วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 02, 2564

‘คนรุ่นใหม่’ ไปทางไหนต่อ? เมื่อ ‘ประตูการต่อสู้’ ถูกปิดลงทีละบาน


Matichon Weekly - มติชนสุดสัปดาห์
17h ·

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี "ล้มล้างการปกครอง" และการที่รัฐสภาโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำเสนอโดยกลุ่ม "รี-โซลูชั่น" และได้รับการรับรองจากพลเมืองเกินแสนคน คือ "สารอันชัดเจน" ซึ่งเผยให้เห็นแนวโน้มหลักสองประการ
ด้านหนึ่ง สารนี้บ่งชี้ว่ารัฐไทยไม่ได้รับฟังเสียงที่ต้องการ "ความเปลี่ยนแปลง" ของประชาชนบนท้องถนน-โลกออนไลน์มากนัก ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นี่ย่อมหมายถึงหนทางการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ถูกตัดตอนและเหลือโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ
ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นักคิด-นักวิชาการหลายคน ได้แสดงความเห็นถึงแนวทางการต่อสู้ในอนาคตของเยาวชนคนหนุ่ม-สาว

‘คนรุ่นใหม่’ ไปทางไหนต่อ? เมื่อ ‘ประตูการต่อสู้’ ถูกปิดลงทีละบาน/เปลี่ยนผ่าน ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี

มติชนสุดสัปดาห์ 
ฉบับวันที่ 26 พฤศจิกายน - 2 ธันวาคม 2564

คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญกรณี “ล้มล้างการปกครอง” และการที่รัฐสภาโหวตไม่รับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนำเสนอโดยกลุ่ม “รี-โซลูชั่น” และได้รับการรับรองจากพลเมืองเกินแสนคน คือ “สารอันชัดเจน” ซึ่งเผยให้เห็นแนวโน้มหลักสองประการ

ด้านหนึ่ง สารนี้บ่งชี้ว่ารัฐไทยไม่ได้รับฟังเสียงที่ต้องการ “ความเปลี่ยนแปลง” ของประชาชนบนท้องถนน-โลกออนไลน์มากนัก ขณะที่อีกด้านหนึ่ง นี่ย่อมหมายถึงหนทางการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ที่ถูกตัดตอนและเหลือโอกาสน้อยลงเรื่อยๆ

ตลอดสองสัปดาห์ที่ผ่านมา นักคิด-นักวิชาการหลายคน ได้แสดงความเห็นถึงแนวทางการต่อสู้ในอนาคตของเยาวชนคนหนุ่ม-สาว

ทีมข่าวการเมือง มติชนทีวี ขออนุญาตสรุปความคิดเห็นเหล่านั้นมานำเสนออีกครั้ง ณ พื้นที่นี้



“นิธิ เอียวศรีวงศ์” ปัญญาชนสาธารณะอาวุโส เสนอผ่านมติชนทีวีว่า สถานการณ์ของเมืองไทยหลังจากนี้อาจคล้ายคลึงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมา กล่าวคือ การลุกขึ้นต้านอำนาจรัฐอาจมีลักษณะเป็น “การต่อสู้ที่ใช้ความรุนแรงเท่าที่ประชาชนจะสามารถใช้ได้ โดยสืบเนื่องเป็นเวลานานๆ”

อย่างไรก็ตาม อาจารย์นิธิเอ่ยเตือนว่า “การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ไม่มีทางสำเร็จในเร็ววัน” หรือไม่สามารถก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโดยฉับพลัน ภายในประเทศที่กลุ่มคนมีอำนาจราว 5-10 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรทั้งหมด สามารถประสานประโยชน์กันได้อย่างค่อนข้างลงตัว

การต่อสู้ของคนรุ่นใหม่จึงต้องใช้เวลา และจะมีการเจ็บปวดระหว่างทางเกิดขึ้นมากมาย

ปริศนาประการหนึ่ง ซึ่งนักประวัติศาสตร์ผู้นี้ยังไม่ทราบแน่ชัด ก็คือ ปัจจุบัน “พลังของความเปลี่ยนแปลง” ภายในสังคมไทยนั้นมีมากน้อยแค่ไหน?

