วันพุธ, มิถุนายน 23, 2564

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่านฉลุย! หากร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว จะรับรองการจัดทำประชามติถึง 5 กรณี



iLaw
13h ·

ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ผ่านฉลุย! 22 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมรัฐสภามีมติเห็นชอบ ร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ (ร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ) ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 611 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง เตรียมเข้าสู่กระบวนการนำร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ขึ้นทูลเกล้าฯ และประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป
.
หากร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ มีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว จะรับรองการจัดทำประชามติถึง 5 กรณี ได้แก่
.
1) ประชามติเพื่อ #แก้รัฐธรรมนูญ
.
รัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ( กำหนดว่า กรณีที่มีการแก้บทบัญญัติใน หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือบทบัญญัติอื่นๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะต้องห้ามของผู้ดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ เรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออำนาจของศาล องค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทำให้ศาลหรอองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ได้ ต้องจัดทำประชามติ ก่อนจึงค่อยนำร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมกราบบังคมทูลเพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยต่อไป หลักเกณฑ์ในพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็สามารถนำมาใช้กับการจัดทำประชามติ #แก้รัฐธรรมนูญ ได้
.
2) ประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร
.
พ.ร.บ.ประชามติฯ รับรองการออกเสียงประชามติเมื่อคณะรัฐมนตรีเห็นว่ามีเหตุอันสมควร โดยไม่ได้มีการระบุขอบเขตของเรื่องไว้ว่าจะทำได้ในกรณีใดบ้าง แต่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 166 ได้กำหนดว่า กรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดที่ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ ดังนั้นการจัดทำประชามติที่ริเริ่มโดยคณะรัฐมนตรี จึงต้องเป็นเรื่องที่ไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญด้วย
.
การทำประชามติตามกรณีนี้ อาจเป็นเรื่องอื่นที่คณะรัฐมนตรีต้องการปรึกษาประชาชน ให้เจ้าของประเทศร่วมตัดสินใจในเรื่องสำคัญๆ เช่น การย้ายเมืองหลวง การเข้าร่วมองค์การระหว่างประเทศ การให้สัตยาบันในสนธิสัญญา

3) ประชามติในกรณีที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำประชามติ
.
พ.ร.บ.ประชามติฯ กำหนดว่าหากมีกฎหมายอื่นๆ กำหนดว่าเรื่องใดบ้างที่ต้องจัดให้มีการประชามติโดยใช้หลักเกณฑ์ตามพ.ร.บ.ประชามติฯ อาจจะเป็นกฎหมายระดับพระราชบัญญัติในเรื่องใดๆ ก็ได้ เช่น กฎหมายเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม กระบวนการจัดทำประชามติก็จะเป็นไปตามพ.ร.บ.ประชามติ
.
ทั้งนี้ กฎหมายที่กำหนดเรื่องประชามติอาจเป็นกฎหมายที่ประกาศใช้ภายหลังพ.ร.บ.ประชามติฯ ก็ได้ หรืออาจเป็นกฎหมายที่มีอยู่แล้วแต่ต้องอาศัยการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับพ.ร.บ.ประชามติ

4) ประชามติเมื่อรัฐสภามีมติเห็นว่ามีเหตุสมควรจะให้มีประชามติ
.
ประชามติเมื่อรัฐสภามีมติเห็นว่ามีเหตุสมควร โดยรัฐสภาต้องแจ้งเรื่องให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ รัฐสภาจึงไม่ถูกจำกัดด้วยเงื่อนไขว่า “การทำประชามติต้องไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ” เหมือนกรณีที่ครม. เห็นควรทำประชามติ ดังนั้น หากรัฐสภาเห็นว่าต้อง “จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ” โดย #แก้รัฐธรรมนูญ ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนเป็นผู้จัดทำ ก็สามารถทำประชามติถามประชาชนก่อนว่าต้องการรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับหรือไม่ และหากมีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้ว ก็สามารถจัดประชามติถามเสียงประชาชนอีกครั้งก็ได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งวินิจฉัยว่ารัฐสภาสามารถจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับได้แต่ต้องทำประชามติถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ
.
5) ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติ
.
ประชาชนเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เสนอต่อครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติ เมื่อประชาชนเข้าชื่อกันครบแล้วก็ยังต้องส่งให้คณะรัฐมนตรีเป็นผู้พิจารณาอีกชั้นหนึ่งว่าจะทำประชามติตามที่เสนอมาหรือไม่ ซึ่งกรณีนี้ก็ไม่มีขอบเขตเช่นกัน ประชาชนจะเข้าชื่อเสนอให้จัดทำประชามติเรื่องใดก็ได้ เช่น เสนอให้มีการจัดทำนโยบายสาธารณะที่สำคัญ
.
ร่างพ.ร.บ. ประชามติฯ ยังกำหนดว่า หากบุคคลใดที่มีที่อยู่นอกราชอาณาจักร ก็สามารถลงทะเบียนเพื่อใช้สิทธิออกเสียง ณ ประเทศที่ตนมีถิ่นที่อยู่ก็ได้ และยังเปิดทางให้มีการออกเสียงประชามติได้ทางไปรษณีย์หรือกระทำผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมีกกต. จัดทำระบบ นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการออกเสียงประชามติ เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนเจ้าของประเทศได้มีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น
.
อย่างไรก็ดี แม้สาระสำคัญของกฎหมายส่วนใหญ่จะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ในการจัดทำประชามติ แต่บางส่วนก็มีเนื้อหาที่กำหนดความผิดด้วย เช่น ความผิดฐานเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่จะออกเสียงประชามติอันเป็นเท็จด้วย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท ซึ่งวาโย อัศวรุ่งเรือง ส.ส. พรรคก้าวไกล ตั้งข้อห่วงกังวลว่ากฎหมายจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือปิดปากประชาชนเหมือนที่เคยเป็นมาก่อนจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559
.
แต่ท้ายที่สุด ที่ประชุมรัฐสภาก็มีมติเห็นชอบร่างพ.ร.บ.ประชามติฯ ทั้งฉบับ ด้วยคะแนนเสียงเห็นชอบ 611 เสียง ไม่เห็นชอบ 4 เสียง งดออกเสียง 2 เสียง
https://www.ilaw.or.th/node/5847