The Isaan Record was live.
10h·
Live คุยเบื้องหลังหนังสัปเหร่อ...พลังหนัง พลังอีสาน" คุยกับ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ผู้สนับสนุนสร้างจักรวาลไทบ้าน
วันที่ 23 ตุลาคม 2566
ดำเนินรายการโดย หทัยรัตน์ พหลทัพ
Live ทาง The Isaan Record
#สัปเหร่อ #ไทบานสตูดิโอ
.....
The People1d·
“ผมเป็นคนอีสาน ผมไม่เคยปฏิเสธและไม่เคยต่อต้านความเป็นอีสาน ผมเล่าตามความจริงให้เขาเห็นว่านี่คือ อีสานที่ผมเกิดและโตมาจริง ๆ ถึงจะไม่รู้ว่ามันจะไปได้ไกลแค่ไหน แต่ผมได้ทำมันไปแล้ว นี่แหละหนังอีสานที่ผมภูมิใจ”
.
‘ต้องเต - ธิติ ศรีนวล’ ผู้กำกับภาพยนตร์สัปเหร่อ บอกกับเราถึงความภาคภูมิ ที่เขาได้ถ่ายทอดความเป็นอีสานออกมาผ่านสายตาคนทั้งประเทศ แม้ว่าช่วงแรกจะกังวลใจไม่น้อย เพราะหนังเรื่องนี้ใส่ตัวตนความเป็น ‘ต้องเต’ ลงไปจนล้น เขาไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่า หนังเรื่องนี้จะประสบความสำเร็จอย่างที่ใจหวัง หรือจะล้มเหลวไม่เป็นท่า แต่ชายคนนี้ไม่เคยปฏิเสธที่จะแก้ไขบทให้ ‘ขายได้’ เขาแค่อยากทำทุกอย่างตามความสัตย์จริง
.
และสัปเหร่อก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า อีสานในมุมมองของเขานั้น มีเสน่ห์เพียงใด เพราะในวันนี้สัปเหร่อสามารถกวาดรายได้ไปไม่ต่ำกว่า 400 ล้านบาท ไม่ใช่แค่รายได้ที่สูงลิบ แต่หนังเรื่องนี้กำลังทำให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์สั่นไหว เพราะเรื่องเล่าของเขานั้นเรียบง่าย แต่กินใจเสียจนทุกคนลืมไม่ลง
.
The People พูดคุยกับต้องเต - ธิติ ผู้กำกับภาพยนตร์เลือดอีสานวัย 27 ปี ถึงสารที่เขาอยากส่งให้ทุกคนรับรู้ถึงความตาย การสูญเสีย และความยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ที่ไม่ว่าซ่อนตัวอยู่มุมใดของโลก ทุกคนก็มีเรื่องเล่าที่น่าจดจำไม่ต่างกัน
.
“ผมโตอีสาน ตรงที่ผมอยู่ค่อนข่างทุรกันดาร บ้านนอกเลยล่ะถ้าพูดให้ชัด ๆ โรงเรียนที่ผมเรียนตั้งแต่เด็กก็เป็นโรงเรียนเล็ก ๆ มีนักเรียนแค่สามร้อยคน มันเลยเป็นพื้นที่ให้เราได้ลองทำอะไรหลายอย่างเยอะมาก พอมีแข่งอะไรผมก็ลง ทำกิจกรรมเยอะมาก แต่ก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากเป็นอะไร”
.
ผู้กำกับหนุ่มย้อนความหลัง เขาเป็นลูกชายคนเดียวของบ้านศรีนวล มีพี่สาวคนโตและน้องสาวบุญธรรมอีก 2 คน แม่เป็นคุณครูสอนวิชาภาษาไทย ส่วนพ่อเขาไม่ได้พูดถึงมากนัก บอกแค่ว่าครั้งหนึ่งเขาเคยสอบเข้าโรงเรียนนายร้อย ตามความคาดหวังของผู้เป็นพ่อ และทำอะไรอีกหลายอย่างให้ที่บ้านสบายใจ
.
จนกระทั่ง ได้เข้าเรียนที่คณะคณะศิลปกรรมศาสตร์ ภาควิชาศิลปะการแสดง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม หลังจากให้เพื่อนกรอกใบสมัครให้ โดยที่เขาไม่รู้มาก่อนว่าเพื่อนคนนี้จะเป็นอีกหนึ่งคนสำคัญ ที่ปูทางให้เด็กหนุ่มอย่างเขา ก้าวเข้าสู่อุตสาหกรรมภาพยนตร์
.
