วันพุธ, ธันวาคม 11, 2567

วันนอร์​ชี้ แก้รัฐธรรมนูญ​ฉบับใหม่​ต้องสร้างแนวรั้วป้องกันรัฐประหาร กรณีศึกษาเกาหลีใต้-ตุรกี เผด็จการไม่อาจชนะเจตจำนงประชาชน


THE STANDARD
9 hours ago ·

UPDATE: วันนอร์​ชี้ แก้รัฐธรรมนูญ​ฉบับใหม่​ต้องสร้างแนวรั้วป้องกันรัฐประหาร กรณีศึกษาเกาหลีใต้-ตุรกี เผด็จการไม่อาจชนะเจตจำนงประชาชน
.
วันนี้ (10 ธันวาคม) ที่รัฐสภา วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นประธานในพิธีเปิดงาน ‘วันรัฐธรรมนูญ 2567 สู่รัฐธรรมนูญในฝัน’ โดยกล่าวว่า วันนี้เป็นวันสำคัญของรัฐสภาวันหนึ่ง เพราะเป็นวันรัฐธรรมนูญ ซึ่งโดยปกติต้องอนุมัติโดยรัฐสภาที่มาจากประชาชน จึงเป็นผู้อนุมัติรัฐธรรมนูญและรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองบริหารประเทศ ความสัมพันธ์ระหว่างรัฐธรรมนูญ รัฐสภา และประชาชน จึงผูกพันกันอย่างแยกไม่ได้ แต่บางครั้งก็มีคนพยายามทำให้สิ่งเหล่านี้มันแยกออกจากกัน
.
วันนี้วันรัฐธรรมนูญ รัฐสภา​ รัฐธรรมนูญ​ และประชาชน​ ต้องมีความผูกพันกัน​ ประเทศจึงจะมีประชาธิปไตย​อย่างที่เราต้องการ และรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุด ที่สะท้อนถึงเจตจำนงร่วมกันของคนในชาติ แต่ในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา การรัฐประหารรวมถึงการยกเลิกรัฐธรรมนูญถึง 20 ฉบับ การกระทำเช่นนี้เป็นการแสดงถึงจุดอ่อนในการรักษารัฐธรรมนูญและรักษาประชาธิปไตยของประเทศ เพราะเราขาดความรัก ความเข้าใจ และความหวงแหนในประชาธิปไตยของเรา
.
ขณะเดียวกัน ในอดีต​รัฐธรรมนูญถือกำเนิดจากความตั้งใจของประชาชน และเป็นความปรารถนาดีของพระมหากษัตริย์ ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ท่านเต็มใจที่จะมอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้คนไทยทั้งประเทศ แต่น่าเสียดายที่ท่านต้องสละราชสมบัติ มอบอำนาจอันมีอยู่ของพระองค์ในฐานะพระมหากษัตริย์ให้กับประชาชนคนไทยทั้งประเทศ มิได้เต็มใจจะมอบอำนาจให้กับกลุ่มบุคคลใดบุคคลหนึ่งใช้อำนาจของพระองค์ในการบริหารประเทศนี้ หากใช้อำนาจของตนเองโดยไม่ฟังเสียงของประชาชน ถือว่าท่านไม่ฟังพระราชดำรัสของผู้ที่พระราชทานรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยให้กับประเทศนี้โดยสิ้นเชิง
.
ปัจจุบันรัฐธรรมนูญยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่กำหนดทิศทางของการพัฒนาชาติ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ​ สังคม และยังเป็นกติกาที่สร้างความสมดุลระหว่างภาคส่วนต่างๆ​ และการมีส่วนร่วมทางการเมือง ที่สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย เพื่อให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในการปกครองและพัฒนาในระบอบประชาธิปไตย
.
