วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 30, 2564

“ระลอก 5 มาแน่” - ทำไมผู้เชี่ยวชาญจึงระบุว่าการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อสายพันธุ์เดลตา และน่ากังวลว่าจะไปไกลกว่าอังกฤษ



โควิด-19 : ผู้เชี่ยวชาญชี้การระบาดของเชื้อโอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อเดลตา

อิสสริยา พรายทองแย้ม
บีบีซีไทย
29 ธันวาคม 2021

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) กระทรวงสาธารณสุขประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์โอมิครอนในไทย ช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ว่า ในกรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 30,00-40,000 คน เสียชีวิตวันละ 170-180 คน ส่วนกรณีที่ดีที่สุด คาดว่าจะมีผู้ติดเชื้อวันละ 10,000 คน เสียชีวิตวันละ 60-70 คน โดยประชาชนต้องลดกิจกรรมการรวมกลุ่ม และมีการฉีดวัคซีนมากขึ้นในอัตรามากกว่า 4 ล้านโดสต่อสัปดาห์

ขณะนี้เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ชนิดนี้ได้แพร่กระจายไปแล้ว 17 จังหวัด มียอดผู้ติดเชื้อเกินกว่า 500 คน

ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักไวรัสวิทยา ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในไทยว่าน่ากังวล ทั้งจากความจริงที่ว่าเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วเป็นทวีคูณ และจากการที่ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ ยังได้รับวัคซีนโควิด-19 เพียง 2 เข็ม ขณะที่ประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่สูงเกินหนึ่งแสนคนต่อวัน และมีผู้ติดเชื้อโอมิครอนจำนวนมากอย่างในสหราชอาณาจักร ประชากรส่วนใหญ่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 แล้ว


ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา มั่นใจว่ายอดผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อเดลตา

"ดังนั้นตัวเลขตรงนี้ของไทยน่ากลัวว่าจะไปไกลกว่าอังกฤษ ด้วยอัตราการแพร่กระจายของเชื้อ และการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ที่ยังมีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ดี การที่คนไทยสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดอาจช่วยให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อไปถึงแสนไม่เร็วเท่าอังกฤษ แต่ท้ายที่สุดแล้วตัวเลขจะไม่ใช่หลักพันและหลักหมื่นอย่างที่รัฐบาลประเมิน" ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยนวัตกรรมสุขภาพสัตว์และการจัดการ ไบโอเทค บอกบีบีซีไทย

ดร.อนันต์ มั่นใจว่า ยอดผู้ติดเชื้อกลายพันธุ์โอมิครอนในไทยจะพุ่งแซงเชื้อเดลตาที่ยังระบาดอยู่ในหมู่ประชากรที่ยังไม่ได้รับวัคซีน นั่นไม่ได้หมายความว่าเชื้อเดลตาจะหมดไป แต่จะมีวงจรกลับมาระบาดได้อีก

โควิด-19: จากแทงม้าตัวเดียวถึงวัคซีนเต็มแขน สรุป 9 เหตุการณ์เด่นวัคซีนโควิดในรอบปี 2564
โควิด-19: กาฬสินธุ์พบ "คลัสเตอร์โอมิครอน" 21 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศทะลุ 200

เขาอธิบายว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้วสามารถติดเชื้อโอมิครอนได้ซึ่งจะช่วยให้มีภูมิคุ้มกันไวรัสกลายพันธุ์นี้ตามธรรมชาติ ในเวลาเดียวกันภูมิคุ้มกันเชื้อเดลตาเริ่มลดลงจากช่วงเวลารับวัคซีนที่ห่างออกไป ซึ่งภูมิคุ้มกันโอมิครอนก็ไม่สามารถป้องกันเชื้อเดลตาได้

"การระบาดจึงจะเป็นวงจรแบบนี้ ซึ่งเราคงจะหนีการติดเชื้อไม่ได้ มันจะอยู่อีกหลายปี แต่เชื่อว่าอาการของโรคจะน้อยลงเรื่อย ๆ คนที่ติดอาจป่วยน้อยลง จนไม่มีการเสียชีวิตเกิดขึ้น และกลายเป็นโรคประจำถิ่นเหมือนไข้หวัดใหญ่ ฉากทัศน์นี้จะเกิดขึ้น เว้นเสียแต่ว่าจะมีเชื้อกลายพันธุ์ที่ระบาดอย่างฉับพลันเหมือนโอมิครอนมาอีก"

