วันอาทิตย์, ธันวาคม 22, 2567

พรรคประชาชน ยังยืนยัน การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 MW จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และ นายกรัฐมนตรี คือ คนเดียวที่จะหยุด หรือ เดินหน้าขบวนการค่าไฟแพงนี้ ขอนายกฯ ตอบให้ชัด จะยกเลิกหรือเดินหน้า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอื้อนายทุน


วรภพ วิริยะโรจน์
6 hours ago
·
[ การรับซื้อไฟฟ้า 3,600 MW จะทำให้ค่าไฟแพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น และ นายกรัฐมนตรี คือ คนเดียวที่จะหยุด หรือ เดินหน้าขบวนการค่าไฟแพงนี้ ]
.
ขอขยายความจากที่มีการพูดถึงเพิ่มเติม สำหรับ การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW ที่ กกพ. พึ่งประกาศเอกชนที่ได้คัดเลือกไปเมื่อ 16 ธ.ค. และกำหนดให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วัน
.
1.ราคาที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW จะทำให้ค่าไฟประชาชน “แพงกว่าที่ควรจะเป็น” จากการที่ “ไม่ได้เปิดประมูล”
.
ถ้าเทียบ ราคาที่รับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบ 3,600 MW นี้ จากแสงอาทิตย์ อยู่ที่ 2.2 บาท/หน่วย ถูกกว่า ค่าไฟปัจจุบันที่ 4.2 บาท/หน่วย นั้นถูกต้องครับ
.
แต่ การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบนี้ ทางผมยังมองว่า “แพงกว่าที่ควร” เพราะ ราคาไฟฟ้า ที่รัฐรับซื้อควรจะ “เปิดประมูล” เพราะ ทุกราคาที่รัฐรับซื้อจะเป็นต้นทุนค่าไฟของประชาชนทั้งหมด และสาเหตุที่ ค่าไฟแสงอาทิตย์ที่รัฐรับซื้อ 2.2 บาท/หน่วยนี้ แพงกว่าที่ควร เพราะ
.
1.1 เป็นราคาเดียวกับที่ประกาศรับซื้อไว้เมื่อรอบ 5,200 MW ปี 2565 ซึ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่า ต้นทุนไฟฟ้าแสงอาทิตย์มีต้นทุนที่ถูกลงทุกปีมาตลอดในอดีต และ การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนทั้งรอบ 5,200 MW และ 3,600 MW เป็นการรับซื้อไฟฟ้าที่ โรงไฟฟ้าจะทยอยสร้างเสร็จตั้งแต่ ปี 2567 - 2573 แต่ ราคาที่รับซื้อเป็นราคาเดียวกันหมด ซึ่งโรงไฟฟ้าที่สร้างทีหลัง มีความได้เปรียบที่จะมีต้นทุนที่ถูกกว่าราคาที่รัฐประกาศรับซื้อไว้อย่างแน่นอน
.
1.2 การรับซื้อรอบ 5,200 MW ปี 2565 มีเอกชนยื่นเสนอโครงการสูงถึง 17,000 MW หรือ 3.3 เท่าของที่ประกาศรับซื้อ แสดงถึงเป็นราคารับซื้อที่กำไรดีสำหรับเอกชน แต่ย่อมหมายถึงต้นทุนค่าไฟที่แพงสำหรับประชาชนได้ ดังนั้น “การประมูลแข่งขัน” คือ กระบวนการที่จะมั่นใจได้ว่า เป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมที่สุดทั้งเอกชนและประชาชน
.
2. นโยบายที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW นั้น เป็นนโยบายพลังงานสะอาดที่ไม่มีความเหมาะสม และจะทำให้ค่าไฟประชาชนแพงขึ้นได้โดยไม่จำเป็น เพราะ “ซ้ำซ้อน” กับ นโยบาย Direct PPA 2,000 MW ของรัฐบาล
.
การเพิ่มพลังงานสะอาดในประเทศไทยนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเงื่อนไขที่เอกชนที่ต้องการจะลงทุนในไทย และ ที่ลงทุนในไทยอยู่แล้วต้องการ เพราะ นโยบายธุรกิจของเอกชนกลุ่มนี้คือต้องการใช้พลังงานสะอาด 100% หรือ เรียกว่า RE100
.
แต่รัฐบาลนี้ ก็พึ่งประกาศเปิดเสรีพลังงานสะอาด หรือ Direct PPA 2,000 MW เมื่อเดือน มิ.ย. 67 ซึ่งเป็นสิ่งที่เอกชน RE100 กลุ่มนี้ต้องการไปแล้ว คือ เปิดให้ผู้ผลิตไฟฟ้าะสะอาดและผู้ซื้อไฟฟ้าสะอาด สามารถตกลงซื้อขายไฟฟ้าสะอาดได้โดยตรง และ เช่าระบบสายส่งของการไฟฟ้าได้ และ Direct PPA นี้ จะไม่ทำให้เพิ่มค่าไฟประชาชนเลย เพราะ เป็นเรื่องที่เอกชนที่ต้องการซื้อและขายพลังงานสะอาด ต้องไปตกลงและแข่งขันกันเอง
