เชื่อว่าคนที่เชียร์ ‘ปิดสวิตซ์ สว.’ ส่วนใหญ่ไม่คิดว่าร่าง #แก้รัฐธรรมนูญ เหล่านั้นจะผ่านมติของรัฐสภาออกมาได้ เมื่อรู้ว่ารัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ คสช.นี้ จัดวางสภา ‘ตู่ตั้ง’ ๒๕๐ คนไว้โหวตให้ ‘ประยุทธ์’ เป็นนายกฯ สองสมัย แล้วยัง
มอบหมายให้เป็นจักรกลสำหรับ ‘ห้ามแก้รัฐธรรมนูญ’ โดยปริยาย ในเมื่อระบุว่าร่างกฎหมายสำคัญต่อความมั่นคง ต้องได้เสียงของ สว.จำนวน ๑ ใน ๓ หรือ ๘๔ คนอย่างน้อยให้การสนับสนุน ในคะแนนผ่านเกินครึ่งของทั้งรัฐสภา
ทำให้ผลการลงคะแนนต่อร่าง กม.แก้ไขรัฐธรรมนูญ ๑๓ ฉบับ ซึ่งมีการลงมติกันเมื่อคืนวานนี้ จึงมีร่างฯ ที่ผ่านได้ฉบับเดียว นอกนั้นปิ๋วหมด แม้จะมีหลายฉบับได้คะแนนเกินครึ่ง (๓๖๖) เยอะเลย (เช่นฉบับ ๗ ฉบับ ๘ และฉบับ ๖) ไม่ผ่านเพราะเสียง สว.ไม่พอ
ร่างฉบับ ๗ พรรคภูมิใจไทยเสนอ เรื่องรายได้พื้นฐานถ้วนหน้า มี สว.รับเพียง ๕๕ คน ร่างฉบับ ๘ พรรคประชาธิปัตย์เสนอ “เพิ่มสิทธิขั้นพื้นฐาน” ประชาชน มี สว.เห็นด้วย ๔๘ คน โดยทั้งสองร่าง ส.ส. ๔๒๒ คนเท่ากัน รับหลักการ
จะเห็นว่า สว.ส่วนใหญ่ ๒๑๐ คนแห่ไปสนับสนุนร่างของพรรคประชาธิปัตย์ฉบับเดียว ที่ให้เปลี่ยนระบบเลือกตั้งกลับไปใช้บัตรสองใบ และให้นับคะแนนแบบเกลี่ยหมดทุกพรรคตามรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ โดยไม่ต้องมีข้อจำกัดพรรคต้องได้เสียงอย่างน้อย ๑%
มีเรื่องแปลกชวนให้หาคำตอบ ว่าทำไมพรรคภูมิใจไทยซึ่งเข้าร่วมเสนอร่างฯ ฉบับที่ ๑๓ กับพรรค ปชป. เพื่อนพรรคร่วมรัฐบาลสายหลัก กลับไม่เข้าร่วมลงมติให้ แต่เป็น สว.ที่กระหน่ำให้เสียงผ่านท่วมท้น เช่นกันกับร่างสองฉบับที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย
เป็นร่างเกี่ยวกับการเพิ่มเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น (ฉบับ ๒) กับเรื่องยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและยกเลิกนิรโทษกรรม คสช. (ฉบับ ๕) ซึ่ง สว.พร้อมใจกันไม่รับกว่าครึ่ง ก็ไม่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคก้าวไกลในวาระแรกนี้เช่นกัน (ความเห็น ยิ่งชีพ (เป๋า) @yingcheep)
ข้อน่าสังเกตุของการโหวตครั้งนี้ แม้นว่าพรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ที่นับคะแนนตามรัฐธรรมนูญ ๔๐ ซึ่งพรรคเพื่อไทยและพลังประชารัฐเสนอเหมือนกัน โดยต้องการให้นับคะแนนแบบเยอรมัน ไม่ปล่อยเสียงตกน้ำ
และบรรดา สว.ส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ปิดสวิตซ์ตัวเอง มีเพียงสองสามคนที่ยอมรับเรื่องนี้ แต่ สว.ก็ไม่ยอมรับร่างฯ ฉบับ ๑ เสนอโดยพลังประชารัฐ ที่รวมถึงระบบเลือกตั้งบัตรสองใบ อย่างมากมายเกินครึ่ง จะว่า สว. ‘เลือกที่รักฯ’ ไปทุ่มคะแนนให้ร่างฯ ของ ปชป. กระนั้นหรือ
กับ พปชร.นั้นอาการ ‘ไม้เบื่อ’ น่าจะมาจาก พปชร.ขอแก้มาตรา ๑๔๔ กับ ๑๘๕ ที่ให้ สว.มีส่วนแปรญัตติงบประมาณ และยอมให้แทรกแซงการทำงานของข้าราชการได้ ส่วนกับ ปชป.จะว่าไปอาจเป็นเพราะพรรคนี้ถ้อยทีถ้อยเอาใจ สว.ตู่ตั้งนี้ไม่น้อย
