วันเสาร์, กันยายน 11, 2564
"๕ เรื่องในคำสอนพุทธศาสนาที่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่เราอยากเล่า"
Raktsra, aka Sittichai Ju-ey
September 6 at 9:31 PM ·
"๕ เรื่องในคำสอนพุทธศาสนาที่คนไม่ค่อยพูดถึง แต่เราอยากเล่า"
ไหน ๆ ช่วงนี้ก็โพสต์อะไรเกี่ยวกับศาสนาพุทธเยอะแล้ว วันนี้ว่าจะมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับศาสนาพุทธอีกสักหน่อย และคิดว่าน่าจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยถูกหยิบยกมาสอนหรือพูดถึงกันในยุคนี้นัก
ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเรื่องพวกนี้ไม่ฮิตกันในบ้านเรา หรือมันจะเกี่ยวกับความก้าวหน้าในวงการสงฆ์ในโพสต์ก่อน ๆ กันนะ...
ช่างเถอะ เราอยากเล่า
1. ผู้ปกครองสามารถถูกโค่นล้มได้ ถ้าประชาชนไม่พอใจ
แม้ศาสนาพุทธจะมีการเอ่ยถึงการปกครองโดยราชา แต่ก็ได้นิยามความหมายของราชาไว้ว่า "ผู้เป็นหัวหน้า ยังชนเหล่าอื่นให้สุขใจได้โดยธรรม " (อัคคัญญสูตร)
แน่นอนว่าถ้าประชาชนไม่พอใจ ก็สามารถเรียกร้องให้ราชาพิจารณาตน ให้ทบทวนว่าตนมีคุณธรรมสมควรแก่การเป็นผู้ปกครองครบถ้วนหรือไม่ จนไปถึงการโค่นล้มราชาได้เช่นกัน ไม่ใช่ยึดติดกับชนชั้นว่าเขาคือผู้ปกครองมีบุญญาบารมี ห้ามโค่นล้ม จะทำไม่ดีอย่างไรก็ได้
ดังเช่นจันทกุมารชาดก ที่ประชาชนร่วมมือกันล้มพระเจ้าเอกราช ที่จะสังเวยชีวิตคนบริสุทธิ์เพื่อประโยชน์ตน
มหาปโลภนชาดก ที่ประชาชนรวมกันเรียกร้องให้พระราชาขับไล่เจ้าชายพระโพธิสัตว์ซึ่งกำลังหลงผิด หมกมุ่นในกามเกินเหตุ
2. ผู้ใหญ่ก็รับฟังเด็กได้
เห็นมีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองบางคน บอกว่าทำไมต้องฟังเด็ก แต่อย่างไรก็ตาม พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนเช่นนั้น เพราะหากผู้มีอายุน้อยมีความรู้และคุณธรรมมากพอ ผู้ใหญ่ก็ต้องรับฟังข้อเสนอแนะจากเด็กเช่นกัน
เช่น พระพุทธเจ้าแสดงธรรมโปรดพระเจ้าสุทโธทนะ (อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท โลกวรรคที่ ๑๓) พระสารีบุตรแสดงธรรมแก่มารดา (จุนทสูตร) มโหสถบัณฑิตแนะนำพระเจ้าวิเทหราช (มโหสถชาดก)
3. ผู้ใหญ่ทำไม่ดีกับเด็กก็บาป
หลายคนอาจคิดว่าพระพุทธเจ้าลำเอียงหรือเปล่า ถึงสอนแต่ว่าเด็กทำไม่ดีกับผู้ใหญ่จะบาป อย่างนายมิตตวินทุกะที่ทำร้ายแม่แล้วเป็นเปรตโดนกงจักรพัดหัว
แต่ว่าในศาสนาพุทธก็มีเรื่องแม่ของอุตตรมาณพที่ด่าลูกแล้วเป็นเปรตที่ทุกข์ทรมานเช่นกัน (อุตตรมาตุเปติวัตถุ) เพียงแค่เราอาจไม่ค่อยได้ยินกัน
ในความจริงแล้วคำสอนของศาสนาสอนให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เคารพกัน เพื่อครอบครัวและสังคมที่สงบสุขต่างหาก...
