ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
17h ·
หากปี 2563 เป็นปีแห่งการชุมนุมและการทลายเพดาน เมื่อเกิดการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยระลอกใหม่ ภายใต้การนำของเยาวชนคนรุ่นใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นอย่างเข้มข้น ทั้งในเชิงจำนวนและเนื้อหา กลายเป็นปรากฏการณ์ที่ทะลักทลายกรอบเพดานของการเรียกร้องทางการเมืองลง ในปี 2564 ก็นับได้ว่าเป็นปีของ “การโต้กลับของอำนาจรัฐ” ผ่านการปราบปรามผู้ชุมนุมและผู้แสดงออกทางเมืองอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในมิติของการใช้ “กฎหมาย” และ “กระบวนการยุติธรรม” เป็นเครื่องมือในทางการเมือง ทั้งจับกุมคุมขังแกนนำคนสำคัญ การกล่าวหาดำเนินคดีความ ทำให้เกิดภาระในด้านต่างๆ ต่อเหล่าผู้เคลื่อนไหว รวมทั้งส่งผลให้เกิดความหวาดเกรงจากประชาชนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น
.
ในปี 2564 ท่ามกลางการเรียกร้องทางการเมืองที่ดำเนินต่อมาจากปีก่อนหน้า สถานการณ์การดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองก็สืบทอดต่อเนื่องมา แต่นับได้ว่าเกิดขึ้นในวงกว้าง และในปริมาณที่เข้มข้นอย่างไม่เคยมีมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งเริ่มต้นการชุมนุมเยาวชนปลดแอก จนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564 มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองไปไม่น้อยกว่า 1,747 ราย คิดเป็นจำนวน 980 คดี
.
จากจำนวนคดีทั้งหมด มีจำนวน 150 คดี ที่สิ้นสุดไปแล้ว โดยมากเป็นคดีที่ตำรวจหรือศาลทำการลงโทษปรับ คดีจึงสิ้นสุดลง ทำให้ยังมีคดีอีกไม่น้อยกว่า 830 คดี ยังอยู่ระหว่างการต่อสู้ในกระบวนการต่างๆ
.
หากแยกสัดส่วนคดีตามภูมิภาค พบว่าเป็นคดีในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 785 คดี คดีในภาคกลางจังหวัดอื่นๆ และภาคตะวันออกรวมกัน จำนวน 22 คดี คดีในพื้นที่ภาคเหนือ จำนวน 73 คดี คดีในพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 70 คดี และคดีในพื้นที่ภาคใต้ จำนวน 30 คดี
.
หากนับจำนวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีซ้ำในหลายคดี โดยไม่หักออก และนำจำนวนบุคคลมาเรียงต่อกันแล้ว จะพบว่ามีจำนวนการถูกดำเนินคดีไปแล้วอย่างน้อย 3,325 ครั้ง
หากพิจารณาแยกเฉพาะปี 2564 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่เพิ่มขึ้นจากช่วงสิ้นปี 2563 จำนวนอย่างน้อย 1,513 ราย เป็นจำนวนคดี 835 คดี หรือคิดเป็นจำนวนคดีที่เพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งหลังของปี 2563
.
จากสถิติดังกล่าว ทำให้โดยเฉลี่ยแล้ว ในช่วงปี 2564 ที่กำลังจะผ่านไป มีผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรายใหม่ๆ เพิ่มขึ้นจำนวนกว่า 4 คนเศษในแต่ละวัน หรือมีคดีความทางการเมืองคดีใหม่ๆ เกิดขึ้นราว 2 คดีเศษในแต่ละวัน เท่ากับว่าทุกๆ วัน มีสถานีตำรวจอย่างน้อย 2-3 แห่ง ที่ต้องรับมือกับการกล่าวหาดำเนินคดีทางการเมืองต่อประชาชน ยังไม่นับคดีเดิมที่อยู่ในขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมชั้นต่างๆ
.
หากพิจารณาสถิติการดำเนินคดีแยกเป็นรายเดือนในปี 2564 เฉพาะผู้ถูกกล่าวหาที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน ไม่ได้นับจำนวนผู้ที่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน จะพบจำนวนคดีในแต่ละเดือน ดังต่อไปนี้
.
เดือนมกราคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 54 ราย คิดเป็นจำนวน 38 คดี
เดือนกุมภาพันธ์ มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 91 ราย คิดเป็นจำนวน 24 คดี
เดือนมีนาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 199 ราย คิดเป็นจำนวน 61 คดี
เดือนเมษายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 54 ราย คิดเป็นจำนวน 33 คดี
เดือนพฤษภาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 44 ราย คิดเป็นจำนวน 43 คดี
เดือนมิถุนายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 17 ราย คิดเป็นจำนวน 31 คดี
เดือนกรกฎาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 62 ราย คิดเป็นจำนวน 39 คดี
เดือนสิงหาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 404 ราย คิดเป็นจำนวน 208 คดี
เดือนกันยายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 297 ราย คิดเป็นจำนวน 173 คดี
เดือนตุลาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 178 ราย คิดเป็นจำนวน 102 คดี
เดือนพฤศจิกายน มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 48 ราย คิดเป็นจำนวน 61 คดี
เดือนธันวาคม มีผู้ถูกดำเนินคดีรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 63 ราย คิดเป็นจำนวน 22 คดี (นับจนถึงวันที่ 25 ธันวาคม 2564)
.