โดยตอนนี้ สิ่งที่เรารู้กันก็ได้แก่ “กลุ่มคนที่ไม่อยากเปลี่ยนแปลง” ล้วนมีอายุมาก ดังนั้น เมื่อพวกเขาจากไป ความเปลี่ยนแปลงก็ย่อมเกิดขึ้น

แต่อาจารย์นิธิเสนอว่า “พลังของความต้องการความเปลี่ยนแปลง” อาจมีสูงขึ้นในบางกรณี เช่น ถ้าผู้มีอำนาจไม่ยุบพรรคการเมืองที่มีจุดยืนก้าวหน้า แล้วปล่อยให้ประชาชนลงคะแนนเลือกพรรคดังกล่าวมากขึ้นทุกๆ ครั้งที่มีการเลือกตั้ง

ท้ายสุด หากฝ่ายผู้มีอำนาจยังไม่ยอมเปลี่ยนแปลง ราคาที่พวกเขาต้องจ่ายก็คือการถูกบังคับให้ตัดสินใจ “ยุติการเลือกตั้ง” ไปเลย ซึ่งจะเป็น “ราคาที่แพง” เพราะทำให้ตนเองไม่ได้รับการยอมรับจากโลกตะวันตก



“สุรชาติ บำรุงสุข” นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องกองทัพ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นิยามว่า “ฝ่ายอนุรักษนิยมไทย” ได้กลายสภาพเป็น “ฝ่ายจารีตนิยม” ที่ไม่ยึดถือกฎกติกาประชาธิปไตย และมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรงมากขึ้น

ด้วยเหตุนี้ สังคมไทยจึงกำลังติดกับดักของ “สงครามทางอุดมการณ์-สงครามความคิด-สงครามระหว่างรุ่น” โดยมีคู่ขัดแย้งเป็น “ฝ่ายจารีตนิยม” กับ “คนรุ่นใหม่”

อย่างไรก็ตาม อดีตผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาฯ เช่นอาจารย์สุรชาติ เอ่ยเตือนฝ่ายขวาปัจจุบัน ผ่านรายการ The Politics ข่าวบ้านการเมือง ว่า อย่าคิดว่าการไม่มีฐานที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในพื้นที่ชนบท จะทำให้พวกเขาสามารถไล่ล่าเยาวชนฝ่ายประชาธิปไตยได้โดยง่าย

ตรงกันข้าม หาก “สงครามทางอุดมการณ์-ความคิด” ขยายตัวเป็นความรุนแรง นักวิชาการผู้นี้เชื่อว่าสถานการณ์จะดำเนินไปเหมือนเหตุการณ์ในเมียนมาหรือฮ่องกง

หมายความว่าจะมีความขัดแย้งรุนแรงอุบัติขึ้นในพื้นที่เขตเมือง หรือเกิด “สงครามในเมือง” ระหว่าง “ฝ่ายจารีตนิยม” กับ “คนรุ่นใหม่”



ขณะที่อีกหนึ่ง “เหยื่อ 6 ตุลา” อย่าง “ธงชัย วินิจจะกูล” ก็วิเคราะห์ผ่านเวทีเสวนาประจำปีของทีดีอาร์ไอว่า “ฝ่ายอนุรักษนิยม” หลัง พ.ศ.2475 มีความคิดพื้นฐานร่วมกันอยู่หนึ่งเรื่อง คือ สมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ผ่านพ้นไปแล้ว ปัญหาจึงอยู่ที่สังคมไทยควรเป็น “ประชาธิปไตย” มากน้อยแค่ไหน?

อย่างไรก็ตาม ผู้มีอำนาจรัฐยุคปัจจุบัน ซึ่งกลายสภาพเป็น “ฝ่ายขวาจัดสุดโต่ง-ปฏิกิริยา” นั้นมีท่าทีทางการเมืองแตกต่างจาก “ฝ่ายอนุรักษนิยม”

กล่าวคือ “พวกอนุรักษนิยม” จะไม่ขัดขวางการเปลี่ยนแปลงและไม่ผลักสังคมให้ย้อนคืนกลับหลัง แต่ “พวกขวาสุดโต่ง” จะขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

“ฝ่ายอนุรักษนิยม” ยังพยายามรับฟังเสียงของประชาชน เพราะวิตกกังวลว่าพวกตนจะสูญเสียความชอบธรรมจากสาธารณะ แต่ “ฝ่ายขวาสุดโต่ง” มักไม่สะทกสะท้านหรือไม่แคร์ต่อประเด็นนี้

