วันศุกร์, ธันวาคม 20, 2567

“หากว่าต้องทำเพื่อสังคมโดยแลกด้วยความสัมพันธ์กับลูก ถ้ามันคุ้ม ผมก็ต้องทำ” Coming of Age ความคลี่คลายของ บก.ลายจุด ครีเอทีฟแห่งกระจกเงา นักละคร และพ่อเฮงซวย


Coming of Age | EP. 235 | ความคลี่คลายของ บก.ลายจุด ครีเอทีฟแห่งกระจกเงา นักละคร และพ่อเฮงซวย

The Cloud

Dec 16, 2024
The Cloud Podcast l Coming of Age

“หากว่าต้องทำเพื่อสังคมโดยแลกด้วยความสัมพันธ์กับลูก ถ้ามันคุ้ม ผมก็ต้องทำ” นี่คือส่วนหนึ่งของการพูดคุยกับ บก.ลายจุด หรือ หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ ที่หลายคนรู้จักเขาในฐานะอดีตประธานกรรมการมูลนิธิกระจกเงา ผู้สร้างแคมเปญสร้างสรรค์ช่วยเหลือสังคมจนเป็นภาพจำมากมาย ไม่ว่าจะเป็นรถพุ่มพวงที่แขวนของใช้จำเป็นลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้คน โครงการจ้างวานข้าที่จัดหางานให้กับคนไร้บ้าน หรือภาพจำว่าเป็นมูลนิธิแรก ๆ ที่คนนึกถึงเมื่อจะต้องบริจาคของและอีกบทบาทเขาคือผู้ทำงานด้านสังคมและการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแกนนำกลุ่มวันอาทิตย์สีแดง กลุ่มพลเมืองภิวัฒน์ต่อต้านรัฐประหาร และกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.)

ปัจจุบันสมบัติอายุ 56 ปี เขากำลังทำโรงละครขนาด​ 80 ที่นั่งย่านทองหล่อ โดยได้คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาช่วยออกแบบ และทีมงานกระจกเงาลงมือสร้างเองโดยไม่ได้จ้างผู้รับเหมาข้างนอก เพื่ออุทิศแด่ ครูองุ่น มาลิก และหวนคืนสู่การทำงานเพื่อความงามและสุนทรียภาพอีกครั้ง

วันนี้เขามีมุมมองบางเรื่องที่ต่างไปจากวัยหนุ่ม รวมถึงการยอมรับผิดต่อสิ่งในอดีต โดยจะมาเล่าเรื่องราวตั้งแต่การร่วมกลุ่มละครมะขามป้อมที่แสดงท่ามกลางเสียงระเบิดที่เป็นเหมือนสารตั้งต้นในการหาวิธีสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆ เรื่องการตามหาฆาตกรต่อเนื่องจากคดีคนหายเล็ก ๆ และวิธีออกแบบแคมเปญมากมาย มาถึงการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเข้มข้นจนถึงวันที่ถูกปลายกระบอกปืนจ่อหัว และลูกสาวถูกคุกคามโดยการแจกใบปลิว จนตัดสินใจส่งลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ โดยทุกวันนี้ยังคงฝันถึงลูกสาวตอนเป็นเจ้าตัวน้อย ถึงแม้วันนี้เธอจะบอกว่าได้บริจาคพ่อของเธอให้สังคมไปแล้วก็ตาม

ดำเนินรายการ : ทรงกลด บางยี่ขัน
.....


