วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 19, 2567

ไม่เกินคาด ตามธรรมชาติของศาลไทย สั่งจำคุก อานนท์ นำภา คดี ม.๑๑๒ เพิ่มอีก ๒ ปี ๘ เดือน ทั้งๆ ที่การต่อสู้คดีของจำเลย “ถูกหักแข้งหักขา”

ไม่เกินคาด ตามธรรมชาติของศาลไทย โดยเฉพาะในคดีที่มี ม.๑๑๒ เกี่ยวข้อง หรือสามารถพาดพิงถึงได้ อย่างไรก็ดี มีข้อน่าสังเกตุในคดีที่ทนาย อานนท์ นำภา เป็นผู้ถูกกล่าวหาดูหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายกษัตริย์ ที่ผ่านมาแล้วหลายคดี

ล่าสุดในคดีการปราศรัยของอานนท์ ใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ เมื่อปี ๖๓ ซึ่งกระทงอื่นๆ เช่นละเมิด พรก.ฉุกเฉินฯ พรบ.เครื่องขยายเสียง พรบ.คอมพิวเตอร์ฯ และอาญา ม.๑๑๖ บางกรณี ศาลอาญาเห็นว่าไม่มีความผิด

แม้แต่ “ในข้อหาตาม #ม116 (ควบ) #พรบคอมพิวเตอร์ฯ เห็นว่าแม้จำเลยจะโพสต์ไม่เหมาะสม แต่ไม่ถึงขนาดเป็นความผิดตามฟ้องข้อหานี้” ทว่าพอมาถึงข้อหาตาม ม.๑๑๒ ควบ ม.๑๑๖ กลับตีความว่าเป็นความผิด

อ้างข้อเท็จจริงที่ “พูดว่ากษัตริย์แทรกแซงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวว่าใครที่พูดเกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์ส่วนมากจะถูกฆ่าหรือถูกอุ้ม” ถือเป็นการ “กล่าวอ้างใส่ร้ายกษัตริย์ โดยมุ่งหวังให้เกิดความวุ่นวายในสังคม และการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

รวมทั้ง “จำเลยปราศรัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับการเมืองการปกครองหลายครั้ง รัฐธรรมนูญ มาตรา ๖ ห้ามไม่ให้ผู้ใดล่วงละเมิดกษัตริย์ จำเลยเป็นนักกฎหมายจะต้องตระหนักในกฏหมายข้อนี้ดีกว่าบุคคลทั่วไป” นี่เป็นการอ้างจากข้อวินิจฉัยของผู้พิพากษาเอง

ซึ่งในกระบวนการศาลไทย ในคดีนี้ที่ เรืองฤทธิ์ บัวลอย และ เทอดศักดิ์ อินทรปรีชา เป็นผู้พิพากษาสามารถทำได้ โดยไม่สามารถโต้แย้งหรือตั้งข้อสังเกตุในวิจารณญาน หรือแสดงความกังขาต่อสิ่งซึ่งนับถือกันเป็นความศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า ธง

เนื่องเพราะ อานนท์ ในความรอบรู้ของเขาที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ทนายสิทธิมนุษยชนมาอย่างโชกโชน ได้เห็นได้สัมผัสกับกระบวนการพิจารณาคดีของศาลไทย ในคดี ม.๑๑๒ อย่างผิดเพี้ยนไปจากมาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนสากล แล้วโต้แย้ง

ทำให้ผู้พิพากษา ในอัตตาของความเป็น ศาลไทย ลุแก่อำนาจ ห้ามสื่อมวลชนและสาธารณชนเข้าฟัง ห้ามจำเลยโต้แย้งใดๆ มีการสั่งให้นำตัวจำเลยไปขัง เพราะการโต้แย้งถึงความสมเหตุสมผลในหลักกฎหมาย ที่ถูกศาลละเมิด

การพิจารณาคดีเมื่อวันที่ ๑๙ ธันวาคม ศาลสั่งลงโทษจำคุกอานนท์อีก ๒ ปี ๘ เดือน ลดจากโทษทั้งหมด ๔ ปี ฐานที่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ (วลีทีทนายสิทธิมนุษยชนต่างประเทศฟังแล้วบอกว่าเป็น cliché) รวมโทษทั้งสิ้นของอานนท์วันนี้

๖ คดี คุก ๑๘ ปี ๑๐ เดือน ๒๐ วัน และยังจะมีคดีทำนองนี้ตามมาอีกหลายคี ซึ่งการต่อสู้คดีถูกหักแข้งหักขา ทั้งในทางการตีความกฎหมาย และการนำเสนอพยานหลักฐาน ที่ถูกศาลปฏิเสธนำมาใช้ เพราะเป็นข้อเท็จจริงในทางประพฤติของพยานโจทก์

(https://x.com/TLHR2014/status/1869626465664569543 และ https://ilaw.or.th/articles/49376#verdict)