วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 30, 2564

“การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมว่ามันยังไม่จบ เรายังต้องสู้กันต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะชนะหรือแพ้” ชวนอ่านอีกครั้ง บทสัมภาษณ์ “สายน้ำ” เยาวชนอายุ 17 ปี ผู้ถูกจับกุมจากการเตรียมชูป้าย #ยกเลิกมาตรา112 วานนี้


“การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมว่ามันยังไม่จบ เรายังต้องสู้กันต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะชนะหรือแพ้ แต่ในส่วนของผมที่อยากจะบอกคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมอยากจะสู้ให้ถึงที่สุด และจะไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาด”

“สายน้ำของการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ไหลหวนกลับ”: บทสนทนากับเยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 กับเวลา 24 ชม. ก่อนฟังคำสั่งฟ้องคดี

28/03/2564
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในวัย 17 ปี เรื่องน่าหนักใจของเยาวชนหลายคนคงจะไม่พ้นไปจากปัญหาเรื่องความรัก ความไม่ลงรอยกันในความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนฝูง ความเข้าใจต่อการเติบโตสู่วัยรุ่นของคนในครอบครัว ความระทึกเมื่อวันสอบปลายภาคที่ใกล้เข้ามา หรือแม้แต่การตัดสินใจครั้งสำคัญที่อาจส่งผลต่ออนาคตอย่างการเลือกที่เรียนต่อในระดับอุดมศึกษา

แต่สำหรับ “สายน้ำ” (สงวนชื่อสกุล) นอกเหนือจากความกังวลในระยะเปลี่ยนผ่านของชีวิตเฉกเช่นวัยรุ่นทั่วไป เขาต้องเผชิญสิ่งที่หนักหนายิ่งกว่า คือการต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีมาตรา 112 – คดีความคดีแรกในชีวิต สืบเนื่องมาจากการใส่ชุดครอปท็อปเข้าร่วมในการชุมนุม #ม็อบ29ตุลา “รันเวย์ของประชาชน” หน้าวัดแขก ถนนสีลม เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563

แม้จะมีคดีเป็นชนักที่ติดหลัง และมีความหวังต่ออนาคตที่ตัวเองต้องแบกรับ เด็กหนุ่มยังคงมุ่งมั่นอย่างต่อเนื่องในการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยปราศจากความหวาดกลัว จากเยาวชนผู้ร่วมชุมนุม สู่การเป็นการ์ดมวลชนที่คอยดูแลความปลอดภัยในการชุมนุม ในวันที่ตัดสินใจแล้วว่าจะขอเทจนหมดหน้าตัก เพื่อจะได้เห็นการ #ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ กลายเป็นจริง

29 มีนาคม 2564 สายน้ำจะต้องเดินทางไปที่ส่วนงานรับฟ้องของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อฟังว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องคดีเขาหรือไม่

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนจับเข่าคุยกับนักกิจกรรมเยาวชนรายนี้ เรื่องราวการต่อสู้ตั้งแต่ครั้งที่ยังอยู่ในรั้วโรงเรียน ความมุ่งมั่นของสายน้ำที่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในสังคมไทย แม้ว่านั่นจะตามมาด้วยคดีความก็ตาม ราคาที่เยาวชนคนหนึ่งต้องแลกเมื่อตัดสินใจเปิดหน้าออกมาต่อสู้กับรัฐ และที่สำคัญที่สุด พลังใจจากครอบครัวที่คอยเคียงข้าง เมื่อไม่อาจปล่อยลูกชายเผชิญหน้ากับพายุของยุคสมัยได้เพียงลำพัง

.
คดีตอนนี้ที่เราโดนมีคดีอะไรบ้าง? ทางครอบครัวว่าอะไรไหมเกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวของเรา?

ผมโดนคดีแรก มาตรา 112 จากการใส่ชุดครอปท็อบในม็อบแฟชั่นโชว์เมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2563

คดีที่ 2 คือวันที่ไปให้กำลังใจ “เดฟ” ชยพล ดโนทัย (นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม) ที่ไปรายงานตัวที่ สภ.คลองหลวง ซึ่งถูกตำรวจจับกุมในคดี 112

ส่วนคดีที่ 3 ผมโดนจับในการชุมนุมเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ด้านหน้ากรมทหารราบที่ 1 เป็นครั้งที่ผมถูกยิงด้วยกระสุนยาง ก่อนถูกพาตัวไปดำเนินคดีต่อที่ สน. สุทธิสาร

ครอบครัวผมไม่ได้ห้ามเรื่องการเคลื่อนไหว เขาเองก็สู้ไปพร้อมกับเรา อย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ 28 พ่อผมเขาคอยดูไลฟ์เหตุการณ์สลายการชุมนุม แล้วเขาเห็นว่าเราเป็นหนึ่งในคนที่โดนจับ เขาก็ตามมารับเราที่ สน.