วันมูหะมัดนอร์ยกตัวอย่างประชาธิปไตยในประเทศเกาหลีใต้และประเทศตุรกี​ ที่น่าจะเป็นตัวอย่างที่สำคัญให้เราสำนึกว่าประชาธิปไตยนั้นจะอยู่ได้อย่างไร ซึ่งเกาหลีใต้​เคยผ่านการรัฐประหาร​ ผ่านผู้นำเผด็จการ​ หลายยุค​หลายสมัย แต่ในที่สุดประเทศเกาหลีใต้ก็ก้าวข้ามสิ่งเหล่านี้มาได้ด้วยการสร้างรัฐธรรมนูญและมีผู้นำที่เป็นประชาธิปไตย ภายในระยะเวลา 20-30 ปี หลังจากที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งในประเทศเกาหลีใต้​ก็สร้างเศรษฐกิจที่มั่นคง​ แข็งแรง​ เป็นประเทศที่มีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดี​ ประชาชนมั่งคั่งและมั่นคง​ ถือเป็นตัวอย่างที่เห็นว่า​ถ้าประชาธิปไตยมั่นคง แข็งแรง เศรษฐกิจของประเทศก็ดี
.
อย่างไรก็ตาม บทท้าทายของเกาหลีใต้เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันท้าทายอำนาจประชาธิปไตยของประชาชนด้วยการยึดอำนาจ ประกาศกฎอัยการศึก ซึ่งจะกลับไปสู่ยุคเดิมอีก แต่ชาวเกาหลีใต้ไม่ยินยอม ประชาชนเข้ามาในสภา​ ผ่านกองทหาร และสมาชิกรัฐสภาก็เข้ามาประชุมเพื่อยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกของประธานาธิบดี วันนี้ประชาธิปไตยเกาหลียังมีอยู่ต่อไป​ ขอให้คิดดูว่าในวันนั้นถ้าประชาชนยินยอมนำดอกไม้ไปมอบให้ทหารที่รัฐสภา ไม่กล้าสู้อำนาจเผด็จการ วันนี้เกาหลีใต้จะเป็นอย่างไร ประชาธิปไตยไม่เกิดขึ้น เกาหลีใต้จะต้องถดถอยเหมือนบ้านเราที่ถดถอยไป 10-20 ปีมาแล้วเช่นกัน
.
“วันนี้ต้องแสดงความชื่นชมยินดีกับประชาชนเกาหลีใต้และสมาชิกรัฐสภาเกาหลีใต้ ที่ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาประชาธิปไตยอย่างไม่กลัวเกรงอำนาจเผด็จการใดๆ ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่สร้างความมั่นคงทางการเมือง แต่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนเข้มแข็งเศรษฐกิจมั่นคง”
.
ส่วนตุรกี​ เมื่อ 7 ปีที่ผ่านมาทหารเข้ายึดอำนาจประธานาธิบดี แต่ประธานาธิบดีเขาไม่ยอมและถอยไปตั้งหลัก และประชาชนไม่ยินยอมกับอำนาจของทหาร ประชาชนออกมาเต็มท้องถนน ทหารไม่กล้าขับรถถังเข้าหาประชาชนที่นอนบนถนน ทหารต้องกลับกรมกอง
.
“ประชาธิปไตย ประชาชนต้องไม่จำนนต่ออำนาจเผด็จการประเทศนั้น ก็จะสามารถรักษาอำนาจประชาธิปไตย​ รัฐธรรมนูญเรากำลังจะแก้ แต่ไม่รู้จะแก้ได้หรือไม่ ​จากจะแก้รายมาตรา​หรือแก้ทั้งฉบับ​ ผมอยากถามว่าคำว่าแก้แล้วรัฐประหารได้หรือไม่​ แก้แล้วฉีกรัฐธรรมนูญได้หรือไม่​ หรือแก้แล้วยกเลิกรัฐธรรมนูญได้หรือไม่​ แล้วจะแก้ไปทำไม มันต้องแก้​ เพราะเราเห็นอยู่แล้วว่ารัฐธรรมนูญ​มันไม่เป็นประชาธิปไตย แต่สิ่งสำคัญเหนือกว่านั้น หลังจากแก้จะทำอย่างไรไม่ให้ถูกฉีก และสำคัญกว่านั้น ทำอย่างไรให้ประชาชนสำนึกและรักประชาธิปไตย ไม่ยอมให้ใครมาฉีกอีก ฉีกแล้ว 20 ฉบับ ฉบับที่ 21 ไม่ควรที่จะถูกฉีกแล้วถ้าประชาชนไม่ยินยอม​”
.
