วันเสาร์, ธันวาคม 25, 2564

วันนี้ (24 ธันวาคม 2564) ชี้ให้เห็นอีกครั้งว่าประเทศนี้ไม่มีความยุติธรรม ใช้อำนาจรัฐเข้าไปบังคับคน


way magazine
12h ·

เป็นอีกครั้งที่กระบวนการยุติธรรมถูกตั้งคำถาม หลังจากวันนี้ (24 ธันวาคม 2564) ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์, ทนายอานนท์-อานนท์ นำภา, ไมค์-ภาณุพงศ์ จาดนอก และ ไผ่-จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ด้วยเหตุผลว่าหากปล่อยตัวไป จะมีการกระทำในลักษณะเดิมซ้ำอีก และยังไม่มีข้อเท็จจริงให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

จากคำวินิจฉัยนี้ WAY จึงอยากเชิญชวนให้พิจารณาความเห็นของ ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่ได้ให้ข้อสังเกตต่อวงการนิติศาสตร์และกระบวนการยุติธรรม เพื่อเพิ่มมุมในการมองเหตุการณ์ข้างต้น

“ผมถามง่ายๆ ตรงไปตรงมาเลยว่า เราสามารถค้นหาความจริงได้จากห้องห้องหนึ่งที่มีคนใส่ชุดครุยขึ้นไปนั่งบนบัลลังก์ สามคน ห้าคน เจ็ดคน เก้าคน อย่างนั้นหรือ มันหาความจริงไม่ได้หรอก แล้วทุกวันนี้ก็รู้กันว่ามันซักซ้อมพยานกันมา ฝ่ายโจทก์ฝ่ายจำเลยก็เตี๊ยมกันมา ก็มานั่งถามตอบกัน แล้วคนที่นั่งอยู่บนศาลก็นั่งดูละคร แล้วก็ตัดสินว่าอะไรจริงอะไรเท็จ

“เราอาจบอกว่า นี่มันทันสมัยแล้วนะ เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อนต้องเอาไปดำน้ำลุยไฟ ถ้าใครรอดถือว่าพูดความจริง แต่ถึงอย่างนั้น ลึกๆ แล้วมันก็ไม่มีอะไรเลย ที่มนุษย์ดันไปเชื่อรัฐ ไปเชื่อว่ามีรัฐ ไปเชื่อว่ารัฐมีอำนาจในการลงโทษคนที่ไม่ทำตามที่รัฐสั่งหรือกำหนด

“พอผมเรียนนานขึ้น ผมเห็นว่า นี่มันเป็นสิ่งสมมุติ แต่ปัญหาก็คือ การศึกษาวิชานิติศาสตร์ ไม่ใช่เฉพาะของไทย ของโลกด้วย เขาศึกษาในลักษณะที่ไม่ให้ท้าทายความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย คุณเห็นต่างกันได้ คุณเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษานี้ได้ แต่กลับไม่มีใครรื้อถอนกฎหมาย คุณอาจจะบอก “คุณตัดสินอย่างนี้ไม่ดี หรือคุณออกแบบกฎหมายให้ทันยุคทันสมัยหน่อยสิ” แต่ไม่มีใครรื้อถอนพลังความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย หลังๆ ผมเลยรู้สึกว่า มันควรจะต้องมีนักกฎหมายที่เรียนมาเพื่อทุบหม้อข้าวตัวเอง นักกฎหมายจำนวนมากไปได้ไกลที่สุดก็คือวิจารณ์กับพิพากษา ปรับปรุงกฎหมายให้ดีขึ้น หวงแดนของตัวเอง ฉันมีความรู้ ฉันมีความเชี่ยวชาญ มันเป็นแบบนี้เพราะอะไร ก็เพราะว่าคุณถืออำนาจอยู่ไง คุณถืออำนาจในการชี้เป็นชี้ตาย

“สำหรับผม มันเป็นไปได้ยังไงที่คนคนหนึ่งมาขึ้นศาล แล้วต้องรอลุ้นว่า “ไอ้ฉิบหาย มึงจะให้ปล่อยตัวชั่วคราวหรือเปล่า มึงจะสั่งกูติดคุกหรือเปล่า” ชีวิตมนุษย์เรามันง่ายขนาดนั้นเหรอ ชะตากรรมของคนคนหนึ่งไปฝากไว้กับคนสามคนที่ใส่ชุดครุยบนบัลลังก์ แล้วเราให้ชื่อว่าผู้พิพากษา แล้วพวกนี้ก็บอกว่า “วันนี้มึงติดคุกว่ะ วันนี้ปล่อยตัว บริสุทธิ์ กลับบ้านไป” ผมว่ามันมีอะไรเยอะกว่านั้น เรื่องความยุติธรรม (justice) มันมีอะไรเยอะกว่านั้น และมันไม่ได้เกิดจากกฎหมายแน่ๆ ดังนั้นถ้าใครบอกผมว่านี่คือความยุติธรรมตามกฎหมาย สำหรับผมมันคือความรุนแรง (violence) มันคือการใช้อำนาจรัฐเข้าไปบังคับคน”

---
อ่านบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ที่:
ปิยบุตร แสงกนกกุล: ความจริงไม่อาจตัดสินได้จากคนบนบัลลังก์
https://waymagazine.org/from-piyabutr-to-new-gen/

text: อภิสิทธิ์ เรือนมูล
photo: อนุชิต นิ่มตลุง