วันพุธ, กันยายน 21, 2565
16 ปี รัฐประหาร '49 คำบอกเล่าโดย พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
Prom Lert
14h
16 ปี รัฐประหาร '49 คำบอกเล่าโดย พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช
อดีตรองนายกรัฐมนตรี และเลขาธิการอดีตนายกรัฐมนตรี ดร.ทักษิณ ชินวัตร
(19 กุมภาพันธ์ 2544 - 19 กันยายน 2549)
-1-
19 กันยา 49 จุดหักเหพัฒนาการประชาธิปไตยไทย
จุดเริ่มต้นล้มล้างอำนาจประชาชน ฉีกรัฐธรรมนูญ’40 ของประชาชน ทำลายพรรคการเมืองที่มีหัวใจคือประชาชน
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 เกิดขึ้นการจากลุกฮือของประชาชนจากเหตุการณ์พฤษา’35 ครั้งนั้น เหตุการณ์ครั้งนั้นประชาชนได้ชัยชนะ โค่นล้มเผด็จการ ผลจึงนำสู่การจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยการคัดเลือกตัวแทนจังหวัดจากการเลือกตั้ง ประกอบกับนักวิชาการ รวม 100 คน มีนายอุทัย พิมพ์ใจชน เป็นประธานคณะกรรมการร่าง และแต่งตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่ง ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน และร่าง ‘รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน’ สำเร็จผลในปี 2540
รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ถือเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยที่สุด ที่มีเนื้อหาดีที่สุด เพราะกระบวนการร่างเป็นประชาธิปไตย และประชาชนมีส่วนร่วม โดยมีสาระสำคัญเป็นหัวใจอยู่ 5 เรื่องคือ (1) ให้เสรีภาพของประชาชน (2) เน้นกระบวนการมีส่วนร่วม (3) เน้นกระบวนการตรวจสอบ (4) ให้ความสำคัญการกระจายอำนาจ (5) เป้าหมายเพื่อคุณภาพชีวิตของประชาชน
-2-
ประชาธิปไตยที่กินได้
เจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญปี 2540 ถูกสะท้อนออกมาในการเลือกตั้ง 2544
พรรคไทยรักไทย คือพรรคการเมืองแรกที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรคขึ้นภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน เพราะไทยรักไทยเกิดขึ้นจากผลพวงนี้ เราจึงยึดมั่นในหัวใจที่เป็นสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ และสามารถนำมิติใหม่เข้ามาพัฒนาจนเสนอเป็น ‘นโยบาย’ ที่อาศัยหลักคิดที่เป็นวิทยาศาสตร์ และการมีส่วนร่วม เพื่อประโยชน์ของประชาชน โดยมีประจักษ์พยานที่ชัดเจนคือ ผลชัยชนะ 248 ที่นั่งจาก 500 ที่นั่งของสภาผู้แทนราษฎร
จุดเด่นข้อหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 คือหลัก ‘การถ่วงดุลอำนาจ’ ที่ทุกอำนาจถูกเชื่อมโยง โดยมีจุดยึดโยงจากฐานที่มาจาก ‘ประชาชน’ ทั้งสิ้น
จึงเป็นครั้งแรกที่แบ่งสภาผู้แทนราษฎรแบ่งของเป็น 2 ส่วนคือ (1) สภาผู้แทนราษฎร 1.1 ส.ส. เขต 400 ที่นั่ง เพื่อใกล้ชิดและสะท้อนเสียงความต้องการของพื้นที่ 1.2 ส.ส. บัญชีรายชื่อ 100 ที่นั่ง เน้นนักบริหารผู้มีความรู้ความสามารถ เข้ามาเป็นองค์ประกอบสภาผู้แทนราษฎรที่สมบูรณ์ และ (2) สมาชิกวุฒิสภา - ส.ว. ‘จากการเลือกตั้ง’ 200 คน วาระการดำรงตำแหน่ง 6 ปี มีอำนาจในการแต่งตั้งองค์กรอิสระ และตรวจสอบการทำงานของ ส.ส. ซึ่งทั้งหมด คือ ส.ส. และ ส.ว. ต่างมีที่มาของอำนาจจากฐานเดียวกันคือ ฐานจากเสียงของประชาชน
น่าเสียดายที่หลังรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่มีเคยรัฐธรรมนูญฉบับใดอีกเลย ที่ ส.ว. ได้ยึดโยงกับประชาชนได้มากเท่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้
-3–
‘ประชานิยม’ คือรากฐานประชาธิปไตย
ครั้งหนึ่ง พรรคไทยรักไทย ถูกฝ่ายอนุรักษ์นิยมกล่าวหาว่าเป็น ‘พรรคประชานิยม’ จึงอยากถามว่า หาก ‘ประชา’ ไม่นิยม เขาจะเลือกคุณได้อย่างไร!? แท้จริงที่สุดคือ ต้องทำพรรคอยู่ในความนิยม จึงจะเป็นรากฐานที่แท้จริงของประชาธิปไตย
พรรคไทยรักไทยถูกก่อตั้งขึ้นมา ด้วยการเอา ‘นโยบาย’ เป็นตัวตั้ง ใกล้ชิดประชาชนและเข้าใจปัญหาประชาชน และใช้การบริหารที่ทันสมัย เปิดโอกาสให้นักบริหารรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม มิใช่แต่นักการเมือง ที่คุ้นเคยการเมืองแบบเก่า ฉะนั้น รัฐมนตรีในยุคนั้น จึงเป็นรัฐมนตรีหน้าใหม่เต็มไปหมด ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญสู่ ‘ประชาธิปไตยกินได้’
นี่จึงเป็นครั้งแรกที่นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลอยู่ครบสมัยต่อเนื่องกันถึง 4 ปี เนื่องจากมีเสถียรภาพ
จนการเลือกตั้งครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ข้อพิสูจน์สำคัญว่าประชาชนยังต้องการพรรคไทยรักไทยคือ ในปี 2548 พรรคไทยรักไทยกลับได้คะแนน 376 ที่นั่ง ซึ่งมากครึ่งหนึ่งของ 2 สภา รวมกัน (700 ที่นั่ง) ดังนั้น จึงเป็นข้อบ่งชี้สำคัญสำหรับกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งมองไม่เห็นทางว่าจะกลับฟื้นขึ้นมามีอำนาจเหนือเสียงประชาชนได้อย่างไร
-4-
ความจริงครึ่งเดียว กับข้อกล่าวหา ‘เผด็จการรัฐสภา’
เมื่อไม่เห็นหนทางฟื้นคืนอำนาจ กลุ่มอนุรักษ์นิยม ‘รวมหัวกัน’ ปั้นคำ ‘เผด็จการรัฐสภา’ กล่าวหารัฐบาลจากเสียงประชาชน … ถามว่า สภาจะเผด็จการได้อย่างไร หากเป็นสภาที่มาจากเสียงของประชาชน ที่ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชน!
กระบวนการทำลายอำนาจประชาชนโดยฝ่ายอนุรักษ์นิยม เริ่มขึ้นเป็นระลอก สร้างความสับสนในหมู่ประชาชน โดยอาศัยการเสนอความจริงแบบครึ่งเดียว (half truth) ในที่สุด เมื่อมีเสียงประท้วงคัดค้านจากฝ่ายต่างๆ มากมาย ดร.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีขณะนั้น จึงได้ใช้หลักการประชาธิปไตย คือ ‘คืนอำนาจ’ สู่ประชาชน ยุบสภาเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2549 ให้ประชาชนตัดสินใจผ่านการเลือกตั้งอีกครั้ง
แต่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมไม่หยุดขัดขวาง โดยประกาศ ‘บอยคอต’ ไม่ลงรับสมัครเลือกตั้ง ให้เหลือพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งพรรคเดียว ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเกิดสมบูรณ์ได้ตามรัฐธรรมนูญ ตลอดจนความเคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ ยังคงดำรงอยู่ จนเมื่อการเลือกตั้งเกิดขึ้น ก็ตัดสินให้การเลือกตั้งเป็น ‘โมฆะ’ ด้วยข้อตัดสินง่ายๆ ว่า ‘หันก้นเข้าหันก้นออก’ จากเหตุการณ์ผู้สื่อข่าวซูมภาพถ่ายรูปผู้ลงคะแนนเสียง จนทำให้การเลือกตั้งเป็นโมฆะ ต้องจัดการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งหนึ่ง สร้างความสับสนอลม่านขึ้นในสังคมไทย
แต่ในขณะเดียวกัน ดร.ทักษิณ ในฐานะนายกรัฐมนตรีรักษาการตามรัฐธรรมนูญปี 2540 ก็ได้พยายามหลีกเลี่ยงความขัดแย้ง จัดงานพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ได้อย่างสมบูรณ์
-5-
กลุ่มอนุรักษ์นิยม ‘สุมหัวทำลายล้าง’ รัฐบาลประชาชน
ใช้รัฐประหาร เป็นทางลัดยึดอำนาจ
ทั้งที่รัฐบาล ดร.ทักษิณ ชินวัตร คืนอำนาจให้ประชาชนแล้ว แต่กลุ่มอนุรักษ์นิยมก็ยังสุมหัวสร้างสถานการณ์ทำลายล้างรัฐบาลประชาชนอย่างต่อเนื่อง โดยหวังใช้การรัฐประหารเป็นทางลัดยึดอำนาจจากมือประชาชนเป็นของกลุ่มตนเอง
19 กันยายน 2549 จึงเป็น ‘จุดหักเหแห่งการยับยั้งการพัฒนาประชาธิปไตยของประเทศไทย’ ที่จะต้องจดจำจารึกไว้ว่า จากวันนั้น … ผลพวงต่อเนื่องมาอีกถึง 16 ปี