ครอบครัวค่อนข้างจะโอเคกับการที่เราออกมาต่อสู้เรียกร้องทางการเมือง แต่ว่าก็ยังห่วง อยากให้เราดูแลตัวเองมากๆ


จุดเริ่มต้นในการเข้ามาเคลื่อนไหวทางการเมืองเกิดขึ้นตอนไหน?

เป็นช่วงปีที่แล้วครับ ครั้งแรกๆ ที่ทำเลยคือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เพื่อวิพากษ์ระบบการศึกษาไทย เพราะช่วงนั้นมันมีกระแสเรื่องการเคลื่อนไหวภายในรั้วโรงเรียนด้วย เราก็เลยไปยืนเคารพธงชาติพร้อมชู 3 นิ้ว ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยตั้งแต่เช้าจนมืด แต่อันนั้นเป็นการทำเล่นๆ กับเพื่อนก่อนที่ผมจะลาออกจากโรงเรียน

ที่คิดจะลาออกเพราะรู้สึกว่า คนเราสามารถได้รับการศึกษาซึ่งดีกว่าที่ได้จากการศึกษาภาคบังคับ ผมรู้สึกว่าการเรียนในโรงเรียน ในระบบการศึกษาไทย มันไม่ได้ตอบโจทย์สำหรับผม เชื่อว่าโลกนอกห้องเรียนสามารถให้ความรู้ได้มากกว่า หลังจากลาออกแล้วก็เริ่มต้นเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัว แล้วก็เตรียมตัวอ่านหนังสือเพื่อสอบเทียบเข้ามหาวิทยาลัย

ผมเริ่มจากการเข้ามาทำงานเบื้องหลัง เป็นทีมการ์ดในที่ชุมนุม แล้วก็ค่อยย้ายมาอยู่ทีมการ์ดของ “แนวร่วมศาลายาเพื่อประชาธิปไตย” จนกระทั่งมาโดนคดี 112 จากการใส่เสื้อครอปท็อปที่ม็อบแฟชั่นโชว์ หลังจากโดนคดีนั้นเป็นคดีแรก ผมก็เริ่มเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวมากขึ้น มีการปราศรัยบ้างในการชุมนุมวงเล็กๆ

ต้องเล่าก่อนว่า จริงๆ วันนั้นที่เลือกใส่เสื้อครอปท็อป ไม่ได้ตั้งใจให้มันเป็นเรื่องขนาดนั้นด้วยซ้ำ ทีแรกต้องการใส่เล่นๆ กับเพื่อนแล้วไปเดินเล่นที่ม็อบ กลายเป็นว่ามันมีภาพเราที่หลุดออกไป แล้วผมก็โดนแจ้งความ

ตอนนี้ผมก็ยังเคลื่อนไหวอยู่ แต่อาจจะพักไปบ้างเพราะต้องอ่านหนังสือเตรียมตัวสอบ GED (การสอบเทียบวุฒิการศึกษาระดับมัธยมปลายในประเทศไทย ตามหลักสูตรการศึกษาของสหรัฐอเมริกา) เพื่อใช้ยื่นเรียนต่อที่มหาวิทยาลัย ภาคอินเตอร์ ที่เลือกไว้คือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้เลยต้องแบ่งเวลาระหว่างการไปศาลกับสถานพินิจ ซึ่งมีหลายนัดมากๆ ก็เลยต้องพยายามจัดสรรเวลาสำหรับทั้ง 2 ส่วน


อะไรคือแรงบันดาลใจให้เราก้าวออกมาวิพากษ์สังคมในประเด็นเชิงโครงสร้าง ซึ่งหลายประเด็นก็ต้องยอมรับว่าค่อนข้างเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของสถาบันกษัตริย์? อะไรคือผลกระทบที่เกิดตามมาจากการเคลื่อนไหว?

