วันอาทิตย์, ธันวาคม 26, 2564

หญิงไทยในเวียงจันทน์ เล่าประสบการณ์การนั่งรถไฟลาว-จีนครั้งแรก ไป-กลับ เวียงจันทน์-หลวงพระบาง กับความประทับใจ



ข้อคิดหลังนั่ง

จากประสบการณ์ในการนั่งรถไฟความเร็วสูงลาว-จีนในครั้งนี้โดยภาพรวมแล้วประทับใจในเรื่องการจัดการ ความตรงต่อเวลา ความสะอาดสะอ้าน และการให้บริการของเจ้าหน้าที่ ถ้าเทียบว่ารถไฟเพิ่งเปิดให้บริการเพียง 2 อาทิตย์ การดำเนินการต่าง ๆ เรียบร้อยดี แต่หวังว่าในอนาคตจะมีการบริการจองตั๋วออนไลน์ได้ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการเดินทางมายังสถานีที่ค่อนข้างไกลจากตัวเมือง ซึ่งยังไม่มีรถโดยสารสาธารณะให้บริการ

ในด้านความคุ้มค่าถ้าเทียบกับเวลาและประสิทธิภาพถือว่าคุ้มค่ามากสำหรับตั๋วชั้น 2 ที่ราคาถูกกว่าการเดินทางโดยเครื่องบินเกือบครึ่งหนึ่งและใช้เวลาใกล้เคียงกัน ยิ่งถ้าเทียบกับการเดินทางโดยรถโดยสารแล้วถือว่าคุ้มค่าอย่างยิ่ง ถ้าต้องนั่งบนถนนขรุขระคดเคี้ยวลาดชันกว่า 7 - 8 ชั่วโมง สำหรับการเดินทางชั้น 1 ถ้าเทียบกับชั้น 2 หรือเครื่องบินแล้วถือว่าไม่คุ้ม เพราะไม่ได้เพิ่มความพิเศษเข้าไปมากถ้าเทียบกับราคาที่ต้องจ่ายเพิ่มถึง 40% ของตั๋วชั้น 2


ภายใต้ตู้ชั้น 2 ของรถไฟเที่ยว หลวงพระบาง-เวียงจันทน์ เบาะนั่งเป็นสีแดง

หากมองในแง่การขนส่งและการพัฒนาระบบคมนาคม การมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมต่อเมืองสำคัญ ในลาวนับเป็นประโยชน์สำหรับประชาชนและการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะสินค้าเกษตรที่มีระยะเวลาสั้น เพิ่มทางเลือกในการเดินทาง การขนส่ง ประหยัดเวลาและค่าโดยสารที่ไม่ได้สูงมากแบบจับต้องยาก ทั้งนี้สำหรับประชาชนทั่วไปที่มีรายได้ขั้นต่ำประมาณ 4,000 บาทต่อเดือนค่าตั๋วโดยสาร 400 - 894 บาท นับว่าเป็นราคาค่อนข้างสูง แต่ก็ต้องกลับมาพิจารณาถึงวัตถุประสงค์ว่ารถไฟขบวนนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับผู้โดยสารเป็นหลักหรือเพื่อการขนส่งสินค้าระหว่างเมืองและระหว่างประเทศ ทั้งนี้หากมีการเพิ่มการบริการรถรับส่งสาธารณะจากตัวเมืองมายังสถานี และจากสถานีกลับเข้าเมืองจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก เนื่องจากค่าแท็กซี่เที่ยวละ 100,000 - 150,000 กีบ รวมกับค่าตั๋วก็พอกับค่าเครื่องบินพอดี

ในด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพียงแค่การบริการภายในประเทศในระยะเวลา 5 วันที่เปิดดำเนินการและมีผู้โดยสารใช้บริการไปแล้วกว่า 5,000 คน (ข้อมูลจากสื่อท้องถิ่น) ถือว่ารถไฟช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้มากทีเดียว เมื่อลาวเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวในปี 2022 ตามที่รัฐบาลได้ประกาศแผนไว้ คาดว่าจะมีผู้โดยสารใช้บริการเป็นจำนวนมาก เพราะสะดวกรวดเร็วและราคาสมเหตุสมผล โดยเส้นทางยอดนิยมน่าจะเป็นวังเวียงและหลวงพระบาง สำหรับอุดมไซนั้น ผู้นิยมการเดินป่าและสัมผัสธรรมชาติสามารถเที่ยวในเมืองอุดมไซได้



การเดินทางไปวังเวียงเนื่องจากมีทางด่วน ตัวเลือกในการนั่งรถไฟสำหรับคนท้องถิ่นอาจจะเป็นอันดับรอง นอกจากไม่มีรถยนต์ส่วนบุคคล รถไฟก็เป็นทางเลือกที่ดีเพราะรถโดยสารไม่สามารถแล่นบนทางด่วนได้จึงทำให้การเดินทางใช้เวลา 4 ชั่วโมงและสภาพถนนคดเคี้ยวลาดชันบางช่วงและขรุขระ ปัจจุบันเศรษฐกิจในวังเวียงค่อย ๆ ฟื้นตัวกลับมาแต่ก็ไม่มากเหมือนก่อนการระบาดของโควิด หลายกิจการต้องปิดตัวลงหรือประกาศขายทอดกิจการ การประชาสัมพันธ์กิจกรรมในวังเวียง อาทิ การพักผ่อนท่ามกลางธรรมชาติ พายเรือคายัก นั่งบอลลูนชมวิว หรือปีนเขา ยังไม่ค่อยเป็นที่นิยมจากคนท้องถิ่นมากนักทำให้เศรษฐกิจในวังเวียงยังไม่กระเตื้องเท่าที่ควร

สำหรับหลวงพระบาง ตั้งแต่รถไฟเริ่มเปิดดำเนินการ การท่องเที่ยวก็เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้งโดยเฉพาะช่วงวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ที่บางร้านขายดิบขายดีจนไม่มีเวลาพักผ่อน

"ผมดีใจที่ตอนนี้การเดินทางและขนส่งในประเทศลาวสะดวกสบายยิ่งขึ้น ตั้งแต่รถไฟเริ่มเปิดให้บริการก็มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาหลวงพระบางมากขึ้น จากที่หลายกิจการต้องปิดชั่วคราวและปิดตัวลงรวมถึงตลาดค่ำ ที่ตอนนี้เพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้ง" คนขับรถชาวท้องถิ่นกล่าว

"ผมก็อยากให้ประเทศเปิดเร็ว ๆ จะได้กระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนโควิดผมก็กลัวแต่เราก็ต้องป้องกันตัวเอง"

อ่านบทความเต็มที่ บีบีซีไทย