วันเสาร์, กันยายน 04, 2564

ย้อมกลับไปคิดถึง แนวคิดและประวัติศาสตร์ ของคำ นายทุน - ขุนศึก – ศักดินา


Thanapol Eawsakul
3h ·

การกลับมาของ นายทุน - ขุนศึก - ศักดินา
.................
จากข้อเขียนของ Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม ที่รวบยอดความคิดในการอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้งที่ผ่านมา
กุมภาพันธ์ 2563 ป่ารอยต่อ
มกราคม 2564 ตั๋วช้าง
กันยายน 2564 ดาวเทียม
ออกมาเป็นข้อเขียน
[ทลายระบอบปรสิต นายทุนขุนศึกศักดินา]
จาก”ขุนศึกป่ารอยต่อ”ถึง”ศักดินาตั๋วช้าง”สู่”นายทุนผูกขาด”
https://www.facebook.com/rangsimanrome/posts/771433933613256
ทำให้ผมกลับไปนึกถึง กรอบวิเคราะห์ นายทุน - ขุนศึก – ศักดินา ซึ่งเป็นมรดกในการวิเคราะห์การเมืองไทยของ พคท. (ทุน-ปืน-วัง) และบวกด้วยปัจจัยภายนอกคือจักรวรรดินิยม อเมริกา
ข้อเขียนนี้พยายามย้อมกลับไปคิดถึง แนวคิดและประวัติศาสตร์ ของคำเหล่านี้
........................
1.ศักดินา
ภายหลังรัฐประหาร 19 กันยา 2549 มีข้อสังเกตเล็ก ๆ ของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลเขียนถึง “การกลับมาของ "ศักดินา" ในฐานะจินตภาพการเมือง”
(25 ธันวาคม 2549) ที่จะขอคัดมาลงดังนี้
http://somsakcouppostings.blogspot.com/.../blog-post_8371...
ผมจำได้ว่า เมื่อ 2-3 ปีที่แล้ว ผมเคยโพสต์ข้อความในเว็บบอร์ด ม.เที่ยงคืนเก่า โดยตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของคำว่า "ศักดินา" ซึ่งมีฐานะเป็น "จินตภาพแกนกลาง" (central organizing concept) ของ "การวิจารณ์ทางการเมือง" ของปัญญาชนปีกซ้ายของไทย เป็นเวลา 30 ปี (จากทศวรรษ 2490 ถึงทศวรรษ2520) โดยผมเสนอว่า อาจจะระบุอย่างแม่นยำได้ว่า คำนี้ "หายไป" ในงานของนิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่ปรากฏตัวตกผลึกในกลางทศวรรษ 2520 นั่นเอง กล่าวคือ นิธิเป็นนักคิด "ทวนกระแส" ระดับนำ คนแรกที่ไม่ใช้คำนี้ในฐานะ central organizing concept ในงานของตน ผมยังได้ตั้งข้อสังเกตเปรียบเทียบชะตาชีวิตของงานของนิธิ กับของนักคิดร่วมสมัยคนสำคัญอีกคนหนึ่ง คือ ฉัตรทิตย์ นาถสุภา ซึ่งในงานยุคเดียวกับนิธิ ยังใช้คำนี้เป็นจินตภาพใจกลางอยู่ (ไอเดียเรื่อง "วิถีการผลิตเอเซีย" ที่ฉัตรทิตย์ชูขณะนั้น เป็นการแตกแขนงออกมาจากไอเดียเรื่อง "ศักดินานิยม") ขณะที่งานในยุคนั้นของนิธิยังได้รับการตีพิมพ์ซ้ำมาโดยตลอดและมีฐานะเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน งานของฉัตรทิตย์ของยุคนั้น ถ้าพูดในแง่คุณภาพแล้ว ไม่อาจกล่าวได้ว่าแตกต่างกัน แต่การที่งานฉัตรทิตย์ไม่เคยได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอีกหลังยุคนั้น ไม่ใช่ปัญหาคุณภาพ แต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการ "ตาย" หรือ "หายจากไป" ของจินตภาพ "ศักดินา" นี่เอง สุดท้าย ผมยังชี้ว่า เป็นเรื่อง irony ที่ ต่อมา ในงานของฉัตรทิพย์เอง จินตภาพนี้ ก็หมดบทบาทไปด้วย (ถูกแทนที่ด้วยจินตภาพเรื่อง "ชุมชนหมู่บ้าน" และ "วัฒนธรรมชุมชน" และ "ชาวบ้าน" ในที่สุด)
โดยที่ผมหรือใครไม่คาดคิด พร้อมกับการเกิดรัฐประหารครั้งหลังสุดนี้ อันที่จริง ตั้งแต่ช่วงวิกฤติทักษิณเมื่อต้นปีนี้ คำว่า "ศักดินา" ได้กลับมาปรากฏตัวในการอภิปรายทางการเมือง (political discourse) อย่างสำคัญอีกครั้ง ที่ irony อย่างมาก คือ การปรากฏตัวอย่างเด่นที่สุดของคำนี้ เกิดขึ้นจากพวกที่เป็นแกนนำในการแอนตี้ทักษิณเอง! นั่นคือ นักโฆษณาชวนเชื่อเครือนสพ.ผู้จัดการ ได้ยกคำขวัญที่พวกเขาอ้างว่า เป็นของผู้สนับสนุนทักษิณขึ้นมาโจมตี คือคำขวัญว่า "ทุนนิยมชั่วช้า ดีกว่าศักดินาล้าหลัง" เมื่อผมเห็นบทความโจมตีคำขวัญนี้ของผู้จัดการครั้งแรก ผมอดยิ้มคนเดียวไม่ได้จริงๆ เกือบจะหัวเราะด้วยซ้ำ ที่พวกนี้ ซึ่งทำการเชิดชูยกย่อง "ศักดินา" อย่างขนานใหญ่ กลับกลายเป็นพวกแรกที่รื้อฟื้นคำนี้เข้าสู่ political discourse เสียเอง! "ศักดินา" คำประนามกลุ่ม-สถาบันทางสังคมบางกลุ่มนี้ ซึ่งเกือบจะลืมกันไปหมดแล้วหลายปี กลับมาเป็นคำสำคัญที่ใช้กันอีกครั้ง หลังรัฐประหาร แม้แต่ในบทความที่ตีพิมพ์ในหน้าหน้าหนังสือพิมพ์ (ตามเว็บบอร์ดยิ่งไม่ต้องพูดถึง) มีหลายครั้งที่มีผู้ใช้คำว่า "ขุนนางศักดินา" และเมื่อวานนี้ ผมก็ต้องทั้งแปลกใจและดีใจ ที่หนังสือพิมพ์ใหญ่แห่งยุค มติชน ตีพิมพ์บทความ "วิเคราะห์" ในหน้า 3 โดยใช้คำนี้เป็นชื่อบทความ! (2549 การเมืองหักมุม โค่น"ทุนนิยม"-ฟื้นศักดินา ติดเบรก"ประเทศไทย") ผมเห็นว่านี่เป็นเรื่องสำคัญและน่าสนใจมาก แม้ว่าคน
เขียน (พี่เถียร?) จะใช้คำนี้อย่างจำกัด และไม่ตรงนัก ให้หมายถึง "ข้าราชการ" (?) เท่านั้น ("...ไปสู่ระบบศักดินาที่มีข้าราชการเป็นใหญ่") แต่การ "ขึ้น" คำนี้เป็นชื่อบทความ ผมเห็นว่าสำคัญกว่า
.........................
จากข้อเขียนของสมศักดิ์ นั้นศักดินากลับมาเพราะมีการเริ่มโจมตีทางการเมืองของขบวนการต่อต้านทักษิณ ซึ่งจำนวนหนึ่งก็เป็นพวกซ้ายเก่า เอามาโจมตีพวกซ้ายเก่าที่มาทำงานให้ทักษิณว่าคนพวกนี้มองว่า "ทุนนิยมชั่วช้า ดีกว่าศักดินาล้าหลัง"
ในเวลานั้นก็มีการสร้างเรื่องเล่ามาเช่น ปฏิญญาฟินแลนด์ เว็บมนุษยะ ดอทคอม
ขณะเดียวกันนั้นก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถาบันกษัตริย์และเครือข่ายก็มาแทรกแซงการเมืองอย่างออกหน้าเช่นกัน ดังนั้นในฝ่ายที่ต่อต้านการแทรกแซงของ กษัตริย์และเครือข่าย ก็พร้อมจะเรียกรวมๆ ว่าเป็นการแทรกแซงของศักดินาเช่นกัน
นอกจากนั้นในคำนำเสนอ หนังสือ ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี ของณัฐพล ใจจริง (2563) ธงชัย วินิจจะกูลก็พูดถึงประวัติศาสตร์ของคำว่า“ศักดินา” ไว้ด้วยเช่นกันว่า
.........
เราจะถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็นการขยายต่อประวัติศาสตร์แบบที่สามนี้ให้มีคุณภาพสูงมาก หรือเราจะถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกรอบและโครงเรื่องแบบที่สี่ คงเป็นเรื่องต้องติดตามกันต่อไปว่าหนังสือเล่มนี้จะก่อให้เกิดการสอบสวนประวัติศาสตร์กระแสใหม่ที่เป็นผลสืบเนื่องจากหนังสือนี้มากน้อยขนาดไหน
สภาพการเมืองตามที่หนังสือเล่มนี้เสนอ เป็นบริบทช่วยให้เข้าใจปรากฏการณ์ทางการเมืองและสังคมอีกหลายอย่างในช่วงนั้น ตัวอย่างเช่น ช่วยให้เราเข้าใจว่ากระแสการต่อสู้กับ “ศักดินา” มิใช่เป็นเรื่องของฝ่ายซ้ายและพรรคคอมมิวนิสต์แต่ฝ่ายเดียว แต่เป็นส่วนหนึ่งของการเมืองกระแสหลักในขณะนั้นด้วย การวิพากษ์วิจารณ์ “ศักดินา” จึงสามารถทำได้อย่างเปิดเผยแพร่หลาย โดยไม่ถูกถือว่าเป็นการต่อสู้ของฝ่ายซ้ายเสมอไป วาทกรรมว่าด้วยศักดินาซึ่งเราเคยเข้าใจว่าเป็นของฝ่ายซ้ายและพบในงานวรรณกรรมของพวกมาร์กซิสต์เท่านั้น [Craig J. Reynolds, Thai Radical Discourse : The Real Face of Thai Feudalism Today (Ithaca, NY : Southeast Asia Program, Cornell University Southeast Asia Program Publications, Cornell University, 1987) หรือในภาษาไทย เคร็ก เจ. เรย์โนลด์ส, ความคิดแหวกแนวของไทย : จิตร ภูมิศักดิ์ และโฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน, แปล อัญชลี สุสายัณห์ (กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2534)] แท้ที่จริงเป็นวาทกรรมสาธารณะธรรมดาๆ คนอย่างเผ่าและจอมพล ป. ก็กล่าวถึง “ศักดินา” ในเชิงลบด้วยเช่นกัน
ประเด็นเล็กๆ อีกอย่างที่เกี่ยวกันก็คือ ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราท่านหลายคนคงลำบากใจว่าจะเรียกพวกเจ้าในแง่การเมืองว่าอย่างไรดี เรามักใช้คำว่า “พวกกษัตริย์นิยม” ซึ่งพอใช้ได้แม้เป็นคำที่ประดิดประดอยไปสักนิด ในช่วงก่อน 2500 คำไทยๆ ที่ใช้เรียกพวกเจ้ากันจนเป็นปกติ ไม่ประดิดประดอย สาธารณชนรู้จักคำนี้ดี และในความหมายเหมือน “พวกกษัตริย์นิยม” คือคำว่า “ศักดินา” บทความอย่าง “โฉมหน้าของศักดินาไทยในปัจจุบัน” ของสมสมัย ศรีศูทรพรรณ นามปากกาของจิตร ภูมิศักดิ์[บทความชิ้นนี้ตีพิมพ์ใน วารสารนิติศาสตร์ ฉบับรับศตวรรษใหม่ 2500 แล้วหายไปหลังรัฐประหารของสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ในปี 2501 แต่หลัง 14 ตุลา มีการตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือเล่ม จิตร ภูมิศักดิ์, โฉมหน้าศักดินาไทย (ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2517)] จึงอาจดูล่อแหลมอันตรายน้อยกว่าที่เรามองจากบรรยากาศใน 20-30 ปีหลังจากนั้นภายใต้ความคลั่งไคล้หลงใหลเจ้า (Hyper-royalism) หนังสือ ฝรั่งศักดินา ของคึกฤทธิ์ ปราโมช[คึกฤทธิ์ ปราโมช, ฝรั่งศักดินา (พระนคร : ก้าวหน้า, 2511).] ซึ่งเราเข้าใจกันว่าเป็นการตอบโต้ฝ่ายซ้ายโดยเฉพาะ โฉมหน้าฯ ของจิตร อาจจะเป็นการตอบโต้การที่คำนี้กลายเป็นศัพท์สาธารณะในทางลบในช่วงก่อน 2500 ก็เป็นได้
https://sameskybooks.net/index.php/product/9786167667881/
และสุดท้ายคำพูดถึงศักดินา ที่มีพลังทางการเมืองมากที่สุดคือคำปราศรัยของรุ้ง ปนัสยา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่นอกจากเสนอ 10 ข้อเพื่อปฏิรูปสถาบันกษัตริย์แล้วยังลงท้ายด้วยว่า
“ศักดินาจงพินาศ ประชาราษฎร์จงเจริญ”
2. ขุนศึก
เอาเข้าจริง ขุนศึก ในความหมายถึงการแทรกแซงของทหารในการเมืองไทยที่ชัดเจนตั้งแต่การรัฐประหาร 2490 เมื่อมาถึงทศวรรษ 2530 ไม่ว่าจะเป็นชัยชนะของนักการเมืองจากการเลือกตั้งคือชาติชาย ชุณหะวัณที่มาแทนที่เปรม ติณสูลานนท์ที่ครองอำนาจยาวนานถึง 8 ปี 4 เดือน ก็ทำให้บรรดา ขุนศึกถอยร่นทางการเมืองไปมาก พร้อม ๆ กับการยุติสงครามเย็นเมื่อสหภพโซเวียตล่มสลาย คอมมิวนิสต์ไม่ใช่ภัยทุกคามอีกต่อไป แต่ขุนศึก ชุดสุดท้ายคือบรรดา จปร. 5 ก็รัฐประหาร 2534 พยายามสืยทอดอำนาจในปีต่อมา แต่ก็เกิดการต่อต้านจนกลายเป้นพฤษภาเลือด ทำให้บรรดาขุนศึกต้องกลับกรมกอง
แต่เมื่อเกิดรัฐประหาร 2549 แม้จะกระทำโดยขุนศึก แต่ก็เป็น “รัฐประหารเพื่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ขุนศึกเหล่านี้ จึงเป็น ทหารของพระราชา ไปพร้อมกัน โดยหาได้มีอำนาจเด็ดขาดเหมือนกับบรรดาขุนศึกรุ่นพี่ ๆ ก็หาไม่
แต่บรรดาขุนศึกภายหลังจากรัฐประหาร 2557 ก็ประสบผลสำเร็จในการสร้าง “ระบอบประยุทธ์” คือการสร้างรัฐทหารและทุนนิยมแบบช่วงชั้น ขึ้นมา และสืบทอดอำนาจมาจนถึงปัจจุบัน
3. นายทุน
นายทุน หรือ กระฎุมพีไทย ก่อนหน้านั้นเป็น “คนนอก” ชองชนชั้นนำไทย มีหน้าที่เพียงสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและส่งส่วยให้กับชนชั้นปกครองในระดับต่าง ๆ กัน ตั้งแต่ข้าราชการตำแหน่งเล็ก ๆ เช่น ตำรวจจราจร ขุนศึก ที่คุมอำนาจทางการเมืองมากอย่างยาวนาน ไปจนถึงชนชั้นศักดินา
นายทุนไทยเพิ่งมามีบทบาทางการเมืองเมื่อระบอบเผด็จการทหารของขุนศึกล้มลงไปในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แต่ทว่านายทุน หรือกระฎุมพีไทยก็ยังไม่สามารถสร้างเกียรติยศและวัฒนธรรมของตัวเองได้ สิ่งที่ที่เราเห็นกันชินตาคือพวกเขาเหล่านั้นพยายามเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นศักดินาไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน ถวายเงิน หรือการขอเครื่องราชย์ ฯลฯ แน่นอนว่าเมื่อเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นศักดินาได้แล้ว พวกเขาก็จะได้รับอานิสงฆ์ทางเศรษฐกิจมาด้วย และกลายเป็นนายทุนผูกขาดในธุรกิจต่าง ๆ เช่นกัน
และยิ่งเมื่อขุนศึก ได้เถลิงอำนาจหลัง รัฐประหาร 2557 พวกเขาได้สร้างเครือข่ายกลุ่มทุนพลังประชารัฐ ที่รวมเอาบรรดานายทุนใหญ้เข้าไว้ใต้ระบอบอุปภักภ์ และพวกเขาก็ตอบแทนด้วยสัญญา สัมปทานต่าง ๆ เพื่อสร้างความมั่งคั่งยิ่ง ๆ ขึ้นไป
................
ที่น่าสนใจคือ ทำไมบทวิเคราะห์สิ่งที่เกิดขั้นในปัจจุบัน จึงสามารถเอากรอบคิดที่เหมือนจะ “ตกยุค” ไปแล้วกว่า 3 ทศวรรษ กลับมาใช้ได้ ดังสรุป [ทลายระบอบปรสิต นายทุน ขุนศึก ศักดินา] จาก”ขุนศึกป่ารอยต่อ”ถึง”ศักดินาตั๋วช้าง”สู่”นายทุนผูกขาด” ของ Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
หรือว่าเศรษฐกิจ การเมืองไทย ล้าหลังกลับไปขนาดนั้นเลยหรือ


Thanapol Eawsakul
10h ·

นี่คือตัวอย่างของการรับเทคโนโลยีแบบไทย
ไม่ว่าจะเทคโนโลยีก้าวหน้าแค่ไหน
สุดท้ายก็จบที่รับใช้กษัตริย์
ตัวอย่างผลงานการฟ้องของชัยวุฒิ รมว.ดีอีเอส ต่อการบรรยายเรื่องวัคซีนพระราชทาน ใครได้ ใครเสีย ของธนาธร
ที่แม้ว่าข้อมูลถูกต้องทุกประการ
ก็เป็นความผิดได้