วันพุธ, กันยายน 21, 2565

Scoop ต่างประเทศ ไล่ให้เห็นวิวัฒนาการจากการกระจายอำนาจ เพื่อนำพาประเทศสู่ประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย


20/09/2022 
BY ธัญลักษณ์ สากูต
The Voters Thai

ประเทศอินโดนีเซีย เป็นประเทศที่มีสภาพภูมิศาสตร์เป็นหมู่เกาะ แต่ละเกาะต่างมีชุมชนและการปกครองของตนเองมาก่อน ในแต่ละพื้นที่มีเจ้าหน้าที่ประจำตำบล ในแต่ละตำบลแบ่งออกเป็นหมู่บ้าน มีผู้ใหญ่บ้านที่มาจากการเลือกตั้งที่ประชาชนเลือก

แต่การขยายอาณานิคมดัตช์เข้าไปในดินแดนประเทศอินโดนีเซียนับเป็นจุดเปลี่ยน ทำให้ชาวอินโดนีเซียต้องกลายเป็นแรงงานเพื่อทำอุตสาหกรรมการเกษตร ทำให้เกิดการการรวบรวมที่ดิน ต่อมามีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้และมีแนวความคิดว่าประเทศอินโดนีเซียมีศักยภาพที่จะเติบโตและมีเอกราชจากดัตช์ได้

จนกระทั่งในวันที่ 27 ธันวาคม 1949 ประเทศอินโดนีเซียได้รับเอกราชจากดัตช์ ประธานาธิบดีคนแรก คือ ซูการ์โน เป็นผู้นำความคิดเชื่อมโยงคนในประเทศท่ามกลางความหลากหลายของชุมชน และกลุ่มผู้นำของชุมชนต่างๆ บนเกาะเล็กใหญ่ที่มีมากกว่า 17,000 เกาะ มีภาษาท้องถิ่นที่แตกต่างกันด้วยภาษาหลัก คือ ภาษาบาฮาซา อินโดนีเซีย

แต่ประธานาธิบดีซูการ์โน คือ ผู้ทำหน้าที่เป็นทั้งประมุขแห่งรัฐ ผู้นำรัฐบาล และผู้มีอำนาจสั่งการผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองกำลังติดอาวุธแห่งชาติในเวลาเดียวกัน ด้วยการปกครองที่ยาวกว่า 20 ปี ของเขานั้น กลับทำให้การกระจายอำนาจการปกครองท้องถิ่นหยุดชะงักไป ความที่เป็นคนมีแนวความคิดเชื่อมโยงความหลากหลายเข้าด้วยกัน การปกครองนั้นจึงเป็นการปกครองรูปแบบเผด็จการ

มากไปกว่านั้น การเมืองภายในยังร้อนระอุมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเกิดการชิงอำนาจทางการเมืองโดย ซูฮาร์โต ได้เป็นประธานาธิบดีคนที่ 2 ประเทศอินโดนีเซียต้องอยู่ภายใต้การปกครองของจอมเผด็จการยาวนานกว่า 32 ปี

แม้ว่าซูฮาร์โตเป็นผู้ที่ประกาศนโยบายระเบียบใหม่ เพื่อสร้างความเป็นระเบียบในบ้านเมือง และสหรัฐอเมริกาได้พยายามสร้างความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายด้านกับประเทศอินโดนีเซีย รวมไปถึงการกระตุ้นสิทธิมนุษยชนจากความขัดแย้งของติมอร์ตะวันออก

แต่การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นกลับถูกลดค่าลงไป ยังถูกเมินเฉย เพราะมุ่งเน้นในการจัดการความขัดแย้งกลุ่มที่ต่อต้านรัฐบาล ซึ่งเรียกร้องให้ซูฮาร์โตลาออกจากตำแหน่งและขอแบ่งแยกดินแดน ความขัดแย้งในพื้นที่ต่างๆ ยังคงคุกรุ่นต่อไป จนวาระสุดท้ายของซูฮาร์โตในเดือนพฤษภาคม ปี 1998


วังวนการปกครองที่กระจุกอำนาจศูนย์กลางเพียงหนึ่งเดียวของประธานาธิบดีทั้ง 2 นั้นกินเวลามากถึง 50 ปี

เมื่อช่วงเวลาได้เปลี่ยนไป การเปลี่ยนแปลงใหม่จึงเริ่มขึ้น ม่านหมอกอำนาจจากส่วนกลางหลังยุคการปกครองของซูฮาร์โตจางไป จึงเกิดการกระจายอำนาจครั้งใหญ่ ผู้นำและนักวิชาการได้หยิบยกเรื่องการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น จนกระทั่งเรื่องการกระจายอำนาจได้รับความสนใจอีกครั้ง

ในสมัยประธานาธิบดีฮาบีบี่ได้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกครองตนเองในพื้นที่อื่นๆ นับเป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นกระจายอำนาจ และแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง การแบ่งแยกดินแดน

