ลูกกอริลลาสวมเสื้อเด็ก นั่งอยู่ภายในลังไม้ที่ตรวจยึดได้ที่สนามบินอิสตันบูลของตุรกี ซึ่งมีหลายทางมุ่งหน้ามายังประเทศไทย
สถานการณ์ลักลอบค้าสัตว์ในไทยเป็นอย่างไร หลังพบการลักลอบลูกกอริลลามาไทยถูกจับได้ที่ตุรกี
24 ธันวาคม 2024
บีบีซีไทย
ลูกกอริลลาที่สวมเสื้อยืดเด็ก โผล่หัวออกมาจากลังไม้ และมองไปรอบ ๆ ด้วยความสงสัยและตื่นกลัว เมื่อเจ้าหน้าที่ศุลกากรของตุรกีเปิดพัสดุต้องสงสัยชิ้นนี้เพื่อดูของที่อยู่ภายใน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานเมื่อวานนี้ (23 ธ.ค.) ว่าเจ้าหน้าที่ยึดลูกกอริลลาได้ที่สนามบินประเทศตุรกี โดยมีต้นทางมาจากประเทศไนจีเรีย และมีจุดหมายปลายทางเป็นประเทศไทย
ส่วนสำนักข่าวตุรกีทูเดย์รายงานเพิ่มเติมว่า เจ้าหน้าที่สำนักงานปราบปรามการลักลอบขนส่งของและหน่วยข่าวกรองของสำนักงานศุลกากรตุรกี ได้ติดตามสินค้าชิ้นหนึ่งที่ถูกส่งมาจากไนจีเรีย มุ่งหน้าสู่กรุงเทพมหานคร โดยพวกเขาต้องสงสัยพัสดุชิ้นนี้ จึงทำเครื่องหมายให้ตรวจสอบเพิ่มเติมตามมาตรการการตรวจสอบเพื่อปกป้องสัตว์ป่า จากนั้นจึงพบว่าภายในคือลูกกอริลลาที่ราบลุ่มตะวันตก (the western lowland gorilla) ซึ่งเป็นสัตว์ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์หรือไซเตส (CITES)
สัตว์และพืชที่อยู่ในบัญชีดังกล่าวถือว่าใกล้สูญพันธุ์ ห้ามค้าโดยเด็ดขาด ยกเว้นเพื่อการศึกษา วิจัย หรือเพาะพันธุ์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์ป่าจากกระทรวงเกษตรและป่าไม้ของตุรกียืนยันว่า "ลูกกอริลลาตัวดังกล่าวยังสบายดี มันถูกยึดระหว่างการตรวจสอบของศุลกากรในขณะที่ถูกลักลอบขนส่งผิดกฎหมาย โดยไม่มีเอกสารถูกต้อง" และเจ้าหน้าที่กรมอนุรักษ์ธรรมชาติและอุทยานแห่งชาติของตุรกี กำลังดูแลและฟื้นฟูสภาพร่างกายลูกกอริลลาให้กลับมาแข็งแรงอีกครั้ง
องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) คาดการณ์ว่ากอริลลาที่ราบลุ่มตะวันตกมีจำนวนประชากรไม่ถึง 150,000 ตัวแล้วในตอนนี้ โดยภัยคุกคามหลัก ๆ คือการลักลอบล่าสัตว์ และโรคระบาด เช่น อีโบลา
ก่อนหน้านี้พบกอริลลาสายพันธุ์นี้มากกว่า 300,000 ตัว กระจายอยู่ในประเทศแคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐอิเควทอเรียลกินี รวมถึงประเทศกาบอง
ด้าน อัสลี ฮัน เกดิก ผู้ก่อตั้งองค์กรไวลด์ แอท ไลฟ์ (Wild at life) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอ (NGO) ในเยอรมนีที่ทำงานด้านการอนุรักษ์สัตว์ป่าและปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพ โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ทางองค์กรพร้อมจะรับลูกกอริลลาตัวนี้ไปดูแลต่อเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งไม่ใช่ในไนจีเรียแน่นอน เนื่องจากเป็นประเทศที่มีอัตราอาชญากรรมด้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าสูงมาก และเธอเชื่อว่าแม่ของกอริลลาได้ถูกฆ่าไปแล้ว เพราะการฆ่าสัตว์ตัวแม่ มักเกิดขึ้นกับการค้าสัตว์ป่าชนิดนี้ที่ลูกมักถูกพรากจากแม่ของมัน
เธอยังได้ตอบความเห็นในเฟซบุ๊กด้วยว่าองค์กรของเธอพร้อมดูแลลูกกอริลลา เพื่อส่งกลับคืนสู่ป่าในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
"เราพบเห็นการลักลอบค้าสัตว์ป่าเพิ่มขึ้นในเส้นทางผ่านตุรกี ส่วนใหญ่มักเป็นการขนส่งทางบก ซึ่งไม่ค่อยถูกตรวจจับ" อัสลี ฮัน เกดิก กล่าว
นอกจากนี้ เธอยังชี้ให้เห็นด้วยว่าเบื้องหลังการสวมใส่เสื้อเหมือนเด็กทารกของลูกกอริลลา เกิดจากความต้องการนำสัตว์ป่าไปเป็นสัตว์เลี้ยง หรือจัดแสดงในสวนสัตว์ต่าง ๆ เพื่อถ่ายรูปกับนักท่องเที่ยว ซึ่งถือว่าไม่ใช่ธรรมชาติของสัตว์ป่า
ขณะที่มูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในไทย หวังว่าเจ้าหน้าที่จะร่วมกันเปิดโปงผู้กระทำความผิดให้ได้ และไม่ควรมีการลักลอบค้ากอริลลาเกิดขึ้นในสังคมปัจจุบันอีกต่อไป
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีกอริลลาเพศเมียเพียงตัวเดียวเท่านั้น คือ บัวน้อย ซึ่งถูกซื้อมาจัดแสดงในสวนสัตว์พาต้าตั้งแต่ปี 2535 ก่อนที่ไทยจะเข้าร่วมไซเตส
บัวน้อย กอริลลาเพศเมียตัวเดียวในไทย