.
แต่การที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW นี้ จะยิ่งซ้ำเติมการที่รัฐรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนจำนวนมากเกินกว่าความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด (เพราะเอกชนที่ต้องการไฟสะอาดไปซื้อจาก Direct PPA แล้ว) และจะ กลายมาเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนที่แพงขึ้นกว่าที่ควรจะเป็น
.
3. นายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีอำนาจเต็มในการเปลี่ยนแปลง ระงับการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW หรือ จะปล่อยให้เดินหน้าไปสู่การลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า
.
การประกาศรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW ของ กกพ. เมื่อ ก.ย. 2567 ระบุชัดเจนว่าเป็นการรับซื้อตาม มติ กพช. มี.ค. 2566 (และ มติ กบง. ก.ค. 2567) การรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบ 3,600 MW (และทุกครั้งที่รัฐจะรับซื้อไฟฟ้า) ต้องมีมติอนุมัติในระดับ “นโยบาย” จาก กพช. ก่อน และ เป็นมติ กพช. ที่กำหนดอัตรารับซื้อไฟฟ้าไว้เลย (คือ ไม่ให้เปิดประมูล)
.
และตามประกาศ กกพ. เมื่อ ก.ย. 2567 ยืนยันชัดเจนว่า กกพ. ขอสงวนสิทธิ ยกเลิกโครงการการรับซื้อเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง “นโยบาย” ภาครัฐ แต่ต้องก่อนการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ก็ยืนยันชัดเจนว่า กพช.ที่นายกฯ เป็นประธาน มีอำนาจเต็มในการเปลี่ยนแปลงนโยบาย เพื่อระงับ หรือ ปล่อยให้เดินหน้าการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนรอบ 3,600 MW
.
และ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้จัดประชุม กพช. เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2567 ไปแล้ว แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มติ กพช. ในการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน ก็คือ การปล่อยให้การรับซื้อไฟฟ้าเดินหน้า จนมาถึงวันที่ 16 ธ.ค. 2567 ที่ กกพ. ประกาศเอกชนที่ได้รับคัดเลือก จำนวน 2,100 MW และ กำหนดให้ลงนามในสัญญาซ์้อขายไฟฟ้า ภายใน 14 วัน (กลุ่ม 1) และ 60 วัน (กลุ่ม 2)
.
ดังนั้น ถ้าการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW รอบนี้ แม้จะเป็นนโยบายที่ริเริ่มจาก รัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ และ แม้แต่ รมว.พลังงานยังยอมรับว่ามีปัญหาจริง แต่ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ที่มีอำนาจเต็มในการระงับยับยั้ง กลับปล่อยให้เดินหน้าไปถึงการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้แล้ว
.
โดยสรุป ก็คือ นายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ได้อนุมัติให้สานต่อขบวนการค่าไฟแพงนี้ไปแล้ว แต่เพราะอะไร ไม่สามารถทราบได้ เพราะ นายกรัฐมนตรี ไม่ได้มาตอบกระทู้สดและจนถึงวันนี้ก็ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ ถึงเหตุผลที่เดินหน้าการรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียน 3,600 MW ครั้งนี้
.
#พรรคประชาชน #สสเติ้ล #ค่าไฟแพง

https://www.facebook.com/TleWoraphop/posts/1132132945586156
.....