อังกฤษยังไม่มีมาตรการใหม่

ในต่างประเทศ เช่นในอังกฤษรัฐบาลยังไม่ได้ออกมาตรการใหม่มาบังคับใช้นอกเหนือไปจากขอให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะอย่างบริการขนส่งสาธารณะ ให้ตรวจหาเชื้อโควิดก่อนไปเยี่ยมญาติที่เป็นคนชรา หรือผู้ที่สุ่มเสี่ยงว่าจะติดโรค ประชาชนต้องแสดงเอกสารว่าได้รับการฉีดวัคซีนครบก่อนจะเข้าไปในไนต์คลับและสถานที่ที่มีการรวมตัวของคนจำนวนมาก รัฐบาลยังขอให้คนทำงานที่บ้านหากเป็นไปได้

แต่ในสกอตแลนด์ตั้งแต่หลังวันคริสต์มาสเป็นต้นมา อนุญาตให้คนเข้าร่วมกิจกรรมในสถานที่ปิด ยืนได้ 100 คน นั่ง 200 คน และกลางแจ้ง ยืนหรือนั่งได้ไม่เกิน 500 คน และปิดบริการไนต์คลับ ในเวลส์ห้ามจัดกิจกรรมที่มีคนรวมตัวเป็นจำนวนมาก โดยกรณีที่เป็นสถานที่ปิด มีคนเข้าร่วมได้ไม่เกิน 30 คน กลางแจ้งไม่เกิน 50 คน ไอร์แลนด์เหนือปิดบริการไนต์คลับ ห้ามการเต้นรำในทุกสถานบริการ และห้ามจัดกิจกรรมในสถานที่ปิดที่ผู้เข้าร่วมต้องยืนรวมกันทั้งหมด

เมื่อวานนี้ (28 ธ.ค.) สหราชอาณาจักรรายงานยอดผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ว่ามีจำนวน 129,471 คน เสียชีวิต 18 คน ส่วนในไทย ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่เมื่อวานนี้ 2,305 คน เสียชีวิต 32 คน

เชื่อปลาย เม.ย.ผู้ป่วยส่วนใหญ่ในไทยจะติดเชื้อโอมิครอน

แต่ในไทยซึ่งเทศกาลฉลองปีใหม่กำลังจะมาถึง ดร.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย บอกบีบีซีไทยว่า กระทรวงสาธารณสุขประเมินว่าเมื่อผ่านพ้นวันสิ้นปีไปแล้ว ตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนน่าจะแตะหลักพันคน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงภาครัฐจะต้องเข้มงวดในการบังคับใช้ข้อกำหนดที่ออกมา ห้ามดื่มแอลกอฮอล์ หรือจัดกิจกรรมรวมกลุ่มในระยะใกล้ชิด และกวดขันการสวมหน้ากากอนามัย ในเวลาเดียวกันก็จะต้องประเมินความรุนแรงของโรค เนื่องจากข้อมูลทั่วโลกและในไทยชี้ว่าโอมิครอนมีความรุนแรงน้อยกว่าเดลตา จึงอาจยอมให้มีผู้ป่วยได้จำนวนหนึ่ง

"โอมิครอนวันละหมื่นอาจจะพอไหว เพราะเทียบเท่ากับเดลตาสองหมื่น ความรุนแรงลดลงครึ่งหนึ่ง ระบบโรงพยาบาลอาจพอรองรับไหว และหากประชาชนระวังตัวมากขึ้น โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าไม่น่าจะบอบช้ำมาก" รศ.นพ.นิธิพัฒน์ ระบุ


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล เชื่อว่าหากชะลอไม่ได้ ต้นเดือน ก.พ.ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะติดเชื้อโอมิครอน

ดร.นิธิพัฒน์ประเมินว่า หากสามารถชะลอสถานการณ์ได้ ก็คาดว่าเมื่อถึงปลายเดือนเมษายนผู้ป่วยโรคโควิดส่วนใหญ่ในไทยจะเกิดจากการติดเชื้อโอมิครอน แต่หากไม่สามารถชะลอได้ ต้นเดือนกุมภาพันธ์นี้ก็จะเห็นการระบาดของเชื้อโอมิครอนเป็นหลัก เขาอธิบายว่าทั้งหมดนี้ประเมินจากลักษณะการระบาดของเชื้อเดลตาที่เริ่มเข้ามาแทนที่เชื้ออัลฟาในช่วงเดือนพฤษภาคมปี 2564 แต่เมื่อถึงเดือนสิงหาคม เชื้อที่ระบาดส่วนใหญ่เป็นเชื้อเดลตาแล้ว

