ขออนุญาตร่วมการสนทนาถึงพ่อวัฒน์ วรรลยางกูร
21 Dec 2024
Way Magazine
ผมไปดูการแสดงรอบวันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม 2567 ไปล่วงหน้าก่อนนาน เพราะคาดว่าน่าจะมีคนไปร่วมชมมากมาย เนื่องจากการแสดงในวันก่อนหน้านั้นได้รับการกล่าวถึงอย่างน่าประทับใจ หลายความเห็นบอกว่าน้ำตาซึมโดยไม่รู้ตัวในหลายตอน
โดยรวมดี ผมชอบมาก
photo: Jiraphat Vinagupta
1.
ผมเองไม่เคยรู้จักสนิทสนมกับวัฒน์เลย เราได้พบเจอสนทนากันเพียงไม่กี่ครั้ง ทั้งๆ ที่เดินอยู่บนทางเดียวกันมาหลายสิบปี ผมได้รู้จักวัฒน์ก็คราวนี้แหละ ได้รู้ว่าเขาเป็นสามัญชนดีๆ ชั่วๆ ตามปกติที่ชอบอาหาร ไวน์ มีอารมณ์ขันแบบกวนๆ แต่มี ‘ลูกบ้า’ เอาการอยู่ทั้งๆ ที่เป็นคนกลัวตายไม่ต่างกับเราท่านทั้งหลาย
อดคิดไม่ได้ว่าในสังคมที่ทำให้เราท่านหัวหด และมักบอกตัวเองว่าธุระไม่ใช่ ก็มีคนขี้กลัวบางคนเสนอหน้าออกไปท้ารบกับความอยุติธรรมครั้งแล้วครั้งเล่า
คงเป็นเพราะมีคนกลัวตายแบบวัฒน์น้อยเกินไปมั้ง เมืองไทยจึงต่างกับเกาหลีใต้
ข้อเด่นของการแสดงที่ทุกคนคงเห็นคือ เรื่องเล่าผ่านสายตาของลูกทั้ง 3 คน ซึ่งเป็นมิติที่ต่างจากชีวประวัติตามปกติ ที่มักทำราวกับว่าผู้เขียนหรือผู้เล่าสามารถถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนผู้นั้นออกมาได้ตรงๆ
‘วัฒน์’ ผ่านคำบอกเล่า (ที่ย่อมเลือกสรรแล้ว ทั้งโดยเจตนา และโดยวัย เวลา ฯลฯ) ของวนะ วสุ วจนา จะเหมือนต่างกันอย่างไร และจะใช่วัฒน์ตัวจริงมากน้อยขนาดไหน ก็เชิญผู้ชมคิดเอาเอง
photo: Jiraphat Vinagupta
2.
ตอนที่รับแจกสติกเกอร์ให้เข้าชมได้นั้น ผู้จัดบอกเตือนล่วงหน้าว่าการแสดงนี้ยาว 3 ชั่วโมง คงเห็นว่าคนอายุมากอย่างเราอาจต้องการเตรียมตัวให้พร้อม
การแสดงทั้งหมดใช้เวลา 3 ชั่วโมงเป๊ะจริงๆ ผมเห็นว่าความยาวขนาดนี้เกินไปแน่ ๆ
มีการแสดงและภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องในโลกนี้ ที่ผู้ชมยอมให้ว่าจะยาวขนาดนี้หรือยาวกว่าก็ไม่ติดใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วความยาวขนาดนี้น่าจะไม่จำเป็น โดยมากเป็นดัชนีชี้ว่ายังดีไม่พอ
บางคนอธิบายว่าเพราะลูกทั้งสามต้องการเล่าให้เราฟังทั้งหมดที่อยู่ในใจเขา บางคนก็ว่าการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติมากจึงมีบทพูดหลายตอนเยิ่นเย้ออย่างเป็นธรรมชาติเช่นกัน