พรรคประชาชน - People's Party
Yesterday
·
[ ตอบให้ชัด นายกฯ จะยกเลิกหรือเดินหน้า สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเอื้อนายทุน ]
.
จากกรณีโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 3,600 เมกะวัตต์ ที่พรรคประชาชนได้ตั้งข้อสงสัยมาตลอดว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนพลังงานแลกกับค่าไฟแพงขึ้นที่ประชาชนต้องควักกระเป๋าจ่ายหรือไม่ จนนำไปสู่การตั้งกระทู้ถามในสภาถึงสองครั้ง ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2567 และอีกครั้งเมื่อวานนี้ 19 ธันวาคม 2567 ซึ่งปรากฏว่ารัฐบาลไม่ได้ส่งใครมาตอบกระทู้เรื่องนี้เลย
.
สถานการณ์ล่าสุดในเวลานี้ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 16 ธันวาคม ที่ผ่านมา ได้ประกาศผลการคัดเลือกผู้ชนะที่จะได้สัมปทานไปเรียบร้อยแล้ว และให้มาเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วัน นั่นเท่ากับโครงการนี้กำลังจะเดินหน้าผ่านฉลุย ถ้าไม่มีการระงับยับยั้งใดๆ ภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567
.
และผู้ที่มีอำนาจยับยั้งนี้ ก็คือนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีฐานะเป็นประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) แต่คำถามคือเหตุใดนายกรัฐมนตรีจึงไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องนี้ ทั้งที่โครงการดังกล่าวเป็นที่ชัดเจนว่ามีความไม่ชอบมาพากล
.
นั่นคือประเด็นที่ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน ได้ตั้งข้อสังเกตในการถามกระทู้นายกรัฐมนตรี ซึ่งไม่ได้ปรากฏตัวในสภามาตอบคำถามเรื่องนี้เมื่อวานนี้
.
ล่าสุด รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนหนึ่ง ออกมาชี้แจงว่านายกรัฐมนตรีได้สั่งทบทวนมติในเรื่องนี้ไปแล้ว และข้อกล่าวหาของหัวหน้าพรรคประชาชนไม่เป็นความจริง นายกรัฐมนตรีไม่ได้นิ่งนอนใจ นายกรัฐมนตรีสั่งให้ทบทวนเรื่องนี้ตั้งแต่เข้ามาดำรงตำแหน่งแล้ว ฯลฯ
.
อย่างไรก็ตาม ถ้าเรากางไทม์ไลน์เรื่องนี้แบบครบถ้วนกระบวนความจริงๆ จะเห็นได้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีใส่ใจและรับผิดชอบกับเรื่องนี้จริงๆ หรือไม่?
.
24 ตุลาคม 2567 - ในการตั้งกระทู้ครั้งแรกของณัฐพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ได้มาตอบกระทู้แทนนายกรัฐมนตรี โดยยอมรับว่าโครงการดังกล่าวมีปัญหาจริง ควรมีการเปิดประมูล และการล็อกโควตาอาจจะผิดกฎหมายได้ และได้สั่งให้มีการทบทวนไปแล้ว
14 พฤศจิกายน 2567 - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ส่งหนังสือถึง กกพ. ขอให้ระงับโครงการรับซื้อไฟฟ้า 3,600 MW ไว้ก่อน
 26 พฤศจิกายน 2567 - ในการประชุม กพช. ที่นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีการสั่งให้ทุกหน่วยงานที่มีโครงการพลังงานสะอาด “เดินหน้าทุกโครงการ”
 16 ธันวาคม 2567 - กกพ. ประกาศชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก และกำหนดให้มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วัน (เท่ากับเมินความเห็นของ รมว.พลังงาน)
 19 ธันวาคม 2567 - ณัฐพงษ์ตั้งกระทู้สดถามนายกฯ ถึงกรณีการรับซื้อไฟฟ้านี้อีกครั้ง แต่ไม่ได้รับคำตอบใดๆ ไม่มีใครมาตอบกระทู้
.
ตั้งแต่วันที่ 24 ตุลาคม 2567 ที่มีการตั้งกระทู้และตอบกระทู้ของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ตลอดจนมีการทำตามคำมั่นโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่ยอมรับว่าโครงการนี้มีปัญหาจริงๆ
.
นายกรัฐมนตรีย่อมรับรู้ได้ถึงปัญหาของโครงการดังกล่าว และสามารถใช้อำนาจของ กพช. ที่ตัวเองเป็นประธาน เพื่อระงับยับยั้งโครงการได้
.
แต่การประชุม กพช. ในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 นายกรัฐมนตรีกลับไม่มีการสั่งการใดๆ ในเรื่องนี้ จนล่วงเลยมาถึงวันที่ 16 ธันวาคม 2567 กพพ. ก็ได้ประกาศผลผู้ชนะที่ได้สัมปทาน
.
ถ้านายกฯ “ใส่ใจ” และ “ดำเนินการตามหน้าที่อย่างเต็มความสามารถ” อย่างที่รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทยคนดังกล่าวอ้าง ทำไมการประชุมในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งผ่านไปเกือบหนึ่งเดือนหลังมีการท้วงติงจากทั้งพรรคประชาชน และจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเอง นายกรัฐมนตรีถึงไม่ใช้อำนาจที่ตัวเองมีในฐานะประธาน กพช. สั่งการเรื่องนี้?
.
คำตอบมีเพียงสามประการ คือ 1) นายกรัฐมนตรีไม่ใส่ใจ 2) นายกรัฐมนตรีไม่รู้เรื่อง
.
หรือ 3) นายกรัฐมนตรีรู้เรื่องดี ทราบว่าผลของการปล่อยให้การรับซื้อไฟฟ้านี้เกิดขึ้น จะกระทบประชาชนแค่ไหน แต่ก็จะปล่อยให้เป็นแบบนี้ จะด้วยเหตุผลใดนั้น คงมีแต่ตัวนายกรัฐมนตรีเองที่ทราบดีอยู่แก่ใจ
.
ไม่ว่าคนจากรัฐบาลหรือพรรคเพื่อไทยจะพูดอย่างไร ข้อเท็จจริงที่ว่าในวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ที่นายกรัฐมนตรีนั่งอยู่ตรงนั้นในที่ประชุม กพช. พร้อมอำนาจที่ตัวเองมีในมือ แต่กลับไม่ทำอะไรทั้งนั้น ก็คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้
.
และการกระทำเช่นนั้นเอง คือสิ่งที่นำพาพวกเรามาถึงสถานการณ์ที่หากนับถอยหลังอีกเพียง 10 วันแล้วยังไม่เกิดอะไรขึ้น เราจะไม่สามารถระงับโครงการที่มีปัญหานี้ได้ คนไทยและธุรกิจไทยต้องรับภาระค่าไฟที่แพงกว่าเดิมไปอีก 25 ปี

