ที่มา ประชาไท
2014-10-31
สภานิติบัญญัติแห่งชาติจะพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมฉบับใหม่วันพฤหัสบดีนี้ หลังคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม คาดว่า สนช.จะผ่านฉลุย มิไยที่เครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน 14 องค์กรคัดค้าน ต้องการ "มีส่วนร่วม" แก้ไขประเด็นสำคัญๆ เช่นให้ผู้ประกันตนมีสิทธิเลือกผู้บริหารกองทุน ไม่ให้อยู่ใต้ระบบราชการกระทรวงแรงงาน
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันเดียวกัน ยังเห็นชอบร่างพ.ร.บ.แร่ ซึ่งองค์กรชาวบ้านในพื้นที่ได้รับผลกระทบออกมาค้านเซ็งแซ่ว่า "เอื้อประโยชน์นายทุน" กฎหมายนี้มุ่งตัดอำนาจ "นักการเมืองชั่ว" โดย "กระจายอำนาจ" ออกประทานบัตร ให้ผู้ว่าฯ อธิบดี ปลัดกระทรวง อนุมัติเป็นกรณี จากเดิมที่เรื่องต้องถึงรัฐมนตรี ตอนนี้จะทำ One Stop Service แต่ชาวบ้านบอกว่า Fast Food เสียมากกว่า เพราะบางกรณียังยกเว้นไม่ต้องทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือต่อให้ทับพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 ก็ให้อำนาจอธิบดีอนุมัติโดยไม่ต้องผ่านคณะรัฐมนตรี (นักการเมืองชั่ว)
นับแต่ คสช.ยึดอำนาจ จนตั้งสนช. ตั้งคณะรัฐมนตรี มีประกาศ คำสั่ง และกฎหมายหลายฉบับ ที่ถูกคัดค้านจาก NGO "ภาคประชาชน" ซึ่งก็ค้านได้เพียงบางเรื่อง แต่หลายเรื่องค้านไม่ได้ ค้านไม่ทัน หรือเกือบไม่รู้ด้วยซ้ำ ภายใต้อัตราฉับไว 5 เดือนมีกฎหมายเข้า สนช. 57 ฉบับ
กระบวนการอนุมัติใน ครม.ยุคกองทัพ ทั้งเฉียบขาด รวดเร็ว และปิดลับ รัฐมนตรีต่างกระทรวงได้อ่านเอกสารก่อนประชุมวันเดียว ไม่มีข่าวรั่วไหลให้สื่อรู้ตาม "ประเพณีประชาธิปไตย" ว่าวันอังคารนี้ ครม.จะพิจารณาเรื่องอะไรบ้าง NGO จะได้ยกพลมาค้าน ขณะที่สภาซึ่งมีทหารร่วมครึ่ง ก็เชื่อว่ากฎหมายที่ผ่านการพิจารณาของ ครม.ที่เป็น "ผู้บังคับบัญชา" อยู่ด้วย น่าจะถูกต้องชอบธรรมแล้ว
นี่ยังไม่ต้องพูดถึงกฎอัยการศึก เอาแค่ความรวบรัด อย่างร่าง พ.ร.บ.ศุลกากร ซึ่งมาตรา 7 ให้อำนาจศุลกากรตรวจค้นสินค้าผ่านแดนหรือถ่ายลำโดยไม่ต้องมีหมายค้น หากเชื่อได้ว่าเป็นภัยก่อการร้ายหรือผิดกฎหมาย ให้ยึดได้โดยไม่ต้องมีคำสั่งศาล กฎหมายนี้ผ่านสภาโดยแปรญัตติเพียง 7 วัน FTA Watch ต้องไปตามขอคำมั่นว่าจะไม่บังคับใช้กับยา เพราะบริษัทยาข้ามชาติอาจฉวยโอกาสใช้ยึดยาสามัญที่ไม่มีสิทธิบัตร
กฎหมาย ที่ค้านได้ก็อย่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งวิชาชีพเภสัชกรออกมาต้านอื้ออึง เนื่องจากอนุญาตให้วิชาชีพอื่นที่ไม่ใช่แพทย์และเภสัชกรจ่ายยาได้ รวมทั้งเปิดช่องให้พวกคลินิกความงาม คลินิกผิวหนัง กวนยาขายเอง
ถามว่าผู้นำ คสช.ผู้นำรัฐบาลรู้เรื่องไหม ไม่รู้หรอกครับ หลายเรื่องไม่รู้หรือรู้บ้างแต่ไม่รู้รายละเอียด แล้วกฎหมายออกมาได้ไง ก็ส่วนราชการชงขึ้นมาให้ บางเรื่องก็เสนอมาจากภาคธุรกิจ เพราะเมื่อ คสช.ยึดอำนาจก็ใช้ระบบราชการทำงาน และด้วยความที่กลัวปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ต้องการเป็นรัฐประหาร "ปิดประเทศ" ก็เปิดรับฟังภาคธุรกิจขนานใหญ่ แล้วใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจัดการปัญหา ในแนวทางที่ท่านคิดว่าถูกต้อง
ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.ยา ซึ่งเสนอโดย อย. เป็นกฎหมายที่คั่งค้างมานาน NGO พยายามเสนอกฎหมายประกบแต่ตกไปในยุครัฐบาลเลือกตั้ง พอ คสช.เข้ามาก็ตั้งใจจะเคลียร์ให้เสร็จสรรพ แต่พอผ่านกฤษฎีกาไม่ทราบว่าเนื้อหางอกมาจากไหน กลายเป็นเอื้อประโยชน์ให้หมอคลินิกไปเสียได้
ความรวบรัดเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นในกระบวนการประชาธิปไตย ซึ่งอย่างน้อยก็ยังค้านได้ ยังมีเวลา มีโอกาส
อันที่จริงอยากจะบอกว่า "สมน้ำหน้า NGO" เพราะ NGO จำนวนมากมีบทบาทโค่นรัฐบาลเลือกตั้ง ผู้นำแรงงานที่ค้านร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคมบางคนก็เป่านกหวีดสนั่น ด้วยความเกลียดนักการเมือง เกลียด "ทุนสามานย์" เพ้อฝันว่าจะมี "ปฏิวัติประชาชน" หรือ "สภาประชาชน" กระทั่งเกิดรัฐประหารก็ยังหวังจะ "มีส่วนร่วม" ปฏิรูป
แล้วเป็นไง ปฏิรูปพลังงาน ก็ได้ รสนา โตสิตระกูล เข้าไปคนเดียวโด่เด่ กระทรวงสาธารณสุข ก็ยังดีที่ปลัดณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ไม่ได้เป็นรัฐมนตรี ไม่งั้นแพทย์ชนบทขี้แตกกระเจิง
ภายใต้รัฐราชการ เผลอๆ "ภาคประชาชน" เดือดร้อนกว่าเสื้อแดงด้วยซ้ำ ตั้งแต่คำสั่ง คสช.ที่ 64 และ 66 แผนแม่บทพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งกระทรวงทรัพย์ฯ ฉวยมาใช้ไล่รื้อชุมชน ผลักดันชาวบ้านออกจากป่า และป่านฉะนี้ยัง "ตามหาบิลลี่" ไม่เจอ กรณีพิพาทตั้งแต่เหนือจดใต้ โฉนดชุมชน เหมืองแร่ ปากบารา ฯลฯ เมื่อข้าราชการเป็นใหญ่ NGO ก็ร้องไม่ออก
นี่ได้ยินว่ายังจะต่อต้านนโยบายพืช GMO ที่รัฐบาลจะรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ ยังจะค้านไหวหรือ
ใจหนึ่งอยากบอกว่าสมน้ำหน้า ไหนว่าอยากปฏิรูปกับกองทัพ ก็เจรจากับทหารเองสิครับ แต่ก็พูดเต็มปากไม่ได้อีก เพราะ NGO อีกมากไม่ได้เป่านกหวีด และท้ายที่สุดคนเดือดร้อนคือประชาชน
กระนั้นมาถึงขั้นนี้แล้วทำไง ไม่มีใครช่วยได้ ก็เก็บรับบทเรียนกันไปเถอะว่า "กระบวนการประชาธิปไตย" เท่านั้นที่เป็นหลักประกันให้ภาคประชาชน
ที่มา: ข่าวสดออนไลน์