วันเสาร์, ธันวาคม 25, 2564

ปัญหาระบบ 'อยุติธรรม' ไทย ไม่เพียงผู้พิพากษาอำมหิต ราชทัณฑ์ยังทั้งเหี้ย มและกดขี่ เอาเปรียบแรงงาน

ปัญหาระบบ อยุติธรรมในไทย ไม่เพียงผู้พิพากษาคดี ม.๑๑๒ และ ๑๑๖ อำมหิต สั่งขัง ไม่ให้ประกันผู้ถูกกล่าวหา ติดคุกกันมาคนละหลายเดือนทั้งที่ยังไม่ได้เริ่มพิจารณาคดี โดยเฉพาะสี่แกนนำคณะราษฎร ๖๓ ถูกปฏิเสธปล่อยตัวอีกครั้ง นัยว่าตามสั่ง เทพจร

แล้วยังราชทัณฑ์เหี้ย ม กดขี่ เอาเปรียบ หากินกับแรงงานของผู้ต้องขัง ละเมิดทั้งปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และ พรบ.ราชทัณฑ์ไทย พ.ศ.๒๕๖๐ รายงานสืบสวนของ Thomson Reuters โดย นันท์ชนก วงษ์สมุทร์ บ่งบอกไว้อย่างงามหน้า

“ผู้ต้องขังในประเทศไทยถูกบังคับให้ผลิตอวนให้บริษัทเอกชนภายใต้การถูกข่มขู่ว่าจะมีการลงโทษ ซึ่งรวมไปถึงการทุบตีและการปล่อยตัวออกจากคุกช้าลง...ได้รับค่าจ้างเพียงเศษเสี้ยวเดียวของค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศ และบางคนไม่ได้รับค่าจ้างเลย”

กรณีที่ธอมสันรอยเตอร์เอ่ยถึง เป็นการบังคับนักโทษถักอวนส่งขายบริษัทเอกชนที่มาว่าจ้าง ในจำนวนเรือนจำ ๑๔๒ แห่งที่ได้รับการติดต่อสอบถาม มีเพียง ๕๔ แห่งยอมเปิดเผยสัญญาว่าจ้างผลิตอวน อีก ๓๐ แห่งมีสัญญาว่าจ้างผลิตสินค้าอย่างอื่น

“หนึ่งในผู้ว่าจ้างคือบริษัทที่ผลิตอวนที่ใหญ่ที่สุดของไทยที่ชื่อ ขอนแก่นแหอวน ซึ่งรายงานจาก Maia Research ระบุว่าปีที่แล้วบริษัทส่งออกอวนจำนวน ๒,๓๖๔ ตัน มูลค่าประมาณ $๑๒ ล้าน (๔๐๔.๑๘ ล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ”

กฎหมายการค้ามนุษย์ของไทยระบุว่า การบังคับใช้แรงงานเป็นความผิด ไม่เว้นราชทัณฑ์ซึ่งจ่ายค่าแรงต่ำมากแล้วยังทำร้ายร่างกายผู้ต้องขังที่ไม่สามารถผลิตสินค้า (อวน) ให้ได้ตามปริมาณที่กำหนดให้ “ถ้าไม่เสร็จถูกทำโทษ

ต้องถอดเสื้อไปกลิ้งหน้าถนนในเรือนจำ ไม่งั้นจะโดนไม้กระบองตี...อดีตผู้ต้องขังบางคนบอกว่าผู้คุมได้รับประโยชน์ทางการเงินจากงานที่พวกเขาถูกบังคับให้ทำ” นักข่าวธอมสันฯ พบว่า “มีการระบุว่าเงินจะถูกแบ่งระหว่างผู้ต้องขัง กรมราชทัณฑ์ และเจ้าหน้าที่เรือนจำ

...สัญญาว่าจ้างของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งกับเรือนจำจังหวัดศรีสะเกษระบุว่า เจ้าหน้าที่เรือนจำจะได้รับเงิน ๑๕% ของกำไรสุทธิของเรือนจำ” อดีตผู้ต้องขังคนหนึ่งเผยว่า “เขาเห็นผู้ต้องขังคนอื่นถูกเตะและตีเวลาที่ไม่สามารถผลิตได้ตามเป้าในแต่ละวัน”

ยังมีการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ต่อผู้ต้องขัง มากบ้างน้อยบ้างอยู่เสมอ โดยเฉพาะเมื่อผู้ถูกคุมขังเป็นผู้ต้องหาคดีการเมือง จากการชุมนุมและปราศรัยเรียกร้องให้มีการปรับปรุงและปฏิรูประบอบปกครองของประเทศ

กรณีหนึ่ง คณะกรรมาธิการการป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร แถลงผลการประชุมพิจารณาคำร้องเรียนของนางสาวรัชนก ศรีนอก กับคณะ ในนามกลุ่มคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย ว่าถูกเจ้าหน้าที่ตรวจเชื้อโควิดในยามวิกาล

“กมธ.ป.ป.ช.ได้มีความคิดเห็นว่าการที่นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฝ่ายปฏิบัติการ...บังคับให้ตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ และบังคับให้แยกห้องพัก ในวันเกิดเหตุหลังเวลาปกติ” เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิและเลือกปฏิบัติ

เกินกว่าเหตุ และเกินกว่าความจำเป็น ตามรัฐธรรมนูญมาตรา ๒๘ รวมทั้งไม่ต้องตาม พรบ.ราชทัณฑ์ ๒๕๖๐ เสียด้วย กรรมาธิการจึงมีข้อเสนอให้ราชทัณฑ์แก้ไขระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการตรวจผู้ต้องขังในยามวิกาล ทั้งยังขอให้สอบสวนการกระทำของรองอธิบดีคนนั้น

จะเห็นว่าตามหลักสิทธิมนุษยชน เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ หรือผู้คุม มิอาจปฏิบัติต่อนักโทษอย่างไร้ขอบข่าย หรือตามอำเภอใจได้เท่านั้น แต่นั่นราชทัณฑ์ไทยกลับใช้ระบบอยุติธรรม บังคับใช้แรงงานของผู้ถูกคุมขังเยี่ยงทาส ดั่งรัฐเผด็จการระนาบเกาหลีเหนือนั่นเชียว

(https://prachatai.com/journal/2021/12/96556 และ https://www.facebook.com/nanchanokw/posts/4683060805073694)