Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
Yesterday
[ไปให้ไกลกว่าประชาธิปไตยแบบผู้แทนและระบบรัฐสภาแบบที่เป็นอยู่]
คำว่า Parliament ที่แปลว่า “รัฐสภา” นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า parler ในภาษาฝรั่งเศส ซึ่งแปลว่า “พูด” บวกกับคำว่า “-ment” รวมได้ความหมายว่า สถานที่แห่งการพูดคุย
ดังนั้น การกระทำหลักที่ปรากฏพบเห็นกันในสภา คือ การพูด
พูด พูด พูด แล้วลงมติ
แล้วถือเอาตามเสียงข้างมาก
แล้วอ้างว่านี่คือการตัดสินใจของประชาชน
แต่เราต่างก็ทราบกันดีว่า การลงมติของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาไม่ได้มาจากการตัดสินใจตามเหตุผล ความเหมาะสม จิตสำนึก เสียงของประชาชน หรือมาจากการฟังการอภิปรายของสมาชิกแล้วคล้อยตาม
สมาชิกจำนวนมากแทบไม่อยู่ในห้องประชุม แทบไม่ได้ฟังการอภิปรายในสภา แต่เมื่อประธานในที่ประชุมกดปุ่มสัญญาณเรียกให้สมาชิกลงมติ สมาชิกต่างก็วิ่งกระหืดกระหอบมา “เข้าเวร/ตอกบัตรรายงานตัว” กดปุ่มลงคะแนนตามมติวิป ญัตติใดเป็นเรื่องที่เจ้านายชนชั้นนำเฝ้าจับตา ก็ยิ่งต้องมากดปุ่มลงคะแนนให้พร้อมเพรียง หากมาไม่ทัน หรือกดผิด ก็ต้องรีบแจ้งประธานหรือแถลงข่าวเพื่อแสดงความภักดีต่อเจ้านายชนชั้นนำ
การลงคะแนนของสมาชิกแทบทั้งหมดมาจากการตกลงกัน “นอกสภา” ไว้ก่อนแล้ว
การตกลงกันนอกสภานั้น ถ้าให้แลดูเป็นระบบระเบียบหน่อยก็เรียกมันว่า “วิป”
ถ้ายอมรับว่านี่คือการต่อรองเจรจา ก็เรียกมันว่า “ล็อบบี้”
ถ้าดูน่ารังเกียจสุดๆ ก็เรียกมันว่า “ขายตัว” “แจกกล้วย” “งูเห่า”
ที่ประชุมสภาจึงไม่ใช่สถานที่ประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อโน้มน้าวสมาชิกให้ลงมติ แต่เป็น “โรงละคร” ให้สมาชิกได้แสดงวาทศิลป์ ฤทธิ์เดช เป็น “สำนักงาน” ให้สมาชิกได้เข้ามารายงานตัว กดปุ่มลงคะแนนตามมติวิป
ที่เลวร้ายไปกว่านั่น มันอาจเป็น “เครื่องมือ” ให้สมาชิก กลุ่มการเมือง พรรคการเมือง ใช้เรียกรับผลประโยชน์แลกกับการลงมติ ซึ่งผลประโยชน์เช่นว่า ปรากฏในหลายรูปแบบ ตั้งแต่ เงินทอง ตำแหน่งรัฐมนตรี ตำแหน่งทางการเมืองต่างๆ
ในบางกรณี สมาชิกก็ช่วยกันหาช่องหารูในรัฐธรรมนูญ กฎหมาย ข้อบังคับการประชุม เพื่อนำกระบวนการขั้นตอนในสภามาใช้เป็นเครื่องมือในการบิดผันการตัดสินใจของสภาให้เป็นไปดังที่พวกตนต้องการตามอำเภอใจ เช่น การนับองค์ประชุม การเข้าประชุมแต่ไม่กดปุ่มแสดงตนเป็นองค์ประชุม การอภิปรายยื้อถ่วงเวลา การขอนับคะแนนใหม่ การทำให้ร่างพระราชบัญญัติตกไปด้วยการแกล้งทำเป็นพิจารณาไม่แล้วเสร็จตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด การประท้วงตีรวน การใช้อำนาจสั่งปิดการอภิปรายหรือปิดประชุม เป็นต้น