การเคลื่อนไหวด้านการการกระจายอำนาจยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง การปรับเปลี่ยนในด้านการบริหารเริ่มชัดเจนมากขึ้น ในสมัยประธานาธิบดีนางเมกาวตีได้มีการออกกฎหมายใหม่ทดแทนกฎหมายเดิม ที่มีการแบ่งสรรปันส่วนการบริหารงาน กำหนดองค์ประกอบ ลดส่วนจำนวนองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มีอยู่ โอนอำนาจไปสู่อำเภอและเทศบาลมากขึ้น

ปี 2004 ภายหลังการปฏิรูปการเมืองและการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พลเอกซูซีโล บัมบัง ยูโดโยโน คือ คนแรกที่ได้รับการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนและเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 6 เขาได้รับชัยชนะเหนือนางเมกาวาตี ซูการ์โนบุตรีในการเลือกตั้งครั้งที่ 2 เขานำการจัดการแก้ไขปัญหาต่างๆ เช่น การเจรจากับอาเจะฮ์ สร้างสันติภาพ ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างชุมชนต่างๆ ทำให้เขาได้ใจประชาชนและครองตำแหน่งนานถึง 2 สมัย


ต่อมาปี 2014 ชาวอินโดนีเซียได้เลือก นายโจโก วิโดโด หรือ โจโกวี ผู้ซึ่งเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียคนที่ 7 จากการได้เป็นผู้ว่าการกรุงจาการ์ตา ที่เขาเเสดงออกอย่างจริงใจ เรียบง่าย ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากกลุ่มชุมชนต่างๆ การกระจายอำนาจได้รับการส่งต่ออย่างต่อเนื่อง และลดอำนาจของส่วนกลางลง นำไปสู่การเส้นทางที่ชาวอินโดนีเซียมีสิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้ง ณ 17 เม.ย. 2019 ที่เป็นการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภา ประธานาธิบดี และการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น จัดขึ้นในวันเดียวกันเป็นครั้งแรก

อีกครั้งที่โจโกวี ยังได้รับการเลือกตั้งเสียงข้างมากจากประชาชนให้เป็นประธานาธิบดีอีกสมัยมาถึงปัจุจบัน

นี่คือผลการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง การกระจายอำนาจส่งผลไปในเชิงบวก ผลักดันระบบการทำงานในการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นมากขึ้น และการเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ต่างๆ

โจโกวี เคยกล่าวไว้ว่า


“เมืองจาการ์ตานั้นไม่ได้เป็นศูนย์กลางอีกต่อไป มาทำให้อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางด้วยกันเถอะ เราไม่ต้องการให้รัฐบาลกลางคอยจัดการและแก้ไขทุกอย่าง และทุกเรื่องไม่ควรถูกส่งมาที่ส่วนกลาง”

การกระจายอำนาจด้วยการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นนั้นเป็นไปในทางที่ดีกว่าระบบแบบเดิม เห็นได้ชัดว่าการแบ่งปันการมีส่วนร่วมอย่างตรงไปตรงมาที่ชัดเจนและโปร่งใส ตรวจสอบได้ ช่วยป้องกันความขัดแย้งทางสังคม

สร้างความปรองดองและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่ประเทศอินโดนีเซีย

นับว่าเป็นผลและภาพสะท้อนชัดเจน เมื่อมีการกระจายอำนาจไปสู่ท้องถิ่น ก็นำพาความเป็นหนึ่งเดียวกัน เพื่อพัฒนาความเป็นประชาธิปไตยในส่วนพื้นที่ต่างๆ ของอินโดนีเซียได้อย่างยั่งยืน

อ้างอิง

ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์. รายการวิถีอาเซียน. (2562) ตอนที่ 8 ระบบการเมืองการปกครองของอินโดนีเซีย https://youtu.be/VT6sht94Z5c

อินโดนีเซีย: 20 ปีหลังหมดจอมเผด็จการ ซูฮาร์โต
https://www.bbc.com/thai/international-44204864

US Promoted Close Ties to Indonesian Military as Suharto’s Rule Came to an End in Spring 1998
https://nsarchive.gwu.edu/briefing-book/indonesia/2018-07-24/us-promoted-close-ties-indonesian-military-suhartos-rule-came-end-spring-1998
Jokowi Calls for Decentralization of Government, JAKARTA GLOBE. (2016)
https://jakartaglobe.id/news/jokowi-calls-decentralization-government/

ข้อคิดการกระจายอำนาจการปกครองในสาธารณรัฐอินโดนีเซียที่มีต่อประเทศไทย*
https://so03.tci-thaijo.org/index.php/JMND/article/download/247517/166877/866216

“โจโค วิโดโด” นักสร้างฝันที่เป็นจริงสู่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

“โจโค วิโดโด”นักสร้างฝันที่เป็นจริงสู่ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย

เลือกตั้งอินโดนีเซีย 2019 : 5 เรื่องน่ารู้ของการเลือกตั้งวันเดียว “ที่ซับซ้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก”
https://www.bbc.com/thai/international-47895213