4. สมณศักดิ์ไม่จำเป็นกับการพ้นทุกข์
ในสมัยพุทธกาลไม่มีสมณศักดิ์ ดังนั้นความก้าวหน้าของพระสงฆ์จึงไม่ใช่
เรื่องอะไรแบบนั้นอยู่แล้ว...
เรื่องยศศักดิ์ พระพุทธเจ้าก็แสดงธรรมไว้ ว่าไม่เที่ยง ไม่ควรยินดียินร้าย ไปไขว่คว้าความก้าวหน้าในเรื่องพวกนั้น ดังใน โลกวิปัตติสูตร แสดงไว้ว่่่า
"ธรรมในหมู่มนุษย์เหล่านี้ คือ ลาภ ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ ยศ ๑ ความเสื่อมยศ ๑ นินทา ๑ สรรเสริญ ๑ สุข ๑ ทุกข์ ๑ เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่แน่นอน มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ท่านผู้เป็นนักปราชญ์ มีสติ ทราบธรรมเหล่านั้นแล้ว พิจารณาเห็นว่า มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ธรรมอันน่าปรารถนา ย่อมย่ำยีจิตของท่านไม่ได้ ท่านย่อมไม่ยินร้ายต่ออนิฏฐารมณ์ ท่านขจัดความยินดีและยินร้ายเสียได้จนไม่เหลืออยู่ อนึ่ง ท่านทราบทางนิพพานอันปราศจากธุลี ไม่มีความเศร้าโศกเป็นผู้ถึงฝั่งแห่งภพ ย่อมทราบได้อย่างถูกต้อง ฯ"
แต่เรื่องความก้าวหน้าที่พระภิกษุควรฝักใฝ่ คือความก้าวหน้าในธรรม คือการก้าวข้ามกิเลสเช่นนิวรณ์ทั้งหลาย อาทิ ความต้องการในกามคุณ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทั้งหลาย ความคิดร้ายต่อผู้อื่น ความฟุ้งซ่านกระวนกระวาย ฯลฯ หรือละสังโยชน์เพื่อความก้าวหน้าในอริยมรรค เช่นละความเห็นว่าเป็นตัวตนของตน ละความสำคัญตน ฯลฯ
5. มนุษย์เลือกโชคชะตาตัวเองได้ เทพเจ้าไม่ใช่ผู้กำหนดชีวิตมนุษย์เสมอไป
แม้ศาสนาพุทธไม่ได้ปฏิเสธการมีอยู่ของเทพเจ้า แต่ก็ปฏิเสธอำนาจที่พวกเขามีต่อการกำหนดเส้นทางชีวิตของมนุษย์ เพราะเชื่อว่ามนุษย์ที่เข้มแข็งพอ สามารถกำหนดโชคชะตาของตนเองได้
เรื่องในคติพุทธ มีบางครั้งเทวดาอาจปรากฏตัวมาบอกบางอย่างแก่ผู้คน แต่คนก็เลือกที่จะไม่เชื่อและทำตามสิ่งที่ตนเองอยากทำได้
ดังเช่น
พญามารมาบอกเจ้าชายสิทธัตถะ หลังจากขี่ม้าออกจากวัง ว่าอย่าออกบวชเลย แล้วอีก 7 วันจะได้เป็นมหาจักรพรรดิ แต่เจ้าชายไม่สนใจ ยืนยันจะออกบวชให้ได้ (อรรถกถา เอกกนิบาตชาดก อปัณณกวรรค)
อนาถบิณฑิกเศรษฐีปฏิเสธจะทำตามคำเตือนจากเทวดา แถมยังไล่เทวดาออกไปจากบ้านของตน เพราะเทวดามาบอกให้เลิกทำทาน ช่วยเหลือผู้อื่น (อรรถกถา ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท ปาปวรรคที่ ๙)