การประชุมสภาในแต่ละครั้ง ไม่ใช่ของฟรีไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ละครั้งมีต้นทุน ใช้ทรัพยากรมากมายมหาศาล ทั้งงบประมาณ เงินเดือน ส.ส. เงินเดือนทีมงาน ส.ส. เงินเดือนข้าราชการสภา เจ้าหน้าที่ พนักงาน ค่าเดินทาง กำลังคน เวลา กระดาษ น้ำ ไฟฟ้า อาหาร
ทั้งหมดที่ต้องเสียไป ได้ผลลัพธ์กลับมา ก็คือ…
การ “ตกลง” นอกสภาที่มาจากการต่อรองเจรจา ตาม “ข้าง” ของฝักฝ่ายทางการเมือง ที่ถูกทำให้แลดูชอบธรรมเพียงเพราะเข้ามา “ล้างเนื้อล้างตัวให้สะอาดสะอ้าน” ในสภา
เมื่อนักการเมืองไม่สนใจการประชุม ไม่สนใจการอภิปราย มีแต่ “เข้าเวรตอกบัตรกดปุ่ม” ตามมติ และลงมติกี่ครั้งก็เป็นไปตามวิป ตามใบสั่ง มากกว่าเนื้อหาสาระหรือเหตุผล นานวันเข้า ก็อาจทำให้ประชาชนเกิดทัศนคติไม่ดีต่อการเมืองอีกด้วย ผู้คนเริ่มสิ้นหวัง ทำอะไรไม่ได้ ทำได้แต่เฝ้ารอการเลือกตั้งครั้งถัดไป และเมื่อเลือกตั้งเสร็จ ก็ยังคงเป็นแบบนี้ต่อไป วนเวียนซ้ำไปซ้ำมา
“การเมือง” ในความหมายของการต่อสู้เพื่อคนส่วนใหญ่ การต่อสู้เพื่อปลดปล่อยมนุษย์ให้เสรี การต่อสู้ระหว่างความคิด จะค่อยๆเลือนหายไป การเมืองในสภาถูกทำให้เป็น “ละคร” เป็น“มวยปล้ำ” กล่อมเกลาชี้นำประชาชนให้หันเหไปสนใจการเมืองในลักษณะมี “ฝ่ายเทพ/ฝ่ายมาร ฝ่ายธรรมะ/ฝ่ายอธรรม ตัวพระ/ตัวโกง” ใครพูดเก่ง พูดมันส์ พูดสนุก พูดตลก ด่าเก่ง ฟาดเก่ง คนก็นิยมชมชอบ ราวกับดูมวย
สิ่งที่เราร่ำเรียนกันมาถึงข้อดีของสภา สิ่งที่เราถูกปลูกฝังกันมาว่าระบบรัฐสภาและประชาธิปไตยแบบผู้แทนมีความถูกต้องชอบธรรม ราวกับว่า มันต้องเป็นเช่นนั้น และต้องเป็นเช่นนั้นตลอดไป เป็นอย่างอื่นไม่ได้ เอาเข้าจริงแล้ว มันจริงหรือไม่?
ไม่ว่าจะเป็น…
การตัดสินใจของสภาตามเสียงข้างมาก = การตัดสินใจของประชาชน เพราะ สมาชิกสภามาจากการเลือกตั้งของประชาชน มีสถานะเป็นผู้แทนของประชาชน
รัฐสภา = เวทีแห่งการแก้ไขปัญหาของประชาชน หากประชาชนต้องการอะไร มีข้อขัดแย้งกันอย่างไร ก็ให้เอาเข้ามาพูดคุยที่สภา แล้วทุกอย่างก็จะยุติได้
ประชาธิปไตย = การเลือกตั้ง เมื่อเลือกตั้งแล้วต้องจบ เมื่อเสียงข้างมากในสภาตัดสินแล้วต้องจบ ประชาชนอย่ามาเรียกร้อง อย่ามาชุมนุม อดทนไว้แล้วรอไปกากบาทใหม่ครั้งหน้า
ทั้งหมดนี้ จริงแท้ หรือ มายาคติกันแน่?