“ตอนแรกผมก็งงว่าทำไมไม่เลือกนิเทศฯ ให้ เพราะคณะนี้มีภาพยนตร์ แต่เขาก็เลือกอันนี้ให้เราก็เรียน
.
“แต่พอเรียนไปมันก็ไม่ใช่ตัวเราเท่าไหร่ อยากซิ่วเลยนะ มันไม่ใช่ตัวกูอะ กูไม่ได้อยากเรียนแบบนี้ ก็เลยออกไปหาประสบการณ์ข้างนอก ลองไปออกกองกับไทบ้าน เดะซีรีส์ บอกพี่ ๆ เขาว่าผมขอเป็นตัวประกอบ เพราะอยากเรียนรู้งานในกองว่าเขาทำงานกันยังไง”
.
การออกกองกับไทบ้าน เดอะซีรีส์ทำให้โลกของเขาเปิดกว้าง โลกที่เขาอยากจะมีส่วนร่วม โลกที่เขาอยากจะพาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น และทำทุกอย่างเพื่อให้ตัวเองได้สัมผัสความยิ่งใหญ่ของมัน
.
เขาปลดล็อกสกิลการทำงาน ไล่ระดับความเข้มข้นของการเขียนบท จากคนไม่มีพื้นฐาน ไม่เข้าใจอะไรเลย จนขึ้นแท่นผู้กำกับร้อยล้านที่พาสัปเหร่อมาไกลกว่าที่เขาคาดไว้
.
ทุกอย่างที่ต้องเตใส่ลงไปในหนังเรื่องนี้ มาจากประสบการณ์ของเขาแทบทั้งสิ้น “อีสานในความทรงจำผมกับตอนนี้มันต่างกันมาก ทั้งความเชื่อและประเพณี ผมจำได้ว่าคนแก่ ๆ เขาพาผมไปทำอะไรหลายอย่างมาก ถึงตอนนั้นจะไม่รู้ว่าเขาทำไปทำไม เรามีหน้าที่แค่ทำตาม แต่พอโตขึ้น ประเพณีนั้นก็หายไป พิธีกรรมนั้นกลับหายไป ความเชื่อนั้นกลับหายไป เราเริ่มรู้เรื่องในสิ่งที่เราเคยตั้งคำถามกับมัน เราก็เลยอยากลองตั้งคำถามกับคนรุ่นใหม่ หรือกับคนรุ่นเก่าที่เขาเคยผ่านประสบการณ์เหล่านี้มา
.
“มันมีคำนึงของการสอนเขียนบท เขาบอกว่าถ้าเราจะเขียนบทแรก ๆ เราต้องเขียนในเรื่องใกล้ตัว เราถึงจะเขียนมันได้ดี เราจะเข้าใจมัน ผมก็มองว่าแล้วเรื่องไหนมันใกล้ตัวเราวะ ความรักเหรอ หรืออะไร สุดท้ายก็มาจบที่ชีวิต ความตาย การสูญเสีย มันใกล้ตัวเรามาก ๆ
.
“แต่พอเขียนจริง ๆ มันใกล้จนเราไม่เข้าใจมัน แล้วเราก็ไม่อยากจะเข้าใจด้วย เราพยายามจะเข้าใจมันก็ไม่เข้าใจ งั้นก็ไม่ต้องเข้าใจมันเลยแล้วกัน เราเขียนแบบที่เราไม่เข้าใจนี่แหละ แล้วคนจะเข้าใจในสิ่งที่เราเขียนเอง ความเข้าใจมันเลยแตกต่างกันออกไป
.
“เราจะเขียนยังไงให้คนเข้าใจความตาย ผมก็ไม่รู้ ผมแค่รู้ว่าผมเขียนไม่ได้ ผมแค่อยากให้ทุกคนเห็นความตายในหนังเรื่องนี้ ไม่ได้เขียนว่าความตายคืออะไร แต่ให้เห็นความตาย ให้เห็นการสูญเสีย”
.