ต้องเล่าก่อนว่า ครอบครัวผมค่อนข้างที่จะสนใจการเมือง เราพูดคุยกันเรื่องนี้ตั้งแต่ตอนที่ผมยังเด็กๆ อาจจะเรียกว่าเป็นการปลูกฝังจากทางครอบครัว ตรงนั้นก็มีส่วนที่ทำให้ผมสนใจเรื่องการเมือง

จนเมื่อเกิดโควิด เกิดการประท้วงต่อเนื่อง ข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุมในตอนแรกไม่ได้แตะเรื่องสถาบันกษัตริย์เลย เน้นแค่เรื่องหยุดคุกคามประชาชน กับไล่ประยุทธ์ออก ต่อมาทางแนวร่วม มธ. ถึงได้เสนอข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ มันทำให้ผมย้อนกลับมาถามตัวเองว่า ที่จริงแล้ว ต้นตอของปัญหาเชิงโครงสร้างมันอยู่ตรงไหน?

จนพอหลังๆ เราก็เริ่มเข้าใจ จริงๆ แล้วสิ่งที่พวกเราพยายามจะแก้ไขมาโดนตลอดมันเป็นเพียงแค่ปลายทางของปัญหา ไม่ใช่ต้นตอ ต้นตอของปัญหาจริงๆ มันเชื่อมโยงกับสถาบันหลักของชาติซึ่งถึงเวลาแล้วที่จะต้องถูกแก้ไข

สิ่งที่ผมสนใจที่สุดในตอนนี้ ก็คือเรื่องของการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ แง่หนึ่งมันเป็นสิ่งที่ผมต้องเผชิญโดยตรง เพราะหมายแรกของผมคือ 112 ซึ่งมันไม่ใช่กฎหมายที่ชอบธรรม อีกทั้งยังมีเรื่องของกระบวนการนอกกฎหมาย สิ่งที่เจอคือการคุกคาม ก่อนที่จะได้รับหมายเรียก 112 มีคนขับรถมาจอดหน้าบ้านเพื่อถ่ายรูปผมกับครอบครัว เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีรูปผมในม็อบถูกส่งต่อๆ กัน

วันต่อๆ มาก็มีตำรวจไปที่โรงเรียนเก่า ไม่แน่ใจว่าจากหน่วยไหน เข้าไปถามข้อมูลผมจากเพื่อน มีการขับรถตาม ลองนึกภาพว่าคนที่โดนอะไรแบบนี้ ถ้าเป็นเด็กที่อายุน้อยกว่าผม เขาจะรับมือยังไง แล้วมันจะเกิดผลกระทบอะไรกับเขาบ้าง

ผมเชื่อมาตลอด คนเราทุกคนควรจะต้องเท่าเทียมกัน มันไม่ควรมีใครที่อยู่เหนือกว่าใคร แล้วยิ่งการใช้กฎหมาย 112 โดยเฉพาะหลังๆ เริ่มมีการนำมาใช้กับเยาวชน ผมเคยเป็นเยาวชนคนแรกที่อายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่ตอนนี้ คนที่โดนเล่นงานด้วยมาตรานี้ อายุก็ยิ่งน้อยลงไปอีก คือเด็กอายุ 14 ซึ่งเขายังเพิ่งเรียน ม.ต้นด้วยซ้ำ

การดำเนินคดีแบบนี้มันไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง มันคือการเอากฎหมายมาใช้เพื่อจัดการคนที่เห็นต่าง ทำไมแค่เราเห็นต่างจากรัฐ กลับต้องถูกเล่นงานด้วยกฎหมาย กลับต้องถูกคุกคาม

ตอนนี้มีปรากฏการณ์ที่เยาวชนจำนวนมากลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์สังคม รวมไปถึงประเด็นเรื่องสถาบันกษัตริย์ ที่ถูกยกขึ้นมาถกเถียงมากขึ้น เรามองปรากฏการณ์ดังกล่าวอย่างไรบ้าง?

