วันจันทร์, ธันวาคม 27, 2564

ถ้าจะต้องสอนอะไรลูกหลานก็จะสอนว่าอย่าเป็นคนที่ทั้งปีไม่พูดอะไร แต่ท้ายปีมาทำเป็นตั้งฉายาเจ็บๆคันๆ แล้วอ้างว่ากล้าหาญ - อ.เข็มทอง - ฉายา “สภา 64”


MGR Infographics
13h ·

ฉายา “สภา 64”
.
นักข่าวตั้งฉายา “สภา 64” สภาอับปาง วาทะเด็ดวัคซีนเต็มแขน “ชลน่าน” คว้าดาวเด่น “สมพงษ์” ตกสวรรค์ “วิรัช” ดาวดับ ปธ.สุดอึด ได้ “ชวนพลังท่อม” วุฒิผู้เฒ่าเฝ้ามรดก คสช. แผนกบฏการเมืองล้มนายกฯเหตุการณ์เด่น ยกเลิกถาวรคนดีศรีสภา

วันนี้ (26 ธ.ค.) ที่ประชุมร่วมกันของผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภา ได้มีความเห็นร่วมกันในการตั้งฉายาของรัฐสภา เพื่อเป็นการสะท้อนการทำงานของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยมีข้อสรุปดังนี้

1. ฉายาสภาผู้แทนราษฎร : สภาอับปาง
สภาผู้แทนราษฎรเปรียบเสมือนเรือขนาดใหญ่ บรรทุกความรับผิดชอบชีวิตของประชาชนและงานบริหารราชการแผ่นดิน ด้วยวิธีการเห็นชอบร่างกฎหมายฉบับต่างๆ เพื่อให้หน่วยราชการได้มีอำนาจไปบำบัดทุกข์บำรุงสุขราษฎร แต่พบว่าเรือสภาลำนี้ในรอบปี 2564 กลับประสบปัญหาสภาล่มอับปาง โดยเริ่มตั้งแต่ปลายสมัยประชุมสามัญของรัฐสภา สมัยแรก และหนักข้อขึ้นตลอดเดือนพฤศจิกายน และธันวาคม ซึ่งตามปกติปัญหาสภาล่มไม่ใช่เรื่องปกติ แต่สภาชุดนี้กลับทำให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง จนกลายเป็นความซ้ำซาก และไม่คิดที่จะอุดรูรั่วของเรือเพื่อป้องกันปัญหา ทั้งที่ความจริงสภาล่มคือเรื่องใหญ่ เพราะนั่นหมายถึงงานราชการต่างๆ ที่รอให้สภาผ่านหยุดชะงักลง ทำให้ประเทศสูญเสียโอกาส เพียงเพราะ ส.ส.ฝั่งรัฐบาลไม่ตระหนักถึงหน้าที่ของ ส.ส. ประกอบกับตายใจว่าตนเองเป็นเสียงข้างมาก และพ้นจากภาวะเสียงปริ่มน้ำไปแล้ว จึงเข้าร่วมประชุมสภาน้อย ขณะเดียวกัน ส.ส.ฝ่ายค้านมัวแต่จ้องจะเล่นเกมการเมือง เมื่อเห็นว่า ส.ส.ฝ่ายรัฐบาลอยู่น้อย จะขอนับองค์ประชุมทันที และพร้อมใจไม่แสดงตนเป็นองค์ประชุม ทั้งที่อยู่ร่วมพิจารณาเรื่องต่างๆ ในที่ประชุมสภา ฉะนั้น การที่สภาอับปางบ่อยกว่าเรือล่ม จึงเป็นการสะท้อนว่า ส.ส.ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ยึดถือประโยชน์ประเทศชาติและประชาชนเป็นที่ตั้ง

