วันอังคาร, พฤศจิกายน 11, 2557

ฟัง "ประภาส ปิ่นตบแต่ง" อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ กับเหตุผลที่ต้องเดินเท้าปฏิรูปที่ดิน โดยที่รู้ว่าจะถูกจับ


ที่มา มติชนออนไลน์

สืบเนื่องจากวานนี้ (9 พ.ย.) ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตร ทำพิธีเปิดการรณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย โดยได้วางแผนที่จะเดินเท้าจากจังหวัดเชียงใหม่สู่กรุงเทพฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีการยุติแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งร่างขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ทั้งถูกบังคับให้อพยพ ทำลายพืชผลทางการเกษตร และฟ้องร้องดำเนินคดี

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีตัวแทนจากสหพันธ์ฯ และเครือข่าย ที่จะนำการเดินรณรงค์ อาทิ นายประยงค์ ดอกลำไย แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, นายดิเรก กองเงิน ตัวแทนภาคประชาชน, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, และรศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 ได้พยายามเจรจาขอให้ไม่มีการเดินรณรงค์ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขัดต่อกฏอัยการศึก และขอให้ระงับการจัดกิจกรรม แต่ทางแกนนำเครือข่าย ได้ยืนยันที่จะทำการเคลื่อนไหวต่อไป โดยเริ่มออกเดินจากวัดสวนดอกในเวลาประมาณ 13.00น. จำนวนชุดละ 4 คน ทั้งหมด 2 ชุด ซึ่งก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสกัดไว้ทั้งหมด ก่อนนำตัวไปควบคุมไว้บนรถห้องขังที่เตรียมไว้ หนึ่งในแกนนำที่ถูกจับคือ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อม ชาวบ้านอีก 3 คน หลังออกเดินเป็นชุดที่ 2 ได้เพียง 50 เมตร

ทั้งนี้ ภายหลังการถูกจับกุมตัว เฟซบุ๊กของคุณภาสกร จำลองราชได้เผยแพร่คลิปวิดิโอสั้นๆ ถึงความรู้สึกที่ได้ออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้



Q: ความรู้สึกแรก รู้สึกอย่างไร?
A: ก็โอเค พี่น้องเราเจอมาเยอะแล้ว ซึ่งเราก็เอาเปรียบพี่น้องมาเยอะมากแล้ว พี่น้องทนทุกข์ลำบาก แต่เราได้ดิบได้ดี...เรียนจบปริญญาเอก

Q: สังคมตั้งคำถามว่า ในเมื่ออาจารย์รู้อยู่แล้วว่า การเคลื่อนไหวครั้งนี้ อาจจะทำให้ติดคุก แล้วทำไมยังเลือกที่จะทำ?
A: คิดว่าเรื่องนี้ควรที่จะให้สังคมได้รับรู้ ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน ผมคิดว่าผมเป็นแค่คนที่ทุกข์นิดหน่อย แทนพี่น้องที่จะต้องมาเดือดร้อน ต้องมาเดินขบวนแบบเดิม หรือพี่น้องหลายคนแม้แต่ต้องยอมเสียชีวิต ผมคิดว่าผมเสียสละน้อยมาก

Q: สิ่งที่อาจารย์อยากเห็นคืออะไร?
A: หนึ่ง-ผมคิดว่าแผนแม่บทคืนผืนป่านี้ต้องทบทวน เพราะมันคือ "คจก.ภาค2" (โครงการจัดที่ทำกินให้กับราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม) ที่สร้างความเดือดร้อนมากมาย สอง-กลับไปสู่การแก้ปัญหาที่พี่น้องมีส่วนร่วมมาอย่างยาวนาน เรามีบทเรียนมาเยอะแยะ...ถอยกลับไปที่บทเรียนเดิมก็พอแล้ว

