รองศาสตราจารย์นิด้า ว่าโครงสร้างภาษีต้องแบบถังเบียร์ ไม่ใช่ปิรามิด เพราะจะเก็บเพิ่มคนข้างบนมาดูแลคนข้างล่าง เขาไม่ยอม บอกมันเยอะแล้ว ๓๕% น่ะ เอิ่ม นี่มันคล้ายๆ ทฤษฎี ‘อยู่เป็น’ ใช่ไหม
ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ให้ความเห็นเรื่องระบบภาษีของไทย โดยโยงไปถึงโครงสร้างประชากรว่าเมืองไทยเรารูปทรงปิรามิด ยอดแหลมฐานกว้าง ยอดรายได้มาก ฐานรายได้น้อย
แต่ละปี “มีผู้ที่ยื่นแบบฟอร์มภาษี ประมาณ ๑๔ ล้านคน และหักผู้ที่ยื่นลดหย่อนจะเหลือผู้เสียภาษีจริงๆ ประมาณ ๓.๕ ล้านคน” เท่านั้น “อันนี้คือปัญหา เราจะทำอย่างไรในเมื่อโครงสร้างเป็นแบบนี้” เก็บจากข้างบนมาเจือจุนข้างล่างก็ไม่ได้
ฉะนั้นแทนที่จะพยายามทำให้ ข้างบนยอมเจียดเศษเงินลงมาจุนเจือข้างล่าง ไม่เอา ต้องปล่อยไป ช่างเขา เอางี้ดีกว่า มาเปลี่ยนโครงสร้างสังคมให้เป็นรูปถังเบียร์แบบอเมริกา คือให้ข้างบนและข้างล่างตีบเหมือนกันแค่ ๑๐%
ตรงกลางให้ป่องพอง ๘๐% ฉะนี้ถ้าข้างบนและตรงกลางช่วยกันเฉลี่ยลงมาเลี้ยงดูข้างล่าง จะเป็นไปได้ “๘๐+๑๐ มาดูแล ๑๐ ยังไงก็ไหว” อ๊ะ เอาตัวเลขมาเต้นระบำอ่อนช้อย อวดโชว์ ชักจะดูดี ทว่า เอ๊ะ เดี๋ยวก่อน แล้วทำไงให้ตรงกลางป่องล่ะ
มันก็ต้องขุนข้างล่างให้เปลี่ยนจากผอมแห้ง แฟบแบนแบกะดิน มาเป็นอ้วนท้วนเนื้อแน่น ไขมันเยอะ จึงจะสร้างตรงกลางให้อ้วนพีได้ใช่ไหม แล้วจะเอาจากที่ไหนมาขุน ถ้าไม่มาจาก ๑% ข้างบน แน่นอนว่า “ถ้าแก้ปัญหาให้คนไทยมีงานทำ” ถ้วนหน้าได้
มันจะไม่ยากเลยกับการปรับโครงสร้างอย่างที่อาจารย์ว่า แต่ แต่ แต่ แม้คนไทยมีงานทำกันทั้งนั้น ทว่าเป็นงานที่เจ้าของกิจการทั้งมวล อยู่ในมือ ๑% ของประเทศ ยึดถือปรัชญาธุรกิจแบบเพียงพอ คือลดรายจ่ายเพิ่มกำไร ล่ะ
๘๐% ที่ฐานราก ก็ยังยากจนอยู่ดี ถ้ายังคอยเอื้ออาทร และพินอบพิเทาต่อไม่กี่ตระกูลข้างบน