iLaw
September 2
ประยุทธ์ 8 ปี ต้องชี้ขาดให้ไว! ส.ส.โหวตนายกฯใหม่ แล้วไปเลือกตั้ง
.
ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และอดีตหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หยุดปฏิบัติหน้าที่ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ระหว่างการรับเรื่องไว้วินิจฉัยปมปัญหาวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จะถือว่าครบแปดปีแล้วหรือไม่ ทำให้ผู้นำการรัฐประหารต้องหลุดพ้นจากอำนาจเป็นครั้งแรก
.
แม้ว่าคำสั่งครั้งนี้จะเป็นเรื่อง “เหนือความคาดหมาย” แต่เมื่อวิเคราะห์ถึงผลของคำสั่งดังกล่าวจะพบว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด ก็ยังเป็น รัฐบาลคสช.
.
กล่าวคือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แม้จะก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมของขั้วอำนาจทางการเมืองอยู่ไม่น้อย แต่ทว่า อำนาจก็ยังคงอยู่ในมือของคสช. ที่นำโดยกลุ่ม “สาม ป.” ที่ประกอบไปด้วย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งยังคงดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและอดีตรองหัวหน้าคสช.ที่จะขึ้นมารักษาการแทน และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และอดีตสมาชิกคสช.
.
คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญจึงเป็นเพียงกลไก “ยื้ออำนาจคสช.” ผ่านการลดบทบาทของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อลดกระแสความไม่พอใจต่อรัฐบาล แต่ท้ายที่สุดอำนาจยังอยู่ที่กลุ่มการเมืองเดิม
.
การที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ และให้ พล.อ.ประวิตร ทำหน้าที่รักษาการณ์นายกฯ จึงยังไม่ใช่การเดินหน้าไปในทิศทางประชาธิปไตย เพราะที่ผ่านมา หนึ่งในข้อเรียกร้องของกลุ่มผู้ชุมนุม ตั้งแต่ ปี 2563 คือ ให้ พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ ลาออกหรือพ้นจากอำนาจ จนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน เพราะในเวลาข้างหน้าศาลรัฐธรรมนูญยังอาจสั่งให้พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อได้ รวมถึงยังเหลือเวลาในตำแหน่งได้อีกนานก็เป็นไปได้ ดังนั้น ข้อเรียกร้องนี้จึงยังไม่บรรลุผล
.
สถานการณ์ทางการเมืองหลังคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญเต็มไปด้วยความ "อึมครึม" เมื่ออยู่ๆ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ์ ที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้งก็เดินกระปลกกระเปลี้ย มานั่งหัวโต๊ะนำการประชุมคณะรัฐมนตรี และกลายเป็นผู้นำประเทศ พร้อมกับคำถามที่ตามมามากมายว่า ตำแหน่งรักษาการนายกฯ มีอำนาจทำอะไรได้บ้าง?? แต่งตั้งโยกย้ายผู้คนได้หรือไม่? อนุมัติงบประมาณได้หรือไม่? และคำถามสำคัญ คือ สั่งยุบสภา ให้มีการเลือกตั้งใหม่ได้หรือไม่? ซึ่งเป็นข้อสงสัยที่ไม่มีกฎหมายเขียคำตอบไว้อย่างชัดเจน กลายเป็นกลุ่มอำนาจเดิมก็กำลังใช้อำนาจต่อแบบที่เริ่มอธิบายความชอบธรรมไม่ได้อีกครั้ง
.
ดังนั้น เพื่อมุ่งหน้าไปสู่ทิศทางที่จะพาบ้านเมืองกลับสู่สถานการณ์ "ปกติ" ไอลอว์จึงมีข้อเสนอเร่งด่วนต่อสถานการณ์ ดังนี้
.
++หนึ่ง ศาลรัฐธรรมนูญต้องออกคำวินิจฉัยมาให้เร็วที่สุด++
.
เมื่อพิจารณาจากคำร้องของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน จะพบว่า คดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอ ดังนี้
.
