วันพุธ, สิงหาคม 10, 2565

กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ยังไม่เสร็จสิ้น เหตุส.ว. มีมติแก้ไข ต้องส่งร่างกลับให้ ส.ส. เห็นชอบ


iLaw
3h

กระบวนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันทรมานอุ้มหายฯ ยังไม่เสร็จสิ้น เหตุส.ว. มีมติแก้ไข ต้องส่งร่างกลับให้ ส.ส. เห็นชอบ
.
9 สิงหาคม 2565 ที่ประชุมวุฒิสภามีมติในวาระสองและสามให้แก้ไขร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับให้บุคคลสูญหาย (ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ) ในบางมาตรา ซึ่งมีทั้งที่ข้อเสนอของกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ของวุฒิสภาให้ความเห็นชอบและไม่ได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุม ส.ว. โดยในการลงคะแนนวาระสาม ที่ประชุมวุฒิสภาลงมติเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติม ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 121 เสียง ไม่เห็นด้วย 8 เสียง งดออกเสียง 6 เสียง จึงส่งผลให้กระบวนการประกาศใช้เป็นกฎหมายจะยังไม่เกิดขึ้น แต่ต้องส่งร่างกฎหมายกลับไปที่สภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขของส.ว. หาก ส.ส. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไข ก็จะต้องกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภาเพื่อแก้ไขร่างกฎหมายร่วมกันต่อไป
.
ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ใช้เดินทางมาอย่างยาวนานหลังจากที่เคยได้รับการพิจารณาในสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติมาแล้ว แต่ก็ต้องตกไปเพราะ สนช. ต้องยุบไปก่อน ร่างกฎหมายได้รับการหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2564 ภายหลังเกิดเหตุการณ์ที่เป็นข่าวไปทั่วประเทศ “ผู้กำกับโจ้” คลุมถุงดำซ้อมทรมานผู้ต้องหา
.
โดยชั้นสภาผู้แทนราษฎร สภาผู้แทนราษฎร “รับหลักการ” ร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ทั้งสี่ฉบับ ซึ่งได้ละฉบับก็มีผู้เสนอต่างกัน ได้แก่ 1) ครม. 2) ส.ส.พรรคประชาชาติ 3) ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ 4) คณะกรรมาธิการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน (กมธ.กฎหมายฯ) ซึ่งนำร่างที่ภาคประชาชนผลักดันมาเสนอเข้าสภา โดยใช้ร่างที่ครม.เสนอเป็นหลักในการพิจารณา อย่างไรก็ดี ในชั้นกมธ. ของสภาผู้แทนราษฎร ได้ปรับเสริมเติมแต่งร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ หลายจุด โดยนำเนื้อหาจากร่างที่เสนอโดยพรรคการเมืองและร่างที่เสนอโดยประชาชนใส่เพิ่มเติมเข้าไป ส่งผลให้เนื้อหาบางอย่างมีความแตกต่างจากร่างครม. อาทิ เพิ่มความผิดกรณีเจ้าหน้าที่รัฐ กระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
.
เมื่อร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ เดินทางมาถึงชั้นวุฒิสภา หลักจากวุฒิสภาเห็นชอบในวาระหนึ่ง และตั้งกมธ. มาพิจารณาแล้ว กมธ. ข้างมากได้เสนอแก้ไขร่างหลายจุด ที่จะทำให้เนื้อหาบางส่วนกลับไปคล้ายคลึงกับร่างของ ครม. เช่น ตัดความผิดฐานย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ฯ ตัดข้อห้ามที่ไม่ให้นิรโทษกรรมผู้ก่อการทรมานหรืออุ้มหาย ตัดข้อบังคับให้ต้องบันทึกวีดีโอระหว่างควบคุมตัว ภายหลังจากกมธ. พิจารณาแล้วเสร็จแล้ว วุฒิสภาต้องพิจารณาลงมติรายมาตราในวาระสอง ภาพรวมปรากฏว่า ผลการลงมติในวาระสอง ส.ว. มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขเนื้อหาโดย กมธ.
.