2. ฉายาวุฒิสภา : ผู้เฒ่าเฝ้ามรดก (คสช.)
สมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ถูกมองว่าคอยทำหน้าที่ปกป้องเฝ้ารักษามรดกที่เป็นโครงสร้างและกลไกสืบทอดอำนาจของ คสช.อย่างเหนียวแน่น โดยเฉพาะการแก้รัฐธรรมนูญที่ทั้งฝ่ายค้าน และภาคประชาชนพยายามเสนอขอแก้ไขเรื่องการล้มล้างอำนาจ คสช. ทั้งการยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศ และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี การยกเลิกคำสั่งต่างๆ ของ คสช.และหัวหน้า คสช. การยกเลิก ส.ว.หรือริบอำนาจ ส.ว.ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ต่างถูก ส.ว.โหวตคว่ำ ไม่ให้ความเห็นชอบทุกครั้ง ใครที่คิดจะทำหรือแก้ไขกฎหมายที่มีผลกระทบต่อกลไกอำนาจของ คสช. จะถูกผู้เฒ่า ส.ว.ต่อต้าน ขัดขวางไปหมด เหมือนกับคอยพิทักษ์มรดกของ คสช.ให้อยู่สืบต่อไป

3. ฉายา นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร : ชวนพลังท่อม
ฉายานี้ได้มาจากการติดตามการทำงานของ “ชวน หลีกภัย” ทั้งการนั่งเป็นประธานบนบัลลังก์ในการประชุมสภา และการประชุมรัฐสภา ที่สามารถนั่งควบคุมการประชุมได้อย่างยาวนาน พลันเสร็จจากงานประธานในที่ประชุมก็ปฏิบัติภารกิจอื่นๆ อีกมากมาย ขึ้นเหนือล่องใต้เยี่ยมเยือนประชาชนทั่วประเทศอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ราวกับคนเคี้ยวใบกระท่อมที่จะมีเรี่ยวแรง อึด ถึก ทนมากเป็นพิเศษ

4. ฉายา นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา : ร่างทรง
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ทำงานให้ คสช.มายาวนาน ตั้งแต่สมัย คสช.เรืองอำนาจ ได้รับแต่งตั้งเป็นประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนมาถึงยุคปัจจุบันที่ คสช.กลายร่างมาเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง นายพรเพชร ก็ยังได้รับความไว้วางใจต่อเนื่องให้เป็นประธานวุฒิสภา เพื่อเป็นหัวขบวนของสมาชิกวุฒิสภาคอยช่วยเหลือสนับสนุนภารกิจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แต่บทบาทของนายพรเพชรในฐานะประธานวุฒิสภา ไม่มีความโดดเด่น ทั้งที่เป็นถึงประมุขสภาสูง และยังถูกมองว่าคอยสนองความต้องการของรัฐบาลเพียงอย่างเดียว ตำแหน่งประมุขสภาสูงของนายพรเพชร จึงเป็นเพียงหัวโขนทางการเมือง แต่ไม่มีอำนาจแท้จริง ไม่ต่างจากร่างทรงที่ถูกฝ่ายกุมอำนาจกุมบังเหียน ต้องคอยช่วยคอนโทรลให้การทำงานของวุฒิสภาเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาล

5. ฉายา นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร : สมพงษ์ตกสวรรค์
แม้ปีนี้มีการเปลี่ยนแปลงผู้นำฝ่ายค้านในสภา จากนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ เป็น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ก็ตาม แต่ นพ.ชลน่าน เพิ่งเข้ามาและยังไม่ได้โปรดเกล้าฯ ฉะนั้น จึงขอตั้งฉายาให้กับนายสมพงษ์ไปก่อน อย่างไรก็ตาม นายสมพงษ์ได้ตำแหน่งมาเพราะมีคนมอบให้ นอนมาแบบแบเบอร์ ไร้คู่แข่ง แต่ครั้นได้รับตำแหน่งกลับไร้บทบาท ไม่โดดเด่น มิหนำซ้ำเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ยังพลาด เช่น เมื่อปลายเดือนสิงหาคม ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายสมพงษ์ ก็เอ่ยชื่อ-นามสกุล พล.อ.ประยุทธ์ ผิดติดต่อกัน 2-3 ครั้ง กระทั่งมีการประชุมใหญ่สามัญพรรคเพื่อไทย นายสมพงษ์ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เท่ากับหลุดจากตำแหน่งผู้นำฝ่ายค้านในสภาโดยปริยาย จึงเปรียบได้ว่าเป็น “สมพงษ์ตกสวรรค์”

6. ดาวเด่นแห่งปี : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย
นพ.ชลน่าน มีบทบาทในวิปฝ่ายค้านมานาน แต่กลับพลาดตำแหน่งสำคัญๆ ทว่า คนเป็นดาวเด่นย่อมมีแสงในตัวเอง เขาโด่ดเด่นในสภาตลอดมา การอภิปรายสภาแต่ละครั้งมีหลักการและเหตุผล สามารถโน้มน้าวใจให้ ส.ส.เห็นด้วยกับสิ่งที่อภิปราย โดยไม่มีการใช้ถ้อยคำหยาบคาย สุดท้ายผลงานเข้าตาผู้ใหญ่ในพรรคเพื่อไทย จนได้รับการผลักดันให้เป็นหัวหน้าพรรค และขึ้นเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภา

7. ดาวดับ : วิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
อดีตประธานวิปรัฐบาลซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีบทบาท สมาชิกทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลต่างให้ความเชื่อถือและความเกรงใจ แต่ปรากฏว่า บทบาทของนายวิรัช ในฐานะประธานวิปรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมา การควบคุม ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ และ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่สามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธภาพ หลายครั้งเกิดเหตุความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.ภายในพรรคพลังประชารัฐ รวมถึงความขัดแย้งระหว่าง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกัน อีกทั้งเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ศาลฎีกาเเผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำเเหน่งทางการเมือง สั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ จากคดีทุจริตสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา สมัยที่นายวิรัชยังเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเพื่อไทย จากเหตุการณ์ทั้งหมดทำให้เขาเป็นดาวดับ

8. เหตุการณ์เด่นแห่งปี : แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี
ช่วงปลายเดือนสิงหาคม ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ฝ่ายค้านยื่นซักฟอก 6 รัฐมนตรี แต่ไฮไลต์กลับอยู่ที่นอกห้องประชุม เมื่อมีรายงานข่าวว่า ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมัยนั้นยังเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินสายล็อบบี้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ให้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ความลับนี้ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นข่าวใหญ่โต ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส.ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี เหตุการณ์นี้นำมาสู่ความขัดแย้งอย่างรุนแรงระหว่างนายกฯ กับ ร.อ.ธรรมนัส นายกฯมอง ร.อ.ธรรมนัส เป็นอากาศธาตุ อีกทั้งหลังเหตุการณ์นั้นไม่นานมีประกาศในราชกิจจานุเบกษาปลด ร.อ.ธรรมนัส ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยฯ จนถึงทุกวันนี้ความรู้สึกกินแหนงแคลงใจก็ยังคงอยู่

9. วาทะแห่งปี : “วัคซีนเต็มแขน”
คำชี้แจงของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เกี่ยวกับวัคซีน ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2564 ว่า “ไตรมาส 3 วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าที่ผลิตในประเทศไทย อยู่เต็มโรงพยาบาลแล้วครับ อยู่เต็มแขนของพี่น้องประชาชนคนไทยแล้ว” ภายหลังจากที่ชี้แจงในสภาได้กลายเป็นไวรัลในสังคมที่คุยว่าจะมีวัคซีนเต็มแขน แต่สุดท้ายวัคซีนไม่มาตามนัด เกิดการขาดแคลนวัคซีน ทำให้ประชาชนต้องดิ้นรนขวนขวายหาวัคซีนกันเอง จนกระทั่งช่วงปลายปีวัคซีนจึงเริ่มเข้ามาตามกำหนด และถึงแม้รัฐบาลจะหาวัคฉีนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ แต่ก็ยังล่าช้า เพราะยังมีประชาชนส่วนหนึ่งยังไม่ได้รับวัคซีน