"เราจะยื้อเวลา เพื่อรอวัคซีนรุ่นใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในเดือนเมษายน โดยบริษัทผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลกรับปากว่าจะพัฒนาให้รับมือกับเชื้อโอมิครอนได้ ถ้าเราชะลอได้ ก็จะสูญเสียน้อย" นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย กล่าว

ขอมาตรการแบบ "พบกันครึ่งทาง"

ขณะที่ ดร.อนันต์ เห็นว่าสิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการในขณะนี้คือกำหนดมาตรการแบบ "พบกันครึ่งทาง" โดยรัฐบาลควรทำหน้าที่ระงับความเสี่ยงโดยใช้เทคโนโลยีและงบประมาณที่มีอยู่อย่างเกิดประโยชน์ที่สุดเพื่อให้ประชาชนยังทำมาหากินได้ และภาคธุรกิจยังเปิดต่อไปได้

เขาแนะให้รัฐบาลอุดหนุนเงินช่วยเหลือให้ประชาชนทุกครัวเรือน ซื้อชุดตรวจเร็วมาตรวจได้เป็นประจำ หากพบว่าผลตรวจจากชุดตรวจเร็วเป็นบวก ในกรณีคนหนุ่มสาวก็ให้รักษาตัวอยู่ที่บ้าน จนกว่าจะมีผลตรวจเป็นลบโดยไม่ต้องรอผลตรวจพีซีอาร์ซ้ำ แต่กรณีที่เป็นผู้สูงอายุและกลุ่มเสี่ยงจะต้องรีบให้การรักษาอย่างทันท่วงที

"ตอนนี้คนไทยไม่ค่อยกลัวโควิด แต่กลัวล่มจมมากกว่า รัฐบาลสามารถนำเงินที่เคยใช้อย่างในโครงการคนละครึ่งมาสนับสนุนประชาชนในส่วนนี้ได้ การให้เงิน 200 บาท ซื้อชุดตรวจ 4 ชุด คุ้มกว่าการที่ประชาชนต้องรอผลตรวจพีซีอาร์โดยที่ขยับทำอะไรไม่ได้ ธุรกิจ ร้านอาหาร ก็ทำอะไรไม่ได้ เพราะต้องปิด ต้องรอ 14 วัน ทุกอย่างพังทลายหมด"

นักไวรัสวิทยาบอกด้วยว่าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อโอมิครอนในไทยแตะระดับหมื่น การล็อคดาวน์ก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่ควรบริหารความเสี่ยงและปล่อยให้สถานการณ์อยู่ในสภาพสมดุล เช่น เปิดรับนักท่องเที่ยวให้เข้าประเทศ กำหนดระยะเวลากักตัว และตรวจหาเชื้ออย่างน้อยสองครั้ง เป็นต้น ในเวลาเดียวกันจะต้องเร่งจัดหาวัคซีนเพื่อฉีดเข็มที่ 3 ให้ครอบคลุมประชากรในประเทศมากที่สุด

โควิด : ถอดบทเรียนแอฟริกาใต้ เราได้รู้อะไรบ้างเกี่ยวกับโอมิครอน

เขายกตัวอย่างสหรัฐฯ ที่จะยกเลิกคำสั่งห้ามผู้เดินทางจากประเทศในแถบแอฟริกาใต้ 8 ประเทศ เข้าประเทศ ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคมนี้ เนื่องจากทางการเข้าใจรูปแบบการระบาดของเชื้อกลายพันธุ์และประชาชนได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 มากเพียงพอ

ทั้งนี้ เมื่อวานนี้ นายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ได้ออกประกาศประธานาธิบดี ยกเลิกคำสั่งห้ามเดินทางดังกล่าวแล้ว

ส่วนนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยเห็นว่าการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลงทะเบียนเดินทางเข้าประเทศอีกรอบนั้นควรพิจารณาจากสถานการณ์ก่อนและหลังปีใหม่ "หากเราสามารถทำให้มันกลายเป็นเชื้อประจำถิ่น ค่อย ๆ เพิ่มมาแทนเดลตา พัฒนาวิธีตรวจจับ เตรียมศักยภาพดูแลรักษา แล้วมาตกลงกันว่าแค่ไหนเราจะรับไหว ทั้งคนในประเทศตัวเอง และชาวต่างชาติ เพราะหากเปิดให้เข้ามาก็จะต้องมีเคสเพิ่มขึ้นแน่ หากภาคการแพทย์รู้สึกว่าไม่เหลือบ่ากว่าแรง ภาคอื่น ๆ ก็คงเดินไปด้วยกันได้"
...
ศาสดา
23h ·

ไอ่สัส นึกว่าจะมูฟออน
สองย่อหน้าสุดท้ายแม่งยังเชียร์ซิโนแวค สูตรไขว้


Voice TV
Yesterday at 7:09 PM ·

“ระลอก 5 มาแน่”
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์โควิด-19 ทั่วประเทศ มีการระบาดรวม 4 ระลอกแล้ว ปี 2564 เจอทั้งสายพันธุ์จี , อัลฟา, เดลตา และสายพันธุ์ใหม่ล่าสุดโอไมครอน จากรายงานของ GISAID พบว่าจำนวนรหัสพันธุกรรมของโอไมครอนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เชื่อว่าไม่เกิน 1-2 เดือน โควิดสายพันธุ์โอไมครอน จะเข้ามาแทนที่เดลตาแน่นอน เพราะติดต่อได้ง่ายกว่าเดลตา เดิมโอไมครอนมีจุดกำเนิดที่แอฟริกา แต่ตอนนี้กระจายไปครึ่งโลก
เนื่องจากยุโรปและอเมริกาเป็นแหล่งกระจายโรคได้ดี และเมื่อตรวจดูสายพันธุ์ย่อยของโอไมครอน ที่มีถึง 3 สายพันธุ์ BA1,BA2 และBA3 พบว่าการระบาดขณะนี้ยังเป็นโอไมครอน BA1 โดยที่ศูนย์เชี่ยวชาญฯ ได้มีการตรวจวินิจฉัยโอไมครอน จากตัวอย่างที่ถูกส่งตรวจ 96 คน พบเป็นโอไมครอน 40-50 คน แสดงว่าเชื้อโอไมครอนแพร่ได้รวดเร็ว ซึ่งการระบาดในระลอกที่ 3 และ 4 แทบแยกจากกันไม่ออก แต่เชื่อว่าหลังปีใหม่ 2565 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดในระลอก 5 ขึ้นแน่ หากเราไม่ช่วยกัน
เตือนอย่าชะล่าใจ
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ส่วนการตรวจหาเชื้อโอไมครอนใช้การถอดรหัสพันธุกรรมและเทคนิคการตรวจที่รวดเร็วภายใน 4 ชั่วโมง เตรียมถ่ายวิธีการตรวจให้กับสถานพยาบาลอื่น ซึ่งการตรวจเทคนิคนี้ด้วย RT-PCR ทราบผลใน 4 ชั่วโมง พร้อมสาเหตุที่โอไมครอนหลุดออกจากระบบ T&G นั้น ถือว่ามีมากกว่าระบบอื่น โดยยกตัวอย่างกรณีสามีชาวฝรั่งเศสและภรรยาที่เป็นช่างเสริมสวยเดินทางเข้าไทย ตรวจต้นทาง RT-PCR ไม่พบ ตรวจเมื่อเข้าไทยซ้ำ RT-PCR 24 ชั่วโมงก็ไม่พบ หลังไม่พบไปจิบไวน์กับเพื่อนที่บาร์ 11 คน จากนั้นไม่นานมี 1คน
ไม่สบายนอนโรงพยาบาล ตรวจพบโอไมครอน สันนิษฐานติดจากสามีภรรยา และจากนั้นเพื่อนทั้งหมดก็ติดโอไมครอน เชื่อว่า สามีภรรยานี้ติดเชื้อมาจากฝรั่งเศส เช่นเดียวกับเคส ครอบครัว 1 ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ลูกสาวติดโอไมครอน กักตัว แต่พ่อแม่และน้องชายไม่ติด ไม่กักตัว แต่เชื่ออีก 2-3 วันก็ติด ซึ่งในช่วงเวลานั้นทั้ง 3 คนก็ไปทำกิจกรรมอื่นก็เท่ากับมีการแพร่เชื้อในสังคม จะเห็นว่าขบวนการ T&G ไม่สามารถป้องกันโอไมครอนได้เลย
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ส่วนเคสมีข้าราชการระดับสูง มีไปประชุมร่วมหลายที่ ป่วยนอนแอดมิตที่ รพ.เอกชน ตรวจพบเชื้อโอไมครอน ลองนึกภาพว่าการทำงานต้องเดินทางไปไหนเยอะแยะ ติดต่อผู้คนมากมาย แสดงให้เห็นว่าเชื้อติดง่ายมากจากสายพันธุ์อู่ฮั่น 10 คน กินเหล้าร่วมกันติด 2-3 คน มาเป็นสายพันธุ์เดลตา 10 คน ติดเชื้อ 6-7 คน และโอไมครอน 10 คน ติดทั้ง 10 คน