ในกรณีนี้ผมเห็นว่าความยาวไม่ใช่ปัญหาโดดๆ ในตัวมันเอง แต่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับบทที่ดี ทั้งถ้อยคำ (บทสนทนา บทรำพึง ฯลฯ) การใช้สัญลักษณ์ เพลง และเหตุการณ์เล็กๆ บางกรณีเพื่อสื่อความหรือฉายภาพกว้างกว่านั้นในเวลาเพียงสั้นๆ หรือด้วยถ้อยคำไม่มากนัก
ความเป็นธรรมชาติกับศิลปะการเล่าเรื่องก็ไม่จำเป็นและไม่ควรต้องขัดแย้งกัน
ความปรารถนาจะเล่าให้หมดใจนั้นย่อมน่าเห็นใจและควรสนับสนุน ถ้าเป็นการสนทนากับเราจริงๆ เราคงยอมให้มากกว่า 3 ชั่วโมงก็ได้ แต่การแสดงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ศิลปินตระหนักดีว่าการถ่ายทอดความเป็นจริงและความหมายที่เขาต้องการจะบอกแก่ผู้ชมนั้น ย่อมไม่สามารถถ่ายทอดได้ ‘ทั้งหมด’ อย่างเก่งที่สุดก็ได้เพียงถ่ายทอดหรือสื่อความหมายและความจริงหลายอย่างที่ตนต้องการ ศิลปินไม่เคย ไม่สามารถ และเป็นไปไม่ได้ที่จะสื่อ ‘ทั้งหมด’
ต่อให้มากถึง 5-6 ชั่วโมงก็ยังไม่ได้อยู่ดีเพราะ ‘ทั้งหมด’ อยู่ในใจของลูกๆ ผู้เล่าเรื่องเท่านั้น
ไม่มีงานประวัติศาสตร์ใดๆ สามารถเล่าถึงอดีตได้ ‘ทั้งหมด’ ฉันใดฉันนั้น
สิ่งที่ศิลปินและนักเขียนใส่ใจมากกว่าคือ จะเล่าเรื่องหลายอย่างหรือ ‘อย่างที่เราต้องการ’ ได้อย่างไร ข้อนี้เป็นไปได้
ในการแสดงนี้เองก็มีบางตอนที่ดีมากๆ เช่น เรื่องเล่าถึงคราวที่วัฒน์ขับรถรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วตะโกนคุยกับปรีดี พนมยงค์ ตบท้ายด้วยอารมณ์ขันของผู้เล่าด้วยคำเพียงไม่กี่คำได้อย่างแทบจะสมบูรณ์ ฉากเดียวนั้นชวนให้ผมสามารถคิดจินตนาการออกไปได้ตั้งเยอะ ทั้งถึงวัฒน์และถึงความคิดความรู้สึกของลูกด้วย
เพลง ฝันให้ไกลไปให้ถึง ก็ปรากฏมาในจังหวะที่เหมาะสมดีมาก และคุณวสุสามารถร้องได้ดีเหลือเกิน ทุกคำร้องสื่อเข้าไปถึงหัวใจของผู้ฟังอย่างผมได้โดยไม่รู้ตัว (โดยไม่จำเป็นจะต้องไพเราะที่สุด)
มีหลายตอนที่ผมเห็นว่าน่าจะมีวิธีนำเสนอได้ดีและกระชับกว่านั้น การอ่านบทกวีชิ้นหนึ่งทำให้ผมผละถอยออกมาดูคนอ่าน แทนที่จะซับบทกวีนั้นเข้ามา
บทที่ดีกว่านี้จึงน่าจะมีส่วนยกระดับศิลปะการแสดงประเภทนี้ให้งดงามขึ้นไปอีกในเวลาที่สั้นลง
2.