สำหรับความพยายามเข้ามาบริหารจัดการทรัพยากรป่าไม้ของรัฐนั้น มีมาอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นกรณี "ป่าดงใหญ่" จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเคยเป็นที่มั่นของกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.) เขตอีสานใต้ กอ.รมน.ภาค 2 จึงดำเนินนโยบาย "บ้านล้อมป่า" ร่วมกับกรมป่าไม้ จัดทำโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองตามแนวชายแดน (ปชด.) โดยอพยพชาวบ้านที่กระจัดกระจายอยู่ในป่าดงใหญ่ มาอยู่ในพื้นที่ทำกินให้ใหม่ ขณะเดียวกัน กรมป่าไม้ก็ได้กันพื้นที่ส่วนใหญ่ให้เอกชนเช่าปลูกป่าเศรษฐกิจ และมีสัญญาถึง 30 ปี ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถกลับไปยังพื้นที่ทำกินของตนได้อีก

ooo


จับ"ประภาส ปิ่นตบแต่ง" อ.รัฐศาสตร์ จุฬาฯ หลังทหารสั่งยุติกิจกรรมเดินเท้าปฏิรูปที่ดิน

ที่มา มติชนออนไลน์


เครือข่ายภาคประชาชนหลายกลุ่ม ร่วมการเดินเท้ารณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อเรียกร้องการปฏิรูปที่ดิน และยุติการไล่ราษฎรผู้ยากไร้ลงจากป่าตามนโยบาย คสช. ในขณะที่ทางเจ้าหน้าที่ทหาร ได้สกัดการเดินเท้าทั้งหมด พร้อมควบคุมตัวแกนนำการรณรงค์เอาไว้ในบริเวณที่จัดกิจกรรม เพื่อให้มีการเจรจาหาข้อยุติต่อไป


ที่วัดสวนดอก อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) และเครือข่ายพันธมิตร ทำพิธีเปิดการรณรงค์ “เดิน ก้าว แลก” เพื่อการปฏิรูปที่ดินไทย โดยได้วางแผนที่จะเดินเท้าจากจังหวัดเชียงใหม่สู่กรุงเทพมหานครฯ เพื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีการยุติแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งร่างขึ้นโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และที่ผ่านมา ได้ส่งผลกระทบต่อราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ถูกบังคับให้อพยพ ตัดฟันพืชผลทางการเกษตร และฟ้องร้องดำเนินคดี

โดยกิจกรรมในครั้งนี้ มีตัวแทนจากสหพันธ์ฯและเครือข่าย ที่จะนำการเดินรณรงค์ อาทิเช่นนายประยงค์ ดอกลำไย แกนนำสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ, นายดิเรก กองเงิน ตัวแทนภาคประชาชน, นายสุริยันต์ ทองหนูเอียด, และ รศ.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นต้น โดยในการนี้ เครือข่ายยังมีข้อเรียกร้องขอให้รัฐบาลได้พิจารณาออกกฏหมาย 4 ฉบับ เพื่อขจัดปัญหาความเหลื่อมล้ำ อันได้แก่ ร่างพรบ.ธนาคารที่ดิน ร่างพรบ.สิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรในรูปแบบโฉนดชุมชน ร่างพรบ.ภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า และร่างพรบ.กองทุนยุติธรรม


อย่างไรก็ตาม ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 ได้พยายามเจรจาขอให้ไม่มีการเดินรณรงค์ดังกล่าว เนื่องจากเห็นว่าเป็นการขัดต่อกฏอัยการศึก และขอให้ระงับการจัดกิจกรรม แต่ทางแกนนำเครือข่าย ได้ยืนยันที่จะทำการเคลื่อนไหวต่อไป โดยเริ่มออกเดินจากวัดสวนดอกในเวลาประมาณ 13.00น. จำนวนชุดละ 4 คน ทั้งหมด 2 ชุด ซึ่งก็ได้ถูกเจ้าหน้าที่ทหารสกัดไว้ทั้งหมด ก่อนนำตัวไปควบคุมไว้บนรถห้องขังที่เตรียมไว้ หนึ่งในแกนนำที่ถูกจับคือ ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อม ชาวบ้านอีก 3 คน หลังออกเดินเป็นชุดที่ 2 ได้เพียง 50 เมตร


ล่าสุด ได้มีการนำตัวแกนนำและผู้ร่วมรณรงค์ทั้งหมดลงจากรถห้องขังแล้ว โดยขณะนี้ได้ควบคุมตัวทั้งหมดไว้ในบริเวณวัดสวนดอกเพื่อขอให้ได้มีการเจรจากัน โดยทางเครือข่าย ได้ยื่นข้อเรียกร้องล่าสุด ขอให้ มล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนากยกรัฐมนตรี และ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินทางมาร่วมเจรจาหาข้อยุติต่อไป


โดยในวันที่ 13 พฤศจิกายน นี้ หม่อมหลวงปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักรัฐมนตรี จะลงพื้นที่มาพบชาวบ้านที่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเจรจาหาทางออก และในเร็วๆนี้ พล.อ.ดาวพงษ์ รัตนสุวรรณ รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) อาจจะมีเวทีเจรจาเพิ่มเติม


ที่มา : เฟซบุ๊ก "พลิกฟื้นแผ่นดินไทย"
ooo

จ.ม.ลาออกจากกรรมการ กป.อพช.ผิดหวังจุดยืนการเมือง 'นิ่งเฉย'ปล่อยให้ชาวบ้านถูกกระทำโดยเจ้าหน้าที่รัฐ

ที่มา ประชาไท
Mon, 2014-11-10 16:49

วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี นักพัฒนาผู้คร่ำหวอดในวงการ NGOs ยาวนาน30ปี ร่อนจดหมายลาออกจากการเป็นคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน( กป.อพช.)ชี้ไร้จุดยืนและขาดความกล้าหาญทางการเมืองในสถานการณ์ปัจจุบัน เมินเฉยปล่อยให้ชาวบ้านถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐและไม่คัดค้านกฎอัยการศึก

๐๐๐๐

เรียน พี่น้อง กป.อพช. และเพื่อนองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs)ทุกคนครับ

ในฐานะที่เลือกและตัดสินใจทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนนับตั้งแต่เริ่มต้นชีวิตการทำงานเมื่อปี 2527 และครบ 30 ปีเต็มในปีนี้ ผมรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการของพวกเราเสมอมา ทุกครั้งที่มีคำชื่นชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ต่อการทำงานของเรา ผมดูจิตใจตัวเองพองโต ห่อเหี่ยว หรือไม่ก็ทำใจวางเฉยเสียบ้าง แล้วแต่กรณี แต่กระนั้นก็จะพยายามเรียนรู้จากสิ่งที่คนแสดงความคิดเห็นทุกๆครั้ง

แม้ว่าในทางความเป็นจริงขบวนการนี้จะประกอบไปด้วยองค์กรและคนที่มีความคิดหลากหลายมากๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นหลักการร่วมของพวกเราเสมอมาคือ "ประชาธิปไตย" "ความเป็นธรรม" " การมีส่วนร่วม" ไปจนถึง การพัฒนาที่มีเป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตของมนุษย์" และ "ความยั่งยืนของฐานทรัพยากรและระบบนิเวศ" เป็นอย่างน้อย

นับตั้งแต่มีความขัดแย้งทางการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหารเมื่อปี 2549 และการปราบปรามการชุมนุมจนมีประชาชนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก พวกเราก็เหมือนกลุ่มอื่นๆในสังคมที่มีความเห็นทางการเมืองและเข้าไปมีส่วนร่วมแสดงออกทางการเมืองอย่างหลากหลาย ไม่ว่าการตัดสินใจนั้นจะผิดหรือถูก ผมเชื่อว่าพวกเราทุกคนได้เรียนรู้สิ่งนี้ได้ด้วยตนเอง และมหาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจประเมินผลพวกเราเองในอนาคต

ความขัดแย้งทางการเมืองซึ่งสืบทอดมาจากหลายปีก่อนหน้านี้ได้ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปีที่แล้ว พวกเราเป็นจำนวนมาก ได้ตัดสินใจลงนามต่อต้านรัฐประหารและความรุนแรง พร้อมกับคำประกาศว่าการปฏิรูปและการเลือกตั้งนั้นต้องดำเนินไปด้วยกัน หาใช่การหยิบยื่นภารกิจปฏิรูปให้กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งแล้วกีดกันคนอีกกลุ่มออกไป

ขณะนี้รัฐประหารได้เกิดขึ้นแล้ว เช่นเดียวกับกระบวนการปฏิรูปที่กีดกันคนมีความเห็นต่างก็กำลังเกิดขึ้น มิหนำซ้ำยังคุกคาม กีดกันประชาชนที่เดือดร้อนด้วยปัญหาพื้นฐาน เช่น ที่ดิน สิ่งแวดล้อม ฯลฯ ไม่ให้แสดงออกและแสดงความคิดเห็น ไปจนกระทั่งบังคับขู่เข็ญคนที่ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมการปฏิรูปไม่ให้แสดงออก สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ไม่ใช่หลักการของพวกเรา และเราควรแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเราต่อต้านสิ่งนี้

ผมได้อ่านคำแถลงของคุณสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการกป.อพช.ภาคอีสาน เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2557 ด้วยความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งที่เรียกร้องให้ กป.อพช.ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีการคุกคามประชาชน แต่ไม่สามารถผลักดันให้คำแถลงดังกล่าวสามารถแสดงจุดยืนและเรียกร้องอย่างกล้าหาญ เพื่อต่อต้านการคุกคามประชาชน รวมทั้งไม่ปรากฎข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎอัยการศึก ตามความคาดหวัง ผมจึงขอลาออกจากตำแหน่งใดๆใน กป.อพช.ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เพื่อแสดงการสนับสนุนคำแถลงของสมาชิกกป.อพช.บางท่านก่อนหน้านี้ และเพื่อให้กำลังใจกับเพื่อนพี่น้องทุกคนในภาคต่างๆที่ได้ลุกขึ้นมาต่อสู้ร่วมกับประชาชนเพื่อความเป็นธรรมและท้าทายอำนาจเผด็จการ

เมื่อวานนี้เอง (9 พฤศจิกายน 2557) ทหารยังได้จับกุมตัว ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง และประชาชนที่เดินรณรงค์เพื่อการปฏิรูปที่ดินอย่างสันติ ที่จ.เชียงใหม่โดยใช้อำนาจอย่างไม่ชอบธรรม และเหตุการณ์เดียวกันนี้จะเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า และอาจจะมากขึ้นหากเราได้แต่นิ่งเฉย หากแม้แต่แถลงการณ์ก็ไม่สามารถประกาศได้อย่างกล้าหาญและรักษาหลักการไว้ได้ ต่อไปเราจะสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อความเป็นธรรมของพี่น้องที่เสียเปรียบและไร้โอกาสได้อย่างไร

ผมยังคงเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชนและพร้อมที่จะเข้าร่วมการแสดงจุดยืนและความเคลื่อนไหวร่วมกับพวกเราเสมอ ตราบใดที่การกระทำนั้นยืนอยู่บนพื้นฐานของประชาธิปไตย ความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามหลักการของพวกเรา


วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ
10 พฤศจิกายน 2557


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: จดหมายถึงเพื่อนเอ็นจีโอ
NGOsอีสานท้วงNGOsชาติ สยบยอมรัฐบาลทหารด้วยวาทกรรม “ปรองดอง”
กิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา: จดหมายถึงเพื่อนเอ็นจีโอ