มันเป็นปรากฏการณ์ที่น่าสนใจมาก เพราะว่าเด็กรุ่นใหม่สามารถตระหนักรู้ถึงปัญหา แล้วก็พยายามจะเปลี่ยนแปลงและแก้ไข เพื่อให้สังคมที่เขาจะต้องอยู่ต่อไปมันดีขึ้น การที่พวกเขากล้าพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา ตั้งแต่เรื่องนายกฯ ไปจนถึงเรื่องรัฐสวัสดิการ หรือปัญหาเล็กๆ น้อยๆ ก็ตาม เพราะว่าพวกเขารู้สึกว่าไม่ได้รับสิทธิต่างๆ ดีพอ

เด็กรุ่นนี้ถูกกดดันจากหลายทางมาก อย่างถ้าใครซักคนลุกขึ้นมาพูดเรื่องปัญหาภายในโรงเรียน เขาคนนั้นจะต้องเจอกับแรงกดดันทั้งจากในโรงเรียนเอง หรือแม้แต่นอกโรงเรียนก็ตาม ซึ่งมันไม่ใช่ เด็กควรจะต้องต้องมีสิทธิเสรีภาพในการพูด ซึ่งเป็นเป็นสิทธิอย่างแรกๆ เลยที่ควรจะมี

ส่วนที่เขาออกมาพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะสื่อฯ หนังสือที่เปิดพื้นที่ให้กับการพูดคุย ซึ่งแพร่หลายในยุคนี้ เราต้องยอมรับได้แล้วว่า สถาบันกษัตริย์อยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนานโดยไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงหรือแก้ไข และมันถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น แล้วบังเอิญว่ามันตรงกับยุคนี้พอดี

.
ตั้งแต่เข้ามาเคลื่อนไหวอย่างเต็มตัวก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว 3 คดี เรามีข้อสังเกตอะไรไหมเรื่องกระบวนการทางกฎหมายของผู้ต้องหาที่เป็นเยาวชน?

ผมมองว่าจริงๆ การใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐมักจะพุ่งเป้าไปที่คนที่พยายามออกมาเคลื่อนไหว เลือกคนที่ทำอะไรที่มันโดดออกมา เด่นออกมา เพราะเขาไม่สามารถจัดการกับผู้ชุมนุมได้ทุกคน เขาก็จะเลือกคนที่สะดุดตาที่สุด แล้วจัดการเชือดเพื่อให้คนที่เหลือในขบวนไม่กล้าเคลื่อนไหว ซึ่งมันไม่ได้ผล ยิ่งเขาจับ ยิ่งเขาให้หมาย ก็ยิ่งมีคนออกมาเคลื่อนไหวมากขึ้น

ในส่วนของกระบวนการทางคดีของเยาวชน มันจะมีกระบวนการที่มันหลายขั้นตอนมากกว่าของผู้ใหญ่ อย่างถ้าเราได้หมายเรียก ถึงจะเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตามกระบวนการ แต่ก็ต้องถูกนำตัวไปตรวจสอบการจับกุมที่ศาลเยาวชน ซึ่งก็ไม่เข้าใจว่าเขาจะมาตรวจสอบการจับกุมทำไม ทั้งๆ ที่เรามาตามหมายเรียกด้วยซ้ำ

เมื่อตอนที่ผมโดนจับกุมที่ม็อบ ในการดำเนินคดีครั้งที่ 3 จำได้ว่าวันนั้นผมไปถึงที่ม็อบก็สามทุ่มกว่า เพราะเห็นจากในภาพข่าวว่าคนที่ผมรู้จักถูกยิงในที่ชุมนุม ก็เลยตัดสินใจไป พอไปถึงก็เจอว่าเจ้าหน้าที่ล้อมคนไว้ทั้งหมด ไม่ยอมให้คนออก ไม่ยอมให้กลับบ้าน

บังเอิญว่าฝั่งตรงข้ามที่มีการสลายการชุมนุมมันเป็นปั๊มน้ำมัน คนก็นั่งกินข้าวกันไป ปฐมพยาบาลกันไป แล้วอยู่ ๆ ตำรวจก็วิ่งไล่มาทางผมที่กำลังอยู่ในปั้ม ก็เลยพยายามหนีออกไปทางที่คนเขาวิ่งกัน ระหว่างชุลมุน ผมเห็นว่ามีผู้หญิงล้ม ก็เลยช่วยดึงเขาขึ้นมา จากนั้นผมก็โดนกระสุนยางยิงเข้าที่หลังนัดหนึ่ง พยายามจะวิ่งต่อ ก็โดนยิงอีกนัดเข้าที่ขา หลังจากนั้นผมก็โดนตะครุบตัวลงไปกับพื้น โดนทั้งโล่ กระบองฟาดลงมา จำได้ว่าถูกกระทืบ ทั้งๆ ที่เขาล็อกมือผมแล้ว แต่ก็ยังกระทืบต่อ