10. คู่กัดแห่งปี : เสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และ วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
ในเวลาที่มีการประชุมรัฐสภาร่วมกัน ทั้งสองคนนี้มักโต้เถียงกันบ่อยครั้งและมีแนวโน้มจะไม่เลิกใช้คำพูดที่รุนแรง อย่างเช่นกลางดึกของวันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา ในการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของกลุ่มรีโซลูชั่น ต่างฝ่ายต่างไม่ลดละและท้าทายกัน โดยนายเสรีกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “โลงศพเขาไม่ได้ใส่คนแก่ แต่โลงศพเอาไว้ใส่คนตาย และคนตายบางทีอายุน้อยก็ตายได้” ทำให้ นายวิโรจน์ สวนว่า “ที่บอกว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนตาย ผมว่าไม่เกี่ยวเลย ผมขอแก้ว่าโลงศพเอาไว้ใส่คนปากอย่างท่าน” และนายเสรีโต้กลับอีกครั้งว่า “พอดีคุณวิโรจน์ปากเหมือนผม” ฉะนั้น เหตุการณ์นี้ถือว่าเลยเถิดเกินความสมควร

11. คนดีศรีสภา : ยกเลิกตำแหน่งนี้ถาวร
เป็นเวลาหลายปีแล้วที่สื่อมวลชนประจำรัฐสภาไม่ได้มอบตำแหน่งคนดีศรีสภาให้กับสมาชิกรัฐสภา เนื่องจากท่ามกลางความขัดแย้งทางการเมืองและปัญหาเศรษฐกิจ ไม่ปรากฏว่ามีสมาชิกรัฐสภาคนใดที่จะเป็นแบบอย่างที่ดีในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ดังนั้น สื่อมวลชนประจำรัฐสภาจึงมีความเห็นร่วมกันว่าสมควรยกเลิกตำแหน่งนี้เป็นการถาวร จนกว่าในอนาคตจะมีสมาชิกรัฐสภาที่มีความประพฤติที่เหมาะสมกับตำแหน่งดังกล่าวต่อไป
.
#ฉายาสภา64


Thanapol Eawsakul
20h ·

ดูการตั้งฉายาสภาผู้แทนราษฎรของบรรดานักข่าวประจำรัฐสภาก็เป็นข้อสรุปที่ชัดเจนของปัญหาใจกลางการเมืองไทย คือเรื่องสถาบันกษัตริย์
แต่สิ่งที่ น่าปวดใจไปกว่านั้น แต่กลับเป็นเรื่องที่ สื่อมวลชน กลับทำเป็นไม่รู้ไม่เห็น ขณะที่สังคมภายนอก ก็อธิปราย อย่างแข็งขัน
จากฉายาที่ตั้งกันมาสรุปว่าปี 2564 การอภิปรายในสภาก็เหมือนปีก่อนๆนั่นแหละ ไม่มีอะไรที่น่าตื่นเต้น เป็นเรื่องของนักการเมืองทะเลาะกัน
บรรดาผู้สื่อข่าวรัฐสภา พร้อมใจกันเพิกเฉยว่าปี 2564 มีหมุดหมายที่สำคัญ ในเวทีรัฐสภา คือการพูดและอภิปราย เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ อย่างน้อยก็เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ รัฐประหาร 2500 เป็นต้นมา
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ตั๋วช้าง ตอนต้นปี
หรืองบประมาณกษัตริย์ ช่วงกลางปี
แน่นอนว่า ถ้าปี 2565 ยังมี สภาผู้แทน ชุดนี้อยู่ และมีการ อภิปราย เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เหมือนเดิมก็จะถูกเพิกเฉยจากผู้สื่อข่าว รัฐสภาเช่นเดิม