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคอภิปรายว่า “การปิดสวิตช์ สว.นั้น พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่า สมาชิกวุฒิสภายังมีความจำเป็น และประเทศไทยควรมีระบบรัฐสภาแบบสองสภาไม่ใช่สภาเดี่ยว” เพียงแต่ว่าน่าจะมาจากการเลือกตั้ง
ถึงอย่างนั้นทั่นอู๊ดด้าบอกว่าไม่เป็นไรทนได้ เนื่องจาก สว.ชุดนี้มีอายุขัยแค่ ๕ ปี ต่อไปควรมีอำนาจอย่างจำกัด แค่ “กลั่นกรองกฎหมาย และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินเท่านั้น ไม่ควรมีอำนาจเลยไปถึงการลงคะแนนเสียงโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี”
แต่ในเมื่อ ปชป.ไม่ยอมแก้ไขเสียแต่ตอนนี้ สว.ก็จะยังคงไปเป็นผู้ชี้ขาดตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งครั้งหน้า ที่เลขาฯ พปชร. (ป.๔) คนใหม่บอกไว้แล้วว่าจะเอา ‘ตู่’ คนเนี้ยแหละมาเสนอชื่อนายกฯ อีกครั้งแน่ๆ ถ้าถามจุรินทร์คงบอกไม่ได้ ยังไม่ถึงเวลา
จึงเป็นที่เข้าใจตรงกันแล้วนะตอนนี้ว่า เลือกตั้งครั้งหน้าพรรคใหญ่มีโอกาสแบ่งกัน ‘แลนด์สไล้ด์’ สองพรรค แล้วจะได้นายกฯ คนเดิมให้สะใจและครื้นเครง (ได้ด่า) กันต่อ นั่นเป็นการมองโลกให้สวยเข้าไว้ ในขณะที่เบื้องลึกของจิตใจเรา แม่งโคตร ‘ระเหี่ย’
ยังดีที่มีคนมาปลอบใจ “สังคมวันนี้อาจจะอยู่ในภาวะที่หลายคนหมดหวัง หมดกำลังใจ แต่ผมอยากจะเชื้อเชิญว่าอย่าเพิ่งหมดหวัง อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ มีแต่การเดินหน้าร่วมกันต่อสู้เพื่อสร้างสังคมที่มีการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรม”
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไปบรรยายที่ธรรมศาสตร์ จัดโดยสถาบันปรีดีฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ ๘๙ ปีของการ ‘อภิวัฒน์สยาม’ เขาพูดถึงการกระจายอำนาจ งบประมาณ การตัดสินใจ และความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจไปสู่ท้องที่นอกจากส่วนกลาง
จะเป็นไปได้ ประชาชนต้องใช้แรงงานของตนเองร่วมกันผลักดันให้เกิดขึ้น อย่าไปหวัง ‘นอมินี’ ที่ไหน “มาร่วมกันทำภารกิจ ๒๔๗๕ ที่ยังไม่บรรลุผล ให้เสร็จที่รุ่นเรา” ด้วยสี่ปฏิรูป ระบบราชการ กระบวนยุติธรรม สถาบันกษัตริย์ และกองทัพ
ทางไปถึงตรงนั้นค่อยว่ากันที่ละก้าว ทีละขั้น ตอนนี้เอางี้ก่อน ไปร่วมลงรายชื่อ ‘รื้อระบอบประยุทธ์’ กับพวก ‘Re-Solution’ เสนอร่างรัฐธรรมนูญใหม่ผ่านระบบประชามติที่เพิ่งผ่านสภา ‘สืบทอดฯ’ นี่ละ เขาต้องการ ๕ หมื่น รณรงค์ออนไลน์ได้สองอาทิตย์
รายชื่อเพิ่มจาก ๑ หมื่นกว่าๆ ตอนนี้เกิน ๗ หมื่นแล้ว โดยวิธีการลงชื่อแบบใหม่ ที่ไม่ต้องใช้บัตรประชาชน ให้ชื่อ นามสกุลและที่อยู่เท่านั้นพอ ร่วมกันให้ถึงแสนแล้วยื่นใหม่ ถ้ามันยังแถกันอยู่ รณรงค์ใหม่ยื่นอีก อย่าเพิ่งท้อ
ไปฟังเพลงนี้ของคณะ Chumbawamba ที่บอกว่า “I get knocked down, but I get up again. You’re never gonna keep me down.” แล้วจะมีพลัง
(https://www.youtube.com/watch?v=egN8CjfQkxc, https://www.facebook.com/ThanathornOfficial/posts/1118194811917525, https://www.bbc.com/thai/thailand-57576933, https://www.innnews.co.th/news/news_130876/ และ https://elect.in.th/convote-24jun21/)