วันเสาร์, ตุลาคม 07, 2566

ความทรงจำช่างภาพ 6 ต.ค. "ผมถ่ายรูปไปผมก็ร้องไห้ไป” แม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้น จะทำให้มีผู้เสียชีวิต 45 คน แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการนำผู้กระทำผิดมารับโทษ ภาพถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่ของปรีชา สมบูรณ์ และช่างภาพข่าวคนอื่น ๆ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดี








ความทรงจำช่างภาพ 6 ต.ค. "ผมถ่ายรูปไปผมก็ร้องไห้ไป”

1 ตุลาคม 2022
ทศพล ชัยสัมฤทธิ์ผล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย


ปรีชา การสมพจน์ อดีตช่างภาพข่าวหนังสือพิมพ์เดลินิวส์



ภาพอาคารเรียนสมัยใหม่ สนามฟุตบอลที่นักศึกษาวิ่งออกกำลังกาย หรือหอประชุมใหญ่สำหรับทำกิจกรรม คงดูเหมือนภาพปกติธรรมดา แต่ในสายตาของอดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ วัย 75 ปีแล้ว ภาพการใช้ชีวิตที่ดูเรียบง่ายของเหล่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ กลับซ้อนทับด้วยภาพขาวดำที่เขาเคยบันทึก เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ปี 2519 ในเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชน ที่เมื่อล้างแผ่นฟิล์มออกมาแล้ว เต็มไปด้วย “ปีศาจ” ในคราบ “คนไทยที่ฆ่ากันเอง”

ไม่ว่าจะเป็น นักศึกษานอนเต็มลานหน้าตึกคณะบัญชีฯ ผู้คนที่ถูกทำร้ายหน้าหอประชุมใหญ่ และกลางสนามหลวงที่เรียงไปด้วยคนตาย

“ฆ่าต่อหน้าเรา การเห็นคนฆ่ากันตายต่อหน้าเรา 5-6 คน มันเศร้าใจมาก ผมถ่ายรูปไปผมก็ร้องไห้ไป” ปรีชา การสมพจน์ บอกกับบีบีซีไทย ในการให้สัมภาษณ์ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ซึ่งเขาไม่ได้เข้ามานานหลายสิบปีแล้ว แต่ยังชี้จุด และบรรยายภาพเหตุการณ์ในวันที่ 6 ต.ค. ของเมื่อ 46 ปีก่อนได้อย่างแม่นยำ

ปรีชา มองไปที่หอประชุมใหญ่ แต่สิ่งที่เขาเห็นคือ ภาพตำรวจบุกพังประตูหอประชุมเข้าไปดึงตัวนักศึกษาที่อยู่ด้านในออกมาให้ผู้คนรุมทุบตี แล้วลากหายออกไปยังท้องสนามหลวง

เมื่อเขาตามออกไปดูก็เห็นภาพศพนักศึกษา กองรวมกัน ห้อมล้อมด้วยฝูงชนที่ปลุกเร้าด้วยคำว่า “ไอ้พวกคอมมิวนิสต์ ไม่รักสถาบัน”

ณ ห้วงเวลานั้น กล้องนิคอนรุ่นเอฟเอ็มในมือของปรีชา อยู่ในระนาบเดียวกับร่างไร้วิญญาณบนท้องสนามหลวง ชายคนหนึ่งใช้ไม้แหลมปักตรงไปที่อกของศพหนึ่ง แล้วใช้วัตถุทรงกระบอกทุบลงไป ในจังหวะเดียวกับที่ปรีชากดชัตเตอร์ถ่ายภาพไว้ได้

กลายเป็นภาพ “ตอกอก” ที่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์บรรยายภาพว่า เป็นการทารุณศพ "เหมือนในภาพยนตร์แดร็กคูลา (Dracula)"


"ตอกอก"

ภาพนี้ ที่ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์จากสมาคมนักข่าวแห่งประเทศไทยในปี 2519 และในปี 2542 ก็เป็นภาพที่สำนักข่าวเอพีคัดสรรให้เป็นหนึ่งในภาพข่าวยอดเยี่ยมที่สุดแห่งศตวรรษ

และมาสู่ปี 2565 หรือ 46 ปีหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา ภาพฟิล์มอายุเกือบ 5 ทศวรรษนี้ ได้ถูกขยายใหญ่ นำขึ้นจัดแสดงร่วมกับภาพถ่ายที่เพิ่งค้นพบใหม่ และไม่เคยเผยแพร่ที่ไหนมาก่อนในนิทรรศการแสดงชื่อ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” ที่จัดตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. ถึง 13 พ.ย. 2565 ณ คินใจ คอนเทมโพรารี โดยเปิดให้เข้าชมได้ระหว่างเวลา 11.00-21.00 น. และหยุดทุกวันจันทร์