...
ข้อเสนอของปรัชญาเมธี
ปรัชญาเมธีหลายคนหลายยุคสมัยได้เสนอรูปแบบใหม่ๆของสภาไว้ ดังนี้
เปลี่ยนสภาผู้แทนราษฎรแบบเดิมๆที่ทำหน้าที่ตรากฎหมายและ “ค้ำบัลลังก์” ให้กับฝ่ายบริหาร ให้มาทำหน้าที่ทั้งบริหารและออกกฎหมาย - ดังเช่นที่ Marx และ Lenin เคยยกตัวอย่างสภาในสมัยปฏิวัติปารีสคอมมูน ที่เปลี่ยน “สภาแห่งการพูด” ให้เป็น “สภาแห่งการทำงาน” ผู้แทนประชาชนไม่ใช่ทำหน้าที่แค่พูดและยกมือออกกฎหมายตาม “ใบสั่ง” ของเจ้านาย แต่ต้องเป็นพื้นที่แห่งการถกเถียงอภิปรายอย่างอิสระเสรี โดยให้ผู้แทนเข้าไปอยู่ในคณะกรรมาธิการต่างๆที่แบ่งแยกตามกลุ่มภารกิจ ทำหน้าที่ทั้งพูด นำเสนอ ลงมติ นำมติไปปฏิบัติ บังคับใช้ และเปลี่ยนแปลงแก้ไขยกเลิกมตินั้นได้เสมอ
ลดขนาดสภาให้เล็ก ลดจำนวน ส.ส.ลง และใช้ระบบสภาเดียว – เพื่อประหยัดงบประมาณ ลดพิธีกรรมขั้นตอนเยิ่นเย้อฟุ่มเฟือย เลิกความเป็นระบบราชการบูโรเครซี่ ตัดตอนพวกซากเดนศักดินา พวกทัศนคติล้าหลัง พวกชนชั้นนำ ไม่ให้เข้ามาแทรกซึมในวุฒิสภา
กำหนดจำนวนสมาชิกบางส่วนให้มาจากจับสลากหมุนเวียนกันเป็น เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เป็นสมาชิกสภาอย่างเท่าเทียมทั่วถึง ทำให้การเป็นผู้แทนไม่ได้ถูกผูกขาดอยู่กับวุฒิการศึกษา ชื่อเสียง สถานะทางเศรษฐกิจและสังคม การพูด การใช้สื่อ (ระบบการจับสลากหมุนเวียนกันเป็นนี้เคยใช้กันในสมัยกรีกและโรมัน ปัจจุบันมีปรัชญาเมธีหลายคนได้เสนอให้นำมาใช้ เช่น Jacques Rancière และ Yves Sintomer)
วาระสั้น วาระเดียวหรือสองวาระ เพื่อป้องกันมิให้ผู้แทนราษฎรกลายเป็น “อาชีพ” ทำลายระบบการผูกขาดทางการเมืองผ่านตระกูล ผ่าน “บ้านใหญ่ประจำจังหวัด” ผ่านเครือข่ายระบบอุปถัมภ์ ป้องกันมิให้ผู้แทนราษฎรกลายเป็นนายเหนือหัวราษฎร กลายเป็นชนชั้นนำทางการเมือง
ลดเงินเดือนค่าตอบแทน ตัดเบี้ยประชุม รายจ่ายฟุ่มเฟือย - Marx เคยกล่าวยกย่องสภาในสมัยปฏิวัติปารีส คอมมูน 1871 ที่ลดเงินเดือนค่าตอบแทนของสมาชิกสภาให้เท่ากับค่าแรงขั้นต่ำของกรรมกร การทำเช่นนี้ก็เพื่อให้สถานะของกรรมกรและผู้แทนไม่ได้แตกต่างกัน กรรมกรผู้ใช้แรงงาน ประชาชนหาเช้ากินค่ำ สามารถสลับสับเปลี่ยนกันเข้าไป นอกจากนี้ สภาผู้แทนราษฎรหลายประเทศในยุโรปในยุคก่อนๆ ก็ไม่ได้ให้เงินเดือนแก่บรรดาสมาชิก พวกเขาได้รับแต่เพียงค่าเดินทางมาประชุมเท่านั้น เพราะมองว่านี่ไม่ใช่ “อาชีพ” ไม่ใช่ “อภิสิทธิ์ชน” แต่เป็นงานเพื่อส่วนร่วมที่อาสาสลับสับเปลี่ยนกันมาเป็น
ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบสัดส่วน MMP - สะท้อนถึงเสียงของประชาชนมากที่สุด จำนวนที่นั่งในสภาสัมพันธ์กับคะแนนที่ได้รับมากที่สุด
