ใครๆ ก็ว่า ’๖๕ ปีเสือ ‘ดุ’ เริ่มที่ สฤณี อาชวานันทกุล เอ่ยถึงมิติทางศีลธรรมและวัฒนธรรม “ดูทรงแล้วเผด็จการอำพราง aka ฟาสซิสต์แบบไทยๆ น่าจะลุแก่อำนาจมากขึ้น ใช้อำนาจแบบไม่แคร์ใครมากขึ้น” ชัดแจ้งในทาง ‘อยุติธรรม’ และขาด ‘มโนธรรม’ ชัดเจน
เธอบอกให้ #ตามดูอย่างใกล้ชิดกันต่อไป ในกรณี “ปราบปรามคอร์รัปชัน แต่ไม่แตะการฉ้อฉลเชิงอำนาจ” “เรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่แตะบทบาทสถาบันฯ และกองทัพ” กับ “ดันเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ไม่พูดถึงคดี ๑๑๒ และ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน”
อีกทั้ง “ผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ไม่แตะเมกะโปรเจกต์ที่รัฐไม่ (อยาก) กำกับ” และ “เรียกร้องให้ลดความเหลื่อมล้ำ แต่ไม่แตะอำนาจผูกขาด ไม่แตะการเก็บภาษีทรัพย์สินจากเศรษฐีในอัตราก้าวหน้า” เหล่านี้จะชี้ให้เห็นว่า ‘เป็นกลาง’ จริงๆ หรือแค่ ‘แท่ง’ กลาง
ส่วนทางปีกซ้ายของฝั่งโน้นเขียนไว้เป็นร้อยกรอง ว่า “ปีขาลปีเสือใหญ่ ความดุร้ายก็ย่อมมี” ทั้งจากโควิดใหม่กลายพันธุ์ คนตกงาน กิจการขาดทุน การเมืองไม่มีใครยอมใคร เสียแต่ว่า บัญญัติ บรรทัดฐาน แนะให้ “เศรษฐกิจก็พอเพียง” เอาแค่นี้ไม่ต้องโต
ถ้างั้นด้านการเมืองต้องหันมาฟังฝั่งนี้ จากสองนักรัฐศาสตร์ พวงทอง ภวัครพันธุ์ กับ ประจักษ์ ก้องกีรติ เอารายหลังนี่ก่อน เขาบอก “ระบอบเผด็จการจะถูกโค่นล้มได้ผ่านสองช่องทาง” ถ้าไม่จากการลุกฮือลงถนน ก็ต้องช่วยกันทำ “ผ่านคูหาเลือกตั้ง”
’จารย์ประจักษ์ว่า พรรคการเมืองที่เป็นแก่นให้คณะสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ในปี ๒๕๖๕ จะไม่เหมือนตอนปี ๒๕๖๒ เพราะความแตกแยก แก่งแย่ง หรือแค่ระหองระแหงก็ตามที “อย่าลืมว่าทั้งหมดนี้ที่เราพูดกัน การเลือกตั้งครั้งที่แล้วมันเกิดก่อนโควิด”
แน่นอนว่าโควิดทำให้รัฐบาลประยุทธ์บักโกรกไปกับประเทศ คนตายกว่าสองหมื่น “เป็นการเสียชีวิตที่ไม่จำเป็น ด้วยระบบสาธารณสุขที่ดีแบบไทย” แต่การบริหารจัดการของรัฐบาล ‘ล้มเหลว’ แม้ตอนนี้รู้ตัวและพยายามไล่ตามให้ทัน
จากการที่ อนุทิน ชาญวีรกูล “แทงหนังสือด่วนที่สุดถึงปลัด สธ. สั่งการให้ทุกองคาพยพของ สธ.พร้อมรับมือ Omicron หลังผู้ติดเชื้อพุ่งพรวด” คงจำกันได้นะว่านายคนนี้พูดไว้หลายหนว่า “โควิดกระจอก” คราวนี้ก็ยังพูดอย่างนั้นแต่การกระทำตรงข้าม
ถึงอย่างไรโบราณว่า ‘สันดาน’ แก้ไม่หาย ๗ ปีกว่าผิดพลาดซ้ำซากอย่างไร อีก ๑ ปี (และถ้าบวกสี่ได้) ก็มีโอกาสสูงกลับไปอย่างเดิม ฉะนั้นจึงมาลงที่ อจ.พวงทองว่า แม้เวลานี้คณะประยุทธ์จะแจกแหลก ก็ไม่ทำให้ ‘พลังประชารัฐ’ ได้แต้มต่อ