สนามหลวง...ทุ่งสังหาร ในมุมช่างภาพเดลินิวส์

ฉากการสังหารหมู่ในปี 2519 ที่ปรีชาได้เป็นประจักษ์พยาน เริ่มจากการชุมนุมประท้วงการกลับเข้าประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรีที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศเมื่อปี 2516

แต่การปลุกเร้าด้วยวาทกรรมที่ ศ.ดร. เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ เคยระบุว่าเป็นการมองผู้ชุมนุมเป็น “ศัตรูต่างชาติ” “ญวณ/เจ๊ก” และ “ฆ่าคอมมิวนิสต์ไม่บาป” ได้นำไปสู่เหตุนองเลือดที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ไทย กับผู้เสียชีวิต 45 คน

เหตุการณ์ที่ปรีชา ช่างภาพหนุ่มวัย 29 ปีในเวลานั้น ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็น หลังได้ยินวิทยุตำรวจแจ้งในเย็นวันที่ 5 ต.ค. ว่า มีการชุมนุมของกลุ่มกระทิงแดงที่สนามหลวงเพื่อบุกเข้าไปในธรรมศาสตร์ จึงเดินทางเข้าไปสังเกตการณ์ พร้อมกล้องนิคอนเอฟเอ็ม แฟลช และฟิล์มเต็มกระเป๋า ซึ่งพกติดรถไว้ตลอดอยู่แล้ว


หน้าประตูทางเข้าธรรมศาสตร์ ฝั่งหอประชุมใหญ่

ปรีชา ย้อนความทรงจำว่า เหตุการณ์เริ่มรุนแรงหนักตอนช่วงใกล้สว่างของวันที่ 6 ต.ค. โดยเห็นตำรวจบุกเข้ามาด้านตึกพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ท่ามกลางเสียงปืนยิงปะทะกันตลอดเวลา ส่วนฝูงชนได้ยึดรถเมล์ ขับพุ่งชนประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยด้านหอประชุม ก่อนทะลักบุกเข้ามา และตรงไปที่หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์

“ผมเห็นนักศึกษาตาย 2 คน หน้าหอประชุม” เขาเริ่มเสียงขาดช่วง

“แล้วบุกเข้าไปในหอประชุม ดึงตัวนักศึกษาบางคนออกมา...กลุ่มคนตีแย่งตัวกัน ตีด้วยขวด ด้วยเก้าอี้ ล้มลงไปก็จับขาลากแล้วเอาเก้าอี้ไล่ตีไป แล้วหายไปในสนามหลวง เป็นอย่างน้อย 3-4 คน” ปรีชา เล่าเป็นฉาก ๆ พลางหยิบภาพที่บันทึกไว้ได้ในเวลานั้น เพื่ออธิบายประกอบ


“คนนี้ ผมจำได้ติดตาเลย เขาพยายามวิ่งหนีตำรวจ แต่ไปไม่พ้น เพราะข้างนอกเป็นคนของอีกฝ่าย”


“คนนี้ก็ไม่เหลือ แป๊ปเดียวก็ถูกตี ผมดูจนเขาถูกลากเข้าสนามหลวงไป”


“ดูเขาตีสิ...เหมือนไม่ใช่คนไทยด้วยกัน เหมือนไม่ใช่มนุษย์”

ปรีชา เล่าต่อว่า หลังถ่ายภาพชุดนี้ เขาเดินตามกลุ่มคนที่ลากนักศึกษาไปอย่างทารุณ ไปถึงท้องสนามหลวง จึงพบว่า เหยื่อทั้งผู้บาดเจ็บและศพไร้วิญญาณ ถูกนำไปกองเรียงกัน 6-7 คน และเป็นจุดที่เขาถ่ายภาพ “ตอกอก” ที่ได้รับรางวัลทั้งในไทยและต่างประเทศ ไว้ได้

สหบาทา และ ก้อนไม้ก้อนหิน...ในมุมช่างภาพสยามรัฐ

“รถเมล์เนี่ย ไม่มีคนขับ เขาเอาก้อนหินทับคันเร่ง ตั้งลำให้ตรงประตูธรรมศาสตร์ และก็ชนประตูเข้าไป” สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพมือฉมังของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เล่าถึงเหตุการณ์บุกธรรมศาสตร์ จากอีกมุมหนึ่งที่แตกต่างจากปรีชา