นั้นคือมุมมองความตายที่ต้องเตพยายามสื่อออกมา แม้ว่าเขาจะไม่เข้าใจมันเลยก็ตาม “หนังเรื่องนี้มันเกิดจากประสบการณ์เราซะเยอะ โดยเฉพาะเรื่องยายตาย บางซีนเกิดจากยาย บางซีนก็เกิดจากลุง แล้วตอนเด็ก ๆ เราก็เคยรับจ้างบวชหน้าไฟ ผมไม่เคยยาวเลย ไม่ใช่ญาติก็ไปบวชให้นะ เพราะว่ามันได้ตังค์ เราก็เลยได้เห็นงานศพเยอะ เลยเป็นสิ่งที่เราสามารถเขียนถึงมันได้ในระดับหนึ่ง”
.
คุณเคยเข้าใกล้ความตายบ้างไหม - เราถาม “มี” เขาตอบ “ตอนเด็ก ๆ เราเกือบตายบ่อยมาก จมน้ำบ่อย เคยโดนรถตู้จับเด็กจับ เราโดนหลายอย่าง เขาห้ามเล่นน้ำตรงนี้ บอกเราว่าผีจะดึงขานะ เขาจะเอาชีวิตเราไป เราก็ไปเล่น แต่ก็มีคนช่วยให้เรารอดมาจนถึงวันนี้”
.
ต้องเตเล่าเรื่องความตายออกมาด้วยน้ำเสียงราบเรียบ ราวกับไม่เกรงกลัวต่อความตายแม้แต่น้อย ก่อนที่เขาจะเผยความสุขใจที่เห็นสัปเหร่อประสบความสำเร็จออกมาว่า ทุกอย่างเกินฝันไปหมด จากตอนแรกที่กังวลว่าจะต้องไล่ใช้หนี้คนที่เขาไปหยิบยืมเงินมาทำหนัง หนึ่งในนั้นคือ ก้อง ห้วยไร่ พี่ชายที่เขารักเสียยิ่งกว่าใคร และเขาอยากจะรับผิดชอบทุกอย่างด้วยตัวเอง เพราะสัปเหร่อคือหนังที่สะท้อนตัวตนต้องเตออกมาทุกมิติ
.
“ผมไม่เคยบอกว่าหนังเรื่องนี้มันดี ผมแค่อยากให้คนชอบก็พอแล้ว เพราะหนังเรื่องนี้มันเป็นผมมาก มันเป็นผมเยอะไป เราตัดหนังอยู่ เราก็พิมพ์ในโน๊ตว่า ถ้าหนังเรื่องนี้เจ๊ง กูจะยืมตังค์ใครได้บ้างวะ มาคืนเขา เพราะว่าอยากรับผิดชอบ ไม่ได้คิดว่ามันจะมาขนาดนี้เลย”
.
ก่อนจะทิ้งท้ายว่าสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนให้ต้องเตเป็นอย่างในทุกวันนี้ คือการทำในสิ่งที่เขารัก และส่งต่อสิ่งเหล่านั้นไปยังทุกคน ซึ่งดูได้ไม่ยากจากกองถ่ายของต้องเต เขาจะไม่ฝืนทำในสิ่งที่ทุกคนไม่ชอบ หากทีมงานคนไหนเหนื่อยหรืออยากพัก เขาก็พร้อมเลิกกองให้ทุกคนไปใช้ชีวิตได้เต็มที่
.
“ผมเป็นผู้กำกับที่แปลกมาก จะไม่มองตัวงาน จะมองความเป็นมนุษย์ของคนในกอง ใครเหนื่อยบ้าง ใครท้อ ใครไม่มีความสุข อันนี้ไม่ได้เลย ตอนทำงานต้องมีความสุขด้วยกัน ห้ามด่ากัน ทำงานสนุก ๆ กันดีกว่า บางวันพักกองนั่งชิล ๆ กัน 3 ชั่วโมงก็มี”
.
และอีกหนึ่งอย่างที่เขายกให้เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตคือ ความเป็นมนุษย์
.
“ผมภูมิใจในความเป็นมนุษย์ของผม ผมไม่รู้หรอกว่าตัวเองจะถูกส่งมาเกิดเป็นคนที่ไหน ผมจะได้เรียนรู้อะไรได้บ้าง แต่ ณ ตอนนี้ ผมอยู่อีสาน แล้วเราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งที่อยากเล่าเรื่องมนุษย์ เราภูมิใจที่เราเป็นมนุษย์ เป็นสิ่งมีชีวิตชนิดนึงที่อยู่บนโลก แค่อยากทำในสิ่งที่เราอยากทำ แล้วมีความสุข แค่นั้นเลย”
.
เรื่อง: วันวิสาข์ โปทอง
ภาพ: tongte_thiti /Instagram