วันพุธ, ธันวาคม 15, 2564

รมว. ตปท. สหรัฐฯ เยือนไทย เรื่องใหญ่คือ จีน-เมียนมา-ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 15-16 ธ.ค.


โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ ระบุถึงประเด็นการมาเยือนไทยเพียงสั้น ๆ ว่านายบลิงเคน "จะยืนยันความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ต่อพันธไมตรีในสนธิสัญญาระหว่างสหรัฐฯ กับไทย การทำงานเพื่อฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังการเกิดโรคระบาด และการรับมือสถานการณ์วิกฤตสภาพภูมิอากาศ" รวมทั้งจะหยิบยกประเด็นสถานการณ์ที่เลวร้ายยิ่งขึ้นในเมียนมามาพูดถึงด้วย ซึ่งเป็นประเด็นที่เขาจะหยิบมาหารือระหว่างการเยือนอีก 2 ชาติอาเซียน คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

"มันถึงเวลาแล้ว"

นายพิศาล มาณวพัฒน์ สมาชิกวุฒิสภา อดีตเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี ระหว่างปี 2558-2560 วิเคราะห์จังหวะการมาเยือนของนายบลิงเคนว่าเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ด้านการต่างประเทศของสหรัฐฯ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผ่านการคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดี

นายพิศาลกล่าวว่า นับตั้งแต่นายโจ ไบเดน เข้าพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อวันที่ 20 ม.ค. มีรัฐมนตรีและบุคคลระดับสูงในรัฐบาลหลายคนเดินทางมาเยือนประเทศต่าง ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมลอยด์ ออสติน รองประธานาธิบดีกมลา แฮร์ริส และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์จีนา ไรมอนโด แต่ยังไม่มีบุคคลระดับรัฐมนตรีของสหรัฐฯ มาเยือนไทยเลย ดังนั้น "มันถึงเวลาแล้ว" ที่สหรัฐฯ ต้องแสดงให้เห็นว่ายังให้ความสำคัญกับพันธมิตรเก่าแก่อย่างไทยอยู่

"ลองคิดดูว่าถ้าครั้งนี้รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ มาเยือนภูมิภาคและไม่มาอาเซียน ไม่มาไทย โดยเฉพาะเมื่อไทยกำลังจะเป็นเจ้าภาพการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ในปี 2565...ถ้าเผื่อนายบลิงเคนไม่มาไทยครั้งนี้ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม ผมคิดว่าคงมีความรู้สึกด้านลบเกิดขึ้นในไทย" กล่าวกับบีบีซีไทย

เว็บไซต์ของสถานทูตสหรัฐฯ ในไทยระบุว่า ไทยและสหรัฐอเมริกาติดต่อกันอย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2361 และลงนามในสนธิสัญญาไมตรีและพาณิชย์เมื่อปี พ.ศ. 2376 สนธิสัญญาฉบับนี้ถือเป็นจุดเริ่มต้นของมิตรภาพที่พัฒนาแน่นแฟ้นขึ้นตามกาลเวลา ปัจจุบัน ไทยและสหรัฐฯ ร่วมมือกันในโครงการต่าง ๆ หลายเรื่อง ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม สาธารณสุข ธุรกิจและการค้า ประชาธิปไตย ความมั่นคงและความร่วมมือทางการทหาร

สหรัฐฯ จะได้อะไร

นายพิศาลวิเคราะห์ต่อไปว่า การเยือนประเทศอาเซียนและไทยของนายบลิงเคนมีวัตถุประสงค์สำคัญคือเพื่อผลักดันนโยบายด้านการต่างประเทศรัฐบาลสหรัฐฯ ของรัฐบาลโจ ไบเดน ที่ตั้งอยู่บนหลักการสำคัญ 3 เรื่อง คือ 1) ประกาศให้โลกรู้ว่า "อเมริกากลับมาแล้ว" (America's back) 2) ส่งเสริมคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิเสรีภาพ และ 3) ทำให้นโยบายต่างประเทศเป็นสิ่งที่ "กินได้" คือเกิดประโยชน์โดยตรงต่อพลเมืองสหรัฐฯ ซึ่งทั้ง 3 เรื่องนี้ นายพิศาลบอกว่าล้วนแต่ "โยงไปถึงจีน"