ประชาชนถอดถอนสมาชิกสภาได้เสมอ - การเลือกตั้ง ส.ส. ก็คือ การให้ประชาชนมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลไปเป็นผู้แทน ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ได้โดยตรง เมื่อประชาชนเป็นผู้มีอำนาจตั้งคนใดไปเป็น ส.ส.ได้ เมื่อตำแหน่ง ส.ส.เกิดขึ้นได้เพราะประชาชนแต่งตั้ง เช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่ประชาชนจะปราศจากซึ่งอำนาจปลดคนนั้นออกจาก ส.ส. การอนุญาตให้ประชาชนทำได้แต่เพียงเลือกคนไปเป็น ส.ส. แล้วต้องรออีก 4 ปี 5 ปี เพื่อเลือกใหม่ ทำให้พวกนักการเมืองสนใจประชาชนเฉพาะแต่เพียงช่วงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกแล้ว ก็หลุดจากความรับผิดชอบ หากให้ประชาชนเป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน ส.ส.ได้ตลอดเวลา ย่อมทำให้ประชาชนอยู่เหนือ ส.ส. และ ส.ส.ต้องรับใช้ประชาชนมากกว่าเจ้านายในพรรค ระบบนี้เคยใช้ในสภาสมัยปฏิวัติปารีส คอมมูน
จัดให้มีการออกเสียงประชามติให้มาก ให้ง่าย ให้กว้าง เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอออกเสียงประชามติได้โดยง่าย และประชามตินั้นมีผลบังคับผูกพัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อำนาจในการตัดสินใจโดยตรงในเรื่องที่กระทบต่อพวกเขา มิใช่ปล่อยให้นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง “ฮุบ” เอา Mandate ที่ประชาชนมอบให้ไปใช้ตามใจชอบ ตามใจมติของเจ้านาย ตามใจวิป หรือตามใบสั่ง
นี่คือ การลดทอนอำนาจตัดสินใจของผู้แทน เพิ่มอำนาจตัดสินใจให้แก่ประชาชน
นี่คือ การทวงเอาอำนาจการตัดสินใจจากผู้แทนกลับมาให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจตัวจริง
ในท้ายที่สุด เราอาจต้องกล้าคิดไปให้พ้นจากกรอบเดิมๆ ไปให้พ้นจากระบบรัฐสภา และคิดถึงระบบการปกครองแบบใหม่ๆ ที่ไม่จำกัดไว้แต่เพียงระบบรัฐสภา ระบบประธานาธิบดี หรือระบบกึ่งรัฐสภากึ่งประธานาธิบดีเท่านั้น ต้องไม่ลืมว่าระบบการปกครองทั้งสามที่เรา “ท่องจำ” มาตั้งแต่เยาว์วัยนั้น พึ่งพัฒนาขึ้นมาเมื่อต้นศตวรรษที่ 19 นี้เอง กล่าวจำเพาะเจาะจงกับระบบรัฐสภานั้น ก็ไม่ได้มีต้นกำเนิดจากทฤษฎี แต่เป็นพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ที่เกิดจากการต่อสู้กันระหว่างสามัญชน-ขุนนาง-กษัตริย์
