วันศุกร์, ธันวาคม 24, 2564

แถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์ เรื่อง คืนความยุติธรรมให้กับแกนนำคณะราษฎร


Pipob Udomittipong
9h ·

"ผู้พิพากษาทั้งหลายย่อมทราบความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวต่อผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี เพราะสาธารณชนได้พิพากษ์วิจารณ์ศาลในประเด็นนี้แล้วครั้งหลายคราว แถลงการณ์ครั้งนี้จึงตั้งข้อสงสัยต่อการรักษาความเป็นธรรมของผู้พิพากษา หากยังคงปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้อีก" #ปล่อยเพื่อนเรา

ศูนย์วิจัยฯ มหาวิทยาลัยหน้าบางแห่งหนึ่ง
15h ·
.
แถลงการณ์คณาจารย์นิติศาสตร์
เรื่อง คืนความยุติธรรมให้กับแกนนำคณะราษฎร
.
การนัดฟังคำสั่งขอปล่อยตัวชั่วคราวนายอานนท์ นำภา, นายพริษฐ์ ชีวรารักษ์, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และนายภานุพงษ์ จาดนอก ในวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2564 ที่กำลังจะมาถึง นับเป็นการยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งที่ 7 หลังการถูกจองจำในเรือนจำมานานหลายเดือนของนักกิจกรรมทั้งสี่ โดยเงื่อนไขการขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้ประกอบไปด้วยนักกิจกรรมทั้งสี่จะพำนักอยู่ในเคหสถานตลอดเวลา, จะไม่กระทำการใด ๆ อันเป็นการเสื่อมเสียแก่สถาบันพระมหากษัตริย์, และจะไม่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ในลักษณะเดียวกันกับการปล่อยตัวชั่วคราวของนางสาวปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ที่พึ่งได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวไป
.
ทั้งนี้ การตอบสนองคำขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้นอกจากจะเป็นบทพิสูจน์ความชอบธรรมของกระบวนการยุติธรรมไทย ก็ยังเป็นบทพิสูจน์ความเป็นมนุษย์ของอำนาจตุลาการ เพราะเงื่อนไขในการขอปล่อยตัวชั่วคราวครั้งนี้มีความเข้มงวดเป็นอย่างมาก มิพักต้องกล่าวถึงในกรณีที่อาจมีคำสั่งไม่อนุญาต คำสั่งดังกล่าวย่อมถูกวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนในสังคมอย่างแน่นอน
.
ผู้พิพากษาทั้งหลายย่อมทราบความสำคัญของสิทธิในการประกันตัวต่อผู้ต้องหาและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างดี เพราะสาธารณชนได้พิพากษ์วิจารณ์ศาลในประเด็นนี้แล้วครั้งหลายคราว แถลงการณ์ครั้งนี้จึงตั้งข้อสงสัยต่อการรักษาความเป็นธรรมของผู้พิพากษา หากยังคงปฏิเสธคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในครั้งนี้อีก
.
ตลอดสองปีที่ผ่านมา นักกิจกรรมทั้งสี่ท่านได้พิสูจน์ตนเองต่อสาธารณชนและศาลอยู่หลายครั้งแล้วว่าการกระทำของพวกเขาทั้งสี่นั้นเป็นการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองต่อการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุจริต กล้าหาญ จริงใจ ด้วยความปรารถนาดีต่อประเทศชาติและสังคมไทย ยิ่งไปกว่านั้น นักกิจกรรมทั้งสี่ล้วนแต่ยอมรับผลแห่งการกระทำดังกล่าวอยู่ครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมิได้พยายามหลบหนีหรือแสดงให้เห็นความพยายามในการยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานแต่อย่างใด
.
จริงอยู่ว่าที่ผ่านมานักกิจกรรมทั้งสี่ท่านยังคงแสดงออกในกิจกรรมทางการเมืองเพื่อเสนอให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องดังกล่าวหรือไม่ ผู้พิพากษาในฐานะที่เป็นที่พึ่งสุดท้ายของประชาชนก็สมควรปกป้องเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนอย่างถึงที่สุด และสมควรตระหนักได้แล้วจากพฤติการณ์ของนักกิจกรรมทั้งสี่ท่าน ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสุจริตในฐานะพลเมืองไทย ผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอย่างแท้จริง มิใช่การกระทำของอาชญากรที่กระทำความผิดแล้วหลบหนีคดีแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ การได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวมีความสำคัญอย่างยิ่ง มิใช่เฉพาะสำหรับการรักษาความสง่างามของระบบกฎหมายไทยในสายตาของอารยชนทั่วโลก และมิได้เพียงเพื่อให้ผู้ถูกกล่าวหามีโอกาสในการต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่เท่านั้น แต่สิทธิในการได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเป็นการอนุญาตให้ผู้ที่ยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่นั้นสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรี โดยที่สิทธิเสรีภาพในชีวิต ร่างกาย อนามัย การเดินทาง ตลอดจนเกียรติยศและชื่อเสียงของประชาชนจะไม่ถูกละเมิด จะไม่ถูกลิดรอน จะไม่ถูกด้อยค่า ให้อยู่ภายใต้สภาพแวดล้อมของเรือนจำอย่างไม่ชอบธรรม ผู้ถูกกล่าวหาสมควรมีสิทธิเสรีภาพที่จะดำเนินชีวิตอย่างเสรี รวมถึงมีสิทธิที่จะยืนยันในความคิดเห็นทางการเมืองของตนในฐานะที่ผู้บริสุทธิ์ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าการกระทำดังกล่าวมีความผิด
.
การต้องถูกควบคุมตัวในเรือนจำมิใช่เรื่องน่ารื่นรมย์ เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าชีวิตเรือนจำย่อมถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จตั้งแต่การตื่นนอน อาหารที่รับประทาน การใช้แรงงาน กิจกรรมที่ทำ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย ตลอดจนการสูญเสียโอกาสต่างๆ และย่อมทราบด้วยว่าความเป็นอยู่ในเรือนจำนั้นยากที่จะรับประกันความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และอนามัยของผู้ถูกควบคุมตัว ดังที่เห็นได้จากอัตราการติดไวรัสโควิด-19 ที่กรมราชทัณฑ์ได้เปิดเผยว่าในระหว่างวันที่ 12 พฤษภาคม – 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 นั้นมีผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นจำนวนถึงร้อยละ 12 ของจำนวนผู้ต้องขังทั้งประเทศ
.
ถึงจะไม่เห็นด้วยกับข้อเรียกร้องที่นักกิจกรรมทั้งสี่ได้พยายามผลักดัน แต่อย่างน้อยการทำหน้าที่ในการรักษาความยุติธรรมตามหลักการทางกฎหมาย อันหมายถึงการทำหน้าที่ในการรักษา “ความยุติธรรมระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” ผ่านระบบกฎหมายก็เป็นสิ่งที่ควรจะต้องได้รับการตระหนักถึงมิใช่หรือ
.
ผู้พิพากษาต้องไม่ปล่อยให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องเผชิญกับความอยุติธรรมจากกระบวนการยุติธรรม เพียงเพราะพวกเขาเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ให้มีสถานะที่สอดคล้องกับสังคมประชาธิปไตย
.
23 ธันวาคม 2564
.
คณาจารย์นิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
กฤษณ์พชร โสมณวัตร
ดรุณี ไพศาลพาณิชย์กุล
นัทมน คงเจริญ
ปารณ บุญช่วย
สมชาย ปรีชาศิลปกุล
.