การจับกุมในครั้งนั้นมันเป็นการจับกุมโดยไม่ชอบ เพราะมันมีการใช้ความรุนแรงทำร้ายร่างกาย จะบอกว่าผมขัดขืนก็ไม่ได้ เพราะผมถูกล็อกข้อมือ แล้วก็ไม่ได้มีการแจ้งสิทธิอะไรเลยระหว่างการจับกุม

แล้วพอถูกเอาตัวขึ้นรถ เขาไม่ได้เอาตัวเราไป ตชด. เพราะเห็นว่าเราเป็นเยาวชน เลยพาไปที่ สน.สุทธิสาร ผมโดนยื้ออยู่ที่นั่นทั้งคืน กว่าจะพาผมไปโรงพยาบาล ซึ่งในตอนเช้าผมเองก็มีนัดไปเคลียร์คดี 112 ตอนบ่ายผมยังต้องกลับไปศาลเพื่อทำเรื่องตรวจสอบการจับกุมของเจ้าหน้าที่อีก กระบวนการทั้งหมดมันวุ่นวายและยุ่งยากมาก ซึ่งในความเป็นจริงมันไม่ควรต้องยุ่งยากขนาดนั้น


สำหรับคดีความ 112 ที่กำลังจะต้องไปฟังคำสั่งฟ้องของศาลเยาวชนฯ ตอนนี้เรากังวลไหมเกี่ยวกับอนาคต? ตอนนี้เราเตรียมตัวแค่ไหนหากจะต้องสูญเสียอิสรภาพ? ได้เตรียมตัวไว้ยังไงบ้าง?

ไม่ได้กังวลครับ เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้ทำอะไรผิด อะไรจะเกิดก็คงต้องปล่อยให้เกิด ถ้าเขาจะจับเข้าที่คุมขัง ผมก็ไม่คิดที่จะหนี ถ้าเขาคิดว่าผมทำผิดก็มาสู้คดีกัน

ช่วงนี้ผมเองก็พยายามศึกษาว่า ชีวิตในสถานพินิจเป็นอย่างไร หากวันหนึ่งตัวเองจะต้องเข้าไปอยู่ แต่ก็หายากมากเลย ปกติเราจะได้ยินแต่ประสบการณ์ของคนที่ติดคุกเพราะคดีทางการเมือง แต่ยังไม่เคยมีใครออกมาเล่าว่า การต้องถูกคุมขังในสถานพินิจเพราะคดีทางการเมืองจะเป็นอย่างไร อาจจะเพราะไม่เคยมีเยาวชนคนไหนถูกขังเพราะออกมาสู้กับรัฐมาก่อน ผมก็พยายามหาอยู่ แต่ก็หาไม่ได้ซักที (หัวเราะ)


การที่รัฐเอามาตรา 112 กลับมาใช้อีกครั้ง แต่ในรอบนี้ใช้แบบเหวี่ยงแห แม้แต่กับเยาวชน สำหรับเรา คิดว่าการใช้มาตรการทางกฎหมายดังกล่าวสะท้อนให้สังคมเห็นอะไรบ้าง? แล้วในส่วนของการเคลื่อนไหวเอง คิดว่ามันจะไปจบที่จุดไหน?

สะท้อนให้เห็นว่า กระบวนการยุติธรรมไทยมันเริ่มเสื่อมลงแล้ว เพราะยิ่งเขาใช้กฎหมายกับคนหมู่มาก แม้แต่กับเยาวชน มันแปลว่าเขาเริ่มสู้ไม่ได้ เขาเลยต้องพยายามใช้กฎหมายและการคุกคามเพื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความหวาดกลัว เพื่อที่จะหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของประชาชน

การเคลื่อนไหวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา จนกระทั่งถึงตอนนี้ ผมว่ามันยังไม่จบ เรายังต้องสู้กันต่อไป ไม่รู้เหมือนกันว่าเราจะชนะหรือแพ้ แต่ในส่วนของผมที่อยากจะบอกคือ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ผมอยากจะสู้ให้ถึงที่สุด และจะไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาด