วันเสาร์, มิถุนายน 26, 2564
ระบาดระลอก 4 สายพันธุ์เดลตามาแน่ แล้ววัคซีนคุณภาพอยู่ไหน
THE STANDARD
15h ·
KEY MESSAGES: ระบาดระลอก 4 สายพันธุ์เดลตามาแน่ แล้ววัคซีนคุณภาพอยู่ไหน
.
ตัวเลขจำนวนผู้เสียชีวิตและติดเชื้อรายวันของประเทศไทยเพิ่มขึ้นสูงจนน่าเป็นห่วงว่าจะเกิดการระบาดระลอกที่ 4 จากโควิด-19 กลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) ในขณะที่เตียง ICU กำลังขาดแคลนและวัคซีนคุณภาพก็ยังไม่ได้รับการจัดหา สถานการณ์ของแพทย์ด่านหน้าเข้าขั้นวิกฤตเมื่อวัคซีนที่ได้รับฉีดไป 2 เข็มไม่สามารถยับยั้งการติดเชื้อได้
.
ในตอนนี้ประเทศไทยกำลังแข่งขันอยู่กับเวลา ความล่าช้าเพียงวันเดียวของวัคซีนอาจจะก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง ไม่เพียงในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อ แต่จะกระทบไปถึงภาคเศรษฐกิจและความพยายามในการเปิดประเทศภายใน 120 วัน
.
THE STANDARD รวบรวมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันจากการพูดคุยกับ ศ.นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยเป็นเลิศด้านการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต
.
เดลตา (อินเดีย) จะกลายเป็นสายพันธุ์หลักใน 1 เดือน
เชื้อไวรัสกลายพันธุ์ โควิด-19 สายพันธุ์เดลตามีความสามารถในการระบาดสูงกว่าสายพันธุ์อื่นๆ ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อจากโควิด-19 สายพันธุ์นี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และยังอาจจะดื้อต่อภูมิคุ้นกันจากวัคซีนที่ได้รับฉีดไป
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เกิดจากสายพันธุ์เดลตา ในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อแล้วพุ่งขึ้นสูงเรื่อยๆ เช่น ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา จากการศึกษาในประเทศอังกฤษคาดการณ์ได้ว่าทุกๆ 2-3 สัปดาห์ สัดส่วนผู้ติดเชื้อจากสายพันธุ์นี้จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว
ส่วนสถานการณ์ในประเทศไทยคาดว่าภายในกรกฎาคม-สิงหาคม โควิด-19 สายพันธุ์เดลตาจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
.
วัคซีนตัวไหนเอาอยู่
วัคซีนที่กระตุ้นภูมิคุ้นได้ดี คือวัคซีน mRNA ที่มีประสิทธิภาพดี เช่น Pfizer, Moderna รองลงมาคือวัคซีนชนิดเวกเตอร์ไวรัสอย่าง AstraZeneca
AstraZeneca หากฉีดเพียงเข็มเดียว ประสิทธิภาพอาจจะไม่ดีเท่าที่ควร แต่ถ้าฉีดครบสองเข็มจะถือว่ามีประสิทธิภาพดี
ส่วน Sinovac ซึ่งเป็นวัคซีนเชื้อตายจะมีความสามารถในการกระตุ้นภูมิค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับวัคซีนชนิดอื่น
การกระตุ้นภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนเข็ม 3 เป็นหลักการทั่วไปที่ใช้ได้ผล แต่คำถามสำคัญคือทำไมถึงไม่เลือกวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีกว่านี้ตั้งแต่ต้น และวัคซีนที่นำมากระตุ้นภูมิเข็มที่ 3 สามารถนำวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นมาใช้ได้ ซึ่งจะได้ผลดีกว่าฉีดชนิดเดิม
ในประเทศบาห์เรนพบว่าประชาชนได้รับวัคซีนไปแล้ว 2 เข็มของ Sinopharm ไม่สามารถต้านเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เบตาได้ แต่ในประเทศกาตาร์ที่อยู่ใกล้เคียงกลับควบคุมการระบาดของโรคได้ดีมาก โดยความต่างระหว่างสองประเทศนี้มีเพียงอย่างเดียวคือชนิดวัคซีนที่เลือกใช้ ซึ่งประเทศกาตาร์เลือก Pfizer
ข้อมูลการใช้จริงจากประเทศต่างๆ พบแล้วว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงก็จะมีประสิทธิภาพสูงในทุกประเทศและในทุกกรณี ไม่เกี่ยวข้องกับความแตกต่างของประชากร
.
“เป็นที่น่าเสียดายที่บุคลากรที่มีความเสี่ยงสูงสุดก็คือบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศเราได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพด้อยที่สุด”
นพ.มานพ กล่าวถึงเหตุการณ์ที่บุคลากรด่านหน้าติดเชื้อโควิด-19 จากการปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจากได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ
ประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac ไม่ค่อยดีนัก เมื่อนำมาใช้กับบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูง ทำให้แม้ได้รับวัคซีนไปแล้วก็ยังสามารถติดเชื้อได้อยู่ อย่างเช่นกรณีของแพทย์เชียงรายที่ติดเชื้อ 41 คน
การติดเชื้อในหมู่บุคลากรทางการแพทย์เกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เพียงแค่ไม่ได้เป็นกรณีที่เป็นข่าว แต่กรณีของแพทย์ที่เชียงรายนั้นเกิดขึ้นพร้อมกันหลายสิบคน ทำให้ส่งผลถึงการบริการประชาชนเลยต้องมีการประกาศออกมา
.
รัฐการ์ดตก ยอดผู้ป่วยเพิ่มสูงจนเกิดปัญหาขาดเตียง ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้กว้างที่สุดในพื้นที่ระบาด
จำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มสูงขึ้น และมาตรการการจัดการที่ไม่เพียงพอทำให้เกิดปัญหาขาดเตียง โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา มาตรการดูแลของรัฐไม่ได้เข้มข้นไปกว่าเดิม แต่กลับถดถอยลง ขณะที่วิธีเดียวที่จะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อน้อยลงคือการระดมฉีดวัคซีนให้ได้กว้างที่สุด แต่ตอนนี้วัคซีนกลับมีไม่เพียงพอ เมื่อบวกกับมาตรการที่ไม่ได้เข้มข้นจึงไม่ทำให้ยอดผู้ป่วยลดลง
การแพร่ระบาดของวัคซีนสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) จะยิ่งเป็นการซ้ำเติมให้สถานการณ์แย่ลงขึ้นไปอีก
การล็อกดาวน์จะสามารถสกัดการระบาดได้ดีที่สุด เห็นผลรวดเร็วที่สุด แต่ทำได้ยาก และสวนกับนโยบายการผ่อนคลายของภาครัฐที่ต้องการจะเปิดประเทศใน 120 วัน
การระดมฉีดวัคซีนจึงเป็นตัวเลือกรองลงมาที่มีความสำคัญ โดยต้องฉีดให้กว้างขึ้นในพื้นที่ที่มีการระบาด และต้องนำวัคซีนที่มีทั้งหมดมาระดมฉีดที่เขตนี้เพื่อสกัดการระบาด แต่ผลจากวัคซีนอาจไม่เห็นในทันที ต้องใช้เวลา 3-4 สัปดาห์
.
“เวลามีต้นทุน ทุกวันที่ผ่านไปมีคนเสียชีวิตเยอะขึ้น มีคนป่วยเพิ่มขึ้น”
การจัดการที่ช้าจะส่งผลไม่ใช่แค่ตัวเลขของผู้เสียชีวิตและการแพร่ระบาดที่กว้างขึ้น แต่จะกัดกินไปถึงภาคเศรษฐกิจ และส่งผลไปยังภาพรวมของประเทศ
หากย้อนกลับไปช่วง 6 เดือนแรกที่เพิ่งจัดจำหน่ายวัคซีน ความล่าช้าของรัฐอาจจะเป็นสิ่งที่เข้าใจได้เพราะไม่มีข้อมูลว่าวัคซีนตัวไหนได้ผลดี แต่ในตอนนี้เรามีข้อมูลชัดเจน รู้อยู่แล้วว่าวัคซีนตัวไหนเป็นวัคซีนที่เราควรเลือก จึงไม่ควรมีเหตุผลเรื่องการเจรจาต่อรองและเลือกวัคซีนอะไรอีกที่ทำให้วัคซีนเป็นสิ่งล่าช้า
“(วัคซีน) ถ้าช้าหนึ่งวัน เราก็นับจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน และผู้เสียชีวิตรายวันคูณเข้าไป”
.
เปิดประเทศอีก 120 วันในเดือนตุลาคม ทำได้หรือไม่
การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวอาจจะทำได้ในจังหวัดภูเก็ตที่ภูมิศาสตร์สามารถระดมฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง และสามารถควบคุมประชากรเข้า-ออก ซึ่งสามารถนำโมเดลการจัดการของจังหวัดภูเก็ตมาเป็นตัวอย่างได้ แต่ต้องมีการวางแผนสองรองรับอยู่เสมอ เช่น จะมีการตรวจหาผู้ติดเชื้ออย่างไรให้รวดเร็วที่สุด หรือมีวิธีขีดวงป้องกันไม่ให้ผู้ติดเชื้ออกนอกพื้นที่ขนาดเล็กได้อย่างไร
ทุกอย่างของประเทศจะดีขึ้นได้เมื่อการระบาดสิ้นสุดลง และการระบาดจะดีขึ้นได้จากการฉีดวัคซีนเป็นวงกว้าง สิ่งที่ภาคธุรกิจทำได้คือการสนับสนุนหรือกระตุ้นให้คนในหน่วยงานได้รับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด
.
ชมคลิป: วิกฤตซ้ำซ้อน! ระลอก 4 มา เดลตาพุ่ง วัคซีนคุณภาพอยู่ไหน https://youtu.be/3Pnk-m1vNl8
.
อ่านข่าวอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ https://thestandard.co
#TheStandardNews #COVID19NOW #โควิด19 #วัคซีนโควิด19