แม้เกิดการรัฐประหาร 19 กันยาย 2549 แต่ก็ยังไม่อาจทานกระแสการเรียกร้องให้ประเทศไทยกลับคืนสู่ประชาธิปไตยโดยเร็ว จึงมีประกาศของคณะรัฐประหารจะเร่งคืนอำนาจให้ประชาชนภายใน 1 ปี มีการร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีจุดประสงค์เพื่อ ‘จำกัด’ ชนะของพรรคไทยรักไทย ที่อาจเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ตัวอย่างสำคัญคือ รัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 กำหนดการให้ ส.ว. มีอำนาจแบบเดิมกับรัฐธรรมนูญปี 2540 คือสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรีได้ แต่กลับไม่มีกลไกที่มา ที่ยึดโยงกับอำนาจประชาชน
อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่สามารถทันทานอำนาจจากเสียงประชาชน … พรรคไทยรักไทยถูกยุบ และเปลี่ยนเป็นพรรคพลังประชาชน แต่ก็ยังสามารถชนะการเลือกตั้งปี 2550 โดยมีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี
ครั้งนี้ กลไกองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ก็ได้ถูกใช้เพื่อปลดนายกรัฐมนตรี ด้วยข้อหาเพียงรับเงินค่ารถ 3,000 บาท จากการทำรายการทีวี ซึ่งเป็นเรื่องขบขันไปทั้งโลก และเมื่อเปลี่ยนนายกรัฐมนตรี เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็ยังก่อวอดประท้วงยึดทำเนียบรัฐบาล โดยรัฐบาลไม่มีความผิด ทำให้รัฐบาลต้องไปทำงานชั่วคราวที่ดอนเมือง
ปี 2554 เกิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ขึ้นอีกครั้ง เมื่อพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นรัฐมนตรี
-6-
ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย
รัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน แต่ถูกขัดขวางไม่ให้เกิดการเลือกตั้งขึ้น จึงมีคำกล่าวของคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ว่า ‘หอเอน’ เกิดขึ้น คือความยุติธรรมไม่มี
ชัยชนะของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กลายเป็นข้อกังวลให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม กระบวนการสมคมคิดระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายอนุรักษ์นิยมร่วมกับการปลุกเร้าประชาชน เพื่อทำลายรัฐบาลจากการเลือกตั้ง จึงเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
ครั้งนี้คณะรัฐประหารต้องการ ‘อยู่ยาว’ ประชาชนจึงได้เห็นซึ่ง ‘รากฐาน’ ของชาติด้านเศรษฐกิจ สังคม ความสามารถในการแข่งขันกับต่างชาติ โดยเฉพาะมองในมุมมองต่างชาติแล้ว ประเทศไทยเสียหายอย่างหนัก แต่ซ้ำร้ายและเสียหายที่สุดคือ ‘ประชาชนไทยถูกจับเป็นตัวประกัน’
-7-
การต่อสู้อย่างยาวนาน
เหตุการณ์เหล่านี้มิใช่เพิ่งเกิดขึ้น ย้อนไปเมื่อผมมีอายุ 20 ปีต้นๆ (ปัจจุบัน 67) เราเคยต่อสู้ลุกฮือขึ้นพร้อมประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ล้มล้างอำนาจเผด็จการสำเร็จครั้งแรก ได้ ‘รัฐธรรมนูญสภาสนามม้า’ ที่มีกระบวนการมีส่วนร่วม มีตัวแทนจากประชาชนมาร่างรัฐธรรมนูญ จนได้รัฐธรรมนูญปี 2517 ขึ้น
แต่รัฐธรรมนูญปี 2517 ก็ถูกล้มไปใน 3 ปี ด้วยการกล่าวหาว่ากลุ่มนักศึกษาที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ที่ต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของคนยากคนจน เป็น ‘คอมมิวนิสต์’ ล้มล้างสถาบัน ขับไล่ปัญญาชนที่ต้องการสู้ต่อให้ต้องเข้าไปในเขตป่าเขา
นี่ไม่ใช่การเกิดขึ้นครั้งแรก แต่เป็นพัฒนาการของกระบวนการประชาธิปไตยในรอบ 50-60 ปีที่ผ่านมา
‘การปิดกั้น’ ไม่สามารถหยุดการรับรู้หรือวิธีคิดของประชาชนได้อีกต่อไป อำนาจของฝ่ายอนุรักษ์ จะต้องเสื่อมถอยลง การต่อสู้จะเกิดขึ้นเป็นระยะ ประชาชนจะตื่นรู้ตามวิถีของประชาธิปไตยซึ่งจะก้าวไปข้างหน้าเท่านั้น
คาดหวังว่าสิ่งเหล่านี้ในช่วงชีวิตผมที่ยังมีโอกาสได้เห็นอยู่ คือการเลือกตั้งครั้งนี้ ‘เราฝ่ายประชาธิปไตย’ ต้องเอาชนะให้ได้อย่างถล่มทลาย เพื่อเอาชนะกลไกเผด็จการที่ฝังอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราต้องล้มล้างอำนาจ 250 ส.ว. ที่มาจากการแต่งตั้ง ที่ขัดขวางอำนาจประชาชนอยู่ในทุกทาง!
เรียบเรียยงโดย : เอฟ ชนิสรา