ในวันที่ 5-6 ต.ค. 2519 สมบูรณ์ ใช้วิธีประกบอยู่ใกล้ตำรวจเพื่อความปลอดภัยระหว่างบันทึกภาพ ทำให้เห็นฉากที่ตำรวจยิงปืนเข้าไปในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่กลับไม่เห็นนักศึกษาเป็นฝ่ายยิงใส่ตำรวจ จนเมื่อฝูงชนพังประตูบุกเข้าไปในมหาวิทยาลัย ก็ถึงจุดที่ “ตำรวจห้ามไม่อยู่”


ตำรวจอาวุธครบมือ

“พวกข้างนอกก็คนละไม้คนละมือ สหบาทา ก้อนไม้ก้อนหิน...คอยรุมตีน ใครหลุดออกมา (นอกรั้ว) ก็โดนหมด คนไม่หลุดก็นอนอยู่สนามฟุตบอล”

แต่ภาพที่จำไม่รู้ลืมที่สุด คือ การนำศพไปแขวนคอบนต้นไม้ แล้วใช้เชือกลากไปนอนเรียงบนสนามหญ้า ก่อนรุมทุบตี ตอกลิ่มไม้ใส่ศพ

“มีแต่คนทั้งนั้น ถอดเสื้อถอดอะไร ผู้หญิงก็ต้องถอดหมดนะเหลือแต่ยกทรง และก็คว่ำอยู่อย่างงี้” สมบูรณ์ เล่าประกอบภาพที่เขาเปิดให้บีบีซีไทยดู

แม้จะเห็นคนตายหลายคน ภาพความรุนแรงที่น่าตื่นตระหนก แต่เขายังมองว่า การเป็นสักขีพยานต่อเหตุการณ์ตรงหน้า คือ “หน้าที่สื่อ” และแม้จะเป็นเหตุสังหารหมู่ ช่างภาพอย่างเขาก็ต้อง “แข่ง” กับช่างภาพคนอื่นด้วย


สมบูรณ์ เกตุผึ้ง อดีตช่างภาพหนังสือพิมพ์สยามรัฐ

“ต้องมีอะไรที่มีทีเด็ดมาด้วย ไม่ใช่ถ่ายติด ๆ ก็พอแล้ว” และ “เราต้องรีบเร่ง มีคนมารับฟิล์มไป คนอื่นมีหน้าที่ล้าง มีหน้าที่พิมพ์ ผมมีหน้าที่อยู่ในสนาม ต้องทำงานกันเป็นทีม”

“ปีศาจ”

แม้ปรีชาและสมบูรณ์จะถ่ายภาพได้เป็นม้วนฟิล์มหลายม้วน แต่ก็ได้ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์ของวันที่ 6 ต.ค. เพียงไม่นาน เพราะในเย็นวันนั้นเวลา 18.00 น. เกิดการรัฐประหารโดย “คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน” นำโดยพลเรือเอก สงัด ชะลออยู่ อ้างการรักษาความสงบอันสืบเนื่องจากการสังหารหมู่ที่ ม.ธรรมศาสตร์ พร้อมประกาศปิดสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่างวันที่ 7-8 ต.ค.

“ถ้าเราไปดูในแฟ้มหนังสือพิมพ์ จะเห็นมีฉบับวันที่ 6 ต.ค. ส่วน 7 ต.ค. มีฉบับเช้านิดหนึ่ง แล้วก็เว้นไป 9 ต.ค....หลังจากนั้นก็มีคำสั่งให้ระมัดระวังการเผยแพร่ภาพที่เกี่ยวกับเหตุการณ์นั้น” สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ผู้ประสานงานนิทรรศการ “6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ” อธิบายกับบีบีซีไทย


สุภาภรณ์ อัษฎมงคล ผู้ประสานงานนิทรรศการ "6 ตุลา เผชิญหน้าปีศาจ"

จึงเป็นเหตุผลที่ ภาพถ่ายเหตุการณ์ 6 ตุลา จำนวนมากไม่เคยได้รับการเผยแพร่ต่อสาธารณชน ทางพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา จึงเกิดแนวคิดนำภาพประวัติศาสตร์ในม้วนฟิล์มอายุเกือบ 5 ทศวรรษ จำนวน 14 ม้วนที่ช่างภาพข่าวในเหตุการณ์ ยังเก็บรักษาไว้ มาขยายและใช้เทคโนโลยีเพิ่มความคมชัด จัดเป็นนิทรรศการตลอดเดือน ต.ค. 2565