วันมูหะมัดนอร์กล่าวว่า สำหรับประเทศไทยเราควรจะใช้บทเรียนของเกาหลีใต้และตุรกีมาใช้ว่าจะทำอย่างไรให้กับรัฐธรรมนูญของเราในอนาคต และตนเชื่อว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตของเราต้องมีมากกว่ารัฐธรรมนูญที่เป็นกระดาษให้เขาฉีกได้ รัฐธรรมนูญในอนาคตต้องเต็มไปด้วยจิตวิญญาณของประชาชนที่รักรัฐธรรมนูญ จิตวิญญาณของประชาชนที่รักประชาธิปไตย เราพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ายกเลิกรัฐธรรมนูญ 20 ฉบับ บ้านเมืองดีขึ้นหรือไม่
.
ตนเองอยู่ในรัฐธรรมนูญไม่ถึง 20 ฉบับ แต่ 10 ฉบับ ตนก็ไม่เห็นว่าดีขึ้น แล้วเราจะให้ฉีกอีกทำไม การฉีกรัฐธรรมนูญเป็นการอ้างถึงความบกพร่องของผู้บริหาร แต่ตนก็ยอมรับว่ารัฐสภานั้นมีข้อบกพร่อง ผู้บริหารอาจไม่ดี แต่ฉีกรัฐธรรมนูญทำรัฐประหารแก้ได้หรือไม่ ต้องแก้ด้วยประชาชน ผู้บริหารไม่ดีประชาชนไม่เลือก รัฐสภาไม่ดีก็มีการยุบสภาให้ประชาชนเลือก เพราะเป็นคนสำคัญที่สุด ประชาธิปไตยเป็นของประชาชน เพื่อประชาชน และทำมาจากประชาชน ไม่ใช่อำนาจมาจากปลายกระบอกปืน
.
วันมูหะมัดนอร์ยังบอกด้วยว่า ชอบที่อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล กล่าวว่ารัฐธรรมนูญในอนาคตควรจะมีบทบัญญัติของการป้องกันรัฐประหารและป้องกันการฉีกประชาธิปไตย ให้มีกลไกในการป้องกันเหมือนเกาหลีใต้ ถ้ารัฐประหารยกเลิกรัฐธรรมนูญ ประกาศกฎอัยการศึกรัฐสภาสามารถใช้เสียงเกินกว่าครึ่งหนึ่งยกเลิกการรัฐประหารได้ แสดงว่ามีเครื่องมืออยู่​ ถ้าเขาฉีกรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นก็หมดไปอยู่ดี
.
ขณะเดียวกัน ยังยกตัวอย่างว่ารัฐธรรมนูญเปรียบเหมือนบ้านที่มีรั้วมีประตู กับบ้านที่ไม่มีรั้วไม่มีประตู อันไหนจะป้องกันโจรได้มากกว่า ตนอยากให้รัฐธรรมนูญฉบับต่อไปเป็นบ้าน ขอให้เรามีรั้วมีประตูใส่กุญแจ ให้คนอยู่ในนั้นพร้อมที่จะปิดประตูสู้ในแนวรั้วของเขาได้
.