https://www.facebook.com/PPLEThai/posts/122130284792480817








Supachot Chaiyasat @SupachotChai

[รัฐบาลแพรทองธารกำลังปัดความรับผิดชอบออกจากตัวเอง?!] 
ดูเหมือนว่าตัวแทนรัฐบาลพยายามที่จะปัดความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบเจ้าปัญหานี้ ผมขอสรุปเป็น 3 ประเด็นหลัก 

1นายกรัฐมนตรีมีอำนาจในการยกเลิกกระบวนการนี้ 
•นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) สามารถออกมติจากคณะ กพช. เอง เพื่อยกเลิกหลักเกณฑ์ได้แต่ไม่ยอมทำ 
•ทำไมผมถึงพูดแบบนี้ ลองย้อนกลับไปตอนที่จะให้มีการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานพลังงานสะอาดในรอบนี้ก็เป็นมติจาก กพช. ทั้งสิ้นว่าจะรับซื้อในปริมาณเท่าไหร่ อัตราการรับซื้อจะเป็นเท่าไหร่ จะใช้วิธีการไหนในการรับซื้อ 
•แต่พอกระบวนการรับซื้อมีปัญหาราคารับซื้อมีปัญหากลับบอกว่า กพช. ไม่สามารถออกมติเพื่อแก้ไขมติตัวเองได้ แบบนี้หมายความว่าอะไร กำลังปัดความรับผิดชอบใช่หรือไม่ 
•หรือถ้าไปดูระเบียบหลักเกณฑ์การคัดเลือกในทุกๆรอบที่ผ่านมาก็ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าต้องออกเป็นมติจากคณะ กพช. เท่านั้นถึงจะยกเลิกการรับซื้อได้ 
•คณะกรรมธิการการพลังงานได้มีการเรียก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาชี้แจงข้อเท็จจริงเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ตัวแทนจาก กกพ. ก็ระบุเองว่าทุกอย่างที่ทำทำตามมติ กพช. หากจะยกเลิกกระบวนการนั้น จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงมติจากทางภาครัฐ ไม่อย่างนั้นไม่สามารถทำอะไรได้ 

2อัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ส่งผลให้ประชาชนจ่ายค่าไฟที่แพงเกินจริง 
•เราพูดมาตลอดว่าอัตราการรับซื้อไฟฟ้ารอบนี้นั้น “แพงเกินจริง“ และเราไม่เคยปฏิเสธว่าประเทศไทยเราไม่ต้องการพลังงานสะอาด 
•แต่การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในรอบปี 67นี้ มีการกำหนดให้ใช้ราคารับซื้อตั้งแต่ปี 2565 (ตามมติ กพช.) 2 ปีมาแล้วยังให้ใช้ราคารับซื้อเดิมอยู่เลย? 
•เท่านั้นไม่พอ ราคาที่คิดตั้งแต่ ปี 65 ยังถูกกำหนดให้ใช้สำหรับโครงการทั้งหมดที่จะเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2565-2573 ด้วยนั้น นั่นหมายความว่า รัฐบาลไม่ได้มีการคำนึงถึงการลดลงของต้นทุนของพลังงานสะอาดเลย 
•คิดเล่นๆดู ว่า อัตรารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่กำหนดจากภาครัฐ 2.2 บาท/หน่วย กลุ่มทุนที่เป็นเจ้าของโครงการที่จะเกิดในปี 2573 ก็ยังคงขายไฟได้ 2.2 บาท/หน่วย เท่าเดิม แต่ต้นทุนที่ใช้ก่อสร้างจริงในปี 2573 อาจจะลดลงไป 1.5 บาท/หน่วย ส่วนต่าง 0.7 บาท/หน่วย คือกำไรของกลุ่มทุนที่จะได้ไปและประชาขนจะเป็นคนแบกรับ แบบนี้ไม่เรียกว่าเอื้อประโยชน์ให้เอกชนจะเรียกว่าอะไร? 
•ถ้ายังไม่เชื่ออีกว่าต้นทุนจะลดลงจริงลองเปิดอ่านหนังสือ บทความที่หลายๆสำนักเค้ามีการคาดการณ์ต้นทุนในอนาคตว่าจะเป็นเท่าไหร่ เดี๋ยวผมแปะไว้ให้ (https://www3.weforum.org/docs/WEF_Thailand_System_Value_Analysis.pdf…) •และสุดท้ายการซื้อขายนี้มันจะผูกมัดประชาชนไปอีก 25 ปี

3ทำไมถึงเสนอให้ยกเลิกการจัดหาพลังงานสะอาดรอบนี้ไปเลย 
•พรรคประชาชนจึงเสนอให้มีการทบทวนการรับซื้อในรอบนี้ รวมไปถึงให้ใช้วิธีอย่าง Direct PPA ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดให้กับประเทศ เนื่องจากเป็นวิธีที่จะไม่ส่งผลต่อค่าไฟของพี่น้องประชาชน เพราะต้นทุนไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดจะถูกส่งผ่านไปที่โรงงาน ผู้ประกอบการที่ต้องการพลังงานสะอาดเท่านั้น ไม่ต้องรวมอยู่ในต้นทุนรวม แล้วประชาชนทุกคนจะต้องมาช่วยกันจ่าย 
•เราเลยเสนอเพิ่มเติมด้วยว่าควรมีการเปิดให้เอกชนแข่งขันการประมูลราคาเข้ามาและไม่ควรให้มีการมัดรวมโครงการไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดขนาดใหญ่และใช้อัตรารับซื้อไฟฟ้าเดียว ควรจะมีการเปิดเป็นรอบย่อยๆ และมีการทบทวนราคารับซื้อทุกปี

การที่ตัวแทนรัฐบาลต้องหยุดชี้แจงแบบข้างๆคูๆ แล้วพยายามปัดปัญหาออกจากตัวนายกรัฐมนตรีได้แล้ว ให้นายกรัฐมนตรีออกมาชี้แจงในเรื่องนี้ด้วยตัวเอง โจทย์ข้อนี้ไม่ได้ยากอะไรนักสำหรับนายกรัฐมนตรีแพรทองธารว่าจะเลือกกล้าหาญเพื่อประชาชน หรือ กลุ่มทุน

https://x.com/SupachotChai/status/1870417153066975565