วันเสาร์, มิถุนายน 26, 2564

อ.พวงทองเผย บริษัท Sinovac Biotech (SB) ผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค มีประวัติติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ - หลายประเทศที่ซื้อวัคซีนของบริษัทนี้ ก็มีประวัติไม่ดีเช่นกัน



Puangthong Pawakapan
June 23 at 3:39 AM ·

บริษัท Sinovac Biotech (SB) ผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวค มีประวัติติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ - หลายประเทศที่ซื้อวัคซีนของบริษัทนี้ ก็มีประวัติไม่ดีเช่นกัน
ตั้งแต่ธค. 2563 วอชิงตันโพสต์รายงานประวัติที่ไม่โปร่งใสของ SB ที่ทำให้โลกต้องจับตามองพฤติกรรมของบริษัทนี้ในช่วงวิกฤติโควิด-19 ให้ดี โดยระบุว่าซีอีโอของ SB ยอมรับสารภาพต่ออัยการสูงสุดของจีนว่า ตนได้ติดสินบนแก่เจ้าหน้าที่รัฐเพื่อให้ “อนุมัติ” วัคซีนไข้หวัดหมูของบริษัทที่ออกสู่ตลาดในปี 2552 คำสารภาพนี้แลกกับการที่ซีอีโอของบริษัทจะไม่ถูกอัยการตั้งข้อหา
ประวัติฉาวเช่นนี้ถูกยกขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อพบว่าประเทศที่ซื้อซิโนแวค มักไม่ยอมเปิดเผยราคาที่แท้จริงกับประชาชนจนกว่าจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ หรือแฉข้อมูลออกมา แล้วก็พบว่าซิโนแวคที่แต่ละประเทศซื้อราคาไม่เท่ากัน แล้วก็นำไปสู่คำถามอีกว่าทำไมไม่เท่ากัน ดังข้อมูลต่อไปนี้
ในเดือนมกราคม 2564 ที่ฟิลิปปินส์ วุฒิสมาชิก Panfilo Lacson เปิดเผยในทวิตเตอร์ว่าทำไมราคาซิโนแวคที่ ก.สาธารณสุขแถลงต่อกรรมาธิการวุฒิสภาจึงสูงกว่าประเทศอื่น คือ $38/โดส (ราว 1,210 บาท) แต่ที่อินเดียจ่ายแค่ $14 (446 บาท) อินโดนีเซียจ่าย $17 (แต่ข่าวของ Jakarta Post บอกว่าอินโดนีเซียจ่าย 2 แสนรูเปียส หรือ $13.71/ 432 บาทเท่านั้น)
พอข่าวนี้ออกมา รัฐบาลฟิลิปปินส์ก็เรียก สธ.มาชี้แจง ต่อมาโฆษกรัฐบาลก็แถลงว่าราคา $38 เป็น fake news ราคาที่แท้จริงคือจะจ่ายใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย - ลดฮวบฮาบเลย
แต่ก่อนหน้าที่จะมีการเปิดโปงเรื่องนี้ นาย Carlito Galvez Jr. หัวหน้าโครงการวัคซีนของรัฐบาล กลับไม่เคยยอมเปิดเผยตัวเลขที่แท้จริง ได้แต่บอกว่า “เป็นความลับ" และราคาของซิโนแวคถูกกว่าอีกของ 6 บริษัท
ที่ตลกคือ โฆษกรัฐบาลที่ออกมาแก้ข่าวนี้ อธิบายสาเหตุว่าทำไมราคาของซิโนแวคแต่ละประเทศไม่เท่ากันและเปิดเผยไม่ได้ว่า “เพราะราคาของวัคซีนจีนไม่ได้ถูกกำหนดโดยกลไกตลาด แต่ปรับราคาได้ ขึ้นอยู่ที่ว่าใครเป็นผู้ซื้อ นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมปักกิ่งจึงไม่ต้องการเปิดเผยราคาวัคซีนของตน เพราะประเทศที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดอาจจะพบว่าตนต้องซื้อวัคซีนในราคาแพงกว่า”
555 หรือจริงๆ ยิ่งใกล้ชิด ยิ่งจ่ายแพงขึ้น เพราะเป็น #ลูกค้าที่ดี
ส่วนประเทศไทย ใกล้ชิดแค่ไหนไม่ทราบ ถึงต้องจ่ายโดสละ 554-580 บาท แพงกว่าอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และอินเดีย
#หยุดซื้อซิโนแวค #NoMoreSinovac
ลิงค์ข่าวที่เกี่ยวข้อง
https://www.washingtonpost.com/.../7c09ae68-28c6-11eb...
https://newsinfo.inquirer.net/.../sinovac-jabs-varying...
https://www.thejakartapost.com/.../covid-19-vaccine-to-be...
เพิ่มเติม ล่าสุดคุณอนุทินบอกว่าต่อราคาได้โดสละ $15 (477 บาท) ถูกกว่าการซื้อในช่วงแรก
.....

วอชิงตันโพสต์แฉ 'ซิโนแวค' มีประวัติ 'ติดสินบน' เจ้าหน้าที่รัฐ



24 มิถุนายน 2564
กรุงเทพธุรกิจ

วอชิงตันโพสต์รายงานมาตั้งแต่เดือน ธ.ค.2563 ว่า บริษัทยา "ซิโนแวค ไบโอเทค" ของจีนมีปัญหา "ติดสินบน" เจ้าพนักงาน

ตามที่ รศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ผ่านโซเชียลมีเดีย เรื่องประวัติการติดสินบนของ "ซิโนแวค" หรือ ซิโนแวค ไบโอเทค บริษัทยาจากจีนที่เป็นหนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ไทยใช้อยู่ด้วยนั้น กรุงเทพธุรกิจ ตรวจสอบรายงานข่าวตามที่นักวิชาการรายนี้อ้าง พบว่า เว็บไซต์วอชิงตันโพสต์ รายงานเมื่อวันที่ 4 ธ.ค.2563 ระบุ ซิโนแวค ไบโอเทค ขึ้นชื่อเรื่องการนำผลิตภัณฑ์ออกวางขายในตลาด เป็นบริษัทแรกที่เริ่มทดลองทางคลินิกวัคซีนโรคซาร์สในปี 2546 และเป็นบริษัทแรกที่นำวัคซีนป้องกันไข้หวัดหมูออกจำหน่ายในปี 2552 บันทึกศาลระบุว่า ซีอีโอซิโนแวคติดสินบนคณะกรรมการกำกับดูแลยา (อย.) ของจีน เพื่อให้วัคซีนผ่านการอนุมัติ

ระหว่างที่รายงานข่าวนี้เป็นช่วงที่ซิโนแวคกำลังประสานจัดหาวัคซีนป้องกันโควิดให้ประเทศกำลังพัฒนาตั้งแต่บราซิลไปจนถึงตุรกี และอินโดนีเซีย

วอชิงตันโพสต์กล่าวว่า อุตสาหกรรมยาจีนมีปัญหาเรื่องการทุจริตและไม่โปร่งใสมานานแล้ว ประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้จึงไม่ค่อยเชื่อถือยาที่มาจากจีน

ระหว่างนั้น ซิโนแวคยังไม่เปิดเผยข้อมูลประสิทธิภาพ จึงไม่แน่ชัดว่า วัคซีนตัวนี้ปกป้องประชาชนได้เท่ากับวัคซีนของ "โมเดอร์นา" และ "ไฟเซอร์" ที่ผลการวิเคราะห์เบื้องต้นระบุว่าได้ผลกว่า 90% ได้หรือไม่

ซิโนแวคเองก็ยอมรับว่า ซีอีโอติดสินบน เอกสารที่ยื่นต่อคณะกรรมการกำกับดูแลระบุว่า เขาให้ความร่วมมือกับอัยการและไม่ถูกดำเนินคดี โดยซีอีโอให้การต่อศาลว่า เจ้าหน้าที่ อย.รายหนึ่งเรียกร้องเงินมาซึ่งเขาปฏิเสธไม่ได้

รายงานข่าวระบุว่า ซิโนแวคไม่เคยมีปัญหายาไม่ปลอดภัย และไม่มีหลักฐานว่าวัคซีนที่ติดสินบนนั้นมีข้อบกพร่อง แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการแพทย์จำนวนหนึ่งกล่าวว่า การต้องจับตาซิโนแวคเป็นพิเศษนั้นชอบธรรมแล้ว เนื่องจากบริษัทมีประวัติจริยธรรมย่อหย่อน

“ข้อเท็จจริงที่ว่าบริษัทมีประวัติการติดสินบนทำให้เกิดความสงสัยมาช้านานต่อข้อมูลวัคซีนที่บริษัทอ้างโดยที่ไม่มีการพิมพ์เผยแพร่และให้คนร่วมวงการตรวจสอบยิ่งเกิดโรคระบาด บริษัทที่มีประวัติจริยธรรมน่าสงสัยยิ่งต้องถูกจับตาเป็นพิเศษ” อาเธอร์ แคพแลน ผู้อำนวยการฝ่ายจริยธรรมการแพทย์ ศูนย์การแพทย์แลงโกนี มหาวิทยาลัยนิวยอร์ก กล่าว