Atukkit Sawangsuk
7h ·
....จะเข้าใจความเคลื่อนไหวในช่วงนี้ได้ชัดมากขึ้น หากมองมันเป็นการปฏิวัติทางวัฒนธรรม แม้มีมิติด้านการเมือง, เศรษฐกิจ, กฎหมาย, ศีลธรรม, ศิลปะ, สังคม ฯลฯ เป็นประเด็นใหญ่ในการประท้วงทุกรอบก็ตาม นี่คือความหมายอย่างกว้างของคำว่า “วัฒนธรรม” เป็นการทบทวนและรื้อสร้างระบบความสัมพันธ์หลากหลายมิติของมนุษย์ในโลกยุคใหม่อย่างแท้จริง
กินความลึกซึ้งกว้างขวางกว่าเพลงเพื่อชีวิต, กว่าสัจนิยมสังคมทางวรรณกรรม, กว่าการปฏิเสธข้อวินิจฉัยทางวัฒนธรรมและวิชาการของปัญญาชนรุ่นเก่า ฯลฯ อันเป็นโฉมหน้าหลักของการปฏิวัติทางวัฒนธรรมในครั้งที่แล้ว (2516-2519)
การประท้วงของ “คนรุ่นใหม่” ในครั้งนี้ กลายเป็น “ลาน” ที่เปิดกว้างแก่ผู้หญิงซึ่งมีสำนึกถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศ, แก่ประเด็นปัญหาเรื่อง “เพศ” อันหลากหลาย, แก่การละเล่นที่แหกขนบประเพณีอย่างโจ่งแจ้ง, แก่คนเล็กคนน้อยที่ไม่เคยมีใครฟังเสียงของเขา เช่น คนจนเมือง, ชาวมลายูในสี่จังหวัดภาคใต้ซึ่งต้องใช้ชีวิตภายใต้กฎอัยการศึกมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน, แก่นักเรียนซึ่งถูกกดขี่ทั้งโดยระบบและโดยผู้บริหารสถานศึกษา ไม่เว้นแม้แต่ครู, แก่แรงงานข้ามชาติ ซึ่งไม่เคยมีใครเห็นว่าเป็นมนุษย์, แก่โสเภณีและผู้ขายบริการทางเพศทุกชนิด, แก่ภิกษุสามเณรที่ถูกองค์กรศาสนาของรัฐกดขี่ตลอดมา และแน่นอนแก่ “คนรุ่นใหม่” ซึ่งนับวันก็ถูกระบบเดิมปิดเสียงของเขาลงมากขึ้นทุกที
ถ้าเราอ่านการเคลื่อนไหวทั้งมวลในช่วงนี้เหมือนอ่านวรรณคดี เราก็จะพบสำนวนและการใช้ภาษา ซึ่งดูเหมือนเจตนาจะปฏิเสธ “ความเป็นไทย” แบบที่ยัดเยียดให้คนไทยสืบมาหลายชั่วคน จะเจตนาหรือไม่ก็ตาม แต่มันสั่นสะเทือนระบบถึงรากถึงโคน จะพูดถึงความเสมอภาคด้วยคำอธิบายของนักปรัชญาอย่างไร ก็ไม่เท่ากับการเรียกคนสถานะสูงในระบบว่ามึง, เหี้ย, ปรสิต หรือ ฯลฯ