มันร้ายกาจกว่า ‘ลักไก่’ การที่พวกทหารซึ่งครองอำนาจในนามกลุ่มพรรคการเมือง ฉวยโอกาส ‘เพิ่มโทษ’ ใน พรบ.ด้วยการออกประกาศแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน อันไม่เกี่ยวถึงโรคระบาด เพียงแต่ผกผันการใช้อำนาจมาควบคุมการชุมนุมสาธารณะ
เรื่องของเรื่อง ทั้งนายกรัฐมนตรีที่มาจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร และผู้บัญชาการทหารสูงสุด เคยใช้อำนาจเบ็ดเสร็จกันจนลืมตัว คิดว่าเปลี่ยนจากวิธีการกดขี่โดยอาวุธมาเป็นครอบงำด้วยกฎหมาย สามารถทำได้ตราบเท่าที่ยังกุมอำนาจ
แต่ในความเป็นจริงของระเบียบกฎหมาย จะทำอย่างนั้นไม่ได้ ดังที่ พัชร์ นิยมศิลป อจ.นิติศาสตร์ จุฬาฯ “ชี้ความไม่ชอบด้วยกฎหมาย กรณี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ใช้ข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ โดยอนุโลม แต่ใช้โทษใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งหนักกว่า”
เช่นนี้จึงมีการยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง ขอให้มีคำสั่งยกเลิกข้อกำหนดในประกาศแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน “ในส่วนที่เกี่ยวกับความมั่นคง เรื่อง ห้ามชุมนุม การทำกิจกรรม การมั่วสุมที่ก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส (โควิด-๑๙)”
พื้นฐานเหตุผลรองรับการฟ้องร้องนี้อยู่ที่ คำประกาศดังกล่าว เพิ่มโทษของความผิดเกี่ยวกับการชุมนุมสาธารณะ จากเพียงปรับไม่เกิน ๑ หมื่นบาท ไปเป็นปรับไม่เกิน ๔ หมื่นบาท แล้วมีโทษจำคุกอีกด้วย เป็นเวลา ๒ ปี อย่างนี้ทำไม่ได้ เพราะ
“ประเด็นแรก ว่ากันโดยศักดิ์ของกฎหมาย พ.ร.บ.ชุมนุมฯ มาตรา ๓(๖) ย่อมมีศักดิ์สูงกว่าข้อกำหนดฉบับที่ ๔๗ และประกาศ ผบ.สส.ทั้งสองฉบับ” กับไม่ได้มีข้อยกเว้นอะไร ให้กับ “ผู้มีอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สามารถนำเอาส่วนใดส่วนหนึ่งของ พรบ.ชุมนุม ไปใช้โดยอนุโลมได้”
นอกจากนั้นขอบข่ายการใช้อำนาจในการสลายชุมนุม ที่ข้อกำหนดฯ ฉบับที่ ๔๗ ให้ไว้เต็มที่ “เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการยุติ (การชุมนุม) ได้ทันที” แต่ถ้าใช้ พรบ.ชุมนุมฯ บังคับ “เจ้าหน้าที่จะต้องไปขอให้ศาลแพ่งออกคำสั่งให้ “เลิกการชุมนุม”
อจ.พัชร์ยังอ้างถึงมติ ‘คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ’ เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม “เรื่องการส่งเสริมและพิทักษ์สิทธิมนุษยชนในบริบทของการประท้วงโดยสงบ เรียกร้องให้รัฐทำให้กฎหมาย” ให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชน”
เช่นกันกับ ‘ศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป’ วางหลักเกณฑ์ไว้ว่า การออกระเบียบเพื่อจำกัดเสรีภาพในการชุมนุมนั้น “ต้องมีกฎหมายให้อำนาจ” และกฎหมายที่ให้อำนาจนั้น “มีความชัดเจนทำให้ประชาชนคาดหมายได้ หรือไม่ว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรด้วย”
การออกคำสั่งควบคุมสถานการณ์โดยลุแก่อำนาจของนายกฯ และ ผบ.สส.เช่นนี้ ทำให้ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนและผู้นำนักศึกษา ๗ สถาบัน (ได้แก่ นรเศรษฐ์ นาหนองตูม และเจนิสษา แสงอรุณ เป็นอาทิ) พากันไปยื่นฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง
“ขอให้ศาลทำการไต่สวนฉุกเฉินคุ้มครองชั่วคราว สั่งไม่ให้บังคับใช้ข้อกำหนดฉบับ (ดังกล่าว) นี้” ด้วยมีข้อสังเกตุว่าในวันที่ ๒๓ และ ๒๔ นี้ มีการนัดชุมนุมติดตามกรณีการดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ ๘ ปี ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
“หากมีการปล่อยให้ใช้ข้อกำหนดฉบับนี้ อาจจะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง” เป้นที่น่าสังเกตุว่า การออกประกาศเรื่องแก้ไขสถานการณ์โรคระบาด แต่มีระวางโทษการชุมนุมหนักขึ้น เป็นการจงใจบิดเบี้ยวหลักกฎหมายเพื่อปราบปรามการใช้เสรีภาพหรือไม่
(https://www.facebook.com/VoiceOnlineTH/posts/pfbid0fSrT6 และ https://www.facebook.com/1045558318/posts/pfbid02W4)