ผลกระทบการระบาดไวรัสโคโรน่าในไทยครั้งนี้ ไม่เพียงไปไกล ไปกว้างยิ่งกว่าคาดเท่านั้น มันลงลึกเกินหยั่งในจิตสำนึกและสติสตังของบรรดาผู้บริหารงานแห่งรัฐ จนกระทั่งภาคส่วนศาสนจักร เกิดอาการฟั่นเฟือนและบ้าจี้กันขึ้นแล้ว โดยแนวโน้มทำท่าจะไปยาว
ขณะที่จำนวนผู้ติดเชื้อและตายเพิ่มยังไม่ลดละ วันนี้ติดใหม่กว่า ๒,๖๐๐ ราย ตายอีก ๓๑ คน เกิดคลัสเตอร์ไปทั่วหัวระแหง คลัสเตอร์โรงงานตามหัวเมืองใหญ่ผุดใหม่แทบทุกวัน แล้วยังคลัสเตอร์ห้างโน่นห้างนี่ที่พยายามปกปิดกันไม่มิด ไม่รู้วัคซีนที่กำลังมาจะเอาอยู่ไหม
ระหว่างนี้สรวลเสกับเรื่องปาหี่ของเจ้าหน้าที่รัฐไปพลางๆ อย่างหนึ่งคือข้อเสนอแนะ ศบค.จังหวัดตราด ที่ผู้ว่าฯ ทั่นซีเรียสมากนะนั่น ยืนกราน “เค้าศึกษามาแล้ว สวมชุดนักเรียน เรียนออนไลน์ ทำให้ผลการเรียนดีขึ้น” อ้างที่กรุงเทพฯ เป็นตัวอย่าง
นายภิญโญ ประกอบผล ไม่ย่นย่อ บอก “การเรียนออนไลน์ต้องมีสมาธิในการเรียนการสอน” การให้เด็กต้องสวมเครื่องแบบนักเรียน รวมทั้ง “มีการสวดมนต์และเช็กชื่อนักเรียนด้วย” เห็นมากับตาจากคนใกล้ชิด (ในกรุงเทพฯ) พบว่าผลการเรียนดีขึ้นแน่ๆ
เหตุผลของทั่นผู้ว่าฯ ต่อข้อเสียของการเรียนออนไลน์ (หรือที่กำลังมาใหม่ ‘ออนแอร์’ บนจอทีวี ดังที่ รมว.ศึกษาคนนี้เพิ่งแถลง) “เด็กนักเรียนเรียนออนไลน์จะนั่งเรียน นอนเรียน ตื่นนอนมาก็ไม่อาบน้ำ ไม่ล้างหน้า ตื่นก็มานั่งหน้าจอเลย”
นั่นไม่เชิงนักว่าทำให้การเรียนไม่ได้ผล ข้อเสียที่เด็กนั่งหน้าจอแล้วขาดสมาธิ อาจเป็นที่ครูผู้สอนไม่สามารถคอยจี้ไชได้ เท่าที่เห็นเด็กในอเมริกาจะเปิดหน้าต่างคอมพิวเตอร์อื่นคู่ขนานไปกับช่องชั้นเรียน แล้วเล่นเกมออนไลน์ไปพร้อมๆ กันซะงั้น
ถึงอย่างนั้นการให้เด็กต้องสวมเครื่องแบบ ยืนเคารพธงชาติหน้าจอ น่าจะเป็นความคิดเสล่อมากกว่าสัมฤทธิผล หลักการสากลเป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องว่าการศึกษาที่ซึมซับที่สุด คืออาการเรียนรู้โดยอิสระด้วยตัวของตัวเองมากกว่าถูกบังคับ
อีกกรณีที่มีมติมหาเถรสมาคมออกมาเมื่อ ๓๑ พฤษภาคม จากผลแห่งการที่รัฐไทยใช้วีธีขอผ่อนผันความร้ายแรงของโรคระบาดโควิด-๑๙ ด้วยการสวดมนต์วิงวอนต่อเทพยดาฟ้าดิน ทำให้มหาเถรฯ เกิดไอเดียบรรเจิดสร้างผลงานหมายว่าจะได้คุ้มเงินเดือน
“เพื่อให้การใช้ศัพท์ ‘โรคโควิด’ ในบทเจริญพระพุทธมนต์ ให้ถูกต้องตามหลักภาษาบาลี และเป็นประวัติศาสตร์ของประเทศไทย” ฮ่า ฮ่า เป็นแน่ชนรุ่นหลังได้รู้กันว่ายุคนี้เข้ารกเข้าพงกันอย่างไร ให้ใช้คำศัพท์บาลีแทนโควิดว่า ‘โควิโท’
จะจำเป็นหรือไม่จำเป็นตามที่ @moui ถามก็ตามที บังเอิญไม่ได้ร่ำเรียนภาษาบาลี หรือแม้ว่าภาษามคธมาสักหน่อย ก็เลย ‘ปล่อยไปตามกรรม’ ไม่งั้นจะถามว่าทำไม ‘วิโท’ ไม่ ‘วิโด’ หรือ ‘วิโด่’ จำง่าย คำคล้ายใกล้เคียงดี
อย่างไรก็ตาม ทั่น ผอ.ณรงค์ ทรงอารมณ์ กรุณาอธิบายด้วยหลักวิชา ‘ปริวรรตอักษร’ เปรียบเทียบกับทั้งภาษาบาลีสากล แล้วยังอักษรโรมัน และภาษาอังกฤษ มีสังฆะผู้เชี่ยวชาญการศาสนาชั้นธรรมชั้นเทพ และตัวแทนราชวัง ร่วมพิจารณาลงเอย
สองกรณีที่เอ่ยถึงมาจะเป็นประโยชน์แก่การแก้วิกฤตเฉพาะหน้า ในปัญหาโรคร้ายคล้ายห่ากำลังระบาดหรือไม่ในความรู้สึกมหาชนส่วนใหญ่บ้างไหม ไม่ต้องพูดถึง ไว้รอให้ประวัติศาสตร์ประจานดีกว่า หากแต่แก่นสารที่ควรมีในวันนี้กลับอยู่ที่
๔ มิถุนาเป็นวันครบ ๑ ปีของการที่ประชาชนไทยผู้ลี้ภัยการเมืองคนหนึ่ง ถูกอุ้มหายไปจากที่พักพิงในประเทศกัมพูชา “แอมเนสตี้ประเทศไทย และสิตานัน สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ได้เดินขบวนไปกระทรวงยุติธรรม ยื่นจดหมายทวงถามความคืบหน้าการหายตัวไป”
ของ ‘วันเฉลิม’ สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ การอุ้มหายในกรณีนั้นเรียกได้ว่ามีส่วนไม่น้อยในการ ‘จุดไฟ’ ม็อบเยาวชนให้เกิดอย่างถี่ยิบตลอดปีที่ผ่านมา มีการเรียกร้องความเปลี่ยนแปลงหลักๆ สองสามอย่าง นอกจากขับไล่ ‘ตู่’ ไปจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหารแล้ว
ยังกล้า (อาจไม่เก่ง และไม่ต้องขอบใจ) ที่จะประกาศให้คนในประเทศร่วมผลักดันให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญหมกเม็ดเผด็จการ และการปรับแก้ความประพฤติสถาบันประมุขให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย อันสนองต่อประชาชนแท้จริง
(https://twitter.com/AmnestyThailand/status/1400653908624633858, https://thestandard.co/covito-is-the-name-sangha-association-come-up-for-coronavirus/ และ https://www.facebook.com/PrachachatOnline/posts/10159394018203814)