ที่ประชุมวุฒิสภา. ใช้เวลาหลายชั่วโมงในการอภิปรายมาตรา 3 ซึ่ง กมธ. ชั้นวุฒิสภา. ได้เสนอให้แก้ไขคำว่า “ผู้เสียหาย” เป็น “ผู้ได้รับความเสียหาย” และเสนอตัดข้อความ “การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์” ออกไปจากร่างกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ ที่ประชุม ส.ว. มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ. ส.ว. เสียงข้างมาก โดยเฉลิมชัย เครืองาม ให้ความเห็นว่าการตัดข้อความย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ฯ ออกไปทำให้หลักการของกฎหมาย “บิดเบี้ยว”
.
การลงมติเช่นนี้ทำให้มาตราอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องที่ กมธ. ส.ว. เสียงข้างมากแก้ไขหรือตัดมากลายเป็นปัญหาว่าควรจะทำอย่างไรต่อไป เนื่องจากประธาน กมธ. ยืนยันจะไม่ทำตามคำแนะนำของประธานวุฒิสภา ที่เสนอให้นำร่างกลับไปแก้ไขเพื่อมาลงมติอีกครั้ง ส่งผลให้มีการถกเถียงกันอย่างยาวนานว่าจะต้องลงมติกันอย่างไรต่อไป ซึ่งในท้ายที่สุดก็ให้ที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบในทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในมาตรา 3 ที่ตัดออกไป
.
นอกจากนี้ ที่ประชุมวุฒิสภา. ยังไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กมธ. อีกจำนวนหนึ่ง เช่น ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้ตัดข้อบังคับ ที่กำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐต้องบันทึกภาพและเสียงในระหว่างการจับตัวไปจนถึงการควบคุมตัวจนกระทั่งส่งให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัว รวมถึงไม่เห็นด้วยกับการเสนอแก้ไขของ กมธ. ส.ว. ที่ตัดข้อความที่ให้ผู้กระทำผิดที่อยู่ในอำนาจศาลทหารต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบอีกด้วย เท่ากับว่า ทั้งการกำหนดให้บันทึกภาพและเสียงขณะจับ การกำหนดยกเว้นไม่ให้ขึ้นศาลทหารแต่ต้องขึ้นศาลอาญาทุจริตฯ จะยังคงอยู่ในร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ
.
แม้ส.ว. จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของกมธ. ในบางประเด็น แต่ก็มีอีกหลายประเด็นที่ส.ว. เห็นด้วยกับการแก้ไขของ กมธ. ได้แก่ ประเด็นตัดข้อห้ามไม่ให้นิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานหรือทำให้บุคคลสูญหาย ประเด็นการเปลี่ยนโครงสร้างและที่มาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายให้ตัดตัวแทนผู้เสียหายและให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้แต่งตั้งแทนการให้มีคณะกรรมการสรรหาตามร่างของ ส.ส.
.
เส้นทางต่อไปของร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ คือ จะต้องส่งร่างกลับไปให้สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ส.ส. ลงมติว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ไขของ ส.ว. หากเห็นด้วยก็จะไปสู่การประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่หาก ส.ส. ไม่เห็นด้วย ก็จะต้องมีการตั้งกมธ.ร่วมกันทั้งสองสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้ง จากนั้นก็จะต้องเสนอให้ทั้ง ส.ส. และ ส.ว. พิจารณา ถ้าทั้งสองสภาเห็นชอบ ก็นำสู่ขั้นตอนที่นายกฯ นำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าฯ ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
.
สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ หากกมธ.ร่วมไม่สามารถพิจารณาร่างพ.ร.บ.ป้องกันการทรมานและอุ้มหายฯ ได้ทันอายุของสภาสี่ปีที่กำลังจะหมดลงภายในต้นปี 2566 ร่างกฎหมายก็จะต้องตกไปโดยปริยาย เว้นแต่ ครม.ชุดใหม่หลังการเลือกตั้งร้องขอสภาให้พิจารณาร่างกฎหมายนั้นต่อไปได้ ซึ่งก็ไม่มีสิ่งใดมาการันตีได้ว่ากระบวนการดังกล่าวจะเกิดขึ้น
.
อ่านบนเว็บไซต์ได้ที่ https://ilaw.or.th/node/6220