ในเมื่อประชากรไม่ได้ต้องการเป็น ‘ขอทาน’ ไปตลอดชีพ “ตรงกันข้าม ประชาชนส่วนใหญ่ต้องการโครงการขนาดใหญ่ที่จะพัฒนาสภาพเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น จนส่งผลให้พวกเขาได้รับผลประโยชน์ที่เป็นกอบเป็นกำในระยะยาวมากกว่านี้”
อาจารย์รัฐศาสตร์จุฬาฯ ผู้เป็นศิษย์เก่า มธ.กลับเป็นห่วงเรื่องอื่น ถ้า เลือกตั้งครั้งหน้าเกิด ‘แลนด์สไล้ด์’ ได้เหมือนฝัน ‘ฝ่ายประชาธิปไตย’ เป็นรัฐบาลละก็ จะจัดการอำนาจกันอย่างไร จึงย้อนไปถึงข้อกังวลของ 'สฤณี' มีอะไรต้องขุดรากถอนโคนบ้าง
“เบื้องต้นเลยขุดเรื่องคอร์รัปชั่น เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าไอ้ตัวระบอบที่มันขาดการตรวจสอบ ในที่สุดแล้วมันสร้างภาระให้กับประชาชนอย่างไร ไม่ต้องพูดถึงว่าหลายปีที่ผ่านมา เราสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจหรือสูญเสียชีวิตของประชาชนไปในช่วงโควิดอย่างไร”
กับความวิเศษวิโสของ ‘องค์กรอิสระ’ ซึ่ง ‘พวงทอง’ ยกตัวอย่าง “เช่น ถ้าพรรคเพื่อไทยชนะการเลือกตั้งแต่กลับถูกยุบพรรคอีกหน ก็มีความสุ่มเสี่ยงอย่างยิ่งที่จะผลักให้ ‘คนเสื้อแดง’ ไปผนึกรวมกำลังกับ ‘คนรุ่นใหม่’ เต็มตัว” จึงย้อนมาที่ปัญหาเวลานี้
“แนวคิดที่มองว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ไม่ควรตัดคะแนนกันเองในสนามเลือกตั้งทุกระดับ...พวงทองทักท้วงว่า การแข่งขันกันระหว่างพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยนั้นถือเป็นเรื่องปกติ” ฝ่ายตรงข้ามก็ลงแข่งกันเองในสนามเลือกตั้งเช่นกัน
“ถ้าคุณเริ่มบอกว่าก้าวไกลอย่าลงผู้ว่าฯ กทม. (เพราะ) ไปตัดคะแนนคุณชัชชาติ ซึ่งเราก็รู้กันอยู่ว่าคุณชัชชาติสนิทกับพรรคอะไร แล้วมวลชนพรรคไหนที่สนับสนุนเขาอยู่ มันก็จะเป็นก้าวต่อไปว่าในการเลือกตั้งระดับชาติ ก้าวไกลก็ไปแย่งที่นั่ง”
มันจึงเกิดประเด็นอัปลักษณ์ขึ้นว่าถ้างั้นก้าวไกลอย่าลงเลือกตั้ง ส.ส.ไปด้วยหรือ “ดิฉันคิดว่าเป็นการพูดที่ไม่แฟร์” พวงทองว่า “เสียงเลือกตั้งไม่มีใครผูกขาด เปลี่ยนได้เสมอ ประชาธิปไตยที่ดี มันต้องมีทางเลือก แข่งกันที่นโยบายสิ”
ยิ่งกว่านั้นที่ผ่านมาสองปีกว่า พรรคน้องนุชของฝ่ายนี้เป็นพวกที่ทำงานตรวจสอบ จี้ไช กระตุก กระทุ้ง และรับแรงกระแทกมากกว่าใครๆ คนที่งานหนักและเหนื่อยย่อมหงุดหงิดและเฮี้ยวเป็นธรรมดา จะให้คอยจ๊ะจ๋า คะ-ครับพี่ เท่านั้นหรือ
(https://www.matichonweekly.com/column/article_501631e8, https://facebook.com/100001454030105/posts/4823280137730406/?d=n และ https://www.facebook.com/SarineeA/posts/475986210563738)