ตอนที่รับแจกสติกเกอร์ให้เข้าชมได้นั้น ผู้จัดบอกเตือนล่วงหน้าว่าการแสดงนี้ยาว 3 ชั่วโมง คงเห็นว่าคนอายุมากอย่างเราอาจต้องการเตรียมตัวให้พร้อม
การแสดงทั้งหมดใช้เวลา 3 ชั่วโมงเป๊ะจริงๆ ผมเห็นว่าความยาวขนาดนี้เกินไปแน่ ๆ
มีการแสดงและภาพยนตร์เพียงไม่กี่เรื่องในโลกนี้ ที่ผู้ชมยอมให้ว่าจะยาวขนาดนี้หรือยาวกว่าก็ไม่ติดใจ แต่ส่วนใหญ่แล้วความยาวขนาดนี้น่าจะไม่จำเป็น โดยมากเป็นดัชนีชี้ว่ายังดีไม่พอ
บางคนอธิบายว่าเพราะลูกทั้งสามต้องการเล่าให้เราฟังทั้งหมดที่อยู่ในใจเขา บางคนก็ว่าการแสดงอย่างเป็นธรรมชาติมากจึงมีบทพูดหลายตอนเยิ่นเย้ออย่างเป็นธรรมชาติเช่นกัน
ในกรณีนี้ผมเห็นว่าความยาวไม่ใช่ปัญหาโดดๆ ในตัวมันเอง แต่เกี่ยวพันอย่างแยกไม่ออกกับบทที่ดี ทั้งถ้อยคำ (บทสนทนา บทรำพึง ฯลฯ) การใช้สัญลักษณ์ เพลง และเหตุการณ์เล็กๆ บางกรณีเพื่อสื่อความหรือฉายภาพกว้างกว่านั้นในเวลาเพียงสั้นๆ หรือด้วยถ้อยคำไม่มากนัก
ความเป็นธรรมชาติกับศิลปะการเล่าเรื่องก็ไม่จำเป็นและไม่ควรต้องขัดแย้งกัน
ความปรารถนาจะเล่าให้หมดใจนั้นย่อมน่าเห็นใจและควรสนับสนุน ถ้าเป็นการสนทนากับเราจริงๆ เราคงยอมให้มากกว่า 3 ชั่วโมงก็ได้ แต่การแสดงเป็นศิลปะอย่างหนึ่ง ศิลปินตระหนักดีว่าการถ่ายทอดความเป็นจริงและความหมายที่เขาต้องการจะบอกแก่ผู้ชมนั้น ย่อมไม่สามารถถ่ายทอดได้ ‘ทั้งหมด’ อย่างเก่งที่สุดก็ได้เพียงถ่ายทอดหรือสื่อความหมายและความจริงหลายอย่างที่ตนต้องการ ศิลปินไม่เคย ไม่สามารถ และเป็นไปไม่ได้ที่จะสื่อ ‘ทั้งหมด’
ต่อให้มากถึง 5-6 ชั่วโมงก็ยังไม่ได้อยู่ดีเพราะ ‘ทั้งหมด’ อยู่ในใจของลูกๆ ผู้เล่าเรื่องเท่านั้น
ไม่มีงานประวัติศาสตร์ใดๆ สามารถเล่าถึงอดีตได้ ‘ทั้งหมด’ ฉันใดฉันนั้น
สิ่งที่ศิลปินและนักเขียนใส่ใจมากกว่าคือ จะเล่าเรื่องหลายอย่างหรือ ‘อย่างที่เราต้องการ’ ได้อย่างไร ข้อนี้เป็นไปได้
ในการแสดงนี้เองก็มีบางตอนที่ดีมากๆ เช่น เรื่องเล่าถึงคราวที่วัฒน์ขับรถรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแล้วตะโกนคุยกับปรีดี พนมยงค์ ตบท้ายด้วยอารมณ์ขันของผู้เล่าด้วยคำเพียงไม่กี่คำได้อย่างแทบจะสมบูรณ์ ฉากเดียวนั้นชวนให้ผมสามารถคิดจินตนาการออกไปได้ตั้งเยอะ ทั้งถึงวัฒน์และถึงความคิดความรู้สึกของลูกด้วย
เพลง ฝันให้ไกลไปให้ถึง ก็ปรากฏมาในจังหวะที่เหมาะสมดีมาก และคุณวสุสามารถร้องได้ดีเหลือเกิน ทุกคำร้องสื่อเข้าไปถึงหัวใจของผู้ฟังอย่างผมได้โดยไม่รู้ตัว (โดยไม่จำเป็นจะต้องไพเราะที่สุด)
มีหลายตอนที่ผมเห็นว่าน่าจะมีวิธีนำเสนอได้ดีและกระชับกว่านั้น การอ่านบทกวีชิ้นหนึ่งทำให้ผมผละถอยออกมาดูคนอ่าน แทนที่จะซับบทกวีนั้นเข้ามา
บทที่ดีกว่านี้จึงน่าจะมีส่วนยกระดับศิลปะการแสดงประเภทนี้ให้งดงามขึ้นไปอีกในเวลาที่สั้นลง
photo: Jiraphat Vinagupta
3.
ชมการแสดงครั้งนี้ยังช่วยให้ผมตระหนักถึงอีกอย่างหนึ่งเกี่ยวกับ 6 ตุลา …
ในขณะที่น้ำตาผมไม่ซึมกับตอนอื่นใดเลยในการแสดงนี้ แต่น้ำตาผมปริ่มทุกครั้งที่พาดพิงถึง 6 ตุลา ซึ่งคนอื่นคงไม่เป็นดังนั้น ‘ปม’ ของตัวผมเองจึงน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่บทและการแสดงก็มีส่วนอยู่ด้วยเพราะลูกๆ ของวัฒน์ทำให้ผมรู้สึกได้ถึงบาดแผลร้าวลึกที่เหตุการณ์ 6 ตุลากระทำต่อพ่อของเขา
ผมรู้สึกได้ว่าบาดแผลมันร้าวลึกเกินกว่าถ้อยคำใดๆ จะสื่อออกมาได้ เป็นความร้าวลึกที่รับรู้ได้ด้วยใจ บรรยายไม่ออก ผมตระหนักในห้วงขณะที่ชมการแสดงทันทีว่า ผมไม่เคยเข้าใจมากพอเลยว่า 6 ตุลากระทบกับผู้คนมากขนาดไหน
ผมเคยคิดว่าผมรู้ เคยกล่าวเคยเขียนมาหลายครั้งว่า 6 ตุลาเป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ร้าวลึกเจ็บปวดมากสำหรับสังคมไทย แต่ผมเพิ่งตระหนักว่าเราคาดไม่เคยถูกเลยว่า ความเจ็บปวดร้าวลึกที่เกิดกับคนอื่นแต่ละคนนั้นเป็นอย่างไร มากหรือน้อยในแบบไหน คำกล่าวที่ว่า “เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ร้าวลึกเจ็บปวดมากสำหรับสังคมไทย” เป็นนามธรรมที่ผิวเผินเหลือเกิน
ผมคิดไปถึงคำที่ผู้รอดชีวิตจากการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวโดยระบอบนาซี (Holocaust) หลายคนบอกตรงกันว่า ไม่มีถ้อยคำใดๆ จะสามารถบรรยายหรือเล่าถึงเหตุการณ์นั้นได้ ไม่มีประวัติศาสตร์ใดๆ จะสามารถเขียนหรือถ่ายทอดเหตุการณ์นั้นออกมาเป็นถ้อยคำหรือเรื่องเล่าได้ เหตุการณ์นั้นชี้ให้เรารู้จักขีดจำกัดหรือสุดขอบความสามารถของเรื่องเล่าและประวัติศาสตร์ (limit of representation)
6 ตุลา คงเทียบไม่ได้เลยกับการสังหารล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวหลายล้านคน เทียบไม่ได้เลยกับการสังหารชาวปาเลสไตน์ที่ฉนวนกาซาในช่วงปีที่ผ่านมา แต่ความเจ็บปวดร้าวลึกมากและน้อยที่เกิดกับแต่ละคนนั้นน่าจะทำนองเดียวกัน คืออาจจะเกินกว่าที่ถ้อยคำหรือประวัติศาสตร์ใดๆ จะสามารถถ่ายทอดออกมาได้อย่างเพียงพอ
บทที่ดีที่สุดที่ศิลปินจะสามารถสร้างสรรค์ได้ ก็ยังอาจจะไม่สามารถถ่ายทอดได้เพียงพออยู่ดี
4.
การแสดงดีๆ แบบนี้มีน้อยเกินไป มีคนทำน้อยไป จนเกิดการเรียนรู้จากกันและกันได้ไม่มากพอ ช่วยกันพัฒนาหรือปรับปรุงศิลปะการแสดงประเภทนี้ให้ดีขึ้นๆ ได้จำกัด นี่เป็นความขาดแคลนปกติอีกอย่างของสังคมนี้
การสนทนาถึงพ่อวัฒน์ วรรลยางกูร ทำได้ดีในคราวนี้ แต่ก็ทำให้เรา ‘อยาก’ มากขึ้นไปอีก ปรารถนาจะได้ชมการแสดงแบบนี้อีกแต่ที่ดีกว่าเดิม
โปรดแสดงอีกเถอะครับ แต่ละครั้งไม่ต้องเหมือนเดิมก็ได้ ทดลองและทำให้ดีขึ้นกว่าเดิมอีก
ผมเชื่อว่า ‘วัฒน์ วรรลยางกูร’ ก็คงต้องการเช่นนั้น