Zcongklod Bangyikhan
December 17
·
นี่เป็นการสัมภาษณ์ที่ผมน้ำตาซึมพร้อมพี่หนูหริ่งไปหลายหน
.
เรื่องมันเริ่มจากผมได้เป็น Head of Judge รางวัลโฆษณาในหมวด Creativity for Sharing ในงาน Adman ปีนี้และปีก่อนโน้น หมวดนี้มอบรางวัลให้กับความคิดสร้างสรรค์ที่แก้ปัญหาสังคมได้อย่างมีอิมแพค และคิดโดยคนทั่วไปไม่ใช่เอเจนซี่โฆษณา ปีนี้ถ้าแจกรายโครงการ มูลนิธิกระจกเงาควรจะได้รับ 5 รางวัล ปีก่อนโน้นก็ประมาณ 3 รางวัล
.
ถ้ามูลนิธิกระจกเงาเป็นเอเจนซี่โฆษณา ก็ต้องได้รางวัล Agency of The Year พ่วงด้วยอีกรางวัล - ขนาดนั้น
.
พอตัดสินเสร็จ ผมก็คิดในใจว่า ควรทำเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีคิดงานของมูลนิธิกระจกเงา ว่าทำยังไงถึงได้สดใหม่ ไร้กรอบ และอิมแพคได้ขนาดนี้ จนวันมอบรางวัล ผมได้พบพี่หนูหริ่ง-สมบัติ บุญงามอนงค์ เลยได้คุยกันว่า ใครคือคนคิดไอเดียพวกนี้ คำตอบเป็นอย่างที่คาด - เขาเอง
.
ผมขอสัมภาษณ์ / พี่หนูหริ่งยินดี / เขาจำได้แม่นว่า ผมเคยเดินทางไปสัมภาษณ์เขาที่เชียงรายเพื่อลง a day เมื่อ 20 ปีก่อน
.
แต่เขาลืมไปแล้วว่า ตอนวัยหนุ่มกว่านั้น ผมเคยไปเป็นครูอาสา ในโครงการครูบ้านนอก ของมูลนิธิกระจกเงา ที่เชียงราย ผมใช้ชีวิตที่นั่นนานประมาณสัปดาห์ จะเรียกว่าเป็นเด็กฝึกงานกระจกเงาก็พอได้
.
พี่หนูหริ่งบอกว่า เขากำลังจะกลับมาทำโรงละครที่ทองหล่อ (ตรงสวนครูองุ่น) และกลับมาทำละครอย่างจริงจังอีกครั้ง นั่นคือเรื่องที่เราต้องคุยกัน
.
ในบทสัมภาษณ์นี้ ผมเล่าถึงละครเวทีของพี่หนูหริ่งเรื่อง เด็กใต้สะพาน เอาไว้สั้นๆ ขอเอามาขยายต่อตรงนี้อีกสักหน่อย ละครเรื่องนี้เล่นที่สถาบันปรีดีฯ เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ตอนนั้นผมยังเรียนมหาลัย เงินทองมีไม่มาก พอรู้ว่าค่าบัตรแค่ 1 บาท ก็ไม่พลาดแน่นอน
.
มันเป็นละครตลก ที่เอาเด็กเร่ร่อนซึ่งมีบ้านอยู่ใต้สะพานทั้งหลายมาเล่น พวกเขาเล่นเรื่องราวชีวิตตัวเองในมุมที่เราอาจไม่เคยรู้มาก่อน ทุกเหตุการณ์ที่เขาเล่นเป็นฉากคอเมดี้ที่เล่นไปหัวเราะไป แต่คนดูอย่างผมกลับน้ำตาไหล อย่างเช่น น้องคนหนึ่งรู้ว่า เมื่อร้านโดนัทปิดร้านพนักงานจะเอาโดนัทที่ขายไม่หมดใส่ถุงดำมาทิ้งถังขยะหน้าร้าน เขาก็รอเก็บไปกิน จนกระทั่งวันหนึ่ง พนักงานรู้ว่ามีคนรอเอาไปกินต่อ ก็เลยกระทืบโดนัททั้งหมดให้แหลกเละก่อนทิ้ง น้องเปิดถุงดำมาเจอก็ตกใจ - และหัวเราะ
.
พอละครจบผู้กำกับ (พี่หนูหริ่ง) ก็พาน้องๆ ออกมานั่งคุยกับผู้ชม การพูดคุยยาวพอๆ กับละคร ไม่มีผู้ชมคนไหนอยากกลับบ้าน ชีวิตจริงของน้องๆ ที่เล่ากันตรงนั้นมีพลังยิ่งกว่าละคร มันเป็นการคุยที่เต็มไปด้วยเสียงหัวเราะ แต่อย่างที่บอก น้ำตาผมไหลออกมาครั้งแล้วครั้งเล่า
.
ละครจบลงด้วยการให้นักแสดงถือกล่องออกมารับบริจาค ทุกคนหยิบธนบัตรใบใหญ่ใส่กล่อง ส่วนผมจำได้ว่าใส่ธนบัตรทุกใบและทุกเหรียญที่มีลงไปในกล่อง
.
ละครที่มีค่าตั๋ว 1 บาทเรื่องนี้ ได้เงินจำนวนมาก และได้สื่อสารเรื่องเด็กเร่ร่อนให้เข้าไปอยู่ในใจของผู้ชมได้ด้วยความรัก ไม่ใช่ความเกลียด – มันเป็นเคสการสื่อสารเพื่อสังคมที่ผมยังจำได้ถึงทุกวันนี้
.
การพูคคุยกับพี่หนูหริ่งรอบนี้เราคุยกันมากมายหลายเรื่องทั้งเรื่องละครเวที งานมูลนิธิกระจกเงา เรื่องการเมือง เรื่องชีวิตเขา และเรื่องลูก ตลอดการพูดคุยเต็มไปด้วยเรื่องสะเทือนความคิด และสะท้านอารมณ์ โดยเฉพาะเรื่องลูก ที่ลูกของเขาบอกว่า "บริจาคพ่อให้กับสังคมแล้ว"
.
ผมถามเขาว่า ยุคหนึ่งสังคมแบ่งเป็นฝักเป็นฝ่าย ความสัมพันธ์มากมายสะบั้นลงเพราะความเห็นไม่ตรงกันในทางการเมือง ไม่มากก็น้อย-เขามีส่วนร่วมในการทำในเกิดสิ่งนี้ วันนี้เขาอยากบอกอะไรกับคนที่เจอปัญหาความสัมพันธ์ล่มสลายเพราะความคิดต่างทางการเมืองบ้าง
.
ผมประทับใจคำตอบของเขามาก ส่วนจะตอบว่าอะไรต้องไปฟังกัน
.
สุดท้าย คนที่อยากรู้ว่าเขาคือใคร เขานิยามตัวเองว่า "ผมเหมือนดาวตก ที่ตกลงมาในโลกในช่วงเวลาหนึ่ง ผมพยายามเต็มที่ในการส่องแสงสว่าง ให้คุ้มค่า และสวยงามที่สุด ในช่วงเวลาที่เข้ามาในชั้นบรรยากาศ ก่อนจะดับไป"
.
ไปฟังรายการ Coming of Age ตอนนี้กันได้ ลิงก์อยู่ในคอมเมนต์นะครับ
.
#TheCloud #readthecloud #listentothecloud #TheCloudpodcast #podcast #comingofage #สมบัติบุญงามอนงค์ #บกลายจุด #มูลนิธิกระจกเงา

https://www.youtube.com/watch?v=lAFnrIv9IXA