ดังนั้น ประตูการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ซึ่งอาจารย์ธงชัยมองว่ามีข้อเรียกร้องทางสังคมในแบบ “ขวากลาง” หรือ “ซ้ายกลาง” ด้วยจุดยืนเสรีประชาธิปไตย จึงถูกรัฐไล่ปิดลงทีละบานๆ

แม้จะเชื่อว่าสังคมการเมืองไทยอาจเดินหน้าไปสู่การปะทะกันอย่างรุนแรง แต่นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน ชี้ว่า “ความรุนแรง” มิใช่ทางเลือกสุดท้ายที่เหลืออยู่

อาจารย์ธงชัยโต้แย้งความเห็นของฝ่ายซ้ายเก่าที่ว่า “สมัยนี้ไม่มีป่า ถ้ามีป่า ป่านนี้นักศึกษาเข้าป่าไปเรียบร้อยแล้ว” โดยเสนอว่าต่อให้ไม่มีป่า “สงครามจรยุทธ์” ก็สามารถเกิดขึ้นได้ในปัจจุบัน

ทว่า “การต่อสู้จรยุทธ์” โดยคนรุ่นใหม่อาจไม่ได้หมายถึงการก่อความรุนแรงในเขตเมือง แต่หมายถึงการปั่นป่วนอำนาจรัฐด้วยเทคโนโลยี ดังกรณีที่เพิ่งเกิดกับเว็บไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ

“การต่อสู้จรยุทธ์กระจายจุดย่อยๆ มาจากคนย่อยๆ มาจากแล็บท็อปคอมพิวเตอร์ไม่กี่เครื่อง กระทำความเสียหายให้แก่รัฐ สามารถเกิดขึ้นได้ ในแง่นี้ อาจจะดีกว่าการเข้าป่าจับปืนด้วยซ้ำ เพราะกรณีนั้นคือการทำลายชีวิต”



ทางด้าน “เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง” นักกฎหมายมหาชนรุ่นใหม่ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ ไม่เชื่อในคำขวัญที่ว่า “เดี๋ยวคนรุ่นเก่าก็ตายหมดแล้ว เดี๋ยวคนรุ่นใหม่ก็ขึ้นมา” โดยให้เหตุผลว่าเยาวชนที่ต้องติดคุกและถูกอำนาจรัฐคุกคามอยู่ทุกวันนี้ คงไม่สามารถอดทนรอไปได้อีก 20-30 ปี เพื่อให้คนรุ่นเก่าสูญสลายหายไปหมด

นักวิชาการรุ่นใหม่รายนี้บอกกับมติชนทีวีว่า เมื่อเส้นทางการต่อสู้ค่อยๆ ทยอยถูกปิดตายลง บางทีเราอาจได้เห็นเยาวชนคนรุ่นใหม่พากัน “ทิ้งแผ่นดินไทย”

ไม่ว่าจะเป็นการไปเรียนต่อเมืองนอกแล้วไม่ยอมกลับบ้าน การตัดสินใจแต่งงานข้ามประเทศกับคนต่างชาติ การยอมไปเริ่มต้นทำงานซักรีด-ล้างจานในต่างประเทศ แม้จะจบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย

ทางเลือกดังกล่าวเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่ว่า คนรุ่นใหม่ออกมาต่อสู้เพราะหวังว่าชาติของตนจะดีขึ้นกว่านี้ได้ แต่ถ้าหมดหวัง พวกเขาก็ต้องออกเดินทางไปหา “ชาติอื่น”

นี่คือภาวะ “ประเทศแตก” ที่หลายๆ สังคมซึ่งมีความขัดแย้งทางการเมืองภายใน เคยเผชิญหน้ามาก่อน และจะกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ-สังคมของรัฐไทยอย่างรุนแรง

เมื่อเมืองไทยกำลังก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย” อย่างรวดเร็ว ขณะที่ในทางเศรษฐกิจ ก็มีปัญหา “กับดักรายได้ปานกลาง” แต่พร้อมๆ กันนั้น กลับมีแรงงานมีฝีมือและไม่มีฝีมือจำนวนไม่น้อย หาลู่ทางอพยพออกนอกประเทศ