การป้องกันปฏิบัติโดยรัฐบาล ตุลาการก็มีส่วนสำคัญ ทำไมศาลฎีกาจึงบอกว่ารัฐประหารไปแล้วเป็นรัฏฐาธิปัตย์​ กบฏมีอำนาจสูงสุดได้ทันที ศาลยอมรับอย่างนั้นได้อย่างไร ตนไม่ว่าในอดีตเคยยอมรับ เพราะมันเป็นกฎหมายสมัยนโปเลียน​ แต่วันนี้หมดยุคแล้วเพราะการรัฐประหารคือกบฏ อำนาจตุลาการทำไมถึงคิดตรงข้ามกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจสูงสุดของประเทศนี้ ขอฝากเป็นข้อคิดในวันรัฐธรรมนูญ
.
วันมูหะมัดนอร์กล่าวต่อว่า ตนอยากเห็นทุกคนพร้อมใจกันป้องกันรัฐธรรมนูญ ตนเป็นคนหนึ่งที่เห็นด้วยว่าถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องสร้างแนวป้องกันแนวรั้วอย่างจริงจัง เพื่อปกป้องรัฐธรรมนูญ เชื่อด้วยความสุจริตใจว่าไม่มีใครต้องการปฏิบัติถ้าไม่จำเป็น เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายจะต้องร่วมมือ สมาชิกรัฐสภาต้องไม่เปิดโอกาส​ อย่าเปิดทางเรียกร้องให้มายึดอำนาจ​ อย่าคิดว่ารัฐประหารสามารถแก้ปัญหารัฐสภาได้​ เพราะตนเห็นรัฐประหารแก้รัฐธรรมนูญ​มาหลายครั้ง​แล้ว​ ตนอยากให้รัฐธรรมนูญ​ฉบับนี้มีแนวทางปกป้องประชาธิปไตย​ไว้ในรัฐธรรมนูญใหม่ด้วย
.
หนุนบรรจุบทลงโทษผู้รัฐประหารในรัฐธรรมนูญ
.
วันมูหะมัดนอร์ยังกล่าวถึงมาตรการป้องกันการรัฐประหาร โดยเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ควรจะมีบทบัญญัติในการลงโทษผู้ที่ล้มล้างรัฐธรรมนูญด้วยการรัฐประหารหรือฉีกรัฐธรรมนูญที่สามารถใช้ได้จริง ซึ่งเห็นว่าควรไปศึกษาจากรัฐธรรมนูญของประเทศเกาหลีใต้ที่บัญญัติไว้และเมื่อเกิดการยึดอำนาจสามารถนำมาให้สภาใช้ล้มล้างการยึดอำนาจได้ ถือเป็นตัวอย่างง่ายๆ คนไทยเก่ง สามารถยกร่างรัฐธรรมนูญได้ แต่สิ่งสำคัญคือความร่วมมือของประชาชนเหมือนอย่างประเทศเกาหลีใต้
.
ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเสนอแก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม ถือเป็นคนละเรื่องกัน ซึ่งเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่เสนอเข้ามา แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ไม่รู้ว่าจะสำเร็จหรือไม่ควรจะมีมาตรการป้องกันไม่ให้ถูกฉีก ส่วนบทลงโทษของผู้ที่ทำการฉีกรัฐธรรมนูญจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนตัวไม่อยากชี้แนะ แต่ก็ควรจะสามารถปฏิบัติได้และประชาชนยอมรับ แต่ผู้ที่ทำรัฐประหารส่วนใหญ่มักจะเป็นคนที่มีอาวุธในมือ ในขณะที่วันนี้โลกเปลี่ยนแปลงไปเยอะ การเมืองก็เปลี่ยนแปลง เช่น สถานการณ์ในประเทศไนจีเรียและเกาหลีใต้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไป ส่วนประเทศไทยจะอยู่อย่างนี้โดยไม่เปลี่ยนแปลง ประชาธิปไตยของเราคงล้าหลังมาก

(https://www.facebook.com/thestandardth/posts/924365166489494)