จะ ‘ลาออก’ หรือ ‘ไล่ออก’ มันก็แป้ะเอี้ย เหตุเดียวกันคือ อยู่ด้วยกันไม่ได้ จะใช้มาตรา ๑๗๐(๒) หรือ ๑๗๑ ต่างกันแค่ออกตามครรลอง หรือออกด้วยฤทธิ์เดชของตัวหัวหน้า กรณีธรรมนัส-นฤมล นี่ชัด “เรื่องของผม” แสดงอำนาจบาตรใหญ่ สไตล์ ‘อิมพีเรียล’
ประเด็นอยู่ที่ไล่ออกฟ้าผ่าอย่างนี้ มีใครกระทือนซางบ้างไหม ทั่วๆ ไปไม่เห็นมี เว้นแต่เจ้าของคอกม้าอาจจะเกาหัวแกรกๆ บ้าง ดังชาวทวิตภพคนหนึ่งว่า “จ็อกกี้ปลดม้าตัวเก่งพร้อมพริตตี้” ถ้าอยากเก็บจ็อกกี้ไว้ ก็ต้องเสียม้าไปตัวหนึ่ง ม้าตัวนี้สำคัญแค่ไหน เดี๋ยวรู้กัน
หลังจากที่ ธรรมนัส พรหมเผ่า แถลงเรื่องความตั้งใจลาออกของตนผ่านไปเพียงครึ่งชั่วโมง ก็มีประกาศราชกิจจานุเบกษาออกมาทันใด ว่าได้กราบบังคมทูลพระกรุณา ให้รัฐมนตรี ‘บางคน’ พ้นตำแหน่ง ได้แก่รัฐมนตรีช่วยเกษตรฯ กับรัฐมนตรีช่วยแรงงาน
ทำไมพ่วง นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ไปด้วย บางคนไม่เข้าใจ แต่วงในชี้ว่าทั้งคู่เป็นมือไม้หลักให้หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจากหัวหน้ามือไม่ว่างเป็นครั้งคราว ต้องใช้เกาะไหล่ ทส.เวลาขึ้นลงบันได แล้วช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจ ‘บิ๊กอายส์’ ช่วยชักใยไม่เบา
ต่างกับที่ ‘วิปฝ่ายค้าน’ สุทิน คลังแสง พูดถึงการปลดสองรัฐมนตรีช่วยฯ ว่า “จะเกิดโทษ คือความปั่นป่วนในพรรคแกนนำจะมีผลต่อการบริหารประเทศ” เขายกตัวอย่างความอลเวงภายในพรรครัฐบาลหลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจถลกหนังรัฐมนตรี
“สภาแทบจะประชุมไม่ได้ ส.ส.รัฐบาลไม่มาประชุม ประธานสภารอลงมติไม่ไหวจนลุกหนีจากบัลลังก์ แสดงว่าความปั่นปวนเกิดขึ้นแล้ว” แต่ก็มีกรรมการบริหาร พปชร.ออกแถลงแก้ทันที “ไม่ได้มีปัญหาอะไรทุกคนรักกันดี และไม่มีผลกระทบตามมา
มั่นใจไม่มีกลุ่มก๊วนในพรรคออกตาม ร.อ.ธรรมนัส” สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงานยืนยันว่า ทุกคนที่เข้าไปรวมหัวกันอยู่ใน พปชร. เพราะมี ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นหัวหน้าพรรค “ไม่ได้มาเพราะร.อ.ธรรมนัสเป็นหัวหน้าพรรค”
ส่วนประเด็นจะมี ส.ส.รัฐบาลขาดประชุมกันบ่อยขึ้นไหม วิปรัฐบาล วิรัช รัตนเศรษฐ จะยังสามารถคุมเสียง ส.ส.เป็นปึกแผ่นอยู่ได้แค่ไหน คงต้องดูกันหลังจากวาระ ๓ ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญในวันนี้ผ่านไปก่อน ว่า ‘ดีล’ เดิมจะ ‘แห้ว’ ดังที่ สมศักดิ์ เจียม@somsakjeam ว่าหรือไม่
ในสภาวันนี้ การโหวตแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งเป็น ‘บัตรสองใบ’ พรรค พปชร.กับพรรคเพื่อไทย ได้ชิมลองหลักสูตร ‘แลนด์สไล้ด์’ กลายพันธุ์ เมื่อต่างขั้วรวมหัวกัน บวกกับพรรคที่ชอบรับ ‘ส้มหล่น’ ได้คะแนนเข้าพกไว้แล้ว ๓๐๐ ไม่หนี
ด้านพรรคร่วมรัฐบาลสองราย ภูมิใจไทยกับพรรคชาติไทยพัฒนา ที่แบะท่ากันไว้แล้วว่าจะให้ ‘ฟรีโหวต’ ไม่เข้าใครออกใคร ก็ไม่ปรากฏว่าจะมีการแหกคอกกันเท่าไร ในส่วนของภายในรัฐบาลที่ไม่ต้องการกฎหมายเลือกตั้งเอื้อพรรคใหญ่ น่าจะเพียงหยิบมือ
สว.กลุ่มย่อยๆ ประเภทเล่นการเมืองมากกว่าเป็นตรายาง แสดงตนออกมาแจ้งชัดแล้วว่าคัดค้านการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งในครั้งนี้ มี วันชัย สอนศิริ คำนูณ สิทธิสมาน เสรี สุวรรณภานนท์ และพรทิพย์ โรจนสุนันท์ เป็นอาทิ บวกกับ ส.ส.เอื้ออาทรอีก ๗ พรรคเล็ก
พรรคก้าวไกล ฝ่ายค้านหลักของการนำระบบบัตรสองใบกลับมาเอื้อพรรคใหญ่ ประกาศแล้วเช้านี้ว่าจะงดออกเสียงกันทั้งพรรค ด้วยความเห็นว่าการแก้รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ซึ่งเอื้อการสืบทอดอำนาจ คสช.นี้ ต้องแก้ทั้งฉบับ และเลือกตั้ง สสร.มาแก้
“แต่ผลออกมากลับผ่านเพียงร่างเดียว และแก้เพียง ๒ มาตราเท่านั้น” แม้นว่า “พรรคเห็นด้วยกับบัตรเลือกตั้ง ๒ ใบ” และเห็นควรให้ปรับระเบียบการนับคะแนนควบคู่ไปด้วย “แต่ผลลัพธ์ไม่ได้ออกมาเป็นไปตามที่ต้องการ” ในการพิจารณาวาระ ๑ และ ๒
ถึงอย่างนั้นการโหวตร่างฯ วาระสามก็ผ่านหลุย “ที่ประชุมรัฐสภานับคะแนนมาถึงคนที่ ๕๕๖ คน เสียงเห็นชอบแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ครบครึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภา คือ ๓๖๕ คน จาก ๗๓๐ คน โดยเป็นเสียง ส.ว.เห็นชอบ ๑๑๒ เสียง” ไอลอว์รายงาน
รูปการณ์ก็คือการเมืองในสภาถูกฝ่ายรัฐบาล ‘ลากไป’ ทั้งพรรค พปชร.และพรรค สว. ยากที่ฝ่ายค้านแท้จริงเพียง ๔๐-๕๐ เสียงจะทัดทานได้ มิน่าจึงได้เห็นพรรคเพื่อไทย เล่นการเมืองแนวใหม่ ที่คงมี ‘บางคน’ บอกว่า ‘สร้างสรรค์’ ร่วมงานกับพวกสืบทอดอำนาจได้
(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10165842371460551, https://www.matichon.co.th/politics/news_2932138, https://www.matichon.co.th/politics/news_2932143 และ https://news1005.mcot.net/view/613ac1f1e3f8e40731fd87e4)