จะเห็นได้ว่าช่วงเดือนที่มีจำนวนคดีเพิ่มขึ้นมาก ได้แก่ เดือนสิงหาคม จนถึงราวเดือนตุลาคม ซึ่งเป็นช่วงที่มีสถานการณ์การชุมนุมทางการเมืองเข้มข้นขึ้น ทั้งการชุมนุมในรูปแบบคาร์ม็อบในจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ, การชุมนุมแทบจะรายวันของกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร และการชุมนุม “ทะลุแก๊ซ” บริเวณสามเหลี่ยมดินแดงและใกล้เคียง ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องในช่วงสามเดือนดังกล่าว
หากพิจารณาจำนวนคดีในทุกๆ ข้อกล่าวหา ที่แกนนำนักกิจกรรมทางการเมืองคนสำคัญๆ ถูกกล่าวหา ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 จนถึง 25 ธันวาคม 2564 แล้วพบว่า
.
“เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 43 คดี
.
“ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 30 คดี
.
อานนท์ นำภา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี
.
“รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 24 คดี
.
“ไผ่” จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี
.
เบนจา อะปัญ ถูกกล่าวหาคดีทางการเมืองไปแล้ว 19 คดี
.
ขณะที่นักกิจกรรมอีกหลายราย ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาค ก็ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนมากเช่นกัน คดีความเหล่านี้ สร้างภาระทั้งในแง่เวลา การเดินทาง ค่าใช้จ่าย และต้นทุนต่างๆ จึงยังเป็นปัญหาสำคัญของการเคลื่อนไหวทางการเมืองในปีต่อๆ ไป รวมทั้งการใช้ทรัพยากรของรัฐจำนวนมากไปกับการดำเนินกระบวนการเหล่านี้ ก็เป็นประเด็นปัญหาสำคัญเช่นกัน
.
ทั้งนี้นักกิจกรรมหลายคน ยังมีคดีจากการแสดงออกทางการเมืองที่ค้างคามาจากช่วงก่อนเดือนกรกฎาคม 2563 และคดีจากยุค คสช. ที่ยังต่อสู้คดีอยู่อีกด้วย ไม่ใช่เพียงคดีหลังจากเริ่มชุมนุมเยาวชนปลดแอกเพียงเท่านั้น
แม้ในปี 2564 จะมีแนวทางการพิจารณาสำคัญที่เกิดขึ้นในกระบวนการยุติธรรมอยู่บ้าง เช่น การพิจารณาสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ อันเนื่องมาจากเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง (จำนวนเท่าที่ทราบ 5 คดี) เนื่องจากเห็นว่าการชุมนุมไม่ได้เข้าข่ายทำให้เกิดการระบาดของโควิด-19 และไม่ได้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือการที่ศาลยกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ร้ายแรง กรณีของ “มายด์” ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล และยกฟ้องเฉพาะข้อหามาตรา 112 ในคดีคอมเมนต์วิพากษ์วิจารณ์เศรษฐกิจพอเพียงของนักศึกษาในจังหวัดจันทบุรี แต่แนวทางการดังกล่าว ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น เมื่อเทียบกับสถานการณ์ทางคดีทั้งหมด
.
แนวโน้มหลักท่ามกลางการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง คือพนักงานอัยการยังทยอยสั่งฟ้องคดีแทบทั้งหมด โดยไม่ได้มีการกลั่นกรองเพียงพอจากคดีความที่ถูกตั้งต้นในชั้นตำรวจ ซึ่งดำเนินการภายใต้อำนาจของรัฐบาลโดยตรง
.
จากจำนวนคดีทางการเมืองเฉียดพันคดี มีจำนวนอย่างน้อย 233 คดีที่ถูกสั่งฟ้องถึงชั้นศาลแล้ว โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ที่ทยอยถูกฟ้องขึ้นสู่ชั้นศาลอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทำให้คดีเหล่านี้จะทยอยมีกำหนดนัดหมายสืบพยาน และมีคำพิพากษาต่อไปในช่วงปีที่กำลังจะมาถึง ยังไม่นับคดีที่จะทยอยถูกสั่งฟ้องเพิ่มขึ้น หรือคดีใหม่ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในสถานการณ์ทางการเมืองในอนาคต
.
ในปีถัดๆ ไป การพิจารณาในชั้นศาลจึงน่าจะกลายเป็น “พื้นที่” สำคัญในการต่อสู้ เมื่อนักกิจกรรมและประชาชนจำนวนมากต้องทยอยเดินหน้าต่อสู้คดีความ ไปพร้อมกับต่อสู้ผลักดันข้อเรียกร้องทางการเมือง
.
รวมทั้งสังคมไทยเองในปีถัดๆ ไป จำเป็นจะต้องพิจารณาผลักดันการปฏิรูประบบกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ ทั้งสถาบันตุลาการ ตำรวจ อัยการ และราชทัณฑ์ ที่ถูกมองเห็นปัญหาจำนวนมาก จากสถานการณ์การใช้อำนาจรัฐในลักษณะ “นิติสงคราม” เช่นนี้
.
อ่านเนื้อหาทั้งหมดที่ https://tlhr2014.com/archives/39243