แล้วสหรัฐฯ จะได้อะไรบ้างจากการเยือนไทยของนายบลิงเคน

• ยืนยันมิตรภาพกับไทย: ลบล้างความรู้สึกของคนบางส่วนที่ว่าสหรัฐฯ ห่างเหินและเฉยเมยกับประเทศไทยนับตั้งแต่การรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อปี 2557 อีกทั้งเป็นการบอกกับจีนว่า สหรัฐฯ มีความใกล้ชิดและร่วมมือกับไทยในหลายเรื่อง แม้แต่เรื่องความมั่นคงในภูมิภาค

• หาแนวร่วมเรื่องเมียนมา: สหรัฐฯ น่าจะเห็นว่าไทยสามารถดำเนินบทบาทที่สร้างสรรค์กับรัฐบาลทหารของเมียนมาได้ ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ ไม่สามารถทำได้ นายบลิงเคนจึงน่าจะใช้โอกาสนี้หารือหรือโน้มน้าวให้ไทยดำเนินการอะไรบางอย่างเพื่อผลักดันให้รัฐบาลทหารเมียนมาปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ข้อของที่ประชุดสุดยอดอาเซียนเมื่อเดือน เม.ย. ซึ่ง มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้นำรัฐประหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมด้วย

• ช่วงชิงบทบาทด้านเศรษฐกิจ: เพื่อสกัดการผงาดขึ้นของจีนด้านเศรษฐกิจ สหรัฐฯ จะต้องกลับมามีบทบาทในไทยซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน นอกจากจะสกัดจีนแล้ว ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและการลงทุนกับไทยยังจะทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์จากการส่งออก การค้า การลงทุนด้วย หรือทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นเรื่อง "กินได้" ตามนโยบาย



จะพูดถึงมาตรา 112-สิทธิมนุษยชนหรือไม่

นายพิศาลไม่ฟันธงว่าการมาเยือนของนายบลิงเคนจะมีการพูดถึงประเด็นอ่อนไหวอย่างเรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 หรือเรื่องสิทธิมนุษยชนหรือไม่ แต่เชื่อว่านายบลิงเคน "มีความเป็นมืออาชีพที่รู้ว่าจะมีวิธีพูดอย่างไรให้เป็นการพูดที่สร้างสรรค์ และได้ประโยชน์กว่าการที่จะมาเลคเชอร์เหมือนกับที่รัฐมนตรีของรัฐบาลในอดีตอาจจะเคยทำ"

"เท่าที่ผมเคยสัมผัสกับบลิงเคนตอนที่ผมอยู่วอชิงตัน ซึ่งขณะนั้นเขาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในรัฐบาลโอบามา เขาเป็นคนนุ่มนวล เป็นอดีตนักวิชาการ ทำงานด้านการต่างประเทศและความมั่นคงระหว่างประเทศให้พรรคเดโมแครตมาตั้งแต่ต้น เขามีความรู้ความสามารถด้านการเจรจา รู้จังหวะจะโคน รู้โอกาส...ผมคิดว่าเขาคงไม่ละเลยโอกาสที่จะหาทางพูดคุยในลักษณะที่มีความนิ่มนวล เกรงใจ เข้าอกเข้าใจ"

นายพิศาลกล่าวเพิ่มเติมว่าในการเยือนของผู้บริหารระดับสูงในลักษณะนี้ นอกจากกำหนดการที่เป็นทางการแล้ว สถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยมักจะจัดให้มีการพบปะกับบุคคลหรือองค์กรต่าง ๆ เพื่อรับทราบข้อมูลและความเห็นในประเด็นต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ สนใจ จึงต้องรอดูว่านายบลิงเคนจะมีการพบกับองค์กรที่ทำงานเรื่องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยหรือไม่

สุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาของฮิวแมนไรท์วอทช์ ประจำประเทศไทย มองว่า การมาเยือนไทยครั้งแรกของรัฐมนตรีต่างประเทศ สหรัฐฯ เกิดขึ้นในเวลาที่สถานการณ์สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยของไทย "อยู่ในสภาวะวิกฤติหนัก" นี่จึงเป็นบททดสอบสำคัญว่าจริง ๆ แล้วสหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมสิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตยหรือไม่

" มิตรภาพเก่าแก่ที่มีกับไทยจะทำให้สหรัฐฯ กล้าพูดถึงปัญหาอย่างตรงไปตรงมา หรือจะกลายเป็นเงื่อนไขให้ยอมปิดตาข้างหนึ่งแล้วคบหาสมาคมกับรัฐบาลประยุทธ์ต่อไปเพื่อหวังผลใช้ไทยเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการบรรลุเป้าหมายทางการเมือง ความมั่นคง และเศรษฐกิจในภูมิภาค"

อ่านบทความเต็มที่ บีบีซีไทย