วันเสาร์, กันยายน 11, 2564

Art Critic: เกือบจะ 50 ปีมานี้ คนไทยยังมีพัฒนาการทางความรู้ด้านศิลปะค่อนข้างน้อย #TIMELINEผลงานศิลปะที่เคยตกเป็นประเด็นทางสังคมในประเทศไทย



Jitdrathanee จิด.ตระ.ธานี
September 8, 2019 ·

Art Critic: #TIMELINEผลงานศิลปะที่เคยตกเป็นประเด็นทางสังคมในประเทศไทย
.
ไม่ใช่ครั้งแรก และคงไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ที่ผลงานศิลปะจะสร้างอิทธิพลกระทบจิตใจผู้คน ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงเวลาออกแสดง จนเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกระทบกับประเด็นที่อ่อนไหว
.
ความเข้าใจในศิลปะของสังคมไทย ยังจำเป็นต้องอาศัยพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเด็นการถกเถียงในลักษณะนี้ มีทั้งข้อดี และให้คุณค่าต่อวงการศิลปะโดยรวมอย่างยิ่ง อย่างน้อยๆ ก็ช่วยเปิดมุมมอง และเปิดโอกาสให้มีการวิเคราะห์วิจารณ์กันอย่างหลากหลายในกลุ่มคนแทบทุกระดับ เรียกได้ว่า...ให้ทั้งสาระและบันเทิงไปพร้อมๆ กัน
.
ผมได้รวบรวมไทม์ไลน์ (เท่าที่จำได้) ทำเป็นรูปภาพเกี่ยวกับกรณีเดียวกันนี้ จะเห็นได้ว่า...แทบทุกประเด็น เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาและวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นรากฐานดั้งเดิมของเรา จนทำให้ผมรู้สึกและสัมผัสได้ว่า ความอนุรักษ์นิยม และชาตินิยมของคนไทย สูงไม่แพ้ชาติใดในโลก
.
เริ่มต้นตั้งแต่ อ.ถวัลย์ ดัชนี ถูกกล่าวหาจากบทความใน นสพ.ไทยรัฐ (ฉบับ ตุลาคม พ.ศ. 2514) ว่า...เป็น “#ศิลปินบ้าบิ่น” เอาระฆังวัดไปแขวนใต้หว่างขาชายเปลือย (ผู้วิจารณ์บอกว่าน่าเกลียด เพราะเป็นตำแหน่งของอัณฑะ) แถมยังเอาหลังคาโบสถ์วาดครอบลำตัวครึ่งท่อนชายเปลือยผู้นั้นไว้อีก เหมือนกำลังด่าว่าชาวพุทธว่าโง่เขลา ที่ไม่เข้าใจในศิลปะที่เขาแสดงออก แต่ก็ยอมไม่ได้หากนายถวัลย์จะหมิ่นพุทธศาสนาเยี่ยงนี้ (เรียกได้ว่าด่าแรงส์ กระจุยกระจาย) ต่อมาจึงเกิดเหตุการณ์ ใช้มีดคัตเตอร์กรีดทำลายภาพวาดจนเสียหาย ทำให้ อ.ถวัลย์ เลิกแสดงผลงานในประเทศไทยไปนานหลายปี
ที่มา : https://anowl.co/anowlrod/หลงรูป/long_roob15/
.
ต่อมา พ.ศ. 2547 ผลงาน “เสน่ห์แห่งยักษ์ ๒” ของ อ.สมศักดิ์ รักษ์สุวรรณ ประเด็นที่เป็นปัญหาคือ “#โขนนู้ด” ทำให้คนในวงการนาฏศิลป์มองว่าไม่เหมาะสม ที่มีรูปหญิงเปลือยยืนต่อหน้าหัวโขน จนลุกฮือขึ้นต่อต้านรุนแรง
.
พ.ศ. 2550 ผลงาน “#ภิกษุสันดานกา” ของ อ.อนุพงษ์ จันทร ถูกประท้วงให้ถอดออกจากรางวัลเหรียญทอง ศิลปกรรมแห่งชาติ ครั้งที่ 53 พร้อมกล่าวหาว่าศิลปินตีความรุนแรงเกินจากในพระสูตร ซึ่งกระเทือนทั้งภาพลักษณ์และศรัทธาต่อพุทธศาสนิกชน แต่ทางคณะกรรมการตัดสิน อาทิ อ.ถวัลย์ ดัชนี และ อ.ประหยัด พงษ์ดำ ยืนยันว่าศิลปินแสดงออกทางความคิดด้วยความบริสุทธิ์ใจ และยังย้อนคำถามกลับไปอีกว่า “ทำไมพระกลุ่มนี้ ถึงไม่ไปเรียกร้องให้แก้ปัญหา พระแก้ผ้า มั่วสีกา ใช้มีดกรีดร่างกาย หลอกลวงประชาชน บ้างเล่า” จนในที่สุดทาง ม.ศิลปากร ตัดสินใจยุติการแสดงภาพดังกล่าวต่อสาธารณชน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย
.
พ.ศ. 2559 MV เพลง #เที่ยวไทยมีเฮ เพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวไทย จากเนื้อหาบางส่วนใน MV ก่อให้เกิดกระแสดราม่ากระหึ่มโซเซียล...ว่า “#ทำไมทศกัณฐ์แคะขนมครกไม่ได้
.
พ.ศ. 2562 ล่าสุด “#พระพุทธรูปอุลตร้าแมน” ผลงานศิลปนิพนธ์ ในนิทรรศการ “เต๊อะเติ๋น” ของ นศ.หญิง สาขาศิลปศึกษา คณะครุศาสตร์ ม.ราชภัฏนครราชสีมา ก็สร้างกระแสดราม่า ได้แรงส์ ไม่แพ้กัน
เนื้อหาเพิ่มเติม : https://www.facebook.com/groups/146935972023961/permalink/2719481534769379/
.
ที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดเป็นผลงานของศิลปินไทย แต่มีผลงานศิลปะที่ถูกแชร์มาจากต่างประเทศ จนเกิดกระแสดราม่าได้ เช่น “พระพุทธรูปปาง Mc Donald's” ใน พ.ศ. 2555 และ “ปางยับยุม (Yab-Yum)” ประติมากรรมในพุทธศาสนาวัชรยาน (Vajrayana) นิกายตันตระ (Tantra) แสดงปางเสพสังวาสกับทาระ (คู่ครองของพระโพธิสัตว์ในนิกายนี้) กรณีนี้คนไทยเข้าใจผิด เพราะขาดความรู้รอบในพุทธศาสนานิกายอื่นๆ จนกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดในช่วง พ.ศ. 2556
.
จาก TIMELINE ทั้งหมดที่กล่าวมา ดูเหมือนเกือบจะ 50 ปีมานี้ คนไทยยังมีพัฒนาการทางความรู้ด้านศิลปะค่อนข้างน้อย จนทำให้เกิดกระแสดราม่าได้แรงส์เกือบทุกครั้ง หากหยุดตรองก่อนสักนิด จะเห็นว่าความหมายในเชิงปัจเจกชนของศิลปิน ที่ต้องการสื่ออารมณ์และความคิดผ่านผลงานศิลปะที่แท้จริงของพวกเขา ไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา และวิพากษ์วิจารณ์จนกระหน่ำ Summer Sale อย่างนั้นเลย แต่..อย่างไรเสีย...ผลงานของ อ.ถวัลย์ ดัชนี ที่ผ่านกระแสดราม่ารุนแรงในอดีต จนสามารถพิสูจน์ความเป็นตัวจริง จนเป็นที่ยอมรับในสังคมในปัจจุบัน ทำให้รู้สึกได้ว่า...ไม่ได้สิ้นหวังไปเสียทีเดียว อาจเพียงเพราะ...สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่วัฒนธรรมดั้งเดิมของเรา ผู้ทำงานศิลปะร่วมสมัยทุกคนจึงจำเป็นต้องช่วยๆ กัน ให้ความรู้กับสังคมไทยต่อไป เพื่อยกระดับสุนทรียะให้สูงขึ้น เพราะตัวแทนวัดความเจริญรุ่งเรืองไม่ว่าจะยุคโบราณหรือยุคปัจจุบัน มักปรากฏสะท้อนออกมาจากวัฒนธรรมเสมอ แต่เราจะยอมรับเพียง....วัฒนธรรมดั้งเดิมเชิงอนุรักษ์เพียงอย่างเดียวหรือ? และต่อต้านปฏิเสธวัฒนธรรมร่วมสมัย ที่แสดงความเคลื่อนของสังคมกระนั้นหรือ? หากเป็นเช่นนั้น..คงเหน็ดเหนื่อยอย่างมาก เหมือนกับกำลังใช้กำลังยื้อยุดฉุดรั้ง ไม่ยอมให้เข็มนาฬิกาเดินหน้าหมุนไป สุดท้าย.....ความจริงก็คือ #ไม่มีใครสามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงได้อยู่ดี
.
ผมเชื่อว่า #สังคมไทยมีศักยภาพมากพอที่จะเรียนรู้ เพียงแต่ยังจำเป็นต้องอาศัยระยะเวลาเท่านั้นเอง
.
จิด.ตระ.ธานี
#Jitdrathanee #ArtCritic
.