สุภาภรณ์ ระบุว่า เมื่อได้เห็นรายละเอียดที่คมชัดของภาพที่แม้จะถ่ายมายาวนาน กลับทำให้เธอเห็นสีหน้า แววตา อารมณ์ ของ “ผู้ล่า” และ “เหยื่อ” ที่เมื่อประกอบรวมเป็นเหตุการณ์แล้ว ได้ปรากฏออกมาเป็นสิ่งที่เธอเรียกว่า “ปีศาจ”

“ปีศาจในคราบของคนที่ไม่ได้สวมเครื่องแบบ แม้แต่เด็ก ปีศาจจากรอยยิ้มเมื่อเห็นการฆ่า”

“เราจึงอยากให้นิทรรศการนี้ทำให้คนหันกลับมาศึกษา เรื่องความรุนแรงในเหตุการณ์ทางการเมือง ไม่ให้มันเกิดซ้ำรอย และไม่ให้เรื่องของการกระทำที่เรียกว่าอาชญากรรมของรัฐ หรืออาชญากรยังลอยนวลพ้นผิด เกิดขึ้นซ้ำอีก”

แบบฝึกหัด 46 ปี ที่ไทยยังก้าวไม่พ้น

แม้ว่าเหตุการณ์ในวันนั้น จะทำให้มีผู้เสียชีวิต 45 คน แต่จนถึงวันนี้ ยังไม่มีการนำผู้กระทำผิดมารับโทษ ภาพถ่ายที่ไม่เคยเผยแพร่ของปรีชา สมบูรณ์ และช่างภาพข่าวคนอื่น ๆ ถือเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ชั้นดี


แต่สำหรับสมบูรณ์นั้น หน้าที่ของเขาใน “พิธี 6 ตุลา” เสร็จสิ้นไปแล้ว หลังนิสิตนักศึกษาถูกจับ แต่หน้าที่ของภาพถ่ายกว่า 10 ม้วนที่เขายังเก็บรักษาไว้ และได้มอบให้โครงการพิพิธภัณฑ์ 6 ตุลา คือการชำระประวัติศาสตร์ในสังคมยุคใหม่ หลังผ่านเหตุการณ์มา 46 ปี


"ผมพูดไม่เก่ง ผมเก่งใช้นิ้ว"

กลับมาที่อดีตช่างภาพเดลินิวส์ บีบีซีไทยพาเขาเดินชมประติมานุสรณ์ 6 ตุลา ข้างหอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ ที่เขาได้เป็นสักขีพยานการ “ฆ่ากัน” หลายศพ โดยแสดงความเห็นว่า ประติมากรรมเหล่านี้ ที่เขาได้เห็นเป็นครั้งแรก โดยเฉพาะพฤติการณ์การทำร้ายนักศึกษา เหมือนกับภาพที่เขาบันทึกไว้ได้อย่างน่าเศร้า

“มันติดตาติดใจผมอยู่หลายปีมาก...ตายแบบทารุณมากเลย ทุบตีแบบไม่รู้ว่าใครเป็นใคร เขาไม่มีโอกาสได้พูด ได้อธิบายเลย”

สิ่งที่ปรีชาหวาดกลัวที่สุด คือ ประวัติศาสตร์ที่อาจซ้ำรอย แม้วาทกรรมการปลุกเร้าความเกลียดชังอย่างการ “ปลุกผีคอมมิวนิสต์” จะใช้ไม่ได้ผลอีกแล้วก็ตาม แต่การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่เพื่อประชาธิปไตย และล้มล้างสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “ระบอบเผด็จการ” ให้หมดไป ยังคงเกิดขึ้น


"ตายแบบทารุณมากเลย"

เมื่อถามว่า บันทึกภาพของวันที่ 6 ต.ค. ปี 2519 สำหรับเขามีความหมายอะไร ปรีชา ตอบว่า “มันเป็นหลักฐานประวัติศาสตร์ครั้งหนึ่งว่า มนุษย์ด้วยกันฆ่ากันตาย”

แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เป็น “ภาพเตือนความจำว่า ครั้งหนึ่งเราต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แล้วต้องเสียเลือดเสียเนื้อ ทำกันขนาดนี้เลยหรือ” และสังคมไทย “มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลยหรือ เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกตลอดเวลา”