วันเสาร์, กันยายน 04, 2564

สไลด์พร้อมเนื้อหาทั้งหมดของ รังสิมันต์ โรม ที่ใช้อภิปรายไม่ไว้วางใจ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

Rangsiman Rome - รังสิมันต์ โรม
พี่น้องสามารถดาวน์โหลด สไลด์ในการอภิปราย และภาพผังระบอบปรสิตความคมสูงได้ในลิงค์นี้ครับ https://drive.google.com/.../1UeBmoG4x5Eulgd4JcYe0dPQeaq1...



way magazine
9h ·

+รังสิมันต์อภิปรายสัมปทานใต้ระบบปรสิต ถาม รมต. “รับงานใคร”
15.20 น. รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เริ่มอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในพฤติการณ์จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง ทำลายบรรทัดฐานอันดีของสังคม มุ่งประโยชน์ทางการเมืองมากกว่าประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน ไม่มีความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ปฏิบัติตามการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี
รังสิมันต์ โรม อภิปรายว่าภายใต้รัฐบาลนี้มีขบวนการฮุบสัมปทานดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการขึ้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีของนายชัยวุฒิ โดยสัมพันธ์กับเครือข่ายทางธุรกิจอุปถัมภ์ โดยได้หยิบยกกรณีโครงการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ที่เริ่มมาในปี 2533 มีสัญญา 30 ปี และจะสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่จะถึงนี้ อันเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่ามหาศาล ได้กลายเป็นที่หมายปองของเครือข่ายอำนาจธุรกิจ
รังสิมันต์แบ่งผลประโยชน์เป็น 2 ก้อนใหญ่ ๆ 1. ผลประโยชน์จากดาวเทียมระหว่างกระทรวงดีอีเอสและบริษัทไทยคมจำกัด (มหาชน) และ 2. ผลประโยชน์จากดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่อยู่ในสัญญาที่กำลังจะสิ้นสุดในวันที่ 10 กันยายน นี้
เพราะก่อนที่สัญญาจะสิ้นสุดได้เกิดข้อพิพาททางคดีระหว่างกระทรวงและบริษัทไทยคม 3 คดี ที่ปัจจุบันได้เข้าสู่ขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีบุคคล 3 คน (ไทยคม 1 คน ดีอีเอส 1 คน และ 1 คน เป็นประธาน)
รังสิมันต์ชี้ให้เห็นว่าในคดีดาวเทียมไทยคำที่ 7 และ 8 พบข้อน่าสงสัย เพราะในทางปฏิบัติกระทรวงดีอีเอสจะต้องส่งเรื่องไปยังสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อส่งตัวแทนมาเป็นอนุญาโตตุลาการ ก่อนจะมีการเสนอชื่อให้ทุกฝ่ายรับทราบต่อไป
ทว่าเมื่อนายชัยวุฒิเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีฯ กลับมีหนังสือส่งถึงสำนักงานอัยการสูงสุด ลงนามโดยปลัดกระทรวงดีอีเอส วันที่ 11 มิถุนายน 2564 ให้เปลี่ยนตัว นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ อนุญาโตตุลาการที่ฝ่ายกระทรวงเคยตั้งขึ้น โดยให้เป็นอนุญาโตตุลาการคนเดียวทั้ง 3 คดี อ้างว่าทั้ง 3 คดีเป็นเรื่องเดียวกัน และเพื่อให้การดำเนินทุกคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
รังสิมันต์อธิบายว่า ตามกฎหมาย อนุญาโตตุลาการจะพ้นจากตำแหน่งได้จาก 3 กรณี คือเสียชีวิต ถอนตัว และถูกคัดค้านจากคู่ความอีกฝ่ายฯ ฉะนั้นฝ่ายที่ตั้งจะคัดค้านการตั้งของตัวเองไม่ได้ ปรากฏว่า มีการกล่าวหา นางสุรางค์ นาสมใจ ผู้ตรวจการอัยการ เท่ากับฝ่ายกระทรวงดีอีเอสกำลังทำผิดกฎหมาย
ที่น่าสนใจคือ ต่อมานางสุรางค์ได้ทำหนังสือถึงกระทรวงเพื่อถามความชัดเจนว่าตัวเองมีความบกพร่องตามที่กระทรวงกล่าวหาอย่างไร ทั้งที่การทำหน้าที่อนุญาโตตุลาการในคดีที่ตัวเองรับผิดชอบที่ผ่านมาไม่เคยบกพร่อง และในช่วงที่ผ่านมาฝ่ายไทยคมไม่เคยคัดค้าน เรื่องกลับพลิกอีกเมื่อต่อมา กระทรวงได้ยืนยันความเหมาะสมของนางสุรางค์ จึงไม่ขอเปลี่ยนแปลงอนุญาโตตุลาการ
แต่ถึงกระนั้น นางสุรางค์ได้ทำหนังสือโต้แย้งฉบับที่ 2 ระบุความไม่ชอบมาพากลหลังนายชัยวุฒิรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ซึ่งอาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังพบว่า อัยการสูงสุดมีการลงนามตั้งตัวเองเข้ามาทำหน้าที่ทั้งที่เคยถูกตั้งคำถามในเรื่องการทำหน้าที่ในช่วงที่ผ่านมา และที่อ้างว่า การเปลี่ยนแปลง อนุญาโตตุลาการ ก็เพื่อ 3 คดีเป็นเรื่องเดียวกัน ให้การดำเนินทุกคดีเป็นไปในทิศทางเดียวกัน นางสุรางค์ก็ได้โต้ว่า แต่ละคดีแม้จะเกิดจากสัญญาสัมปทานเดียวกัน แต่ก็ไม่ได้มีข้อเท็จจริงหรือข้อสัญญาเป็นแนวเดียวกันแต่อย่างใด เช่น ดาวเทียมไทยคม 7, 8 และ ดาวเทียมไทยคม 5 ซึ่งอาจจะเป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติราชการตามครรลองปกติ อาจก่อให้เกิดความไม่เชื่อมั่นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณชน จึงไม่ขอข้องแวะด้วย
ในเวลาต่อมา กระทรวงได้มีการแต่งตั้ง นายวงศ์สกุล กิตติพรหมวงศ์ อัยการสูงสุด เข้ามาเป็นอนุญาโตตุลาการเอง จากการตรวจสอบพบว่านายวงศ์สกุลเคยเข้าไปเรียนหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประธาธิปไตย (นธป.) ของศาลรัฐธรรมนูญปี 2561 ร่วมรุ่นเดียวกันกับนักธุรกิจรายหนึ่งชื่อย่อว่า ‘นายแย้ม’ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นบริษัทไทยคม ถึงตรงนี้รังสิมันต์ได้ตั้งคำถามว่าการที่นายชัยวุฒิเลือกบุคคลดังกล่าวเข้ามาสังคมได้ประโยชน์อะไรในเรื่องนี้ หรือสร้างความเชื่อมั่นให้กับใครบางคนกันแน่
จากการตรวจสอบต่อไป พบว่า หลังจากอนุญาโตตุลาการคนดังกล่าวทำหน้าที่ได้เพียง 1 เดือน วันที่ 7 กรกฎาคม 2564 กลับได้มีการถอนตัว อ้างว่ามีภารกิจราชการอื่นจำนวนมาก ปรากฏว่ามีการตั้งอนุญาโตตุลาการขึ้นมาแทน กลับเป็นเลขานุการของคนเดิม ซึ่งเคยเป็นอนุญาโตตุลาการแต่เดิมเข้ามาทำหน้าที่
จนกระทั่งถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2564 ได้มีการตั้ง พฤฒิพร เนติโพธิ์ เป็นอนุญาโตตุลาการ พบว่าเคยตามรอยรุ่นพี่ อดีตอธิบดีอัยการคนหนึ่งเข้ามาทำหน้าที่ ก็เป็นบุคคลที่ได้รับแต่งตั้งเรียนหลักสูตรเดียวกับนักธุรกิจรายหนึ่งซึ่งถือหุ้นในบริษัทไทยคมอีกเช่นกัน ฉะนั้น การที่คุณพฤฒิพรเคยเป็นหนึ่งในคณะทำงานสู้คดีดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ให้กับฝ่ายกระทรวงดีอีเอส ย่อมรู้จุดแข็งจุดอ่อนของข้อมูลและสำนวนคดี ไม่ต่างอะไรกับการเอาอดีตทนายความที่เคยถูกจ้างให้ทำคดีมาเป็นผู้พิพากษาในคดีเดียวกัน ย่อมเป็นที่กังขาถึงความเป็นกลาง ถึงความเป็นอิสระ ถึงผลประโยชน์ทับซ้อนได้ ท่านรัฐมนตรีฯ แต่งตั้งคนที่มีความเป็นมาเช่นนี้มานั่งแบบนี้ไม่ได้ นี่คือเรื่องร้ายแรง แสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริต
ดังนั้น ต่อให้สุดท้ายผลการพิจารณาออกมาชี้ขาดว่าฝ่ายกระทรวง เป็นผู้ชนะคดี ในเวลาต่อไปก็จะถูกฝ่ายไทยคมเอาไปเป็นเหตุขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด โดยอ้างว่ากระทรวง ตั้งคนที่ตัวเองรู้ดีว่าเป็นคณะทำงานสู้คดี มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับตน รังสิมันต์ คาดการณ์ว่าความเสียหายถ้าหากมีการล้มคดีจากกรณีนี้อาจจะมากถึง 18,189 ล้านบาท กระบวนการสู้คดีที่ควรจะเป็นปกติกลับมีข้อสงสัย มีการเปลี่ยนอนุญาโตตุลาการถึง 3 ครา ในช่วงเวลาเพียง 6 เดือนที่นายชัยวุฒิมานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีฯ นายรังสิมันต์กล่าวว่า “ถามจริงๆ ท่านรับงานใครมา”
30 กรกฎาคม 2564 กระทรวงฯ ได้มีการลงนามสัญญามอบสิทธิการบริหารจัดการทรัพย์สินดาวเทียมให้ NT ปรากฏว่าบริษัทไทยคมขอเข้ามาบริหารจัดการต่อ ทั้งนี้การบริหารจัดการดาวเทียมที่จะสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2564 เมื่อไม่สามารถทำตามแนวทางของ พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมทุนในกิจการของรัฐ หรือที่เรียกกันว่า PPP (Public Private Partnership) ได้กระทรวง จึงเสนอแนะว่าควรมอบหมายให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจเป็นผู้บริหารจัดการแทน
ปัจจุบัน CAT ได้ควบรวมกิจการกับ TOT ตั้งเป็นบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กำกับดูแลของกระทรวงดิจิทัลฯ หรือก็คือกำกับโดยชัยวุฒิ
“คุณชัยวุฒิกำลังทำให้ NT ตามการบินไทยไปติดๆ ใช้ตำแหน่งทางการเมืองอย่างฉ้อฉลเพื่อประโยชน์แก่นายทุน เพื่อผูกขาดอุตสาหกรรมดาวเทียมนี้ แล้วใช้หน่วยงานของรัฐเป็นเครื่องมือ แบบที่ทำมาตลอด” รังสิมันต์กล่าวตอนหนึ่ง
ที่ผมพูดมาทั้งหมดของวันนี้ เป็นแค่เสี้ยวหนึ่งของปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเมืองของเรา แม้เรื่องราวดาวเทียม การผูกขาดธุรกิจนี้จะมีมูลค่ามหาศาล ลำพังแค่มูลค่าดาวเทียมทั้งหมดเพียงอย่างเดียวก็มีมากถึง 40,000 ล้านบาท แต่ต้องยอมรับว่า ตัวเลขนี้น้อยมากเมื่อเทียบกับการกินรวบของธุรกิจที่ผูกขาดความมั่งคั่งเอาไว้ในมือของคนไม่กี่คน ของคนไม่กี่ตระกูล นี่คือปัญหาใหญ่ที่กำลังดำเนินไปท่ามกลางคราบน้ำตาและความเจ็บช้ำของคนที่ไม่มีสิทธิลืมตาอ้าปากได้
#อภิปรายไม่ไว้วางใจ64