ระบบรัฐสภาแบบที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบันนี้ เริ่มต้นจากระบบรัฐสภาที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อทวิอำนาจ (dualist) ทั้งกษัตริย์และสภาในช่วงศตวรรษที่ 19 จนเปลี่ยนมาเป็นระบบรัฐสภาที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อสภาเท่านั้น (monist) ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ต่อต้นศตวรรษที่ 20 จนมาถึงการสร้างระบบรัฐสภาแบบมีเหตุมีผลมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 ด้วยการให้รัฐบาลมีเสถียรภาพเข้มแข็ง ไม่ใช่ถูกล้มไปได้ง่ายๆโดยสภา พร้อมกับสร้างระบบตรวจสอบรัฐบาลที่เข้มข้นขึ้นตามไปด้วย
จะเห็นได้ว่า ระบบรัฐสภามีการเปลี่ยนรูปตามผลพวงของการต่อสู้ทางประวัติศาสตร์ระหว่างพลังทางการเมืองกลุ่มต่างๆ ถึงกระนั้น ระบบรัฐสภาแบบที่เป็นอยู่นี้ก็ไม่มีทีท่าที่จะแก้ไขปมปัญหาของประชาธิปไตยได้ แทนที่จะสนับสนุนให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุด ได้มีและได้ใช้อำนาจสูงสุดอย่างแท้จริง แทนที่จะทำให้สถาบันการเมืองทั้งหลายรับผิดชอบและขึ้นตรงกับประชาชน ฟังเสียงประชาชนได้จริง กลับกลายเป็นว่า นับวันยิ่งทำให้สถาบันการเมืองทั้งหลายอยู่ห่างจากประชาชน หรือเต็มที่ก็แต่เพียงใกล้ชิดเอาใจประชาชนเฉพาะช่วงเลือกตั้ง ระบบเช่นนี้ร่วมกันผลิตซ้ำ “ชนชั้นนำทางการเมือง” และทำหน้าที่จักรกลในการเปลี่ยน “ผู้แทนประชาชน” ให้กลายเป็น “นายเหนือหัวประชาชน”
ดังนั้น การออกแบบระบบการเมืองใหม่ จึงจำเป็นต้องจินตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ไปให้พ้นจากการเมืองแบบผู้แทนแบบเดิม ใปให้ไกลกว่าระบบรัฐสภาแบบเดิม
การวิจารณ์ระบบการเมืองแบบผู้แทน การเลือกตั้ง นักการเมือง พรรคการเมือง หรือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ไม่เท่ากับการสนับสนุนรัฐประหารหรืออำนาจนอกระบบ ตรงกันข้าม การออกแบบให้ระบบการเมืองที่ทำให้ผู้แทน การเลือกตั้ง พรรค นักการเมือง อยู่ใต้ประชาชน มีจุดเกาะเกี่ยวกับประชาชนตลอดสาย สนองตอบต่อความต้องการของประชาชนมากที่สุด และผลักดันให้ประชาชนได้ใช้อำนาจตัดสินใจได้โดยตรงโดยไม่ต้องผ่านผู้แทน นี่ต่างหากที่ทำให้รัฐประหารและอำนาจนอกระบบหายไป
ต้องเลิกโรแมนติไซส์นักการเมืองจากการเลือกตั้ง
แต่หาหนทางให้นักการเมืองเป็นของประชาชน ให้ประชาชนมีอำนาจตัดสินใจได้โดยตรง และควบคุมสั่งการนักการเมืองได้
บทเสนอทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นจากความคิดที่ว่า...
ประชาธิปไตย เท่ากับ อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน
ประชาธิปไตย ไม่ใช่ อำนาจสูงสุดเป็นของนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง
คัดจาก https://www.facebook.com/PiyabutrOfficial/posts/690880559064672
อ่านโพสต์เต็มได้ที้ลิงค์ข้างบน