงกายภาพ ผู้ที่ผ่านตาประวัติศาสตร์มาบ้าง ย่อมรู้แก่ใจในเรื่องนี้เป็นอย่างดี


การพยายามแสดงออกถึงความรู้สึกต่อเหตุการณ์ในไทยในปัจจุบัน ด้วยการเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ไล่ล่าทำลายล้างระหว่างกลุ่มชนด้วยกันเองในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะในกรณีของไทยที่ผ่านมา เช่น หกตุลา หรือระดับโลก อาทิ witch hunt ในยุโรป ปฎิวัติวัฒนธรรมจีน หรือกระทั่งรวันดา จึงไม่ใช่การพยายามเปรียบเทียบในเชิง “ข้อเท็จจริง” หรือข้อมูลเชิงประจักษ์ทางประวัติศาสตร์ หากแต่เป็นการพยายามหาเครื่องมือในการสื่อสารถึง “ความกลัว” ที่ผู้คนมีต่อภาวะการทำลายล้าง การถูกจับกุมคุมขังของประชาชน ที่เกิดขึ้นอย่างไร้เหตุ ไร้ผล ที่กำลังปกคลุมสังคมไทยอยู่ในปัจจุบัน

คนจำนวนหนึ่ง อาจมองว่าการแสดงออก หรือความกังวลดังกล่าว เป็นการตีความสถานการณ์ที่เกินเลยจากความเป็นจริงไปมาก ทั้งนี้ อาจด้วยการวิเคราะห์ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่นี้ เป็นเพียงเรื่องประเดี๋ยวประด๋าว เป็น spontaneous/individual reaction to loss ที่ปัจเจกบุคคล act out of grief เมื่อผ่านช่วงเวลาไป เหตุการณ์ก็จะบรรเทาเบาบางลงไปเอง

แต่ดิฉันกลับเห็นต่างออกไป

หากติดตามกระบวนการล่าแม่มดในโลกไซเบอร์ที่ดำเนินกันอย่างสืบเนื่องมาตลอดตั้งแต่ก่อนรัฐประหาร และเติบโตอย่างเข้มแข็งอย่างมากในยุคคสช.แล้ว กระบวนการดังกล่าว เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบ มีการจัดตั้งในรูปแบบต่างๆ ทั้งภายในรัฐ และในกลุ่มองค์กรมวลชน กระบวนไล่ล่าแม่มดดังกล่าวทำงานผ่าน anxiety ของกลุ่มคน/มวลชน จำนวนหนึ่ง ที่หวาดระแวง รู้สึกไม่มั่นคง ต่อช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลง และเปลี่ยนผ่าน

พัฒนาการล่าแม่มด ที่เคยจำกัดตัวอยู่ในระดับของปัจเจกบุคคล องค์กรของรัฐ และองค์กรมวลชน ที่ active บ้าง ไม่ active บ้างในโลกออนไลน์ และออฟไลน์ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ปัจจุบัน ได้ขยับไปสู่การแสดงออกอย่างรุนแรง ที่ซึ่งการแสดงออกในโลกออนไลน์ สามารถผนึกกำลังรวมพลแสดงออกอย่างโจ๋งครึ่มในโลกออฟไลน์ ที่ข้ามเส้นตรรกะเหตุผลของการไล่ล่าที่อย่างน้อย ก็เคยวางอยู่บนกรอบที่ถูกระบุไว้ตามกฎหมายที่มีอยู่ ไปสู่ระดับของความ absurd ที่หากรอบอะไรรองรับไม่ได้ แต่กลับได้รับฉันทามติรวมหมู่ อย่างที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในยุคคสช หรือก่อนหน้านี้ และทั้งยังได้รับไฟเขียว อย่างยินดีปรีดา และไม่รีรอ โดยรัฐ

ดิฉันกลับเห็นว่า การล่าแม่มดอย่างเป็นระบบ ที่ได้ขยายวงอย่างรุนแรงและกว้างขวางในปัจจุบัน เป็นพัฒนาการอีกขั้นหนึ่งของพลังฝ่ายขวา ที่ฉวยโอกาสในการเสริมสร้างสมรรถนะในการทำลายล้าง ผ่าน grief และ anxiety โดยไม่จำเป็นต้องยึดกับนิยามของความเป็นศัตรูในความหมายเดิมๆอีกต่อไป และสามารถดำเนินสืบเนื่องไปพร้อมๆกับการสร้าง/ได้รับพลังสนับสนุนที่กว้างขวางขึ้นกว่าเดิม ทำให้แสดงออกได้อย่างไม่ยี่หระ และไร้ขีดจำกัด พร้อมๆไปกับการขยายพลานุภาพของ mass surveillance ในส่วนของรัฐเอง

ความรู้สึกกลัวต่อภัยในการทำลายล้างประเภทนี้ที่กำลังเกิดขึ้น จึงไม่ใช่สิ่งที่จะมาวัดกันด้วยจำนวน หรือลดทอนมันลงเหลือเป็นเพียงประสบการณ์ของปัจเจกบุคคลเท่านั้น


Pinkaew Laungaramsri