* ข้อเท็จจริง: พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ มาตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 และดำรงตำแหน่งต่อเนื่องมาจนถึงหลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และหลังการเลือกตั้ง ปี 2562 ที่รัฐสภาได้ลงมติเห็นชอบให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ต่อ
* ข้อกฎหมาย: รัฐธรรมนูญ ปี 2560 กำหนดให้ดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้ไม่เกินแปดปี ไม่ว่าจะดำรงตำแหน่งต่อเนื่องกันหรือไม่ก็ตาม และกำหนดให้คณะรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญ ปี 2560 ประกาศใช้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ ปี 2560
* พยานหลักฐานเพิ่มเติม: ผู้ร่างรัฐธรรมนูญเคยบันทึกความเห็นไว้ว่า ให้นำบทบัญญัติวาระดำรงตำแหน่งนายกฯ ไม่เกินแปดปี มาบังคับใช้กับนายกฯ ที่ดำรงตำแหน่งก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 และศาลรัฐธรรมนูญ เคยมีคำวินิจฉัยให้รัฐธรรมนูญ ปี 2560 มีผลบังคับใช้กับรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญประกาศใช้
.
คดีนี้ไม่มีข้อเท็จจริงที่จะต้องแสวงหาเพิ่มเติม และข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องก็มีอยู่สั้นๆ เพียงบรรทัดเดียวเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องใช้เวลาในการพิจารณาคดีอย่างยาวนาน แม้ว่าจะต้องให้สิทธิกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการชี้แจงหรือแถลงข้อเท็จจริงหรือส่งพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องมาให้ศาลด้วย แต่จากข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และพยานหลักฐานที่ปรากฎในคำร้องที่ยื่นต่อศาลมีความชัดเจนเพียงพอที่ศาลจะวินิจฉัยได้
.
++สอง รัฐสภาต้องยกเลิกมาตรา 272 เพื่อตัดอำนาจ ส.ว. แทรกแซงกระบวนการเลือกนายกฯ++
.
ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ร่างขึ้นโดยองคาพยพของคสช. กำหนดให้ มีส.ว.ชุดพิเศษ มาจากการสรรหาและคัดเลือกจากคสช. และภายใต้รัฐธรรมนูญ มาตรา 272 กำหนดให้การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ต้องกระทำใน "การประชุมร่วมกันของรัฐสภา" หรือต้องอาศัยความเห็นชอบจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ร่วมกัน จึงเท่ากับการให้อำนาจ ส.ว. ซึ่งเป็น 'กลุ่มอิทธิพล' ของพล.อ.ประยุทธ์เอง เข้าไปแทรกแซงเสียงที่มาจากการเลือกตั้ง และทำให้การเลือกนายกฯ ในปี 2562 ผิดเพี้ยน เนื่องจากพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่ได้ที่นั่งมากที่สุดในสภากลับไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ในขณะที่พรรคที่สนับสนุนคสช. อย่างพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งมีจำนวน ส.ส. เป็นลำดับที่สอง กลับกลายเป็นพรรคจัดตั้งรัฐบาล
.
'อำนาจพิเศษ' ในมือของ 'ส.ว.ชุดพิเศษ' เป็นจุดบอดที่ไร้ความชอบธรรมมากที่สุดที่คอยค้ำยันอำนาจให้ระบอบคสช. ยังคงอยู่ได้ และจะยิ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่มากขึ้นไปอีกมาก หากในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ส.ว. ชุดนี้จะยังคงมีอำนาจออกเสียงเลือกใครคนใดคนหนึ่งให้มาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย
.
รัฐสภาซึ่งประกอบไปด้วย ส.ส. และ ส.ว.แต่งตั้ง ควรดำเนินการลงมติด้วยเสียงข้างมากยกเลิกมาตรา 272 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งปัจจุบันมีร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้โดยเฉพาะที่บรรจุอยู่ในวาระรอการพิจารณาอยู่แล้ว เป็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับ ที่มาจากการเข้าชื่อเสนอของประชาชนที่ นำโดยกลุ่ม "No 272" ซึ่งเป็นข้อเสนอ "ขั้นต่ำ" มากๆ ที่เสนอเพียงให้ตัดวรรคแรกของมาตรา 272 ตัดเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของ ส.ว. แต่งตั้งในการเลือกนายกฯ ออกเท่านั้น ร่างฉบับนี้ จะถูกบรรจุเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวันที่ 6 และ 7 กันยายน 2565 และวาระนี้แทบจะเป็นโอกาสสุดท้ายก่อนการเลือกนายกรัฐมนตรีคนต่อไป ที่ ส.ส. และ ส.ว. จะจับมือกัน 'ปลดชนวน' ความขัดแย้งทางการเมือง
.
++สาม ต้องรีบเลือกนายกฯ ใหม่ตามรัฐธรรมนูญ และมุ่งหน้าสู่การเลือกตั้ง++
.
หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเร่งพิจารณายกเลิกมาตรา 272 ในเดือนกันยายน และทูลเกล้าฯ เพื่อประกาศใช้ภายในเดือนตุลาคม ประกอบกับศาลรัฐธรรมนูญเร่งการพิจารณาและมีคำวินิจฉัยออกมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในตำแหน่งจนครบแปดปีและขาดคุณสมบัติที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อในช่วงเดือนตุลาคมเช่นเดียวกัน ก็จะทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งชุด รวมทั้งพล.อ.ประวิตร, พล.อ.อนุพงษ์ พ้นจากตำแหน่งตามพล.อ.ประยุทธ์ไปด้วย และก็จะชัดเจนมากขึ้นว่าจะต้องมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ที่ไม่ใช่คนรักษาการ โดยสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้นเป็นผู้ลงมติ วุฒิสภาไม่ได้ร่วมลงมติด้วย
.
ตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 ผู้ที่จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้ต้องมีชื่ออยู่ในบัญชีที่พรรคการเมืองที่ได้ ส.ส. มากกว่า 25 คน เสนอไว้ก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งหลังผ่านการเลือกตั้งมากว่า 3 ปี หากไม่นับพล.อ.ประยุทธ์ ที่เป็นต้นตอของประเด็นปัญหาทั้งหมด ก็เหลือบุคคลที่ยังอยู่ในบัญชีว่าที่นายกฯ ที่ยังมีสิทธิได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี 5 คน คือ อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย, อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ จากพรรคประชาธิปัตย์, สุดารัตน์ เกยุราพันธ์, ชัชชาติ สิทธิพันธ์ และชัยเกษม นิติศิริ จากพรรคเพื่อไทย ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎรก็จะต้องลงมติเลือกคนใดคนหนึ่งในห้าคนนี้ให้เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งตามธรรมเนียมทางการเมืองก็ควรจะเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. มากที่สุด และนายกฯ คนใหม่ก็จะมีวาระการดำรงตำแหน่งอีกไม่เกิน 5 เดือน
.
นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ย่อมจะต้องตระหนักดีว่า การเข้าสู่ตำแหน่งนั้นมีที่มาจากความขัดแย้งทางการเมือง จึงไม่ได้มีหน้าที่มาดำเนินนโยบายใหม่ๆ แต่ควรมีหน้าที่หลักที่จะนำประเทศกลับสู่ภาวะปกติ โดยการรีบประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง และกฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ และเร่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งออกกฎระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วก็ให้ยุบสภา เพื่อเข้าสู่การเลือกตั้ง และให้ประชาชนตัดสินใจกำหนดอนาคตตัวเองใหม่ ภายใต้กติกาที่โปร่งใส เป็นปกติและเป็นธรรม และปราศจากการครอบงำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาและองคพยพที่เข้าสู่อำนาจด้วยการรัฐประหาร
.
ข้อเสนอทั้งสามข้อเป็นไปตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน สามารถนำไปปฏิบัติได้ทันที เรามีความหวังว่า ข้อเสนอดังกล่าวนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นในการคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองและนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยได้อย่างสันติวิธี และเราหวังว่า ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งศาลรัฐธรรมนูญ พรรคการเมือง คณะรัฐมนตรี และประชาชน จะรับฟังเพื่อเพื่อสร้างอนาคตที่มีความหวังให้กับคนไทยทุกคน
.
[ก่อนท้องฟ้าจะสดใส ทำหน้าที่คล้ายบทบรรณาธิการ ที่แสดงจุดยืนของทีมงานไอลอว์ ในฐานะคนทำงานติดตามประเด็นต่างๆ]
https://ilaw.or.th/node/6237