จากการสอบถามแหล่งข่าวรายหนึ่งในกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชของไทย เขายืนยันว่าไม่มีการออกใบอนุญาตนำเข้ากอริลลามายังประเทศไทยในช่วงนี้ รวมถึงระยะหลายสิบปีที่ผ่านมา
"และจากการตรวจสอบกรณีที่เกิดขึ้นในตุรกีก็พบว่ากอริลลาตัวนี้ไม่มีใบอนุญาตส่งออกของไซเตสทั้งจากประเทศต้นทางและประเทศปลายทาง" เขาบอกกับบีบีซีไทย และเมื่อสอบถามว่าเหตุใดการลักลอบถึงดูมักง่าย ไม่ได้อำพรางสัตว์ป่าอย่างแยบยลนัก ทั้งที่ลูกกอริลลาเป็นสัตว์ป่ามีมูลค่าสูง เจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯ ของไทย ผู้ไม่ประสงค์เปิดเผยนามตอบว่า "เป็นไปได้ว่าขบวนการลักลอบเชื่อว่าตนเองมีอิทธิพลมากพอที่จะติดสินบนเจ้าหน้าที่ในพื้นที่แถบนั้น"
นางขนิษฐา กริชนาสมี ผอ.องค์กรทราฟฟิค (TRAFFIC) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งติดตามปัญหาการลักลอบสัตว์ป่าทั่วโลก บอกกับบีบีซีไทยว่า กรณีการลักลอบนำเข้าลูกกอริลลามายังประเทศไทยถือเป็นเรื่องน่าตกใจอย่างยิ่ง แต่การลักลอบขนลิงใหญ่ไร้หางหรือเอปส์ (Apes) ในประเทศไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ เช่น ล่าสุดประเทศไทยเพิ่งส่งกลับลิงอุรังอุตัง 3 ตัวไปยังอินโดนีเซีย ซึ่งพวกมันได้รับการช่วยเหลือมาจากขบวนการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายโดยทางการไทย
"ดูเหมือนว่าความต้องการจะเพิ่มขึ้นในเอปส์ที่มีขนาดเล็กกว่า เช่น ชะนี ซึ่งหลายตัวถูกตรวจยึดได้ระหว่างซุกซ่อนอยู่ในกระเป๋าเดินทางของผู้โดยสารจากประเทศไทย" ผอ.องค์กรทราฟฟิคฯ กล่าว
"กรณีลูกกอริลลาดูเหมือนจะเป็นเครื่องเตือนใจอีกครั้งว่าความต้องการสัตว์ประเภทวานรคงไม่ลดลงในเร็ว ๆ นี้ และเจ้าหน้าที่ควรต้องเฝ้าระมัดระวังต่อไป" เธอกล่าว
นอกจากนี้ นางขนิษฐายังเสนอว่าควรมีการดำเนินการสอบสวนครอบคลุมไนจีเรีย ตุรกี ไทย และแหล่งอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับลูกกอริลลา ซึ่งต้องการความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากสนามบินรวมถึงสายการบินที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
รายงานว่าด้วยอาชญากรรมสัตว์ป่าโลกฉบับล่าสุด ซึ่งจัดทำโดยองค์การสหประชาชาติ และเผยแพร่เมื่อเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ดูเหมือนว่าในบางประเทศ รายได้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่าจะทำให้เกิดการทุจริตไปจนถึงระดับผู้บริหารของรัฐบาล เช่นในปี 2023 เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก 3 คน ถูกทางการสหรัฐฯ ห้ามเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา เนื่องจากพวกเขาถูกกล่าวหาว่า "ค้าชิมแปนซี กอริลลา โอคาพี และสัตว์ป่าคุ้มครองอื่น ๆ ... โดยใช้ใบอนุญาตปลอมเพื่อแลกกับสินบน"
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่เจ้าหน้าที่รัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องสัตว์ป่าถูกพาดพิง จากการสอบสวนระหว่างประเทศในปี 2018 ก็พบความพยายามส่งออกพะยูนแอฟริกา ซึ่งนำไปสู่การจับกุมเจ้าหน้าที่ไซเตสในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก
นอกจากนี้ การตรวจสอบหลักฐานที่เชื่อมโยงกับการทุจริตซึ่งเกี่ยวข้องกับการค้าสัตว์ป่า ยังทำให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลระดับสูงในหลายประเทศของแอฟริกา เอเชีย และละตินอเมริกา ถูกจับกุมด้วย
รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การลักลอบค้าสัตว์ป่ายังคงดำเนินอยู่ในปัจจุบัน แม้ว่าจะมีความร่วมมือกันในระดับนานาชาติเพื่อปราบปราบปัญหาดังกล่าวมาตลอดระยะเวลามากกว่า 20 ปี ขณะที่ผู้ลักลอบก็พยายามหาวิธีการ กลยุทธ์ และเส้นทางการค้าใหม่ ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจจับ โดยพบว่ามูลค่าการค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมายทั้งโลกรวมกันอยู่ที่ราว 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 7.4 แสนล้านบาท) ตามหลังเพียงการค้าอาวุธ ยาเสพติด และการค้ามนุษย์เท่านั้น
https://www.bbc.com/thai/articles/c4gz3ed772no