และเชื้อไอไมคอรนหลบภูมิคุ้มกันได้ คนที่ติดโอไมครอนส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนมาแล้ว 2 เข็ม และไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ชนิดไหน แต่อัตราการรักษาใน รพ.ต่ำกว่าเดลตา แสดงว่ารุนแรงน้อยกว่า แต่ไม่สามารถระบุได้ชัดว่า ที่โรคมีความรุนแรงน้อยลง เพราะเชื้อหรือเพราะคนรับวัคซีน แต่ที่แน่นอนเชื้อไวรัสไอไมครอน ชอบเยื่อบุคอมากกว่าปอด
บูสต์เข็ม 3 โดยไม่รอครบ 6 เดือน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่า ดังนั้นเมื่อมีโอไมครอนเข้ามาจึงจำเป็นต้องให้วัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 โดยไม่ต้องรอให้ครบ 6 เดือน เนื่องจากภูมิคุ้มกันจะสูงใน 3 เดือนแรก และจากนั้นเดือนที่ 5 ภูมิคุ้มกันในเดือนที่ 4-5 ก็จะเริ่มลดลง อีกทั้งเป็นช่วงรอยต่อของเชื้อโอไมครอน ที่แพร่เร็ว และหากรอนานไว้แม้ภูมิคุ้นกันสูง และก็เสี่ยงติดเชื้อ จึงต้องร่นระยะเวลาการรับวัคซีนให้เร็วขึ้นเป็น 3 เดือนขึ้นไป โดยการฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 ใน กลุ่มวัคซีนเชื้อตายพบว่าภูมิขึ้น 10 เท่า
แต่ถ้าเป็นไวรัสเวกเตอร์ ภูมิขึ้น 100 เท่า และหากเป็น mRNA ภูมิคุ้มกันจะขึ้น 200 เท่า ทั้งไวรัสเวกเตอร์ และ mRNA ให้ภูมิสูงต่อสู้โอไมครอนได้ แต่ภูมิที่ขึ้นเร็วก็ลงเร็ว เป็นธรรมดา โดยการศึกษาพบว่า ใน mRNA ไม่ว่าจะรับครึ่งโดส หรือเต็มโดสภูมิขึ้นและต้องลงเป็นเรื่องปกติร่างกาย ไม่มีความแตกต่าง ขณะนี้ทางศูนย์ฯกำลังวิจัย เรื่องวัคซีนเข็ม 3 ทุกชนิด ต่อโอไมครอน
ศ.นพ.ยง กล่าวว่าจากการศึกษา การฉีดเชื้อตาย เข็ม 1 แล้วตามด้วย mRNA สูตรไขว้ ซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในผู้ใหญ่ 18 ปี ขึ้นไป 60 คน พบว่า ภูมิกันเท่ากับการรับไฟเซอร์ 2 เข็ม ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กที่จะต้องรับ mRNA 2 เข็ม หากรับสูตรไขว้ เชื่อว่าจะลดอาการข้างเคียง กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบได้ แต่ทั้งนี้การตัดสินใจรับวัคซีน เป็นดุลพินิจของผู้ปกครอง ไม่สามารถบอกว่าได้อะไรดีกว่ากัน ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี แม้มีความปลอดภัย
แต่จำนวนโดสที่ให้เด็กต้องแตกต่างกับผู้ใหญ่ ในสัดส่วน 1 ใน 3 เพราะช่วงตัดอายุเด็กกับผู้ใหญ่มีความใกล้เคียงกัน ที่ 11 ปี กับ 12 ปี มีความใกล้เคียงกัน ส่วนวัคซีนเข็ม 4 ที่พบคนเป็นรับใกล้เคียงกับเข็ม 3 พบว่า ให้ภูมิไม่แตกต่างกัน เพราะภูมิที่ขึ้นสูงก็ลงเร็ว โดยเข็ม 4 ควรพิจารณาให้กับบุคลากรทางการแพทย์ และกลุ่มเสี่ยงก่อน และจนถึงขณะนี้ทั่วโลกก็ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโอไมครอนโดยเฉพาะ
#VoiceOnline